ประวัติศาสตร์สุยหยางตี้: ทรราชผู้ชั่วร้ายแต่มิใช่ว่าจะปราศจากผลงาน

สุยหยางตี้: ทรราชผู้ชั่วร้ายแต่มิใช่ว่าจะปราศจากผลงาน

ในตอนที่ผมเล่าถึงสงครามโกคูรยอกับราชวงศ์สุย ผมได้กล่าวถึงสุยหยางตี้ จักรพรรดิของราชวงศ์สุยด้วย สุยหยางตี้ผู้นี้เป็นผู้ที่นักประวัติศาสตร์จีนพากันประณามเสียนักหนาว่าเป็นทรราชที่ชั่วร้ายที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

หยางก่วง หรือ สุยหยางตี้

ตลบแตลง?

สุยหยางตี้มีพระนามเดิมว่าหยางก่วง พระองค์เป็นพระโอรสองค์รองของสุยเหวินตี้ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์สุย หยางก่วงมีพระเชษฐาหนึ่งพระองค์ได้แก่หยางหย่ง ผู้เป็นองค์รัชทายาท

หยางก่วงเป็นคนมีความสามารถหลายด้าน ในฐานะโอรสองค์รอง เขาได้รับตำแหน่งเป็นจิ้นหวาง (เจ้าชายแห่งจิ้น) เมื่อสุยเหวินตี้โปรดให้กองทัพยกไปตีราชวงศ์เฉินที่อยู่ตอนใต้ (เมืองหลวงอยู่ที่หนานจิง) หยางก่วงก็ได้เป็นแม่ทัพใหญ่ เขาสามารถทำลายราชวงศ์เฉินได้สำเร็จ ทำให้ในสายพระเนตรของสุยเหวินตี้มองโอรสผู้นี้ดีขึ้นมาก

สุยเหวินตี้เป็นฮ่องเต้ผู้ทรงประหยัดมัธยัสถ์ ทรงไม่โปรดความฟุ่มเฟือยใดๆ พระองค์ทรงฟื้นฟูอาณาจักรที่ประสบกับไฟสงครามมานานกว่า 300 ปีตั้งแต่ยุคสามก๊กให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งอย่างเต็มความสามารถ ถึงแม้สุยเหวินตี้จะเป็นฮ่องเต้ที่ดี แต่พระหัตถ์ของพระองค์ก็เปี้อนเลือด ก่อนหน้านี้ทรงเป็นเพียงขุนนางคนหนึ่งชื่อ หยางเจียน พระองค์แย่งราชสมบัติจากหลานตาของพระองค์เอง แล้วจึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์เก่าทั้งหมด และตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อราชวงศ์สุย

เรื่องเดิมๆ จะซ้ำรอยอีกครั้งในปลายรัชสมัยของพระองค์

ตู๋กูหวงโฮ่ว (ฮองเฮา) ผู้เป็นพระชนนีของหยางหย่งและหยางก่วงก็เป็นสตรีที่ดีงาม แต่พระนางเกลียดชังชายที่มีภรรยาน้อยมาก สุยเหวินตี้รักพระนางมาก พระองค์จึงไม่ทรงมีพระสนมเลยในระหว่างที่พระนางทรงมีพระชนม์ชีพอยู่

หากแต่ว่าหยางหย่ง ผู้เป็นรัชทายาทกลับเป็นคนฟุ่มเฟือย และยังมีพระสนมมากมาย ถึงแม้เขาจะเป็นคนที่ซื่อสัตย์และรักบิดามารดาก็ตาม อุปนิสัยของเขาจึงไม่เป็นที่พอพระทัยของสุยเหวินตี้ เพราะเขาชอบฟุ่มเฟือย ส่วนตู๋กูฮองเฮาก็ไม่โปรดเพราะเขามีภรรยามาก

