ประวัติศาสตร์ถังเจาจง ฮ่องเต้ถังผู้พยายามขวางกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ ตอนที่ 1

ถังเจาจง ฮ่องเต้ถังผู้พยายามขวางกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ ตอนที่ 1

ถังเจาจง (Emperor Zhaozong of Tang) เป็นฮ่องเต้ที่ผมมองว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะรู้จัก เพราะพระองค์ไม่ใช่ฮ่องเต้ที่นำราชวงศ์ไปสู่ความยิ่งใหญ่เหมือนกับถังไท่จงหรือบูเช็คเทียน และก็ไม่ได้มีดราม่ามากมายเหมือนกับถังเสวียนจง (ถังหมิงหวง) สามีของหยางกุ้ยเฟย

อย่างไรก็ดีจากที่ผมได้อ่านประวัติของถังเจาจงมาแล้วนั้น ผมกลับมองว่าประวัติของพระองค์น่าสนใจมาก เนื่องจากพระองค์เป็นฮ่องเต้คนเกือบสุดท้ายของราชวงศ์ถัง แต่พระองค์กลับไม่ได้เป็นทรราชเหมือนกับฮ่องเต้คนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานะเดียวกันอย่างเช่น ฮั่นหลิงตี้ที่ทำให้ราชสำนักตกต่ำจนไม่สามารถฟื้นฟูได้อีก

ในทางตรงกันข้าม ถังเจาจงกลับเป็นฮ่องเต้ที่ทรงงานหนัก พระองค์พยายามทำทุกวิถีทางที่จะสกัดพวกกลุ่มขุนศึกที่กำลังทำลายราชวงศ์จากด้านนอก และพวกกังฉินและขันทีที่ทำลายราชวงศ์จากด้านใน แม้ว่าในบั้นปลาย พระองค์จะล้มเหลว แต่ความพยายามของพระองค์นั้นควรค่าต่อการยกย่อง

เราไปดูกันดีกว่าครับ ชีวิตของถังเจาจงจะเป็นอย่างไร

ถังเจาจง

แผ่นดินที่กำลังจะเสื่อมสลาย

ถังเจาจงนั้นมีนามเดิมว่าหลี่เจี๋ย พระองค์เป็นโอรสของถังอี้จง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถัง โดยหลี่เจี๋ยนั้นเกิดกับพระสนมหวาง ในหน้าประวัติศาสตร์ไม่ได้ระบุเอาไว้มียศตำแหน่งอันใด ดังนั้นน่าจะอนุมานได้ว่านางน่าจะเป็นนางสนมต่ำต้อยคนหนึ่ง หลังจากที่หลี่เจี๋ยเกิดได้ไม่นาน มารดาของเขาก็สิ้นชีวิตลง

พงศาวดารไม่ได้ระบุหลังจากนั้นว่าชีวิตของหลี่เจี๋ยหลังจากกำพร้าแม่เป็นอย่างใดมากนัก บ้างว่าหวางกุ้ยเฟย มารดาของหลี่เหยี่ยนนำไปเลี้ยงดู และทำให้หลี่เจี๋ยสนิทสนมกับหลี่เหยียนนับตั้งแต่บัดนั้น

รัชกาลของถังอี้จงเป็นช่วงที่ราชสำนักฟอนเฟะมาก เพราะพวกขุนศึกและขันทีมีอำนาจ ขณะเดียวกันราชสำนักก็เก็บภาษีอย่างมากมายเพื่อไปบำรุงบำเรอชนชั้นสูง สร้างวัดวาอาราม ตลอดจนจัดพิธีทางศาสนาอย่างใหญ่โต แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ท้องพระคลังจึงยิ่งร่อยหรอไปตามลำดับ

ไม่เพียงเท่านั้นช่วงปลายรัชกาลนั้น แผ่นดินจีนคงยังแห้งแล้งอย่างหนัก เรือกสวนไร่นาแทบไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ราษฎรมากมายจึงพากันอดอาหารตายเป็นจำนวนมาก ส่วนคนที่เหลือรอดก็เฝ้ารอการลุกฮือครั้งใหญ๋ที่จะปลดแอกพวกตนเสียที

