ถ้าถามถึงตัวละครที่ไม่ฉลาด หรือ เบาปัญญาในเรื่องสามก๊ก ผมเชื่อว่าร้อยละ 99 จะตอบว่า อาเต๊า หรือ เล่าเสี้ยน ลูกชายของเล่าปี่
เล่าเสี้ยน หรือ หลิวช่านในภาษาจีนกลางเป็นฮ่องเต้ของจ๊กก๊ก หลังจากที่เล่าปี่ บิดาของเขาสิ้นชีวิตลง
เล่าเสี้ยนถูกชาวบ้านทั่วไปที่อ่านสามก๊กประณามว่าเป็นทรราชผู้ด้อยสติปัญญา และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ จ๊กก๊ก ซึ่งเป็นฝ่าย “คนดี” พ่ายแพ้ต่อวุยก๊กของโจโฉ ในเวลาต่อมาชื่อ อาเต๊า หรือ อาโตว กลายเป็นคำในภาษาจีนที่แปลว่า ผู้ที่ไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้ ถึงแม้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือมากเพียงใดก็ตาม
มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?? เรามาดูกันเป็นข้อๆ ครับ
หมายเหตุ: ข้อมูลที่ใช้ชำแหละคือข้อมูลในประวัติศาสตร์นะครับ เพราะอย่างที่ผมเคยเขียนให้อ่านไปแล้วว่า หลอกว้านจงเก่งกาจมากในการบิดข้อเท็จจริงให้นิยายของเขาอ่านสนุก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในเรื่อง หรือ ชะตากรรมของบุคคล เขาบิดมาหมดแล้วทั้งสิ้น นอกจากนี้เฉินโซ่ว ผู้เขียนรวบรวมจดหมายเหตุยุคสามก๊กได้รายงานว่าขงเบ้งได้สั่งห้ามไม่ให้มีเจ้ากรมจดหมายเหตุในราชสำนักจ๊กก๊ก ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบ
1. เล่าเสี้ยนไม่ใส่ใจว่าราชการแผ่นดิน
ข้อนี้เป็นข้อหลักที่ผู้คนโจมตีเล่าเสี้ยนมากที่สุด
เมื่อเล่าเสี้ยนครองราชย์ใหม่ๆ อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือขงเบ้ง ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แปลกอะไรเพราะเล่าเสี้ยนยังเด็ก หากแต่ว่าเมื่อเล่าเสี้ยนอายุมากขึ้นแล้ว ขงเบ้งก็ยังไม่คืนอำนาจให้เล่าเสี้ยน เขาเก็บอำนาจว่าราชการไว้ในมือตัวเอง
ในสมัยที่ขงเบ้งยังอยู่ เล่าเสี้ยนไม่ต่างอะไรกับหุ่นที่ตั้งไว้บนราชบัลลังก์ เขาไม่มีโอกาสที่จะตัดสินใจทำอะไรเองเลย เพราะขงเบ้งทำเองทั้งหมด แล้วเล่าเสี้ยนจะพัฒนาความสามารถได้อย่างไร ขนาดเวลาที่ขงเบ้งไปทัพ ขงเบ้งยังให้คนของตัวเองจัดการเรื่องว่าราชการแผ่นดินเลย
เล่าเสี้ยนจะต้องทำอะไรอีก? เพราะหน้าที่บริหารแผ่นดินมีคนอื่นทำให้อยู่แล้ว เล่าเสี้ยนก็ต้องหาความสุขใส่ตัวตามแบบคนสมัยนี้แหละครับ สภาพแวดล้อมแบบนี้ทำให้เล่าเสี้ยนติดนิสัยฟุ่มเฟือยมากขึ้นตามลำดับ แต่ก็ไม่ได้ฟุ่มเฟือยมากขนาดที่ทำให้ท้องพระคลังของจ๊กก๊กเกิดปัญหา