หยางก่วงต้องการตำแหน่งของพี่ชายอยู่แล้ว ตัวเขาก็เป็นคนที่ทั้งฟุ่มเฟือยและมักมากในกามเหมือนกับหยางหย่ง หรืออาจจะยิ่งกว่าเสียอีก

หากแต่ว่าหยางก่วงรู้ดีว่าพระบิดาพระมารดาโปรดอะไร ดังนั้นเพื่อราชสมบัติ เขาจึงแสร้งว่าเขาเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ และไม่เจ้าชู้ เพื่อทำให้สุยเหวินตี้ และตู๋กูหวงโฮ่วทรงหลงเชื่อ

วิธีการแสร้งทำเป็นประหยัดก็ไม่ยากอะไร หยางก่วงแสร้งทำเป็นสวมใส่เสื้อผ้าง่ายๆ ข้าวของถ้าเก่าแล้วก็ยังไม่ต้องเปลี่ยน ส่วนพระสนมก็จับไปอยู่ในห้องขนาดใหญ่ใต้ดิน และบังคับให้ทุกคนทำแท้งถ้าเกิดท้องขึ้นมา

ปรากฎว่าทั้งสุยเหวินตี้และตู๋กูหวงโฮ่วทรงเชื่อจริงๆ ทำให้ในเวลาไม่นานทั้งสองก็คิดจะตั้งหยางก่วงเป็นรัชทายาทแทนหยางหย่ง

กำจัดพี่ชายและชิงบัลลังก์

หยางก่วงลักลอบคบหากับขุนนางที่มีอิทธิพลในราชสำนักอยู่หลายคน โดยเฉพาะ หยางซู่ ที่เกลียดชังหยางหย่ง พี่ชายของตนเอง ขุนนางเหล่านี้ทำการยกย่องหยางก่วงต่อหน้าสุยเหวินตี้อยู่บ่อยๆ ทำให้สุยเหวินตี้ยิ่งเคลิ้มว่าโอรสองค์รองเป็นคนดีจริงๆ

มิใช่ว่าหยางหย่งจะไม่ทราบความทะเยอทะยานของน้องชาย แต่หยางหย่งเป็นคนซื่อ และยังงมงาย เขาใช้เวลาไปกับการปัดรังควาน การงมงายในเรื่องเช่นนี้กลับทำให้สุยเหวินตี้ยิ่งมองหยางหย่งในแง่ลบมากขึ้นไปอีก

หยางก่วงเห็นว่าสุยเหวินตี้มองหยางหย่งในแง่ลบมากแล้ว เขาจึงดำเนินแผนการขั้นสุดท้าย

หยางก่วงมอบเงินก้อนโตให้กับข้าราชบริพารของหยางหย่งให้ใส่ความหยางหย่งว่าเป็นกบฎ โดยพยายามเชื่อมต่อเรื่องให้ดูเหมือนว่าหยางหย่งเป็นกบฏจริงๆ พวกขุนนางฝ่ายหยางก่วงก็เฮโลกันเข้ามายุยงสุยเหวินตี้กันยกใหญ่

ท้ายที่สุดสุยเหวินตี้ทรงหลงเชื่อ พระองค์จึงโปรดให้ถอดหยางหย่งและแต่งตั้งหยางก่วงเป็นรัชทายาทแทน นอกจากนี้ยังให้หยางก่วงคุมหยางหย่งอย่างแน่นหนาไว้ในวัง

หยางก่วงเกรงว่าสุยเหวินตี้จะจับเรื่องที่ตนใส่ความหยางหย่งได้ เขาจึงพยายามกันไม่ให้สุยเหวินตี้พบกับหยางหย่ง ดังนั้นเมื่อหยางหย่งจะถวายฎีกาอะไรก็ตาม หยางก่วงก็จะสั่งให้คนนำไปทิ้งเสียหมด หยางหย่งถึงกับต้องพยายามปีนต้นไม้ แล้วร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง เพื่อที่สุยเหวินตี้จะได้ยินเสียงเขาบ้าง

