ประวัติศาสตร์เมื่อโจซองตีจ๊กก๊ก: ศึกใหญ่ในยุคสามก๊กที่นิยายไม่ได้กล่าวถึง

เมื่อโจซองตีจ๊กก๊ก: ศึกใหญ่ในยุคสามก๊กที่นิยายไม่ได้กล่าวถึง

ถ้าจะกล่าวถึงโจซอง (เฉาซวง, 曹爽) แล้ว แฟนๆ นิยายสามก๊กคงจะคิดถึงเหตุการณ์ที่เขาแย่งชิงอำนาจกับสุมาอี้ แต่พ่ายแพ้เสียที ทำให้ตัวเขาและพรรคพวกถูกกวาดล้างจากราชสำนัก และส่งผลให้ตระกูลสุมาขึ้นเรืองอำนาจในดินแดนวุยก๊ก

หากแต่ว่าจริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของความพินาศของโจซองไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างฉับพลัน แต่เกิดจากยุทธการครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่หลอกว้านจงไม่เคยกล่าวถึงเลยในนิยายสามก๊กของเขา ยุทธการที่ว่าก็คือยุทธการแห่งซิงชื่อ

ผมบอกได้เลยว่ายุทธการนี้จะตอบคำถามของหลายๆ คนได้อย่างดี อาทิเช่นคำถามว่า ทำไมสุมาอี้ถึงไม่บุกตีจ๊กก๊กหลังจากการเสียชีวิตของขงเบ้ง แล้วทำไมฝ่ายวุยถึงเป็นฝ่ายตั้งรับนานกว่า 20-30 ปี และต้องล่วงเข้าถึงสมัยสุมาเจียวถึงจะยกทัพใหญ่ไปตีจ๊กก๊กอีกครั้งหนึ่ง

เรามาดูกันเลยครับมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในยุทธการแห่งซิงชื่อ

อองเป๋ง แม่ทัพใหญ่ฝ่ายจ๊กก๊ก ผู้มีชัยเด็ดขาดเหนือโจซองที่ยุทธการแห่งซิงชื่อ

โจซองไปตีจ๊กก๊ก

หลังจากการสวรรคตของโจยอยฮ่องเต้ โจซองและสุมาอี้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนโจฮอง โอรสน้อยที่ยังเยาว์วัย การที่มีผู้สำเร็จราชการสองคนพร้อมกัน และต่างคนต่างทะเยอทะยานนั้นไม่ต่างอะไรกับการมีสองเสืออยู่ในถ้ำเดียว และจะทำให้เกิดการแตกหักในไม่ช้า

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วในหมู่ผู้อ่านสามก๊ก โจซองอิจฉาริษยาและเกรงกลัวอำนาจและอิทธิพลในกองทัพของสุมาอี้ เขาจึงเสนอให้ฮ่องเต้น้อยแต่งตั้งสุมาอี้เป็นพระราชครู และก็ทำได้สำเร็จ ทำให้สุมาอี้ถูกอัปเปหิออกจากกองทัพไปโดยปริยาย

แม้ว่าสุมาอี้จะไม่ได้ควบคุมกองทัพแล้ว แต่อิทธิพลของสุมาอี้ในกองทัพก็ยังมีอยู่ โจซองจึงปรารถนาจะสร้างชื่อเสียงและอิทธิพลของตนในฐานะแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่บ้าง เขาจึงมองว่าการชนะศึกเหนือแคว้นอื่นน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเป้าหมายของเขาก็คือจ๊กก๊ก แคว้นที่เป็นคู่ศึกกับวุยมาตลอดนั่นเอง

ในปี ค.ศ.244 หรือสิบปีหลังจากที่ขงเบ้งปะทะกับสุมาอี้ที่ทุ่งราบอู่จั้ง โจซองก็ให้เตรียมกองทัพยกไปตีจ๊กก๊ก ทหารวุยที่ยกไปนั้นมีกำลังอย่างน้อย 60,000 คน (อ้างอิงจากบันทึกสามก๊กของเฉินโซ่ว) นอกจากจำนวนนี้โจซองยังให้เกณฑ์ผู้คนอีกมากมายในการตระเตรียมเสบียงอาหารและขนเสบียงในดินแดนอันทุรกันดารของจ๊กก๊กด้วย

