ประวัติศาสตร์การ"เผาหนังสือและฝังบัณฑิต" ในรัชกาลของฉินสื่อหวงตี้เป็นอย่างไร?

การ”เผาหนังสือและฝังบัณฑิต” ในรัชกาลของฉินสื่อหวงตี้เป็นอย่างไร?

ฉินสื่อหวงตี้ หรือจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นจักรพรรดิที่คุณูปการในการสร้างประเทศจีนอย่างมากที่สุดพระองค์หนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย ผลงานรวมแผ่นดินที่วุ่นวายมากว่าแปดร้อยปีเป็นหนึ่งเดียว และเริ่มต้นสร้างรัฐจีนที่รวมศูนย์และเข้มแข็งนั้น ทำให้พระองค์อยู่ในตำแหน่ง “มหาราช” เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดีชาวจีนต่างมองฉินสื่อหวงตี้ในแง่ลบอยู่มาก เพราะความโหดเหี้ยมและความเด็ดขาดของพระองค์ ซึ่งในนั้นก็คือการเผาหนังสือและฝังบัณฑิต หรือที่เรียกกันว่าเฝินชูเคิงหรู (焚書坑儒)

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่?

ข้อเสนอของหลี่ซือ

เหตุการณ์ที่ว่านี้ปรากฏในพงศาวดารสื่อจี้ (Shiji) เป็นผลงานการประพันธ์ของซือหม่าเชียน นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่น และตัวพงศาวดารโดยรวมแล้วถือว่าเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้สำหรับเหตุการณ์ในช่วงยุคราชวงศ์โจว ฉิน และฮั่นตะวันตก (ก่อนรัชกาลของฮั่นหวู่ตี้)

โดยสื่อจี้ได้เล่าว่าหลังจากที่ฉินสื่อหวงตี้รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งแล้วนั้น หลี่ซือผู้เป็นสมุหนายกได้เสนอให้ฉินสื่อหวงตี้ทำลายหนังสือต่อไปนี้ให้สิ้น

  • บันทึกทางประวัติศาสตร์ของแคว้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่แคว้นฉินทั้งหมด
  • หนังสือสือจิง (เป็นผลงานของขงจื้อ เรียบเรียงวรรณกรรมเก่าแก่ที่สำคัญ)
  • หนังสือซูจิง (หนังสือด้านรัฐศาสตร์เป็นผลงานของขงจื้อและนักเขียนคนอื่นๆ)
  • งานเขียนทั้งหมดของร้อยสำนักปรัชญาในช่วงยุคชุนชิวจ้านกว๋อ

สาเหตุที่หลี่ซือเสนอให้ทำลายหนังสือเหล่านี้นั้นไม่ยากเลย หนังสือประวัติศาสตร์นั้นจะทำให้พลเมืองของแคว้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่แคว้นฉินตระหนักได้ว่าตนเองไม่ใช่คนฉิน ดังนั้นย่อมก่อให้เกิดจิตสำนึกความเป็นรัฐชาติ และย่อมนำสู่การก่อกบฏ

ส่วนปรัชญาที่ให้ทำลายนั้นก็เพราะว่า หลี่ซือไม่ต้องการให้พลเมืองพัฒนาแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ในการปกครองแบบฝ่าเจียของต้าฉิน ซึ่งควบคุมพลเมืองอย่างเข้มงวดด้วยกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ตัวหลี่ซือเองก็เป็นนักปราชญ์ฝ่าเจียมาก่อน ดังนั้นย่อมมองว่าสำนักอื่นๆ เป็นศัตรู

ท้ายที่สุดวรรณกรรมจีนนั้นนิยมบรรยายตำนานปรัมปราของจักรพรรดิในตำนานที่ทรงคุณธรรม รวมไปถึงบุคคลอื่นๆ ในอดีตที่มีคุณงามความดี ดังนั้นหลี่ซือเกรงว่าถ้าพลเมืองอ่านสิ่งเหล่านี้ไปเยอะๆ พวกเขาจะรู้สึกไม่พอใจต่อการปกครองในปัจจุบัน และนำไปสู่ความวุ่นวายได้

อย่างไรก็ดีหลี่ซือให้บรรณารักษ์หลวงสามารถครอบครองหนังสือต้องห้ามเหล่านี้ได้ โดยให้เก็บไว้ในพระราชวังหลวงที่เสียนหยางอย่างละชุด ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถครอบครองตำราการเกษตร ยารักษาโรค รวมไปถึงนวัตกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ รวมไปถึงหนังสือทางด้านพิธีกรรมด้วย

ข้อเสนอของหลี่ซือถือเป็นการเซ็นเซอร์ครั้งแรกๆ ในหน้าประวัติศาสตร์จีน ซึ่งฉินสื่อหวงตี้ทรงเห็นด้วย และโปรดให้ลงมือได้ในช่วงปี 213 ก่อนคริสตกาล

วิธีการลงมือ

การลงมือไม่มีอะไรซับซ้อน กฎหมายต้าฉินนั้นเข้มงวดทั้งตัวบทและการบังคับใช้อยู่แล้ว หลี่ซือจึงให้ประกาศว่า