แต่ว่าเมื่อใดที่สุยเหวินตี้เหมือนจะได้ยินเสียง หยางซู่ ขุนนางของหยางก่วงจะทูลว่าหยางหย่งเป็นบ้าไปแล้ว สุยเหวินตี้จึงไม่ใส่พระทัยในเสียงของหยางหย่ง

หลังจากนั้นหยางก่วงก็หาเรื่องกำจัดพี่น้อง อาทิเช่นใส่ความหยางซิวว่าใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อประโยชน์ส่วนตน สุยเหวินตี้จึงสั่งให้ถอดหยางซิวเป็นคนสามัญ แล้วจึงนำไปขังไว้

ในเวลาต่อมา ตู๋กูฮองเฮาสิ้นพระชนม์ หยางก่วงแสร้งทำเป็นโศกเศร้าเสียใจ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่เอาเข้าจริงก็แอบกินนอนตามปกติ

สุยเหวินตี้

ในปี ค.ศ. 604 สุยเหวินตี้ประชวรหนัก หยางก่วงจึงใช้กำลังเข้ายึดพระราชวังที่สุยเหวินตี้ประทับอยู่ โดยไม่ให้ใครเข้าออกได้นอกจากตนเองและพรรคพวก

เมื่อหยางก่วงเดินทางมาที่พระราชวังก็พบกับ พระสนมเฉิน พระสนมของสุยเหวินตี้ที่พระองค์ทรงรับเป็นพระสนมหลังจากตู๋กูฮองเฮาสิ้นพระชนม์ หยางก่วงหลงใหลนางในบัดดล เขาจึงเข้าลวนลามและคิดจะล่วงเกินเธอ แต่พระสนมเฉินขัดขืนจึงรอดมาได้ นางมาทูลฟ้องสุยเหวินตี้ให้ทรงทราบ

สุยเหวินตี้จึงตาสว่างในครานี้เอง

นอกจากนี้สุยเหวินตี้ยังได้ทราบจากทหารองครักษ์ว่าพระราชวังถูกล้อมไว้หมดแล้ว พระองค์จึงเข้าพระทัยแจ่มแจ้งว่าแท้จริงแล้วธาตุแท้ของหยางก่วงเป็นอย่างไร

เพื่อที่จะสกัดกั้นหยางก่วง สุยเหวินตี้โปรดให้ขุนนางคนสนิทรีบไปตามหยางหย่งมาพบพระองค์และตามแม่ทัพที่ไว้พระทัยได้ให้เข้ามาในวังหลวง หากแต่ว่าหยางก่วงกลับจับขุนนางที่นำสารไปได้

หยางก่วงมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในมือของเขาแล้ว เขาจึงสั่งให้ขุนนางคนสนิทชื่อจางเหิงเข้าไปวางยาพิษปลงพระชนม์สุยเหวินตี้ ในขณะเดียวกันก็ส่งหยางเยวี่ยไปปลงพระชนม์หยางหย่ง พระเชษฐา

การปลงพระชนม์สุยเหวินตี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมานานนับพันปีว่าหยางก่วงทำจริงหรือไม่ นักประวัติศาสตร์ในยุคก่อนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง ถึงแม้ว่าหลักฐานจะเป็นศูนย์ก็ตาม

ทั้งนี้ในพงศาวดารฉบับเป็นทางการของราชวงศ์สุยกลับไม่ได้ปรากฏหรือชี้นำว่าหยางก่วงเป็นฆาตกรเลยแม้แต่น้อย ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นมาในสมัยราชวงศ์ถังที่สืบต่อจากราชวงศ์สุย การโจมตีราชวงศ์เก่าว่าชั่วร้ายสุดๆ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

อีกอย่างหนึ่งคือคนในยุคนั้นก็เกลียดชังหยางก่วงมากจากพฤติกรรมหลังครองราชย์ การใส่ไคล้ทำลายชื่อเสียงให้ดูเป็นคนชั่วจึงยิ่งเป็นไปได้มาก

