ประวัติศาสตร์เฟิงไท่โฮ่ว ตัวตนในหน้าประวัติศาสตร์ของเจ้าหญิงเว่ยยัง (Princess Weiyoung)

เฟิงไท่โฮ่ว ตัวตนในหน้าประวัติศาสตร์ของเจ้าหญิงเว่ยยัง (Princess Weiyoung)

ซีรีส์จีนเรื่องเจ้าหญิงเว่ยยัง (The Princess Weiyoung, 锦绣未央 หรือจิ่นซิ่วเว่ยยัง) เป็นหนึ่งในซีรีส์จีนที่ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศจีน เพราะนอกจากเนื้อเรื่องจะสนุกและเข้มข้นแล้ว ตัวซีรีส์ยังนำเสนอเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลายคนรวมทั้งตัวผมเองจะชอบเรื่องนี้อย่างมากครับ

คำถามที่น่าสนใจก็คือนางเอก หรือเจ้าหญิงเว่ยยังนั้นมีตัวตนในหน้าประวัติศาสตร์หรือไม่?

คำตอบก็คือ มีครับ แต่ชีวิตของเธอไม่ได้เหมือนในซีรีส์เท่าใดนัก ถึงแม้ว่าจะมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นอยู่บ้างก็ตาม

เราไปดูกันดีกว่าครับ ชีวิตของเจ้าหญิงเว่ยยังในหน้าประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร

ซีรีส์เรื่อง Princess Weiyoung (เจ้าหญิงเว่ยยัง) เล่าถึงชีวิตของเจ้าหญิงเฟิงในรูปแบบของนิยาย (ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์)

เฟิงหวงโฮ่ว

ชื่อของเจ้าหญิงตระกูลเฟิงผู้นี้สูญหายไปในหน้าประวัติศาสตร์ ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงไม่ทราบว่าชื่อที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือ เธอเป็นหลานสาวของเฟิงหง ฮ่องเต้ของราชวงศ์เป่ยเยียน (เยียนเหนือ) ราชวงศ์สั้นๆ ที่ครองพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนใกล้กับกรุงปักกิ่ง

อย่างไรก็ดีเมื่อเธอเกิดมานั้น ราชวงศ์เป่ยเยียนสิ้นชาติไปนานหลายปีแล้ว เฟิงหล่าง บิดาของเธอจึงได้สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์เป่ยเว่ย (เว่ยเหนือ) และได้รับการไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าเมือง แต่ปรากฏว่าเฟิงหล่างกลับถูกร้องเรียนว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อราชสำนัก (ไม่แน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่) ทำให้เฟิงหล่างถูกจับประหารชีวิต ส่วนเจ้าหญิงวัยเยาว์ถูกนำตัวเข้ามารับใช้ในวัง

โชคยังดีที่เจ้าหญิงยังมีป้าที่เป็นพระสนมของจักรพรรดิไท่หวู่แห่งราชวงศ์เป่ยเว่ย (ฮ่องเต้ในซีรีส์) ที่ครองราชย์อยู่ในขณะนั้น ทำให้เธอได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี และน่าจะได้รับการศึกษาไม่แพ้บุรุษด้วย เพราะเธออ่านหนังสือออก และมีความเก่งกาจในวิชาคณิตศาสตร์

หลังจากที่เหล่าขุนนางได้กำจัดขันทีจงไอ้ที่ปลงพระชนม์ทั้งจักรพรรดิไท่หวู่และถั่วป๋าหยี่ว์ (เล่นโดย Vanness) ได้สำเร็จ ถั่วป๋าจวิน (พระเอกของซีรัส์) ซึ่งในขณะนั้นอายุเพียง 12 ปีก็ได้ขึ้นครองราชย์ในนามจักรพรรดิเหวินเฉิง

