ประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรมของ "หว่านหรง" ชายาเอกของ "ผู่อี๋" จักรพรรดิจีนองค์สุดท้าย

โศกนาฏกรรมของ “หว่านหรง” ชายาเอกของ “ผู่อี๋” จักรพรรดิจีนองค์สุดท้าย

“หว่านหรง” (婉容) เป็นเพียงหญิงสาวคนหนึ่งได้รับเลือกให้แต่งงานกับอดีตจักรพรรดิหลังจากที่ราชวงศ์ล่มสลายไปแล้ว เธอรู้ดีว่าการแต่งงานครั้งนั้นจะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล แต่เธอคงไม่คิดว่าเธอจะประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายถึงเพียงนี้ในเวลาต่อมา

เหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตของหว่านหรงได้ทำร้ายเธออย่างมากมาย และเป็นส่วนสำคัญที่นำเธอไปสู่จุดจบอันน่าเวทนาด้วย

หว่านหรง

เรื่องที่ท่านอ่านต่อไปนี้ อาจจะฟังดูเหมือนนิยาย แต่มันสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์จริงๆ

เราไปเริ่มดูชีวิตของเธอเลยดีกว่า

กุลสตรีชนชั้นสูง

ชื่อเต็มๆ ของหว่านหรงคือ กัวปู้หลัว หว่านหรง (郭布羅 婉容) เนื่องจากเธอมีเชื้อสายต๋าโว่ (Daur) เธอจึงมีแซ่ที่ยาวกว่าปกติ ในการเรียกชื่อของเธอจึงใช้ธรรมเนียมแมนจูของราชสำนักชิง นั่นคือจะเรียกเฉพาะชื่อหลัง หรือ “หว่านหรง” เท่านั้น

ตระกูลของหว่านหรงเป็นตระกูลชนชั้นสูงในราชสำนักชิง บิดาของเธอเป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในราชสำนักชิง ส่วนมารดาเองก็เป็นเชื้อพระวงศ์ชิง (ร่วมแซ่กับจักรพรรดิชิง) แต่นางกลับสิ้นชีวิตหลังจากให้กำเนิดหว่านหรงในปี ค.ศ.1906 หว่านหรงจึงถูกเลี้ยงดูโดยมารดาเลี้ยง ผู้รักเธอราวกับเป็นบุตรสาวแท้ๆ

บิดาของหว่านหรงอนุญาตให้หว่านหรงเรียนหนังสือได้ตามแบบพี่ชายของเธอ แม้ว่าธรรมเนียมในสมัยนั้น ผู้หญิงมักจะไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนก็ตาม หว่านหรงได้เข้าเรียนในโรงเรียนมิชชันนารีของชาวอเมริกันในเมืองเทียนจิน

โรงเรียนของชาวอเมริกันได้สอนหว่านหรงหลายอย่าง ทำให้หว่านหรงเป็นกุลสตรีจีนที่มีแนวคิดแบบตะวันตก และทำให้เธอรักการเต้นรำ การเล่นเปียโน และการสังสรรค์แบบชาวอเมริกันด้วย

เมื่อหว่านหรงเติบโตขึ้น เธอก็มีใบหน้าที่งดงาม และจัดว่าเป็นสาวสวยคนหนึ่งในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้เธอจึงเข้าข่ายที่จะสมรสกับผู่อี๋ (ปูยี) อดีตจักรพรรดิของราชวงศ์ชิง

การแต่งงาน

ช่วงปี ค.ศ.1921-1922 ผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนเป็นชายหนุ่มวัย 15-16 ปีแล้ว แต่ในบัดนั้นเขาอยู่ในสถานะ “อดีตจักรพรรดิ” เพราะราชวงศ์ชิงล่มสลายไปแล้วในปี ค.ศ.1911

อย่างไรก็ตามรัฐบาลสาธารณรัฐอนุญาตให้ผู่อี๋และเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ ใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังต้องห้ามได้เหมือนเดิม และยังให้คงยศศักดิ์ตามเดิมได้ด้วย ผู่อี๋จึงสามารถเรียกตนเองว่าเป็นจักรพรรดิได้ แม้จริงๆ จะไม่ใช่แล้วก็ตาม