ก่อนที่จะยกทัพไปนั้น สุมาอี้ทัดทานอย่างหนักไม่ให้ยกทัพไป แต่โจซองปฏิเสธอย่างแข็งขัน และยืนกรานจะยกทัพไป

โจซองเลือกให้กองทัพวุยเดินหน้าเข้าโจมตีจ๊กก๊กทางถั่งลั่วต้าว เส้นทางยาว 210 กิโลเมตรที่ลัดเลาะไปตามเทือกเขาฉินหลิ่งอันสูงชัน แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่เข้าสู่ดินแดนแม่ของจ๊กก๊ก แต่เส้นทางนี้ถือว่าอันตรายที่สุด เพราะนอกจากเส้นทางจะวิบากแล้ว แหล่งน้ำแต่ละแห่งยังห่างไกลมากที่สุดด้วย

การเดินทัพที่สุ่มเสี่ยงทำให้ทหารวุยหมดกำลังใจก่อนที่จะได้รบ ต่างคนต่างเกลียดชังโจซองที่นำพวกตนมาแส่หาความตายในเส้นทางนรกเช่นนี้ แต่โจซองก็ไม่ย่อท้อ เขาสั่งให้กองทัพทั้งหมดมุ่งหน้าไปด่านยังเผงก๋วน หน้าด่านของเมืองฮันต๋ง

การเตรียมการของจ๊กก๊ก

แม่ทัพใหญ่ที่รับหน้าที่ป้องกันชายแดนของจ๊กก๊กคืออองเป๋ง รองแม่ทัพที่เคยทัดทานม้าเจ๊กที่เกเต๋งนั่นเอง กองทัพของอองเป๋งที่รักษาฮันต๋ง (ฮั่นจงในปัจจุบัน) มีไม่เกิน 30,000 คน แต่อองเป๋งนั้นเป็นแม่ทัพชั้นยอด เขามีความสุขุมรอบคอบอย่างมากแม้ว่าจะอ่านหนังสือไม่ออกเลยสักตัวเดียว

รองแม่ทัพของอองเป๋งหลายคนเสนอให้ทิ้งด่านยังเผงก๋วนเพราะกองทัพวุยมีมาก และให้ตั้งรักษาฮันเสียกับก๊กเสีย สองเมืองสำคัญเอาไว้ แต่อองเป๋งไม่เห็นด้วย เขาเห็นว่าด่านยังเผงก๋วนเป็นเหมือนปากทางสู่จ๊กก๊ก ถ้าตั้งรับที่ด่านยังเผงก๋วนอย่างแข็งแกร่ง กองทัพวุยที่รอนแรมเดินทางมาจะออกจากหุบเขาไม่ได้ และไม่ต่างอะไรกับการติดกับดักโดยธรรมชาติ

ดังนั้นอองเป๋งจึงสั่งให้เหล่าทหารนำธงไปประดับประดาไว้รอบภูเขาซิงชื่อ เพื่อลวงให้ฝ่ายวุยคิดว่ากองทัพจ๊กก๊กมีมาก และไม่กล้าโจมตี ส่วนตัวออกเป๋งและกองทัพก็ยกมาสกัดไว้ที่ปากทางอย่างแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกันราชสำนักจ๊กก๊กที่เฉิงตูได้ทราบข่าวศึก เล่าเสี้ยนจึงให้บิฮุยเป็นแม่ทัพใหญ่ นำกองทัพยกไปสนับสนุนอองเป๋งที่ด่านยังเผงก๋วน

ยุทธการแห่งซิงชื่อ

กองทัพหลวงของโจซองผ่านถั่งลั่วต้าวมาอย่างยากลำบาก ทหารวุยจำนวนมากขาดน้ำเพราะรอนแรมเดินทางมาไกล และตลอดทางแทบไม่มีแหล่งน้ำเลย แต่เมื่อกองทัพวุยมาถึงภูเขาซิงชื่อ โจซองและทหารวุยกลับเห็นธงทหารจ๊กก๊กเรียงรายกันไปสุดลูกหูลูกตา โจซองเห็นเช่นนั้นก็ไม่กล้าจะเข้าโจมตีจึงได้สั่งให้ตั้งค่ายในหุบเขา

