ในหน้าประวัติศาสตร์จีนนั้น ถ้าฮ่องเต้หรือจักรพรรดิมาจากสามัญชนนั้น โดยมากแล้วมักจะเป็นฮ่องเต้ที่ดีในระดับหนึ่ง เพราะว่าพวกเขาจะเข้าใจความรู้สึกของประชาชน ราชวงศ์ฮั่นเองก็มีฮ่องเต้ลักษณะดังกล่าวถึงสามคนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฮั่นเกาจู่ (หลิวปัง), ฮั่นซวนตี้ และกวงอู่ตึ้
อย่างไรก็ดีฮ่องเต้อย่างฮั่นหลิงตี้ หรืออย่างที่คนทั่วไปรู้จักจากเรื่องสามก๊กในนามพระเจ้าเลนเต้นั้นตรงกันข้าม เพราะนอกจากจะเป็นฮ่องเต้ที่ไม่ดีแล้ว ฮั่นหลิงตี้ยังเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่นำพาราชวงศ์ฮั่นไปสู่ความพินาศอย่างที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้อีก
เราไปดูกันดีกว่าชีวิตของฮั่นหลิงตี้เป็นอย่างไร
ขึ้นเป็นฮ่องเต้
ชื่อเดิมของฮั่นหลิงตี้คือ หลิวหง (劉宏) ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ปลายแถวของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ในเวลานั้นตระกูลของหลิวหงเป็นแค่ผู้ปกครองหมู่บ้านเจี่ยตู๋ที่สืบต่อกันมาสามชั่วคน ดังนั้นถ้าจะให้มองในอีกรูปแบบหนึ่ง หลิวหงผู้นี้ก็เป็นลูกชายของผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น ซึ่งดีกว่าเล่าปี่ (หลิวเป้ย) ในเรื่องสามก๊กที่มีชาติกำเนิดเป็นคนทอเสื่อขายเพียงเล็กน้อย
ในวัยเด็กหลิวหงก็ไม่ได้อะไรกับเด็กในหมู่บ้านในต่างจังหวัดทั่วไป โดยเขาก็จะสืบต่อตำแหน่งของบิดาของเขาในการเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไป และดูแลคนในหมู่บ้านให้เป็นปกติสุข
อย่างไรก็ดีโชคชะตาไม่เข้าใครออกใคร ในวันหนึ่งระหว่างที่หลิวหงอายุได้เพียง 12 ปี เด็กหนุ่มผู้นี้กลับได้รับพระบรมราชโองการให้เข้าวังเพื่อรับการสถาปนาขึ้นเป็นฮ่องเต้อย่างน่าเหลือเชื่อ เรียกได้ว่ายิ่งกว่าถูกรางวัลที่ 1 เสียอีก
สาเหตุก็คือฮั่นหวนตี้สวรรคตไปโดยปราศจากรัชทายาท ทำให้ไม่มีผู้สืบต่อราชสมบัติ แต่ทำไมราชสำนักถึงเลือกหลิวหง คำถามนี้ไม่มีคำตอบในหน้าประวัติศาสตร์ เรารู้แต่เพียงว่าเหล่าขุนนางเสนอชื่อหลิวหงให้กับโต้วไท่โฮ่ว (ไทเฮา) เป็นผู้เลือก ทำให้หลิวหงได้บัลลังก์อย่างงงๆ
อย่างไรก็ดีผมมองว่าที่เลือกหลิวหงเพราะว่าเขาไม่มีฐานอำนาจในราชสำนักเหมือนกับหวาง (อ๋อง) คนอื่นๆ ช่วงเวลานั้นเองราชสำนักฮั่นมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพวกขันที และขุนนาง ดังนั้นแน่นอนว่าการจะหาคนที่เป็นกลางมาดำรงตำแหน่งฮ่องเต้ในราชสำนักนั้นยากมาก การเลือกหลิวหงที่เป็นเด็กหนุ่มบ้านนอกจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
