ประวัติศาสตร์5 วีรกรรมของ 'ขงเบ้ง' ในนิยายสามก๊ก ที่ไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์

5 วีรกรรมของ ‘ขงเบ้ง’ ในนิยายสามก๊ก ที่ไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์

ในนวนิยายสามก๊ก หลอกว้านจงได้บรรยายให้เห็นว่า ‘ขงเบ้ง’ เก่งกาจไปเสียทุกเรื่อง ทำให้ขงเบ้งกลายเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดในเรื่องสามก๊ก ยาขอบ นักเขียนไทยชื่อดังถึงกับให้สมญาขงเบ้งว่าเป็น “ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร”

แต่ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ขงเบ้งไม่ได้เก่งเรื่องกลศึกและกลอุบายในการทำสงคราม รู้โน่นรู้นี่และปากจัดๆ เหมือนกับที่หลอกว้านจงโม้ จริงๆแล้วขงเบ้งเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น เขามีความสามารถในเรื่องการบริหารและการปกครอง ทำให้ผู้คนในอาณาจักรสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ตัวเขาเองก็มีความยุติธรรมแก่ราษฎรทั้งปวง ลักษณะของเขาเหมือนกับเซียวเหอ ในเรื่องไซฮั่น

ดังนั้นขงเบ้งจึงจัดว่าเป็นคนเก่งมากคนหนึ่ง ไม่ใช่คนเก่งในลักษณะแบบที่หลอกว้านจงโม้

ขงเบ้ง

1. ขงเบ้งยืมเกาทัณฑ์จากโจโฉ

หลอกว้านจงบรรยายว่าเมื่อตอนขงเบ้งไปเจรจาความที่ง่อก๊ก จิวยี่ต้องการจะฆ่าขงเบ้ง เขาจึงสั่งให้ขงเบ้งทำลูกเกาทัณฑ์เอาไว้สำหรับต่อสู้ทางน้ำ 100,000 ดอก โดยให้เวลาสิบวัน ถ้าขงเบ้งทำไม่ได้ เขาจะได้จับขงเบ้งฆ่าตามกฎของกองทัพ

ขงเบ้งบอกจิวยี่ว่าขอเวลาสามวันก็ทำทันแล้ว หลังจากนั้นขงเบ้งจึงนำเรือใหญ่ๆ 20 ลำมาใส่หุ่นฟางเอาไว้โดยรอบ แล้วทำเป็นบุกค่ายของโจโฉตอนกลางคืนตอนที่หมอกลงจัด โจโฉคิดว่ากองทัพง่อก๊กบุกโจมตีจึงระดมยิงเกาทัณฑ์มาใส่เรือของขงเบ้ง ทำให้ขงเบ้งเก็บธนูได้นับแสนดอกในเวลาไม่ถึงชั่วโมง

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องจริงโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ได้ปรากฏอยู่ที่ใดในจดหมายเหตุสามก๊กของเฉินโซ่วเลยแม้แต่น้อย

2. ขงเบ้งด่าอองลองจนตาย

ในนวนิยายสามก๊กเล่าว่า เมื่อขงเบ้งยกทัพมาตีวุยก๊กครั้งแรก อองลอง ขุนนางผู้ใหญ่วุยก๊กอาสาติดตามในกองทัพด้วยเพื่อใช้ลมปากเกลี้ยกล่อมให้ขงเบ้งยอมจำนน ปรากฏว่านอกจากขงเบ้งจะไม่ยอมจำนนแล้ว เขายังด่าอองลองว่าเป็นสุนัขและเป็นโจรเฒ่า อองลองแค้นใจมาก เขาตกม้าตายทันที

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริงเหมือนกัน ในความเป็นจริงแล้ว อองลองได้ส่งจดหมายไปหาขงเบ้งโดยแนะนำให้ขงเบ้งยอมจำนน แต่ขงเบ้งไม่ได้อ่านจดหมายของอองลองเลยด้วยซ้ำไป อองลองป่วยตายอย่างสงบในปี ค.ศ.228

อองลองผู้นี้เป็นทวดของสุมาเอี๋ยน เพราะว่าหลานสาวของเขาแต่งงานกับสุมาเจียว

3. ขงเบ้งดีดพิณหลอกสุมาอี้

นวนิยายสามก๊กว่า เมื่อม้าเจ๊กทำเสียเรื่องที่เกเต๋งแล้ว ขงเบ้งสั่งให้กองทัพทั้งหมดถอยไปยังฮันต๋ง ส่วนตนเองเดินทางไปลำเลียงเสบียงอาหารจากเมืองเล็กๆ ที่ชื่อเสเสีย

ระหว่างที่ขงเบ้งอยู่ที่เสเสีย กองทัพจำนวน 150,000 นายของสุมาอี้ได้ยกทัพมาโจมตีเมือง ขงเบ้งเห็นจวนตัวจึงสั่งให้เก็บธงต่างๆ ลงทั้งหมด และให้ปัดกวาดเช็ดถูกำแพงเมืองให้สะอาด พร้อมทั้งเปิดประตูเมืองไว้ด้วย ส่วนตัวเองก็ไปนั่งดีดพิณอยู่บนกำแพงเมืองราวกับว่าล่อสุมาอี้เข้ามา