เมื่อเวลาผ่านไป กองทัพวุยก็ยิ่งมีปัญหาขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำ เนื่องการขนเสบียงผ่านถั่งลั่วต้าวยากลำบากมาก รองแม่ทัพของโจซองเสนอให้รีบถอยทัพก่อนที่กองทัพหลวงของบิฮุยจากเฉิงตูจะมาถึง แต่โจซองกลับปฏิเสธ

ขณะเดียวกันสุมาอี้ที่อยู่ที่ลั่วหยางทราบถึงสถานการณ์ทั้งหมด เขาจึงส่งจดหมายมายังแฮหัวเทียน (Xiahou Xuan) ที่อยู่ในกองทัพของโจซอง ภายในจดหมายกล่าวถึงว่าถ้ากองทัพหลวงของจ๊กก๊กมาถึง กองทัพวุยจะถูกบดขยี้ยับเยิน ขอให้แฮหัวเทียนเกลี้ยกล่อมโจซองให้ถอยทัพโดยด่วน

แฮหัวเทียนไปเกลี้ยกล่อมโจซองให้ถอยทัพได้สำเร็จ แม้ว่าโจซองจะไม่เต็มใจเท่าไรนักก็ตาม แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะกองทัพหลวงของบิฮุยมาถึงแล้ว บิฮุยสั่งให้กองทัพจ๊กก๊กเข้าตัดทางหนีของฝ่ายวุยทุกด้าน หลังจากนั้นก็เข้าตีกระหน่ำกองทัพวุยที่กำลังถอยทัพที่ภูเขาซิงชื่อ

กองทัพวุยที่ขาดน้ำและเสบียงถูกตีแตกยับเยิน เหลือแต่เพียงโจซองและทหารไม่กี่นายที่เอาตัวรอดไปจากถั่งลั่วต้าวกลับไปยังฉางอานได้

ผลที่ตามมา

ชัยชนะเป็นของฝ่ายจ๊กก๊กเกือบจะเด็ดขาด และทำลายกองทัพโจซองได้เกือบทั้งหมด ทำให้ฝ่ายวุยสูญเสียกำลังคนและทรัพยากรไปมหาศาล (บ้างว่า 15%-20% ของกองทัพที่มีอยู่ทั้งหมด)

หลังจากนั้นราชสำนักวุยเล็งเห็นถึงความยากลำบากในการยกไปตีจ๊กก๊ก วุยก๊กจึงไม่ได้คิดจะยกไปตีจ๊กก๊กอีกเลยนานนับทศวรรษ จนกระทั่งสิบกว่าปีต่อมาที่เกียงอุยเปิดจุดอ่อนสำคัญ สุมาเจียวจึงสั่งให้นำทัพไปตีจ๊กก๊ก และก็ตีได้สำเร็จ

ความพ่ายแพ้ของโจซองยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถของแม่ทัพจ๊กก๊กยุคหลังอย่างเช่นอองเป๋ง แม้ว่าจะไม่ได้รับการยกย่องเท่าไรนักในนิยาย นี่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่สุมาอี้ไม่คิดจะยกมาตีจ๊กก๊กเลยแม้ว่าขงเบ้งจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม

สำหรับโจซองแล้ว เขาสูญเสียเกียรติยศและความนับถือที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วทั้งในราชสำนักไปทั้งหมด โดยเฉพาะในกองทัพ หลังจากที่โจซองกลับไปลั่วหยางได้ไม่กี่ปี สุมาอี้ก็อาศัยอิทธิพลและความนิยมในกองทัพของตนกำจัดโจซองและพรรคพวก และนำตัวไปประหารชีวิตทั้งหมดในปี ค.ศ.249

Sources:

Record of Three Kingdoms, Chen Shou

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!