แต่ความเดือดร้อนของพวกเขากลับไปไม่ถึงถังอี้จงที่สั่งให้จัดงานสักการะพระเขี้ยวแก้วในเมืองฉางอาน (ซีอาน) อย่างใหญ่โต

จริงๆ แล้วก่อนจะจัดงานนั้น ถังอี้จงได้ถูกพวกขุนนางทัดทานอย่างหนัก เพราะพวกเขาอ้างว่ากลัวถังอี้จงจะสวรรคตเหมือนกับฮ่องเต้องค์ก่อนอย่างถังเซี่ยนจง ผู้จากไปหลังจากสักการะพระเขี้ยวแก้วได้ไม่นาน แต่จริงๆ แล้วน่าจะทูลเตือนเพราะสาเหตุว่าจะเกิดกบฏมากกว่า เนื่องจากการจัดงานนั้นต้องรีดภาษีเพิ่มเติมอีกมากมาย

แต่สรุปแล้วถังอี้จงก็ไม่ได้นำพา พระองค์ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จนถึงกับตรัสว่า

ถ้าข้าได้เห็นพระเขี้ยวแก้วตอนยังมีชีวิต ถึงข้าตายก็ไม่เสียใจ

งานพิธีจบลงไปด้วยดี แต่หลังจากนั้นไม่นาน ถังอี้จงกลับประชวรหนักจนไม่สามารถเอ่ยปากได้ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นทันทีเพราะฮ่องเต้ในวัย 39 ปีไม่ได้แต่งตั้งรัชทายาทเอาไว้

ด้วยเหตุนี้พวกขันทีจึงฉวยโอกาสนำกำลังของตนเข้ายึดวังหลวง และแต่งตั้งหลี่เหยี่ยนเป็นรัชทายาท ในวันรุ่งขึ้นถังอี้จงก็สวรรคตลง พระองค์มีอายุแค่ 39 ปีเท่านั้นเอง หลี่เหยี่ยนจึงได้ครองราชย์สืบต่อโดยมีนามว่าถังซีจง

ถังซีจงนั้นยังเยาว์วัยมาก เพราะอายุได้เพียง 11 ปี ดังนั้นพระองค์จึงไม่สามารถตัดสินใจใดๆ ได้ การบริหารราชการทั้งหมดจึงอยู่ในกำมือของพวกขุนนางและขันที

แต่เวลานั้นก็ไม่ได้รอถังซีจง หลังจากที่ถังซีจงเป็นฮ่องเต้ได้ไม่นานก็เกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ที่แล้งจนกระทั่งของรัชกาลดูด้อยไปเลย ชาวบ้านทั่วไปต้องเก็บเมล็ดของดอกบัวมาเป็นอาหาร หรือไม่ก็อดตาย พวกเขาจึงเดือดร้อนแสนสาหัส

หลูซี บัณฑิตเอกแห่งราชสำนักได้ทูลเสนอให้ถังซีจงยกเว้นภาษีให้กับทุกมณฑล และควรส่งความช่วยเหลือออกไปโดยเร็วที่สุดเพื่อปลอบประโลมประชาชน ถังซีจงทรงเห็นชอบด้วยและโปรดให้เริ่มต้นได้ทันที

แต่เรื่องกลับเป็นว่าข้อเสนอของหลูซีกลับไม่ได้นำไปใช้ ดังนั้นประชาชนจึงต้องจ่ายภาษีตามเดิม ส่วนการช่วยเหลือใดๆ ก็ไม่มีเลย

สาเหตุที่เป็นทำให้เป็นเช่นนั้นไม่มีใครทราบ แต่ผมมองว่าถ้าให้เดาก็ไม่ยากเลย โดยน่าจะมาจากสองสาเหตุ

  • มณฑลต่างๆ อยู่ในกำมือของพวกขุนศึกที่ปกครองดินแดนเหล่านั้นแบบสิทธิ์ขาด ดังนั้นจึงไม่ต้องให้ความร่วมมือใดๆ กับราชสำนัก
  • พวกขุนนางกังฉินและขันทีไม่ให้ความร่วมมือ เพราะนโยบายของหลูซีทำให้พวกตนไม่อาจโกงภาษีได้อย่างอิ่มหมีพีมันเหมือนกับแต่ก่อน