แต่ในเรื่องสังหารหยางหย่ง เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าหยางก่วงทำเช่นนั้นจริง

ในวันที่สุยเหวินตี้สวรรคตนั้น หยางก่วงบังคับให้พระสนมเฉินมีเพศสัมพันธ์กับเขา หลังจากนั้นนางจึงตกเป็นพระสนมของหยางก่วง

หยางก่วงจึงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าสุยหยางตี้ ในปี ค.ศ.604

ทรราช?

หลังจากแสร้งประหยัดมาเป็นเวลานาน สุยหยางตี้แสดงออกชัดเจนว่าเป็นทรราช พระองค์ทรงกินอยู่ใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือยและมีพระสนมมากมายนับไม่ถ้วน ประชาชนสุยที่เคยอยู่ดีมีสุขต่างต้องมาทนทุกข์หลังจากได้จักรพรรดิพระองค์ใหม่

ไม่เพียงเท่านั้นสุยหยางตี้ยังเกณฑ์ราษฎรไปสร้างสิ่งก่อสร้างมากมาย เช่นสร้างเมืองหลวงที่ 2 ที่เมืองลั่วหยาง พระราชวังทั่วทั้งอาณาจักรอีก 40-50 แห่ง สร้างเรือใหญ่หลายสิบลำเพื่อใช้การเสด็จชลมารค ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความสุขส่วนพระองค์ หลังจากนั้นสุยหยางตี้ก็เสวยสุขอยู่ที่ลั่วหยาง นานๆ จะกลับไปฉางอานสักทีหนึ่ง

หากแต่ว่าสุยหยางตี้ยังโปรดให้สร้างหลายสิ่งที่มีประโยชน์มากต่อแผ่นดินจีนในระยะยาวด้วยเช่นกัน บางสิ่งยังใช้มาถึงทุกวันนี้

อย่างแรกสุยหยางตี้โปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองจีนที่ภาคเหนือของอาณาจักร เพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกทูเจี๋ย และยังโปรดให้ขุดคลองจำนวนมากเมื่อเชื่อมแม่น้ำอันมากมายของจีนเข้าด้วยกัน

คลองเหล่านี้ได้แก่ คลองทงจีที่เชื่อมเมืองลั่วหยางกับแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำไฮว้ คลองหานที่เชื่อมแม่น้ำไฮว้กับแม่น้ำแยงซีเกียง และยังมีคลองอื่นๆ ที่เล็กกว่าอีกหลายแห่ง คลองเหล่านี้เป็นคลองสำคัญได้กลายเป็นคลองต้าอวิ๋นเหอ ที่เชื่อมภาคใต้กับภาคเหนือของจีนเข้าด้วยกัน

หากแต่ว่าการก่อสร้างคลองยากลำบากมาก เพราะคลองยาวมากกว่าหนึ่งพันกิโลเมตร การขุดเจาะในสมัยโบราณที่ปราศจากเทคโนโลยียิ่งทำได้ยากเข้าไปใหญ่ แรงงานถูกใช้งานอย่างหนักจนล้มตายเพราะความเหนื่อยอ่อนและขาดอาหาร จำนวนคนที่ถูกเกณฑ์ฺมาสร้างคลองตายไปถึง 40%-50%

คลองต้าอวิ๋นเหอ (Grand Canal) Cr: Wikipedia

นอกจากนี้ยังโปรดให้ตัดถนนเพื่อใช้ในการสัญจรอีกมากมายในภาคเหนือและภาคกลาง โดยรวมๆแล้ว การสร้างของสุยหยางตี้ทำให้แรงงานตายไปมากกว่าล้านคน