เมื่อสุมาอี้เห็น เขาก็คิดว่าเป็นกับดักจึงถอยไป

เรื่องนี้ไปปรากฏในหลักฐานยุคหลังซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นการแต่งเติมขึ้นมา สาเหตุที่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าแต่งเติมขึ้นมาก็เพราะมันไม่ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยอย่างจดหมายเหตุของเฉินโซ่ว รวมไปถึงหลักฐานเล่มอื่นๆ ยืนยันว่าสุมาอี้อยู่ห่างจากเสเสียนับพันกิโลเมตรในเวลานั้น สุมาอี้จะไปโผล่ที่เสเสียคงเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม จูล่งเคยใช้กลยุทธ์นี้จริงๆ ตอนรบกับฝ่ายโจโฉในศึกชิงเมืองฮันต๋ง และได้ชัยชนะเสียด้วย

4. ขงเบ้งเผาทัพศัตรูที่ทุ่งพกบ๋อง

การต่อสู้ที่ทุ่งพกบ๋องเป็นสมรภูมิแรกในนวนิยายสามก๊กที่ขงเบ้งได้ “โชว์” ความสามารถของตนเอง ขงเบ้งได้ล่อแฮหัวตุ้นเข้าไปติดกับและจุดไฟรอบด้าน ทำให้กองทัพของแฮหัวตุ้นแตกยับเยิน ชัยชนะครั้งนี้ได้ทำให้ขงเบ้งได้รับการยอมรับในหมู่ผู้ติดตามเดิมของเล่าปี่อย่าง กวนอูและเตียวหุย

ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ไม่ปรากฏเลยว่าขงเบ้งมีส่วนร่วมในสงครามครั้งนี้ จดหมายเหตุสามก๊กเล่าว่า เล่าปี่ทำเป็นถอยทัพ และเผาค่ายตัวเองเพื่อล่อให้แฮหัวตุ้นติดตามมา เมื่อแฮหัวตุ้นติดตามมาแล้ว กองทัพของเล่าปี่ที่ซุ่มอยู่จึงเข้าโจมตีจากทุกด้าน ทำให้กองทัพของแฮหัวตุ้นถอยไป

ง่ายๆ เช่นนี้เอง ไม่มีดราม่าจุดไฟอะไรเหมือนที่นวนิยายเล่าไว้ จริงๆ ในประวัติศาสตร์เองก็ไม่ปรากฏว่าขงเบ้งเข้ามาร่วมกับเล่าปี่เมื่อไร

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่า หลอกว้านจงเป็นผู้แต่งบทให้ขงเบ้งดูเท่ขึ้นมาเอง

5. ขงเบ้งทำพิธีต่ออายุ

นวนิยายสามก๊กได้แสดงความดราม่าว่า ขงเบ้งได้ทำพิธีต่ออายุ โดยเขาจุดเทียนหลายสิบเล่ม และสวดอ้อนวอนต่อดวงดาวเป็นเวลาเจ็ดวันเจ็ดคืน ถ้าเทียนที่จุดไว้ไม่ดับเลย ขงเบ้งจะมีอายุยืนยาวไปอีก 12 ปี

แต่แล้วในคืนสุดท้าย อุยเอี๋ยนกลับทำเทียนดวงหนึ่งดับ ทำให้ขงเบ้งรู้ว่าตัวเองต้องตายแน่ เขาจึงสั่งเสียทุกอย่างกับขุนนางคนอื่นๆ เรียบร้อย รวมไปถึงทูลเล่าเสี้ยนให้ทราบด้วย หลังจากนั้นขงเบ้งก็เสียชีวิตเพื่ออายุได้ 54 ปี

ในฉบับประวัติศาสตร์ ไม่มีอะไรที่ดราม่าแบบนั้น หนังสือจดหมายเหตุสามก๊กรายงานแค่ว่า ขงเบ้งล้มป่วยและเสียชีวิตลงในวัย 54 ปี

ถ้าเราวิเคราะห์ดูแล้ว ขงเบ้งเองก็ไม่น่าจะเชื่ออะไรในไสยศาสตร์ด้วย ตัวเขาเป็นคนประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือหลายอย่างเช่น ธนูกล หรือ โคไม้ ในหน้าประวัติศาสตร์ ขงเบ้งน่าจะเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมชาติอยู่พอตัวเลยทีเดียว

หลังจากขงเบ้งเสียชีวิต เทวดาขงเบ้งก็ไม่ได้ออกมาไล่เมื่อจงโฮยนำทัพบุกตีจ๊กก๊กเหมือนในนวนิยาย เรื่องมีแค่ว่าจงโฮยได้ไปคำนับศพของขงเบ้งที่เขาเตงกุนสันเท่านั้นเอง

Sources:

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!