ขนาดขงเบ้งเสียชีวิตไปแล้ว เล่าเสี้ยนยังไม่สามารถแต่งตั้งมหาอุปราชคนใหม่ได้เลย เพราะขงเบ้งวางตัวมหาอุปราชคนต่อไปไว้ให้เล่าเสี้ยนเลยเรียบร้อย
เล่าเสี้ยนจึงไม่มีโอกาสทำหน้าที่ของจักรพรรดิเลย และดูเหมือนว่าจะไม่มีอำนาจด้วย แม้กระทั่งจะแก่ตัวลงแล้วก็ตาม อย่างเกียงอุยขอไปตีวุยก๊กถึง 9 ครั้ง เล่าเสี้ยนก็ยังห้ามอะไรไม่ได้เลย ถึงแม้จะพยายามแล้วก็ตาม
เล่าเสี้ยนอาจจะผิดก็จริงที่มีฮุยโฮเป็นคนสนิทและฟุ่มเฟือย แต่มันไม่ใช่ความผิดของเขาคนเดียว สภาพแวดล้อมที่ขงเบ้งจัดสรรให้ไม่เคยให้อำนาจเล่าเสี้ยนทำอะไรเลย แล้วเล่าเสี้ยนจะเป็นฮ่องเต้ที่ดีได้อย่างไร
2. เล่าเสี้ยนคัดค้านว่าไม่ควรไปตีวุยก๊ก
ก่อนที่ขงเบ้งจะบุกวุยก๊กครั้งสุดท้าย เล่าเสี้ยนเอ่ยปากคัดค้านว่าไม่ให้ขงเบ้งไปตีวุยก๊ก แต่ก็ห้ามไม่สำเร็จ แถมยังโดนขงเบ้งสวดกลับมาเสียซะยืดยาว
พวกนักอ่านและนักประวัติศาสตร์ก็พากันสวดเล่าเสี้ยนกันใหญ่ว่า เนี่ยเล่าเสี้ยนแสดงความคิดเห็นอันโง่เขลา ไม่เชื่อฟังขงเบ้ง ผู้ชาญฉลาด
หากแต่ถ้าเราดูกันตามความเป็นจริง อาณาจักรที่เล็กกว่าอย่างจ๊กก๊กจะมีโอกาสชนะอาณาจักรที่ใหญ่กว่าอย่างวุยก๊กได้หรือไม่? ผมขอตอบว่าเป็นไปได้ (อย่างเช่นในสมัยหลิวปัง) แต่ต่ำมากๆๆๆๆๆ เพราะว่า
วุยก๊กใหญ่กว่าจ๊กก๊กถึงสามเท่า พลเมืองมากกว่าถึงห้าเท่า ดินแดนอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศอย่างดินแดนจงหยวนอยู่ในมือวุยก๊กทั้งหมด เพราะฉะนั้นถึงแม้จ๊กก๊กจะชนะศึกบ่อยครั้ง วุยก๊กก็สามารถหากำลังมาทดแทนและรบกับจ๊กก๊กได้เรื่อยๆ จนสุดท้ายจ๊กก๊กก็แพ้ไปเอง อย่างโกคูรยอที่รบกับราชวงศ์ถังก็เป็นลักษณะเดียวกัน
ดินแดนของจ๊กก๊กตั้งอยู่ในเสฉวน เป็นภูเขาสูงชันง่ายต่อการตั้งรับ แต่ยากต่อการใช้เป็นฐานหลักไปรุกรานแคว้นอื่น เพราะเส้นทางขนเสบียงยากลำบาก ถ้าหินก้อนเดียวถล่มลงมาปิดทาง ทหารจ๊กก๊กก็ขนเสบียงไม่ได้แล้ว ดังนั้นถ้าทำสงครามระยะยาวยังไงวุยก๊กก็ได้เปรียบเห็นๆ นี่เป็นสิ่งที่สุมาอี้ใช้เป็นกลยุทธ์หลัก
ขงเบ้งเองก็ไม่ได้ใช้กลยุทธ์บุกตีรวดเร็วเหมือนกับหานสิ้น แต่เขากลับทำสงครามแบบไปทีละขั้น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการทำสงครามแบบยืดเยื้อกับวุยก๊ก วิธีของขงเบ้งเปรียบได้กับการนำทรัพยากรที่มีน้อยนิดของจ๊กก๊กไปละลายทิ้ง
รวมทั้งหมดแล้ว ขงเบ้งดันทุรังไปตีวุยก๊กถึงห้าครั้ง เกียงอุยไปตีวุยก๊กอีกเก้าครั้ง ทุกครั้งล้วนแต่ไม่สำเร็จ ทหารและราษฎรจ๊กก๊กต่างล้มตายในสงครามจำนวนมาก เล่าเสี้ยนน่าจะเห็นสิ่งเหล่านี้จึงเอ่ยปากพูดออกมา
เข้าทำนองแบบ รบไปก็ไม่มีทางชนะ จะพาราษฎรในแคว้นไปลำบากเพื่อ???