สามปีต่อมาเมื่อฮ่องเต้บรรลุนิติภาวะ เจ้าหญิงเฟิงก็ได้ถวายตัวเป็นพระสนมในตำแหน่งกุ้ยเหริน ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นหวงโฮ่ว (ฮองเฮา) ในเวลาต่อมาในนามเฟิงหวงโฮ่ว

พงศาวดารและหลักฐานต่างๆ ไม่ได้เล่าว่าความสัมพันธ์ของเฟิงหวงโฮ่วกับจักรพรรดิเหวินเฉิงผู้เป็นสวามีนั้นเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือทั้งสองไม่ได้มีโอรสด้วยกัน โอรสที่เห็นในซีรีส์หรือถั่วป๋าหงนั้นเป็นโอรสของพระสนมหลี่ พระสนมอีกคนหนึ่งของจักรพรรดิเหวินเฉิง

อย่างไรก็ดีพระสนมหลี่ถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายหลังจากถั่วป๋าหงได้รับการแต่งตั้งรัชทายาทตามธรรมเนียมของชาวเซียนเปย (ราชวงศ์เป่ยเว่ยมีเชื้อสายเซียนเปย ไม่ใช่ชาวจีนฮั่น ดังนั้นน่าจะตอบข้อสงสัยได้ว่า ทำไมเครื่องแต่งกายในซีรีส์นั้นต่างกับเรื่องอื่นๆ) ดังนั้นเฟิงหวงโฮ่วจึงได้ทำหน้าที่เลี้ยงดูถั่วป๋าหงให้เติบใหญ่

ถึงกระนั้นน่าจะสันนิษฐานได้ว่าเฟิงหวงโฮ่วน่าจะรักจักรพรรดิเหวินเฉิงไม่น้อย เพราะหลังจากที่จักรพรรดิเหวินเฉิงสวรรคตในปี ค.ศ.465 ด้วยวัยเพียง 25 ปี เฟิงหวงโฮ่วที่เสียใจมากได้พยายามกระโจนเข้ากองไฟในงานศพ ซึ่งใช้เผาข้าวของของคนตายตามธรรมเนียมเซียนเปย แต่เคราะห์ดีที่เหล่าทหารช่วยเหลือนางเอาไว้ได้

แย่งชิงอำนาจ

บัลลังก์เป่ยเว่ยจึงตกอยู่กับ ถั่วป๋าหง ลูกเลี้ยงของเฟิงหวงโฮ่วที่ในขณะนั้นมีอายุได้เพียง 11 ปี เฟิงหวงโฮ่วจึงได้รับการอวยยศเป็นเฟิงไท่โฮ่ว (ไทเฮา) ซึ่งพระนางเป็นไทเฮาวัยสาว เพราะว่ามีอายุเพียง 23-24 ปีเท่านั้นเอง

ด้วยความที่ฮ่องเต้ยังเป็นเด็กจึงต้องมีผู้สำเร็จราชการไปพลางก่อน แต่เฟิงไท่โฮ่วกลับไม่ได้เป็นผู้สำเร็จราชการ เพราะอำนาจทั้งหมดในราชสำนักตกอยู่กับขุนนางใหญ่อย่าง อี่ฝูหุน (Yifu Hun) ผู้ฉวยโอกาสที่บัลลังก์ว่างลงเข้ากุมอำนาจและกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยม

สถานการณ์ในตอนนั้นจึงถือได้ว่ายากลำบากสำหรับราชวงศ์เป่ยเว่ย เพราะในช่วงเวลานี้ของประวัติศาสตร์จีนนั้นมีแต่การแย่งชิงอำนาจในลักษณะนี้ (อย่างเช่นหยางเจียนเป็นต้น) นั่นคือ