อย่างไรก็ตามเมื่อทั้งหมดถูกสร้างเสร็จแล้ว (เสร็จในสมัยถัง) คลองต้าอวิ๋นเหอที่สุยหยางตี้ให้สร้างกลับมีประโยชน์มาก เพราะมันทำให้โครงสร้างพื้นฐานของจีนดีมาก การคมนาคมขนส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ทุกวันนี้คลองต้าอวิ๋นเหอก็ยังเป็นเส้นทางสำคัญในการคมนาคมอยู่ และยังได้กลายเป็นมรดกโลกขององค์กร UNESCO ไปแล้ว

ส่วนหนึ่งของคลองต้าอวิ๋นเหอ ในปัจจุบัน Cr: Tomtom08

วาระสุดท้ายของสุยหยางตี้

ทั้งหมดทั้งมวลที่สุยหยางตี้สั่งให้ทำก็ไม่เท่ากับการเกณฑ์คนไปตีโกคูรยอ นอกจากจะไม่ชนะแล้ว ทหารสุยจำนวนมากยังบาดเจ็บล้มตายมหาศาล อย่างที่ปรากฏในยุทธการที่ซัลซู

เหล่าราษฎรต้องถูกเกณฑ์ทหาร จ่ายภาษีหฤโหด ในขณะที่สุยหยางตี้เอาแต่เริงรมย์กับสาวสนมอย่างหรูหราไปทั่วอาณาจักร พวกเขาจึงสุดจะทนก่อการกบฎขึ้นภายใต้สโลแกน “เราจะไม่ยอมไปตายที่เหลียวตง!” ในเวลาไม่นานการกบฎก็ลามไปทั่วอาณาจักร หัวเมืองต่างๆก็แยกตัวกันเป็นอิสระ

ในเวลานั้นสุยหยางตี้อยู่ที่หยางโจว พระองค์ดูถูกพวกกบฏว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย พระองค์ทำเป็นไม่สนพระทัย ถ้าใครมาทูลเรื่องพวกกบฏจะต้องถูกตัดหัวทันที

หากแต่ว่าจริงๆแล้วสุยหยางตี้เกรงกลัวพวกกบฏมาก พระองค์ไม่กล้าก้าวขาออกจากเมืองหยางโจวที่ประทับอยู่เลยแม้แต่น้อย พระองค์คิดว่าจะย้ายมาอยู่ที่นี่เป็นการถาวร

ถึงกระนั้นสุยหยางตี้ยังไม่เลิกนิสัยเดิม พระองค์ทรงสั่งให้สร้างปราสาทราชวังขึ้นอย่างมากมายและเสวยสุขกับหญิงสาวต่อไป พระองค์อาจจะทราบว่าจุดจบของพระองค์ใกล้จะมาถึงแล้ว พระองค์จึงต้องการจะเสวยสุขให้สุดๆไปเลย

เหล่าทหารองครักษ์ที่อยู่รายรอบสุยหยางตี้เห็นพระองค์ไม่คิดจะกลับเมืองหลวง พวกเขาจึงเริ่มคิดถึงครอบครัว ประกอบกับเหล่าทหารก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างดีพอ บางส่วนจึงหลบหนีไป ในขณะที่ส่วนใหญ่คบคิดกันเป็นกบฎจะปลงพระชนม์สุยหยางตี้

ในปี ค.ศ. 618 เหล่าทหารองครักษ์และขุนนางจึงพร้อมใจกันเป็นกบฎ พวกเขาบุกเข้าปลงพระชนม์สุยหยางตี้ด้วยการรัดพระศอ สุยหยางตี้จึงสวรรคตในที่สุดในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.618 อายุได้ 49 ปี

ราชวงศ์สุยจึงล่มสลายไปหลังจากการสวรรคตของสุยหยางตี้ ราชวงศ์ถังได้เข้าแทนที่และปกครองอาณาจักรสืบต่อมา ถึงกระนั้นผลงานสำคัญของสุยหยางตี้อย่างคลองต้าอวิ๋นเหอก็ได้สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!