เล่าเสี้ยนเองน่าจะพูดในมุมมองของราษฎรจ๊กก๊ก ตามประวัติศาสตร์แล้ว เขาใส่ใจราษฎรได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่มีประวัติว่าราษฎรเดือดร้อนเพราะเล่าเสี้ยนเลย การใช้เงินของเล่าเสี้ยนไม่ได้ทำให้ราษฎรจ๊กก๊กลำบาก ในทางกลับกันในประวัติศาสตร์มีแต่เขียนไว้ว่าราษฎรจ๊กก๊กเบื่อหน่ายการทำสงครามอย่างไม่จบสิ้นของขงเบ้งและเกียงอุย
3. การบริหารคนของเล่าเสี้ยน
ในวุยก๊กและง่อก๊ก ในราชสำนักมีการแย่งชิงอำนาจอย่างรุนแรงถึงขนาดฆ่าฟันกัน แต่จ๊กก๊กในสมัยของเล่าเสี้ยนไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเลย ทั้งๆที่มีฝักฝ่ายชัดเจน
จ๊กก๊กมีขุนนางอยู่สองสาย สายหนึ่งคือสายเกงจิ๋ว ซึ่งเป็นข้าเก่าของเล่าปี่เดิม กลุ่มนี้นำโดยขงเบ้ง อีกสายหนึ่งคือสายเสฉวน หรือข้าเก่าของเล่าเจี้ยง ผู้ครอบครองเสฉวนคนเดิมก่อนที่เล่าปี่จะมายึดได้ กลุ่มนี้นำโดยหวดเจ้ง และลิเงียมในภายหลัง
ทั้งสองกลุ่มไม่กินเส้นกันอย่างชัดเจน ตัวขงเบ้งเองก็แทบจะใช้คนที่มาจากสายของตนเองเท่านั้น และแทบไม่สนับสนุนปัญญาชนเสฉวนเลย
หากแต่ว่าทั้งสองกลุ่มไม่เคยมีการแย่งชิงอำนาจที่รุนแรงถึงขนาดมีการกวาดล้างอย่างในอีกสองแคว้น อย่างในวุยก๊ก สุมาอี้กวาดล้างโจซอง ส่วนในง่อก๊ก ซุนจุ๋นกวาดล้างจูกัดเก๊ก
ในส่วนนี้นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ยกเครดิตให้เล่าเสี้ยน เขาน่าจะบริหารและสร้างสมดุลระหว่างทั้งสองกลุ่มได้ดี จนทำให้ไม่เกิดการแย่งชิงอำนาจเกิดขึ้น ราชสำนักจ๊กก๊กจึงไม่มีปัญหาภายในเลยตลอด 40 ปี ในรัชกาลของเล่าเสี้ยน
4. การล่มสลายของจ๊กก๊ก
เรามาดูกันก่อนว่าทำไมวุยก๊กถึงโจมตีจ๊กก๊ก ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เป็นฝ่ายตั้งรับ
ถึงแม้จ๊กก๊กจะอ่อนแอ แต่กลับโจมตีชายแดนของวุยก๊กแทบทุกปี โดยเฉพาะหลังจากที่ขงเบ้ง เจียวอ้วน และบิฮุยตายไปแล้ว เกียงอุยได้โจมตีวุยก๊กมากถึง 9 ครั้ง นอกจากจะสร้างความเสียหายแล้ว ยังสร้างความรำคาญและเดือดร้อนอย่างยิ่งยวดให้กับวุยก๊ก นั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สุมาเจียว มหาอุปราชวุยก๊กต้องการกำจัดจ๊กก๊กเสีย
นอกจากนั้นเกียงอุยยังเปิดจุดตายให้กับวุยก๊กเองด้วยการนำกำลังทหารเกือบทั้งหมดไปทำนาที่เมืองหลงเส ทิ้งเส้นทางทั้งหมดสู่เมืองฮันต๋งเปิดโล่งด้วยความประมาท
ก่อนไปหลงเส เกียงอุยยังบอกกับเล่าเสี้ยนว่าแค่ป้องกันแนวเทือกเขาฉินหลิ่งไว้ได้ก็ไม่เป็นไรแล้ว นั่นเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง
ในหนังสือนิยายสามก๊กเขียนไว้ว่าเล่าเสี้ยนเชื่อหมอดูเลยไม่ส่งกำลังทหารไปช่วยเกียงอุย นี่ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะในประวัติศาสตร์เล่าเสี้ยนเชื่อหมอดูก็จริง แต่ในภายหลังพระองค์เปลี่ยนใจ และส่งกองทัพไปช่วยเกียงอุย กองทัพกองนี้เป็นกองทัพที่สกัดไม่ให้ทหารวุยก๊กรุมบดขยี้เกียงอุยที่ถ่าจง
เพราะฉะนั้นจะไปโทษเล่าเสี้ยนได้อย่างไร ตัวเล่าเสี้ยนไม่มีอำนาจเลย อำนาจทางทหารอยู่ในเมืองเกียงอุยทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือเกียงอุย มิใช่เล่าเสี้ยน ตัวเล่าเสี้ยนได้ส่งกำลังออกไปช่วยอย่างที่ควรจะทำแล้วด้วย
ถ้าจะโทษเล่าเสี้ยนจริงๆ ก็ต้องโทษที่เล่าเสี้ยนเชื่อขงเบ้งด้วยการให้เกียงอุยมาเป็นแม่ทัพใหญ่ควบคุมกำลังทหารทั้งหมด
5. การเอาตัวรอด
เรื่องที่ใช้ด่าเล่าเสี้ยนแรงๆ ก็มีอีกสองเรื่อง เรื่องแรกคือการยกเมืองเฉิงตูให้เตงงาย และการบอกสุมาเจียว บิดาของสุมาเอี๋ยน กลางงานเลี้ยงว่า “ข้าไม่คิดถึงจ๊กก๊กเลย”
เรามาดูที่เรื่องแรกกันก่อน เตงงายตีเมืองรายทางแตกมาถึงเฉิงตู ทหารวุยก๊กที่มาก็เป็นทหารเจนศึก กำลังใจทหารก็ฮึกเหิมเพราะชนะศึกติดๆ กัน ส่วนทหารจ๊กก๊กในเฉิงตูเป็นทหารในเมืองที่ไม่มีประสบการณ์การรบเลย ทหารที่มีฝีมืออยู่กับเกียงอุยทั้งหมด และกำลังปะทะกับจงโฮยที่ด่านเกียมโก๊ะ
ถ้าจะสู้กันก็เห็นชัดอยู่ว่าเล่าเสี้ยนจะต้องพ่ายแพ้ ถ้าทหารวุยก๊กเข้าเมืองได้ก็คงปล้นเมืองให้ราษฎรตายอีก การต่อสู้ต่อไปจึงไม่ได้อะไรเลย เพราะฉะนั้นก็ยอมแพ้เลยเพื่อที่เตงงายจะได้ไม่ฆ่าฟันราษฎรไม่ดีกว่าหรือ?
ส่วนเรื่องที่สองคือ เล่าเสี้ยนไปแสดงทีท่าไม่สนใจอะไรเลยต่อหน้าสุมาเจียว
เรื่องนี้ผมกลับเห็นว่าเป็นความฉลาดของเล่าเสี้ยนด้วยซ้ำไป
เพราะว่ากันตามตรง สุมาเจียวมีเหตุผลอยู่หลายอย่างที่จะฆ่าเล่าเสี้ยน เพราะจะได้กำจัดโอกาสที่ขุนนางจ๊กก๊กจะเอาเล่าเสี้ยนไปตั้งแคว้นใหม่ และสร้างปัญหาให้วุยก๊กอีกรอบหนึ่ง
เล่าเสี้ยนน่าจะคิดถึงประเด็นนี้ และทำให้เขาตัดสินใจใช้วิธีแกล้งโง่ เพื่อหลอกให้สุมาเจียวคิดว่า คนโง่และดูดายอย่างนี้ฆ่าไปก็เปลืองเวลาเปล่าๆ
สุมาเจียวจึงไม่สังหารเล่าเสี้ยน และแต่งตั้งให้เป็นอันเล่อกง เล่าเสี้ยนจึงใช้ชีวิตในบั้นปลายในวุยก๊ก แล้วก็สิ้นชีวิตตามอายุขัย ต่างกับจักรพรรดิองค์อื่นๆในประวัติศาสตร์จีนที่ถูกสังหารด้วยวิธีต่างๆ นาๆ หลังจากยอมจำนนต่อศัตรู (อย่างจักรพรรดิราชวงศ์จิ้นของตระกูลสุมาก็แทบจะถูกล้างตระกูล เมื่อหมดอำนาจ)
จากที่ผมได้ชำแหละมา จริงอยู่ว่าเล่าเสี้ยนไม่ใช่ฮ่องเต้ที่ดี แต่เล่าเสี้ยนไม่ใช่คนโง่แน่ๆ และตัวเขาเองก็ไม่น่าจะเป็นแพะรับบาปในการล่มสลายของจ๊กก๊กเลย คำวิพากษ์วิจารณ์และประณามเขาจึงเกินจริงไปอย่างมากเลยทีเดียว