หลิวหงจึงได้ตำแหน่งฮ่องเต้ที่มีชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ว่าฮั่นหลิงตี้ (Emperor Ling of Han) ในปี ค.ศ.168
แย่งชิงอำนาจทางการเมือง
สิ่งแรกที่หลิวหงทำหลังจากได้เป็นฮ่องเต้คือยกย่องตำแหน่งพ่อตลอดจนปู่ย่าตายายของตนที่สิ้นไปแล้วให้เป็นฮ่องเต้หรือหวงโฮ่ว (ฮองเฮา) ย้อนหลังกันหมด ส่วนมารดาที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ไม่ได้ดำรงตำแหน่งไทเฮา (เพราะโต้วไทเฮาครอบครองตำแหน่งอยู่แล้ว) เธอจึงได้ตำแหน่งเป็นเพียงท่านผู้หญิงเท่านั้น
หลังจากเริ่มรัชสมัยได้ไม่นาน ความขัดแย้งทางการเมืองก็ระเบิดขึ้นทันที เรื่องมีอยู่ว่าพวกขุนนาง โดยเฉพาะพระญาติของโต้วไท่โฮ่วต้องการจะกวาดล้างพวกขันทีที่มีอำนาจในราชสำนักมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่กล้าลงมือ เพราะโต้วไท่โฮ่วยังไม่เห็นด้วยกับแผนการ เพราะพระนางมองว่าพวกขันทียังไม่ได้ทำอะไรผิด (แต่สาเหตุจริงๆ ก็คือพระนางถูกพวกขันทีประจบประแจงทุกวัน) พวกขุนนางจึงได้แต่พะวักพะวงอยู่
ฝ่ายขันทีเมื่อได้ทราบเรื่องจึงเป็นฝ่ายลงมือก่อน พวกขันทีนำกำลังเข้าควบคุมพระราชวังและควบคุมทั้งฮั่นหลิงตี้และโต้วไท่โฮ่ว โดยอ้างว่ามารักษาความปลอดภัยให้กับทั้งสอง แต่จริงๆ แล้วคือมาจับไว้เป็นตัวประกัน หลังจากนั้นจึงเข้ากวาดล้างตระกูลโต้ว และขุนนางที่ต่อต้านขันทีทั้งหมด รวมไปถึงแม่ทัพนายกองที่สนับสนุนพวกขุนนางอีกด้วย
ตระกูลโต้วและพวกขุนนางจึงถูกกวาดล้างจนสิ้นซาก ส่วนโต้วไท่โฮ่วนั้นพวกขันทีให้ควบคุมตัวไว้ในพระราชวัง โดยไม่ให้ติดต่อกับบุคคลภายนอกแต่อย่างใด หลังจากนั้นพวกขันทีจึงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชสำนักฮั่นอย่างไม่มีผู้ใดเทียบเทียม
ฮั่นหลิงตี้ผู้ลอยตัวอยู่เหนือเหตุการณ์ครั้งนี้จึงฉวยโอกาสแต่งตั้งแม่บังเกิดเกล้าของตนขึ้นเป็นไท่โฮ่ว แต่เขาก็ยังคงยกย่องโต้วไท่โฮ่วอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งโต้วไท่โฮ่วสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ.172
การกวาดล้างบัณฑิตและนักศึกษา
แม้ว่าพวกขุนนางจะสิ้นชื่อในราชสำนักไปแล้ว แต่พวกขันทียังมองว่าศัตรูการเมืองของพวกตนยังคงอยู่ กลุ่มคนเหล่านี้ก็คือพวกบัณฑิตและนักศึกษาที่ยึดมั่นในธรรมเนียมขงจื้อนั่นเอง กลุ่มคนเหล่านี้เรียกรวมๆ ว่าต่างเหยิน (黨人, Partisans)