ดังนั้นเหล่าราษฎรจึงพากันอดตายราวกับใบไม้ร่วง ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็ทำตัวเป็นโจรคอยปล้นชิงไปทั่ว แผ่นดินจีนในเวลานั้นจึงไม่ต่างอะไรกับยุคมิคสัญญีเลยแม้แต่น้อย

จนกระทั่งในปี ค.ศ.874 หวางเซี่ยนจื่อและหวงเฉาได้รวบรวมผู้คนจำนวนมากและตัดสินใจลุกฮือขึ้นเป็นกบฏ หลังจากนั้นปรากฏว่ามีกลุ่มอื่นๆ มากมายลุกฮือขึ้นเป็นกบฏด้วย ทั่วทั้งแผ่นดินจีนจึงมีการสู้รบอย่างไม่หยุดหย่อน

หนีตายไปยังเสฉวน

ราชสำนักถังตอบสนองด้วยการให้พวกขุนศึกที่อยู่ตามมณฑลต่างๆ ปราบกบฏ แต่พวกขุนศึกก็ทำแบบขอไปที ในบางครั้งก็มีชัยเหนือพวกกบฏได้ แต่กลับไม่ตามตีต่อบ้าง ทำให้พวกทหารกบฏนั้นถึงแม้จะพ่ายแพ้แต่ก็สะสมประสบการณ์ในการสู้รบเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผ่านไปสามปีราชสำนักก็ยังปราบพวกกบฏไม่ได้ สุดท้ายจึงเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นไม้อ่อนผสมกับไม้แข็ง นั่นคือส่งกองทัพไปปราบพวกกบฏที่เข้มแข็งและเจรจากับพวกหัวอ่อนเพื่อให้ยอมจำนน ในช่วงแรกกลยุทธ์นี้ก็ได้ผลอยู่บ้าง เพราะกองทัพกบฏของหวางเซี่ยนจื่อถูกตีแตกพ่าย และตัวหวางเซี่ยนจื่อก็ตายในการรบอีกด้วย

อย่างไรก็ดีกลยุทธ์นี้ทำให้ทหารกบฏที่เหลืออยู่ไปสมทบกับหวงเฉา จนทำให้เขาเป็นผู้นำสูงสุดของพวกกบฏแต่เพียงผู้เดียว นับตั้งแต่บัดนั้นพวกกบฏก็เริ่มต่อสู้อย่างเข้มแข็งขึ้น ทหารกบฏมีชัยเหนือทหารหลวงครั้งแล้วครั้งเล่า และตีเมืองต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ.880 หวงเฉาก็ยกกองทัพเข้าตีเมืองลั่วหยางและฉางอาน เขาประกาศก้องว่าจะจับถังซีจงมาลงอาญาให้จงได้ ปรากฏว่าทหารหลวงต้านเอาไว้ไม่อยู่ เพราะไม่มีกำลังใจจะรบ ต่างคนต่างหนีเอาชีวิตรอด ดังนั้นราชสำนักถังจึงเสียทั้งเมืองลั่วหยางและด่านท่งกวนในชั่วพริบตา

กองทัพกบฏยกเข้าใกล้เมืองฉางอานมาทุกที เหล่าขุนนางต่างทูลให้ถังซีจงเสด็จหนี ถังซีจงจึงเสด็จหนีไปยังเมืองเฉิงตูในมณฑลเสฉวน โดยมีหลี่เจี๋ยติดตามไปด้วย

การที่หลี่เจี๋ยได้ติดตามฮ่องเต้ไปด้วยนั้นก็เพราะตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์คนสนิท ซึ่งก็เป็นโชคของเขาด้วย เพราะเหล่าเชื้อพระวงศ์ถังที่หนีไม่ทันนั้นล้วนแต่ถูกทหารกบฏสังหารจนหมดสิ้น

อย่างไรก็ดีในตอนนั้นหลี่เจี๋ยอายุได้เพียง 13 ปีเท่านั้น การดิ้นรนเอาชีวิตรอดครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของเขา แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชะตาชีวิตอันแสนรันทดนั่นเอง

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

References:

  • Old Book of Tang
  • Zizhi Tongjian

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!