  1. ขุนนางที่มักใหญ่ใฝ่สูงสักคนหนึ่งสร้างฐานกำลังได้สำเร็จด้วยการคุมราชสำนักและกองทัพไว้ได้โดยเด็ดขาด และกำจัดศัตรูทางการเมืองในระดับขุนนางด้วยกันจนหมดสิ้น
  2. บีบให้ฮ่องเต้หรือไท่โฮ่วมอบตำแหน่งสูงๆ ให้กับตนอย่างรวดเร็ว ถ้าตาม pattern คือจะต้องขึ้นเป็นอ๋อง (หวาง)
  3. ปิดท้ายด้วยการชิงบัลลังก์ สถาปนาราชวงศ์ใหม่

ดังนั้นเรียกได้ว่าอี่ฝูหุนดำเนินการตามขั้นตอนแรกไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งต่อมาไม่นานอี่ฝูหุนก็ให้เฟิงไท่โฮ่วยกตนเองขึ้นเป็นไท่หยวนหวาง ถึงตอนนี้เหลือแต่ขั้นตอนสุดท้าย เพียงเท่านี้อี่ฝูหุนก็จะสถาปนาราชวงศ์ของตนเองได้สำเร็จ

อี่ฝูหุนกลับไม่ทันระวังตัวว่าไท่โฮ่ววัยสาวจะกล้าลงมือกำจัดตนเอง ในปี ค.ศ.466 เฟิงไท่โฮ่วคบคิดกับขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาสที่อี่ฝูหุนกำลังกำจัดศัตรูทางการเมืองเข้าจับกุมตัวอี่ฝูหุนไปประหารชีวิต และกวาดล้างพรรคพวกของเขาทั้งหมด ดังนั้นฐานกำลังของอี่ฝูหุนจึงสิ้นไป ราชวงศ์เป่ยเว่ยจึงกลับมาปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่อี่ฝูหุนหมดอำนาจแล้ว เฟิงไท่โฮ่วจึงได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการอยู่เป็นเวลานานปีเศษ เมื่อถั่วป๋าหงอายุครบ 13 ปี พระนางจึงได้ถวายอำนาจขึ้นกลับสู่ฮ่องเต้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่หาได้ยาก เพราะส่วนมากแล้วไท่โฮ่วที่แย่งชิงอำนาจมาได้สำเร็จอย่างเช่น บูเช็คเทียนหรือซูสีไทเฮามักจะเก็บอำนาจไว้กับตัวจนสวรรคต ดังนั้นถือได้ว่าเฟิงไท่โฮ่วเป็นไท่โฮ่วที่ใช้ได้พระองค์หนึ่ง

ถึงกระนั้นพระนางก็ยังมีอิทธิพลอยู่ในราชสำนัก หาใช่ว่าจะละทิ้งการเมืองไปเลยเสียทีเดียว

สังหารฮ่องเต้?

ถั่วป๋าหงหรือจักรพรรดิเซี่ยนเหวินเป็นฮ่องเต้ที่ดีพระองค์หนึ่ง พระองค์ทำงานหนัก มีใจรักความยุติธรรมและซื่อสัตย์ นอกจากนี้ยังมีความเป็นปราชญ์ กล่าวคือพระองค์โปรดปรานการศึกษาศาสนาและปรัชญาทั้งศาสนาพุทธและเต๋า (ต่างจากจักรพรรดิไท่หวู่ ทวดของพระองค์ที่เกลียดชังศาสนาพุทธ)

อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ระหว่างเฟิงไท่โฮ่วกับจักรพรรดิที่เป็นลูกเลี้ยงกลับย่ำแย่ลงตามลำดับ สาเหตุคือจักรพรรดิเซี่ยนเหวินได้ทราบมาว่าเฟิงไท่โฮ่ว ซึ่งในเวลานั้นอายุยังไม่ถึง 30 ปีดี ลักลอบเป็นชู้กับหลี่อี้ ขุนนางคนหนึ่งในราชสำนัก จักรพรรดิเซี่ยนเหวินรู้สึกไม่พอใจแต่ก็ยังไม่ได้ทำอันใด เพราะว่าไม่มีโอกาส จนกระทั่งในปี ค.ศ.470 โอกาสก็มาถึง