ด้วยความที่ผู่อี๋โตเป็นหนุ่มแล้ว ทำให้เหล่าผู้ใหญ่ในเชื้อพระวงศ์ชิงต้องการให้ผู่อี๋สมรสเสียที ทุกคนจึงนำรูปของหญิงสาวที่เหมาะสมมาให้ผู่อี๋เลือก หนึ่งในรูปเหล่านั้นมีรูปของหว่านหรงอยู่ด้วย

หญิงสาวที่ผู่อี๋เลือกคือ เหวินซิ่ว (文绣) หญิงสาวชนชั้นสูงที่มีเชื้อสายมองโกล แต่ด้วยความที่เหวินซิ่วอายุเพียง 12 ปี และสถานะทางครอบครัวอาจจะไม่ได้สูงมากนัก ทำให้เหวินซิ่วไม่เหมาะกับตำแหน่งหวงโฮ่ว (ฮองเฮา) แม้ว่าจะเป็นแต่ในนามก็ตาม เหล่าผู้ใหญ่จึงขอให้ผู่อี๋เลือกใหม่

สุดท้ายแล้วหญิงสาวคนต่อมาที่ผู่อี๋เลือกคือ หว่านหรงนี่เอง บ้างว่าเหล่าผู้ใหญ่ (มเหสีของอดีตจักรพรรดิ) เป็นผู้แนะนำให้ผู่อี๋เลือกหว่านหรง เพราะเธออายุเท่ากับผู่อี๋ ชาติตระกูลก็สูง บิดาก็เคยเป็นขุนนางใหญ่ในราชสำนัก ผู่อี๋จึงต้องเลือกหว่านหรงตามคำแนะนำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู่อี๋ได้เลือกเหวินซิ่วไปแล้ว ทางผู้ใหญ่จึงจัดให้เหวินซิ่วแต่งงานกับผู่อี๋ด้วยในฐานะสนมเอก ดังนั้นผู่อี๋จะได้แต่งงานกับหญิงสาวสองคนไปในคราวเดียว

ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1922 ได้มีการประกาศโดยทั่วไปว่าอดีตจักรพรรดิจะประกอบพิธีมงคลสมรส เหล่าขันทีจึงไปช่วยเตรียมหว่านหรงให้พร้อมกับการเป็นจักรพรรดินี (แต่ในนาม) ในภายภาคหน้า

เมื่อหว่านหรงได้ทราบข่าว หว่านหรงร้องไห้อย่างมากมาย ในฐานะหญิงสาวที่ซึมซับแนวคิดตะวันตก เธอปรารถนาที่มีสิทธิเสรีภาพ หว่านหรงรู้ดีว่าหลังจากที่เธอแต่งงานกับผู่อี๋แล้ว เธอไม่อาจจะทำทุกสิ่งที่เธอปรารถนาได้อีกต่อไปแล้ว เพราะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในวังอย่างเคร่งครัด

หว่านหรง

ผู่อี๋เล่าในหนังสือของเขาว่า ก่อนที่ทั้งสองจะแต่งงานกัน เขาได้โทรศัพท์ไปหาหว่านหรงหลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาขอให้หว่านหรงปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับเพื่อนคนหนึ่ง เพราะเขาเหงามาก และไม่มีเพื่อนเลยสักคนเดียว หว่านหรงรับคำด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ ราวกับว่าเธอกำลังร้องไห้อยู่

งานแต่งงานของผู่อี๋ หว่านหรง และเหวินซิ่วเกิดขึ้นในปลายปีนั้น พิธีถูกจัดขึ้นในเวลาตีสามและภายใต้แสงจันทร์ที่เต็มดวงตามความเชื่อแมนจูเก่าแก่ที่ว่าคู่สมรสจะได้โชคดี ไม่มีใครทราบว่าชีวิตแต่งงานของทั้งสองจะพังพินาศชนิดที่ไม่ไว้หน้าความเชื่อเดิมแม้แต่น้อย

ในวันแต่งงานเป็นวันแรกที่ผู่อี๋ได้พบกับหว่านหรง เมื่อพิธีเสร็จสิ้น ผู่อี๋ หว่านหรง และเหวินซิ่วได้เดินทางไปยังห้องหอตามธรรมเนียม ชีวิตแต่งงานของหว่านหรงได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ชีวิตแต่งงานของหว่านหรง