พวกต่างเหยินเกลียดชังพวกขันทีเข้ากระดูกดำ และสนับสนุนการลดอำนาจหรือแม้กระทั่งกวาดล้างพวกขันทีให้พ้นไปจากราชสำนักเลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อพวกขันทีมีอำนาจหลังจากปราบตระกูลโต้วได้สำเร็จ พวกขันทีจึงทูลฮั่นหลิงตี้ว่าพวกต่างเหยินจะคิดการเป็นกบฏ และขอให้ปราบปรามเสียก่อน ฮั่นหลิงตี้ที่อายุเพียง 13 ปีจึงอนุญาตให้ทำตามนั้น
ภายในเวลาไม่นาน เหล่าปัญญาชนชั้นนำในกลุ่มของพวกต่างเหยินจึงถูกจับกุมตัวมาประหารชีวิต เหล่าคนที่หลงเหลืออยู่จึงต้องหลบซ่อนตัวภายใต้การช่วยเหลือของขุนนางบางคนอย่างเช่น หยวนเส้า (อ้วนเสี้ยว) ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ถูกจับกุมนั้นถูกไล่ออกจากราชสำนัก และห้ามไม่ให้เข้าห้องสมุด (น่าจะเพื่อป้องกันการซ่องสุม) นอกจากนี้สิทธิอื่นๆ ในการเป็นพลเมืองของปัญญาชนยังถูกจำกัดอย่างมากอีกด้วย
ต่อมาในปี ค.ศ.172 โต้วไท่โฮ่วสิ้นพระชนม์ พวกขันทีที่เกลียดชังตระกูลโต้วมากต้องการจะจัดงานศพของโต้วไท่โฮ่วให้เทียบเท่ากับพระสนมเท่านั้น แต่ฮั่นหลิงตี้คัดค้าน สุดท้ายงานศพของโต้วไท่โฮ่วจึงเทียบเท่ากับไท่โฮ่วทั่วไป และได้รับการฝังร่างเคียงข้างกับฮั่นหวนตี้ผู้เป็นสวามี
แต่ในช่วงเวลานั้นเอง เรื่องประหลาดก็เกิดขึ้น เพราะมีคนมาเขียนที่หน้าประตูวังว่า
ทุกอย่างภายใต้แผ่นฟ้ากำลังจะพินาศ เฉาเจี๋ยและหวางฝู่ปลงพระชนม์ไท่โฮ่ว พวกขุนนางเอาแต่อยู่เป็น ไม่มีใครกล้าเอ่ยวาจาที่ซื่อสัตย์
พวกขันทีที่ได้เห็นอักษรดังกล่าวต่างโกรธแค้นมาก และเมื่อไม่สามารถจับมือใครดมได้ พวกขันทีจึงไปลงกับหลิวคุย น้องชายของฮั่นหวนตี้ โดยกวาดล้างตระกูลของเขาทั้งครอบครัว ต่อมาก็จับกุมผู้คนไปอีกพันกว่าคน แน่นอนว่าเน้นไปที่พวกปัญญาชนเหมือนเดิม
สรุปแล้วไม่กี่ปีหลังจากฮั่นหลิงตี้ขึ้นครองบัลลังก์ ปัญญาชนในราชสำนักได้ถูกกำจัดจนเกือบหมดสิ้น หรือไม่ก็ถูกลดบทบาทจนไม่สามารถมีอิทธิพลในการเสนอแนะทำให้การปกครองอาณาจักรดีขึ้นได้อีกเลย นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราชสำนักฮั่นเสื่อมโทรมอย่างกู่ไม่กลับในวันข้างหน้า
การซื้อตำแหน่งในราชสำนัก
ในเมื่ออำนาจของขันทีล้วนฟ้า คนพวกนี้จึงโกงกินและยักยอกเงินส่วนต่างๆ ของราชสำนักมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ฮ่องเต้อย่างฮั่นหลิงตี้เองก็ไม่ได้ดีกว่ากัน เพราะตนเองเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มก็ลุ่มหลงในสาวสนมกำนัล และไม่ใส่ใจในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด
สิ่งที่ฮั่นหลิงตี้ชื่นชอบที่สุดก็คือการสร้างสวนหลวง สวนแล้วสวนเล่าถูกสร้างขึ้นในลั่วหยางอย่างไม่มีวันจบสิ้น ภายในไม่ช้าท้องพระคลังก็ขาดแคลนเงินตรา ฮั่นหลิงตี้จึงสั่งให้เมืองต่างๆ เพิ่มภาษีและส่งมอบเงินมาให้ตนเองโดยตรง เพื่อที่จะได้นำเงินนั้นไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย
อย่างไรก็ดีด้วยความที่การบริหารราชการดำเนินไปอย่างย่ำแย่และเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น โครงการของฮั่นหลิงตี้ก็แพงหูฉี่ทำให้ไม่ว่าจะขึ้นภาษีอย่างไรก็ไม่มีวันเพียงพอได้ ฮั่นหลิงตี้จึงต้องหาช่องทางหาเงินใหม่
ในเวลานั้นไม่ว่าใครก็ตามก็รู้ดีอยู่แล้วว่า การที่จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วที่สุดก็คือการเป็นข้าราชการของราชสำนัก เพราะว่าจะได้ทั้งลาภยศและทรัพย์สินเงินทอง ในทำนองที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง”
ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทุกคนย่อมทำทุกวิถึทางให้สอบเข้ารับราชการให้ผ่าน เพราะถ้าผ่านแล้วครอบครัวก็จะสบาย
ฮั่นหลิงตี้จึงใช้โอกาสตรงนี้ออกนโยบายที่เรียกว่า “ขายตำแหน่งทางราชการ” ขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ.178
นโยบายที่ว่าก็คือไม่ว่าใครก็ตามที่มีเงินสามารถเข้ามาเป็นข้าราชการได้ทันที โดยไม่ต้องสอบหรือได้รับการเสนอจากขุนนางที่รับผิดชอบด้านการสรรหาบุคลากรแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายแบบผ่อนส่งได้อีกด้วย กล่าวคือถ้าเงินยังไม่พอก็ยังไม่ต้องจ่ายทั้งหมด หลังจากรับตำแหน่งแล้วค่อยจ่ายแบบผ่อนไปก็ได้
นั่นเท่ากับว่าราชสำนักจะได้รับเงินจำนวนมากโดยไม่ต้องบีบบังคับจากคนเหล่านี้ เปิดโอกาสให้ฮั่นหลิงตี้นำไปใช้ในโครงการของตนได้
แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นยิ่งกว่าพินาศ เพราะทำให้ระบบการสอบเข้ารับราชการพังย่อยยับไปในพริบตา ผู้คนต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาซื้อตำแหน่งทางราชการ หรือไม่ก็ผ่อนเข้ามาเป็นขุนนางแล้วขูดรีดประชาชนอีกต่อหนึ่งเพื่อหาเงินไปผ่อนค่าตำแหน่ง การโกงกินจึงแพร่กระจายไปอีกนับร้อยเท่าหลังจากที่ฮั่นหลิงตี้บังคับให้นโยบายนี้ โครงสร้างทางสังคมของราชสำนักฮั่นจึงเรียกได้ว่าพังครืนลงไปเลยทีเดียว
เหล่าขุนนางที่ทนเห็นความย่อยยับไม่ไหวจึงพยายามทัดทาน ตัวฮั่นหลิงตี้เองก็เหมือนว่าจะฟังแต่ก็ไม่ได้นำพา ราชสำนักจึงคงอยู่กับความฟอนเฟะอย่างไม่มีวันย้อนกลับได้
กบฏโจรโพกผ้าเหลือง
สภาพของอาณาจักรฮั่นในเวลานั้นเหมือนกับกองไม้แห้งขนาดยักษ์ ทันทีที่มีเปลวไฟแต่เพียงนิดเดียวก็จะเผาผลาญทุกสิ่งได้ในทันที ในปี ค.ศ.184 จางเจี่ยว (เตียวก๊ก) และสำนักเต๋าของเขาจึงก่อกบฏขึ้น พวกกบฏผูกผ้าเหลืองเป็นสัญลักษณ์และนำกำลังเข้าต่อสู้กับทางการ
ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีสำนักเต๋าของจางเจี่ยวได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างมาก นอกจากสาเหตุหลักทางศาสนาที่จางเจี่ยวสร้างภาพว่าเหมือนศาสดามาโปรดแล้ว ประชาชนต่างเกลียดชังราชสำนัก ดังนั้นแนวคิดของจางเจี่ยวที่ว่าการเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าจึงทำให้ราษฎรจำนวนมากรู้สึกสนใจ และเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
การกบฏเกิดขึ้นและลุกลามไปถึง 8 จังหวัดด้วยกัน (จากทั้งหมด 13) และสร้างความเสียหายอย่างมากมายให้กับเรือกสวนไร่นาของประชาชน และมีการฆ่าฟันราษฎรที่ไม่ได้เห็นด้วยกับพวกตนด้วย ฮั่นหลิงตี้จึงสั่งให้กองทัพออกไปปราบปราม แต่ทหารหลวงก็ไม่ได้ดีกว่าพวกโจรสักเท่าใดนัก เพราะก็ปล้นชิงและฆ่าฟันผู้คนไม่ต่างกัน ดังนั้นราษฎรบางกลุ่ม (อย่างเช่นเล่าปี่) จึงจับมือกันต่อสู้กับพวกกบฏอีกทางหนึ่ง และต่อต้านทหารหลวงอีกทางหนึ่งด้วย
โดยรวมแล้วแผ่นดินจีนในเวลานั้นจึงเป็นกลียุคอย่างสิ้นเชิง
แม้ว่าสุดท้ายแล้วพวกโจรโพกผ้าเหลืองจะถูกปราบปรามได้สำเร็จ แต่หายนะได้เกิดขึ้นแล้วเพราะมีกลุ่มกบฏอื่นมากมายที่ตั้งตัวไม่ขึ้นกับราชสำนัก และสุดกำลังที่ราชสำนักจะเสื่อมโทรมจะปราบปรามได้
นอกจากนี้พวกเจ้าเมืองที่ได้รวบรวมกำลังปราบกบฏก็ต่างไม่ต้องการจะสลายกองทัพของตนเอง เพราะพวกเขารู้ดีว่าถึงไม่สลาย ราชสำนักฮั่นก็ไม่สามารถทำอะไรตนได้ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความวุ่นวายและการสู้รบขับเคี่ยวของกลุ่มต่างๆ ในช่วงต้นของยุคสามก๊กนั่นเอง
บั้นปลายของฮั่นหลิงตี้
แม้ว่าจะเกิดการกบฏครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่เฉินเสิ้งกับอู๋ก่วงในรัชสมัยของตน ฮั่นหลิงตี้ก็ไม่ได้ปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง นโยบายขายตำแหน่งและขูดรีดภาษียังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพระราชวังหลวงไฟไหม้ ฮั่นหลิงตี้โปรดให้เพิ่มภาษีมากขึ้นกว่าเดิม และสั่งให้เมืองทุกเมืองส่งไม้ชั้นดี และวัสดุก่อสร้างจำนวนมหาศาลมายังลั่วหยาง
วัสดุก่อสร้างเหล่านี้ไม่ใช่ว่าไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อราชสำนักฮั่นไม่มีเงิน ผู้ที่จ่ายเงินดังกล่าวจึงต้องเป็นประชาชนคนทั่วไปนั่นเอง ฮั่นหลิงตี้ได้โปรดให้ขุนนางพิเศษไปจัดการบังคับข้าราชการท้องถิ่นให้ส่งเงินทองและวัสดุก่อสร้างมาให้ตน ซึ่งนำไปสู่การขูดรีดประชาชนอีกต่อหนึ่ง ความเดือดร้อนแสนสาหัสนี้ทำให้เกิดการต่อต้านราชสำนักขึ้นอีกมากมายหลายกลุ่ม