เรื่องมีอยู่ว่า หลี่ซิน ขุนนางคนหนึ่งถูกจับในข้อหาฉ้อโกงราชสำนัก หลี่ซินผู้นี้เป็นเพื่อนสนิทกับพี่ชายของหลี่อี้ จักรพรรดิเซี่ยนเหวินเห็นเป็นโอกาสจึงบอกกับหลี่ซินว่าถ้าหลี่ซินยอมซัดทอดหลี่อี้และพี่ชาย เขาจะได้รับการงดเว้นการประหาร ในตอนแรกหลี่ซินไม่ยินยอม แต่เพราะการทรมานหรือข้อเสนอบางประการทำให้หลี่ซินยอมซัดทอดทั้งสองทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด

หลังจากนั้นจักรพรรดิเซี่ยนเหวินจึงฉวยโอกาสประหารชีวิตหลี่อี้ ชู้รักของมารดาเลี้ยงเสียแบบเนียนๆ ผลของเหตุการณ์นี้ทำให้เฟิงไท่โฮ่วโกรธมาก ความสัมพันธ์ของทั้งสองจึงเลวร้ายลงอย่างมากนับตั้งแต่บัดนั้น

ต่อมาในปี ค.ศ.471 จักรพรรดิเซี่ยนเหวินสละราชสมบัติให้กับโอรสวัย 4 ขวบนามว่าถั่วป๋าหง (ชื่ออ่านเหมือนพ่อ แต่ใช้อักษรจีนคนละตัว) เพราะปรารถนาจะทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาทางด้านปรัชญา และการตัดสินคดีความ แต่ด้วยความที่ฮ่องเต้ใหม่ยังเด็กมาก อดีตจักรพรรดิเซี่ยนเหวินจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน

แต่แล้วความแปลกก็เกิดขึ้น เพราะจักรพรรดิเซี่ยนเหวินกลับสวรรคตในปี ค.ศ.476 ด้วยวัยเพียง 22 ปี ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับอดีตจักรพรรดิผู้นี้ แต่ตำนานส่วนมากเล่าว่าเฟิงไท่โฮ่วยังโกรธแค้นที่จักรพรรดิเซี่ยนเหวินใช้วิธีสกปรกสังหารหลี่อี้ ดังนั้นจึงใช้ให้คนไปลอบวางยาพิษจนสวรรคต หรืออีกกระแสหนึ่งคือหลอกอดีตฮ่องเต้ให้มาเข้าวัง แล้วนำตัวไปสังหาร

แนวคิดเรื่องเฟิงไท่โฮ่วสังหารอดีตฮ่องเต้ผู้เป็นโอรสเลี้ยงเพราะโกรธแค้นเรื่องชู้รักนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักประวัติศาสตร์สายหลัก อย่างเช่นซือหม่ากวงแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือเป็นต้น ถึงกระนั้นไม่มีหลักฐานใดหลงเหลือมาถึงปัจจุบันที่ชี้ชัดว่าเป็นฝีมือของเฟิงไท่โฮ่วแบบ 100%

นอกจากนี้การแย่งชิงอำนาจหรือการกวาดล้างหลังจากการสวรรคตก็ไม่ได้เกิดขึ้น (ซึ่งควรจะมีถ้าถูกปลงพระชนม์) แถมจักรพรรดิเสี้ยวเหวินที่เป็นโอรสของจักรพรรดิเซี่ยนเหวินก็ไม่ได้เกลียดชังเฟิงไท้โฮ่ว ดังนั้นผมจึงมองว่าอดีตจักรพรรดิเซี่ยนเหวินน่าจะสวรรคตด้วยโรคสักอย่างหนึ่งแบบปัจจุบันทันด่วนมากกว่า ส่วนเรื่องตำนานก็น่าจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาโจมตีหรือดิสเครดิตเฟิงไท่โฮ่ว (เพราะพระนางเองก็มีศัตรูทางการเมืองมากมายตลอดทั้งชีวิต)