ชีวิตแต่งงานของทั้งสามส่อแววเลวร้ายมาตั้งแต่วันแรกแล้ว เพราะหลังจากที่ทั้งสามเข้าไปในห้องหอได้ไม่นาน ผู่อี๋ก็เผ่นออกมาจากห้องทันที และไม่กลับเข้าไปอีกเลย

เอ็ดเวิร์ด แบร์ (Edward Behr) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Last Emperor และเคยได้สัมภาษณ์ขันทีในราชสำนักได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ตั้งแต่เด็ก ผู่อี๋ถูกเลี้ยงอย่างประคบประหงมโดยพวกขันทีและนางในตามการเลี้ยงดูแบบโบราณ ทำให้ผู่อี๋เป็นคนขี้อายมาก นอกจากนี้เพศศึกษายังไม่ถูกสอนให้กับอดีตจักรพรรดิวัย 16 ปีเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่ต้องใช้ความรู้ดังกล่าว ผู่อี๋จึงกังวลและกล้าๆ กลัวๆ ทำให้เขาแสดงออกแบบนี้

อย่างไรก็ตามแบร์ตั้งอีกทฤษฎีหนึ่งว่าผู่อี๋อาจจะมีรสนิยมแบบรักร่วมเพศ ทำให้เขาไม่ชอบพอหญิงสาวก็เป็นได้

หลังจากนั้นหว่านหรงกับผู่อี๋กลับมีความสัมพันธ์แบบ “เพื่อน” มากกว่า “สามีภรรยา” น้องชายของหว่านหรงเล่าว่าผู่อี๋และพี่สาวของเขามักจะขี่จักรยานแข่งกันในพระราชวังต้องห้ามอย่างสนุกสนาน และดูเหมือนว่าทั้งสองเข้ากันได้ดี

นอกจากนี้ผู่อี๋ยังชอบมาแกล้งหว่านหรงในเวลาต่างๆ โดยเฉพาะเวลาที่เธอกำลังศึกษาเรียนรู้อยู่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์แบบสามี-ภรรยาพัฒนาขึ้น ขันทีคนหนึ่งเคยให้ข้อมูลกับแบร์ว่าผู่อี๋มักมาพักกับหว่านหรงในเวลากลางคืน 1 ครั้งทุกๆ 3 เดือน ราวกับว่าทำแบบขอไปทีเพราะมีคนขอให้ทำเสียมากกว่า สังเกตได้จากการที่ผู่อี๋จะอารมณ์เสียมากหลังจากคืนที่ไปพักกับหว่านหรง

ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องแปลกใจว่าผ่านไปนานเท่าใด ทั้งสองก็ไม่มีบุตรด้วยกันเลยสักคนเดียว

หว่านหรงใช้เวลาของเธอไปกับการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามธรรมเนียมจีน ส่วนในเวลาว่างเธอจะเรียนหนังสือกับติวเตอร์ชาวอเมริกันชื่อ Isabel Ingram หว่านหรงเป็นคนที่ตั้งใจเรียนมากคนหนึ่ง เธอใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการเรียนหนังสือและการเล่นดนตรีอย่างไม่เบื่อหน่าย

ผู่อี๋กับหว่านหรง

ชีวิตที่เทียนจิน

หว่านหรงอยู่ในวังต้องห้ามได้ไม่ครบสองปีดี เธอ ผู่อี๋ และเหวินซิ่วก็ถูกขับออกจากวังหลังจากที่ เฝิงยี่ว์เสียง หนึ่งในพวกขุนศึกนำกองทัพบุกเข้ากรุงปักกิ่ง (เป่ยผิงในเวลานั้น) ทำให้ทั้งสามต้องไปอาศัยอยู่ที่คฤหาสน์แห่งหนึ่งในเมืองเทียนจิน ซึ่งเป็นเขตปกครองของญี่ปุ่น