แม้ว่าสร้างสวนเสร็จแล้ว ซ่อมวังก็แล้ว แต่ฮั่นหลิงตี้ก็ยังไม่หยุด ฮั่นหลิงตี้โปรดให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ในสวนเพื่อเก็บข้าวของมีค่า และโปรดให้สร้างที่พักอาศัยขนาดใหญ่ที่บ้านเกิดของตนเอง (สมัยที่ยังอยู่บ้านนอก) ทำให้การก่อสร้างดูเหมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น
ทฤษฎีหนึ่งที่ว่าฮั่นหลิงตี้เป็นเช่นนี้ก็เพราะตนเองมีชาติกำเนิดที่ยากจน เมื่อเป็นฮ่องเต้จึงตอบสนองสิ่งที่ตนขาดหายในวัยเด็ก อย่างไรก็ดีผมมองว่าทฤษฎีนี้น่าจะไม่เป็นจริงเสียเท่าใดนัก เพราะฮ่องเต้คนอื่นๆ ที่มาจากชนชั้นล่างก็ไม่ได้มีพฤติกรรมหรือแนวคิดเช่นนี้
ผมกลับมองว่าเป็นเพราะฮั่นหลิงตี้ได้เห็นพวกขันทีฉ้อราษฎร์บังหลวงจนเคยชินเสียมากกว่า ดังนั้นเมื่อตนเป็นถึงฮ่องเต้ ทำไมถึงจะทำไม่ได้บ้าง การทัดทานในราชสำนักก็แทบจะเป็นศูนย์ เพราะปัญญาชนและขุนนางดีๆ ถูกพวกขันทีกวาดล้างตั้งแต่ต้นรัชกาล
ในเรื่องการคอรัปชั่นในสมัยนี้นั้น พวกขันทีคอรัปชันทำอย่างขีดสุด พวกเขาสร้างบ้านพักเป็นปราสาทราชวังเทียบเท่าฮ่องเต้เลยทีเดียว ทั้งนี้พวกขันทีเองก็เกรงกลัวว่าฮั่นหลิงตี้จะเอาโทษจึงเพ็ดทูลว่า ถ้าฮ่องเต้ประทับบนหอสูง (ซึ่งจะเห็นบ้านพักของพวกเขา) ผู้คนจะแตกตื่น ฮั่นหลิงตี้ก็เชื่อและไม่ขึ้นไปหอสูงเลย
ถึงกระนั้นผมมองว่าฮั่นหลิงตี้ขึ้นไปก็คงไม่เอาโทษอยู่ดี เพราะพวกขันทีเป็นอีกหนึ่งช่องทางหาเงินของตน กล่าวคือฮั่นหลิงตี้ได้ให้พวกขันทีถวายทรัพย์สินอยู่เนืองๆ นั่นเอง แถมฮั่นหลิงตี้ยังนับถือพวกขันทีอย่างจ้าวจงกับจางหราง โดยเรียกพวกเขาเป็นพ่อเป็นแม่ ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าทุกความผิดจะต้องถูกปล่อยผ่านอย่างแน่นอน
สวรรคต
ฮั่นหลิงตี้ไม่ได้มีอายุยืนยาว ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรกับฮ่องเต้ในปลายราชวงศ์อื่นๆ ที่มักจะสวรรคตในวัยยังไม่ถึง 40 ปี ในเคสของฮั่นหลิงตี้นั้น จู่ๆ ก็ประชวรและสวรรคตในวัยเพียง 32 ปีเศษในปี ค.ศ.189 รวมแล้วครองราชย์ทั้งหมด 21 ปี
ทั่วไปแล้วฮ่องเต้ที่ครองราชย์นานขนาดนี้มักจะทำให้ราชวงศ์มั่นคงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่กรณีของฮั่นหลิงตี้ เพราะรัชสมัยนี้ทำให้โครงสร้างอาณาจักรฮั่นพินาศอย่างที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้อีก จนกระทั่งถูกทำลายสูญสิ้นไปในยุคสามก๊กในที่สุด