สำเร็จราชการครั้งที่สอง

ด้วยความที่ฮ่องเต้น้อย (จักรพรรดิเสี้ยวเหวิน) มีอายุเพียง 9 ขวบ ดังนั้นเฟิงไท่โฮ่วจึงต้องสำเร็จราชการแทนพระองค์ไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้นั้นพระนางได้กุมและใช้อำนาจมากกว่าครั้งก่อน

จักรพรรดิเสี้ยวเหวิน

อย่างไรก็ดีเฟิงไท่โฮ่วเป็นสตรีที่มีความสามารถและสติปัญญาในการปกครอง พระนางจึงปกครองอาณาจักรอย่างเรียบร้อยดี และยศถาบรรดาศักดิ์แก่เหล่าขุนนางอย่างเท่าเทียม (แม้ว่าบางคนจะเป็นชู้รักของพระนางก็ตามที)

หนึ่งในผลงานสำคัญในช่วงที่เฟิงไท่โฮ่วเป็นผู้สำเร็จราชการก็คือการปฏิรูปที่ดิน ทำให้การจัดสรรที่ดินให้กับประชาชนเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น นอกจากนี้พระนางยังได้โปรดให้มีการปรับเปลี่ยนการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้หมู่บ้านต่างๆ ได้รับการดูแลตลอดจนบริหารโดยรัฐบาลกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร และภาษีที่จัดเก็บได้ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการแก้ไขกฎหมายอาญาใหม่ให้เป็นระบบมากขึ้น และสนับสนุนให้เปลี่ยนธรรมเนียมเซียนเปยไปเป็นจีนฮั่น การปฏิรูปของเหล่านี้มีส่วนสำคัญทำให้ราชวงศ์ทางตอนเหนือแข็งแกร่งขึ้น และช่วยให้ราชวงศ์สุยรวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้สำเร็จในช่วงปลายศตวรรษที่ 6

เมื่อจักรพรรดิเสี้ยวเหวินที่เป็นหลานเลี้ยงเข้าสู่วัยบรรลุนิติภาวะ เฟิงไท่โฮ่วไม่ได้คืนอำนาจให้กับฮ่องเต้หนุ่มอย่างเป็นทางการ แต่กลับใช้วิธีผ่อนให้อำนาจทีละน้อย ซึ่งพระนางจะลดอำนาจของตนเองตามลำดับ ขณะที่ฮ่องเต้หนุ่มจะได้ทำหน้าที่มากขึ้นตามวัย ในช่วงปี ค.ศ.483 อำนาจในการบริหารส่วนใหญ่ก็อยู่ในมือของจักรพรรดิเสี้ยวเหวิน

ด้วยวิธีนี้ทำให้จักรพรรดิเสี้ยวเหวินไม่เกลียดชังพระนางเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามพระองค์กลับรักพระนางมากด้วยซ้ำไป

ในปี ค.ศ.490 เฟิงไท่โฮ่วสิ้นพระชนม์ด้วยวัย 48 ปี จักรพรรดิเสี้ยวเหวินโศกเศร้าอย่างมากถึงขนาดไม่เสวยอะไรเลยถึงห้าวัน หลังจากนั้นพระองค์โปรดให้จัดงานพระศพอย่างยิ่งใหญ่ โดยพระองค์เองทรงไว้อาลัยให้กับเฟิงไท่โฮ่วเป็นเวลานานถึง 3 ปีเต็มตามธรรมเนียมเดิมของขงจื้อ แสดงให้เห็นถึงความรักของพระองค๋ที่มีต่อพระนางผู้เป็นย่าเลี้ยงได้เป็นอย่างดี

References:

  • Book of Wei
  • History of Northern Dynasties
  • Zizhi Tongjian

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!