ชีวิตที่เทียนจินกลับเป็นชีวิตที่มีความสุขของหว่านหรง และผู่อี๋ แต่ก็เหมือนเดิมนั่นคือไม่ใช่ในเชิงสามีภรรยา ทั้งสองมีความสุขกับการเข้าสังคมกับชาวต่างชาติมากหน้าหลายตา สำหรับหว่านหรงแล้ว เทียนจินทำให้เธอกลับมามีอิสระอีกครั้งหนึ่ง เธอสามารถไปดูภาพยนตร์ เล่นเทนนิส ไปช็อปปิ้งได้ตามชอบใจ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เธอและผู่อี๋ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้กับตนเอง หว่านหรงเลือกชื่อ “เอลิซาเบธ” ส่วนผู่อี๋เลือกชื่อ “เฮนรี”

ผ่านไปสักพัก ทั้งหว่านหรงและผู่อี๋รู้สึกเบื่อกับสถานะของตนเองโดยเฉพาะเวลาที่พวกข้าเก่าเสนอให้ทั้งสองยังกระทำตนเหมือนกับว่าเป็นจักรพรรดินีและจักรพรรดิ หว่านหรงรู้สึกว่าจะทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร เพราะจีนได้เป็นสาธารณรัฐไปแล้ว

ทั้งสองจึงแก้เบื่อด้วยการช็อปปิ้งอย่างมโหฬาร สินค้าฟุ่มเฟือยมากมายจากร้านค้าทั่วเทียนจินต่างถูกส่งมายังคฤหาสน์ของทั้งสอง

ในช่วงปลายทศวรรษ 20 ผู่อี๋แสดงออกว่าเขาชื่นชอบหว่านหรงมากกว่าเหวินซิ่ว และทำให้เหวินซิ่วรู้สึกอิจฉา ดังนั้นการแข่งขันระหว่างหว่านหรงและเหวินซิ่วจึงเริ่มต้นขึ้นแม้ทั้งสองจะเคยสนิทสนมกันมาก่อนก็ตาม การแข่งขันกันก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการให้ผู่อี๋ซื้อของแพงๆ ให้ตนด้วย ถ้าผู่อี๋ซื้อของดังกล่าวให้อีกคนหนึ่ง

ชีวิตสามคนสามีภรรยาดำเนินไปเช่นนี้ จนกระทั่งเหวินซิ่วทนกับชีวิตดังกล่าวไม่ไหว เธอเองก็ไม่ได้ความรักแบบสามีภรรยาจากผู่อี๋อยู่แล้ว เธอจึงตัดสินใจขอหย่าขาดจากผู่อี๋ แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านอย่างมากก็ตาม แต่เหวินซิ่วแสดงความแน่วแน่และเอาชนะอุปสรรคดังกล่าวได้ทั้งหมด เธอหย่าขาดจากผู่อี๋ในปี ค.ศ.1931

นั่นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างมากของเหวินซิ่ว แม้ชีวิตของเธอในเวลาต่อมาจะไม่ได้สุขสบาย แต่อย่างน้อย เธอก็ไม่ต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกับหว่านหรง เหวินซิ่วได้แต่งงานใหม่และเสียชีวิตภายใต้อ้อมกอดของสามีใหม่ในปี ค.ศ.1953

สู่แมนจูกัว

ตั้งแต่ช่วงที่มาเทียนจินใหม่ๆ ผู่อี๋ได้แนะนำให้ว่านหรงสูบบุหรี่ที่มีส่วนผสมของฝิ่น ผ่านไปไม่นานว่านหรงกลับติดฝิ่นจริงๆ เธอสูบมันหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเธอประสบความเครียดในช่วงที่ใช้ชีวิตกับผู่อี๋

ความสัมพันธ์ของหว่านหรงและผู่อี๋ย่ำแย่ลงในช่วงปี ค.ศ.1928 โดยเฉพาะในช่วงที่มีเรื่องของเหวินซิ่ว สายลับญี่ปุ่นคนหนึ่งรายงานไปยังประเทศแม่ว่า หว่านหรงกับผู่อี๋เคยทะเลาะกันในสวน และด่าว่าผู่อี๋ว่าเป็น “ขันที” แต่ไม่ปรากฏว่าเธอหมายถึงว่าผู่อี๋เป็นพวกรักร่วมเพศหรือไม่

หลังจากที่ผู่อี๋หย่าขาดจากเหวินซิ่วในปี ค.ศ.1931 ผู่อี๋กลับละเลยหว่านหรงโดยสมบูรณ์เพราะผู่อี๋หาว่าเธอทำให้เหวินซิ่วทิ้งเขาไป ความสัมพันธ์ทั้งสองไม่อาจจะกลับคืนได้อีกหลังจากนั้น ความเครียด ความกังวล และความโกรธ ทำให้หว่านหรงติดฝิ่นมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์แม่น้ำเหลืองท่วมครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1931 หว่านหรงได้บริจาคทรัพย์สินจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทำให้เธอได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก

ไม่มีใครรู้ว่านั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่มีผู้ชื่นชมเธอ

หว่านหรงไม่ทราบว่าผู่อี๋ได้ติดต่อกับญี่ปุ่นอย่างลับๆ และปรารถนาจะให้ญี่ปุ่นช่วยสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิจีนอีกครั้ง ญี่ปุ่นได้สนองตอบด้วยการเสนอว่าจะแยกดินแดนแมนจูเรียออกจากจีน และให้ผู่อี๋เป็นจักรพรรดิ

ข้อเสนอดังกล่าวทำให้ผู่อี๋รู้สึกลังเล สำหรับหว่านหรงแล้ว เธอคัดค้านสามีอย่างยิ่งยวด เพราะเธอรู้ดีว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทรยศต่อชาติและปวงชนชาวจีน และถ้าทำลงไปแล้ว ทุกอย่างจะไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีกแล้ว

ญี่ปุ่นจึงส่งโยชิโกะ คาวาชิมา อดีตเจ้าหญิงแมนจูที่ในเวลานั้นเป็นสายลับญี่ปุ่นมาหาผู่อี๋และหว่านหรง ทั้งสองถือว่าโยชิโกะเป็นญาติจึงให้ความสนิทสนมด้วย โยชิโกะจึงฉวยโอกาสเกลี้ยกล่อมผู่อี๋จนยอมรับข้อเสนอของญี่ปุ่น เมื่อผู่อี๋ตอบรับข้อเสนอแล้ว โยชิโกะรีบส่งตัวผู่อี๋ออกไปยังแมนจูเรียทันที

โยชิโกะ คาวาชิมา

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อรัฐบาลจีนทราบเรื่องการทรยศของผู่อี๋จึงได้ส่งกำลังมาจับกุม แต่ช้าไปเสียแล้วเพราะผู่อี๋ได้หนีไปแมนจูเรียแล้ว ทำให้ที่เทียนจินเหลือแต่หว่านหรงเท่านั้น เธอไม่ได้ไปกับสามี เพราะเธอไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขาเลย

เพื่อที่จะเปลี่ยนความคิดหว่านหรง ญี่ปุ่นจึงส่งโยชิโกะมาหาหว่านหรงและใช้คำพูดหว่านล้อมหว่านหรงอย่างมากมาย แบร์วิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่า ถ้าหว่านหรงหย่าขาดจากผู่อี๋เสียในเวลานี้ บั้นปลายของเธอน่าจะดีกว่านี้ สุดท้ายหว่านหรงกลับถูกโยชิโกะเกลี้ยกล่อมโดยอ้างว่า ภรรยาต้องมีหน้าที่ติดตามสามี

ด้วยเหตุนี้หว่านหรงจำต้องเดินทางไปแมนจูเรียอีกคนด้วยการช่วยเหลือของญี่ปุ่น

เมื่อทั้งผู่อี๋และหว่านหรงมาถึงแมนจูเรีย ทั้งสองได้ทราบว่าถูกญี่ปุ่นหลอกแล้ว หลังจากนั้นทั้งสองเปรียบเหมือนนักโทษภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น แม้ว่าจะได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดิและจักรพรรดินีของประเทศใหม่ที่ชื่อ “แมนจูกัว” (หม่านโจวกั๋ว) ก็ตาม ผู่อี๋และหว่านหรงถูกควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่ที่ฉางชุน และต้องปฏิบัติตามคำสั่งญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด ผู่อี๋จึงเป็นแค่หมากที่ช่วยให้ญี่ปุ่นชิงดินแดนมาจากจีนเท่านั้นเอง