  • ผู้ใดครอบครองหนังสือต้องห้ามจะต้องนำไปเผาให้สิ้น หรือว่ามอบให้กับทางการภายในสามสิบวัน ใครที่ฝ่าฝืนมีโทษโดนสักหน้า และส่งไปสร้างกำแพงเมืองจีน
  • ผู้ใดพูดถึงเนื้อหาในหนังสือต้องห้ามมีโทษประหารชีวิต
  • ผู้ใดใช้ประวัติศาสตร์มาวิจารณ์ปัจจุบันมีโทษประหารชีวิตทั้งครอบครัว

ในมุมมองของประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ใช่ปัญญาชนนั้น การเผาหนังสือเหล่านี้ไม่มีผลกระทบมากเท่าใดนัก เพราะในเวลานั้นหนังสือเป็นสิ่งที่เข้าถึงไม่ได้ง่ายนักอยู่แล้ว (ยังไม่มีการตีพิมพ์แบบในปัจจุบัน) ดังนั้นกฎหมายเหล่านี้จึงพุ่งเป้าไปที่ปัญญาชนโดยตรง

เราไม่ทราบแน่ชัดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้มีมากเท่าใด แต่ที่แน่ๆ ประวัติศาสตร์ได้รับความเสียหายอย่างหนักมาก ทำให้เราไม่ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นของแต่ละแคว้นเลย เพราะบันทึกอย่างเป็นทางการถูกทำลายจนหมด เคราะห์ดีที่นักโบราณคดีที่ค้นพบบันทึกเหล่านี้หลงเหลืออยู่บ้างในสุสานโบราณหลายแห่ง เราจึงได้รับทราบเหตุการณ์ก่อนราชวงศ์ฉินมาพอสมควร

อย่างไรก็ดีจะโทษว่าหนังสือเหล่านี้เสียหายเพราะเหตุการณ์นี้ทั้งหมดก็ไม่ถูก เพราะหลี่ซือยังให้เก็บหนังสือเหล่านี้บางส่วนไว้ในวัง แต่เมื่อราชวงศ์ฉินล่มสลาย เซี่ยงอวี่ได้สั่งให้เผาทำลายพระราชวัง ซึ่งน่าจะทำให้หนังสือชุดสุดท้ายถูกทำลายไปในกองเพลิงนั่นเอง

ส่วนหนังสือคลาสสิกของขงจื้อนั้นรอดพ้นการทำลายมาได้ และสืบต่อมาจนถึงรุ่นหลังเพราะมีบัณฑิตใจกล้าอย่างฝูเชิ่งที่แอบเก็บหนังสือเหล่านี้ไว้ในกำแพงบ้านของตน หลังจากที่ราชวงศ์ฮั่นได้ก่อตั้งขึ้นเป็นที่เรียบร้อย ฝูเชิ่งได้กลับไปที่บ้านและพบว่าหนังสือส่วนใหญ่ยังอยู่รอดปลอดภัย มีเพียงบางส่วนที่เสียหายไปจากไฟไหม้ และทรุดโทรมไปตามกาลเวลาครับ

การฝังบัณฑิต

การฝังบัณฑิตนั้นเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง และไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเผาทำลายหนังสือ หนังสือสื่อจี้ให้ข้อมูลว่าฉินสื่อหวงตี้นั้นโดนพวกนักเล่นแร่แปรธาตุหลอกลวง พระองค์จึงโปรดให้มีการไต่สวนเหล่าบัณฑิตที่ชักนำคนพวกนี้เข้าในพระราชวัง พวกบัณฑิตต่างซัดทอดกันไปมาจนสุดท้ายแล้วมีผู้ต้องสงสัยมากถึง 460 คน

สื่อจี้เล่าต่อไปว่าฉินสื่อหวงตี้ที่พิโรธจัดจึงให้นำคนเหล่านี้ไปฝังทั้งเป็น ก่อนที่การประหารจะเริ่มต้นนั้น ฝูซูผู้เป็นรัชทายาทได้ทูลขอให้ฉินสื่อหวงตี้ไว้ชีวิตบัณฑิตพวกนี้ไว้ เพราะอาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบในอาณาจักร แต่ฉินสื่อหวงตี้ไม่ให้อภัยโทษแต่อย่างใด แถมยังเนรเทศฝูซูไปคุมการสร้างกำแพงเมืองจีนอีกด้วย (นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จ้าวเกาชิงราชสมบัติให้หูไฮ่ได้สำเร็จ)

อย่างไรก็ดีนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันวิจารณ์ว่าการฝังบัณฑิตนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง หรือว่าสื่อจี้ให้ข้อมูลเกินเบอร์ไปมาก เพราะไม่มีพงศาวดารอื่นไหนที่ระบุถึงเหตุการณ์นี้เลย แม้ว่าสื่อจี้จะเชื่อถือได้โดยรวม แต่ข้อมูลก็เคยมีผิดพลาด เพราะไม่ใช่หลักฐานชั้นต้น ซึ่งถ้าเทียบกับหลักฐานที่ร่วมสมัยกว่าที่เจอจากสุสาน ข้อผิดพลาดก็เคยถูกพบมาแล้ว ดังนั้นเหตุการณ์นี้จึงมีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ว่าเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ครับ

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!