ในช่วงดังกล่าวหว่านหรงพยายามจะหลบหนีอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งล้วนแต่ประสบความล้มเหลว ส่วนหนึ่งเพราะผู่อี๋เองไม่ให้ความร่วมมือเลย หว่านหรงจึงหันเข้าหาฝิ่นมากขึ้น และสูบมันมากขึ้นตามลำดับ เงินรายเดือนของเธอเกือบทั้งหมดถูกใช้ไปกับการซื้อฝิ่นมาสูบ การติดฝิ่นทำให้สุขภาพทางกายและใจของหว่านหรงย่ำแย่ลงตามลำดับ เมื่อรวมกับแนวคิดต่อต้านญี่ปุ่นของเธอ ทำให้ญี่ปุ่นพยายามจำกัดไม่ให้เธอออกมาสู่ที่สาธารณชนโดยเด็ดขาด

ต่อมาในปี ค.ศ.1937 ผู่เจี๋ยน้องชายของผู่อี๋ได้แต่งงานกับ ฮิโระ ซากะ พระญาติสายหนึ่งของจักรพรรดิญี่ปุ่น ในช่วงแรกทั้งหว่านหรงและผู่อี๋ต่างไม่ไว้ใจเธอ เพราะเกรงว่าเธอจะเป็นสายลับญี่ปุ่น แต่เธอได้สามารถทำให้ทั้งสองไว้ใจได้ในเวลาต่อมา

ซากะพยายามฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างผู่อี๋และหว่านหรงด้วยการขอให้ทั้งสองมานั่งรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน แต่ระหว่างรับประทานอาหารนั่นเอง หว่านหรงได้แสดงให้เห็นว่าสมองและความคิดความอ่านของเธอถูกกระทบจากการติดฝิ่นเพียงใด เพราะหว่านหรงไม่ใช้ตะเกียบแต่กลับใช้มือของเธอกินอาหารแทน

อย่างไรก็ตาม ซากะได้เขียนบันทึกในเวลาต่อมาในเชิงเข้าข้างหว่านหรง เธออธิบายว่าผู่อี๋มีพฤติกรรมประหลาดหลายอย่าง และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้หว่านหรงเสพฝิ่นหนักเช่นนี้

ผู่เจี๋ยและซากะ เธอเป็นผู้ที่ดูแลหว่านหรงจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่ไม่ได้เห็นการจากไปของเธอ

หว่านหรงมีชู้

ในปี ค.ศ.1940 ผู่อี๋เดินทางไปยังญี่ปุ่น ทำให้หว่านหรงต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นที่ฉางชุน ความเหงาและเปล่าเปลี่ยวทำให้หว่านหรงแอบคบชู้กับคนขับรถของผู่อี๋ (ตัวผู่อี๋บอกว่าเป็นนายทหารญี่ปุ่น)

ผลที่ตามมาคือ หว่านหรงกลับตั้งครรภ์ขึ้นมา!

เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นทราบก็โกรธมาก และส่งคนมาต่อว่าผู่อี๋ ผู่อี๋จึงมาหาหว่านหรงและทะเลาะกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นตบตีกัน บ้างว่าหว่านหรงขอให้ผู่อี๋ยอมรับว่าเด็กในครรภ์เป็นบุตรของตน หรือไม่ก็ให้เด็กคนนี้ไปให้คนอื่นเลี้ยงดูนอกวัง

หลังจากที่หว่านหรงคลอดบุตรสาวออกมา แบร์ได้เขียนในหนังสือของเขาว่าหว่านหรงถูกบังคับให้มองดูนายแพทย์ชาวญี่ปุ่นสังหารบุตรสาวของเธอในวินาทีนั้น วิธีการสังหารล้วนแต่สยดสยองทั้งสิ้น ผู้เขียนขอไม่ระบุในที่นี้

การเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวได้กระทบจิตใจของหว่านหรงมาก เธอหมดอาลัยตายอยากในชีวิต และใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความเศร้าโศก หว่านหรงหาทางออกด้วยการเสพฝิ่นมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งๆที่โดยทั่วไปก็สูบมากอยู่แล้ว ร่างกายของหว่านหรงจึงไม่มีทางที่จะฟื้นฟูกลับมาได้ บิดาของหว่านหรงปฏิเสธที่จะเดินทางไปพบเธอ เพราะเขาไม่ต้องการเห็นสภาพของลูกสาวที่เคยเป็นหญิงงามที่มีมารยาทเรียบร้อยคนหนึ่งว่าได้เปลี่ยนแปลงเป็นเช่นไร

ตลอดเวลาที่เกิดเรื่องเช่นนี้กับหว่านหรงนั้น ผู่อี๋ไม่ได้แสดงท่าทีห่วงใยหรือปกป้องอะไรเธอเลย ทำให้แบร์โจมตีว่าเขาขี้ขลาด

วาระสุดท้ายของหว่านหรง

ในปี ค.ศ.1945 กองทัพโซเวียตบุกเข้าแมนจูกัว และบดขยี้กองทัพญี่ปุ่นแตกกระเจิงอย่างรวดเร็ว ผู่อี้เลือกที่จะทิ้งหว่านหรงตามคำแนะนำ (หรือบังคับ) ของนายทหารญี่ปุ่น และเร่งเดินทางไปยังญี่ปุ่นก่อน แต่ทว่าเขากลับหนีไม่รอดและถูกจับกุมโดยทหารโซเวียต

ก่อนที่ผู่อี๋จะหนีไปนั้น เขาได้ฝากให้ซากะดูแลหว่านหรงที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เพราะติดฝิ่นอย่างหนัก ซากะและหว่านหรงพยายามหลบหนีไปยังเกาหลี แต่ทว่าพวกเธอกลับถูกจับกุมโดยกองทหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พวกคอมมิวนิสต์ทราบในไม่ช้าว่าหว่านหรงเป็นใคร พวกเขาจึงนำหว่านหรงเข้าไปขังไว้ในคุก และเปิดให้ประชาชนคนทั่วไปมาดูเธอ ประชาชนแถบนั้นจึงแห่มาดูหว่านหรงราวกับว่ามาสวนสัตว์ ในเวลานั้นหว่านหรงกลับไม่รู้สึกอาย เพราะเธอกำลังลงแดงอย่างหนักจากการที่เธอไม่ได้เสพฝิ่นมาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว

ซากะที่ถูกจับกุมด้วยจำต้องช่วยดูแลเธอ สิ่งที่หว่านหรงพร่ำร้องอยู่ตลอดเวลาคือต้องการฝิ่นมาสูบเท่านั้น ภายในเวลาไม่นานหว่านหรงกลับมีอาการจิตหลอน และคิดว่าเธออยู่ในพระราชวังต้องห้ามเช่นในอดีต เธอกรีดร้องเสียงดังลั่นและตะโกนสั่งพวกผู้คุมราวกับว่าพวกเขาเป็นข้าราชบริพารของเธอ บางครั้งหว่านหรงเรียกร้องหาบุตรสาวที่จากไปแล้ว ทำให้ผู้คุมคนหนึ่งบอกซากะว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะดูแลเธอ เพราะว่าเธอคงอยู่ได้อีกไม่นาน

เป็นจริงอย่างที่ผู้คุมคนดังกล่าวว่าไว้ ไม่นานหลังจากที่ซากะถูกนำตัวไปจากเธอ หว่านหรงสิ้นชีวิตลงในปี ค.ศ.1946 เพราะอาการลงแดงและขาดสารอาหาร เธอมีอายุได้เพียง 39 ปีเท่านั้น ร่างของหว่านหรงจมสารคัดหลั่งของตนเอง และจากไปโดยปราศจากผู้เหลียวแล

สิ่งที่น่าสลดคือในเวลานั้นไม่มีใครสงสารหว่านหรงเลย เพราะทุกคนรู้ว่าผู่อี๋และเธอเป็นพรรคพวกของญี่ปุ่นที่เป็นศัตรูของจีน ไม่มีใครทราบว่าหว่านหรงถูกหลอกและไม่เคยเต็มใจเข้าข้างญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย ร่างของหว่านหรงไม่ได้ทำพิธีศพ และไม่ปรากฏว่าร่างของเธอถูกฝังลง ณ ที่ใด

เรื่องราวของหว่านหรงจึงเป็นโศกนาฏกรรมบทหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์จีน อย่างไรก็ดีในปี ค.ศ.2006 น้องชายคนหนึ่งของเธอได้ทำพิธีศพให้กับเธอที่สุสานตะวันตกแห่งราชวงศ์ชิง ดวงวิญญาณของเธอคงไปสู่สุคติแล้ว

Rest In Peace

Sources:

  • Puyi, From Emperor to Citizen
  • Behr, The Last Emperor

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!