การปราบปรามศาสนาพุทธครั้งใหญ่ในสมัยราชวงศ์ถังหรือ 会昌毁佛 (Huìchānghuǐfú, ฮุ่ยชางหุ่ยฝู) เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นตอนกลางของราชวงศ์ถังที่ทำให้ศาสนาพุทธในดินแดนจีนได้เสียหายหนักมากในหน้าประวัติศาสตร์จีน ความเสียหายเชิงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอาจเทียบได้กับการปฏิวัติวัฒนธรรมด้วยซ้ำไป
เหตุการณ์ครั้งนี้มีที่มาอย่างไร ติดตามได้ในโพสนี้ครับ
พุทธ เต๋า และถังหวู่จง
ถังหวู่จงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ (หวงตี้ หรือ ฮ่องเต้) แห่งราชวงศ์ถังในปี ค.ศ.840 ถังหวู่จงเป็นฮ่องเต้ที่ศรัทธาในศาสนาเต๋าอย่างยิ่งยวด
ศาสนาเต๋า (หรือลัทธิเต๋า, Taoism) เป็นคู่แข่งสำคัญของศาสนาพุทธในดินแดนจีน ทั้งสองฝ่ายต่างแย่งศาสนิกกันมาเป็นเวลานานแล้ว (เห็นได้จากนิยายไซอิ๋วที่แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าอย่างชัดเจน)
ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ถังหวู่จงศรัทธาในศาสนาเต๋าเพราะ เป้าหมายสูงสุดของศาสนาเต๋าคือการมีชีวิตที่อยู่เป็นอมตะ ขณะที่จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาพุทธคือ นิพพาน ถังหวู่จงมองว่านิพพานเท่ากับการตายจากโลกนี้ไป ซึ่งเขาไม่ปรารถนาเช่นนั้น เขาจึงเลือกที่จะศรัทธาในศาสนาเต๋า
ศรัทธาของถังหวู่จงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขามีอายุมากขึ้น เพราะกลัวว่าตนเองจะตายนั่นเอง
อีกประการหนึ่ง ถังหวู่จงมองว่าศาสนาเต๋าเป็นศาสนาเก่าแก่ของชาวจีน ส่วนศาสนาพุทธเป็นศาสนาของชาวต่างชาติ ซึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นความจริง 100%
ถึงแม้จะเป็นศาสนาของชาวต่างชาติ ศาสนาพุทธได้รับการเกื้อหนุนอย่างมากจากฮ่องเต้ในราชวงศ์จีนหลายพระองค์ โดยเฉพาะหวู่เจ๋อเทียน หรือ บูเช็คเทียน จักรพรรดินีแห่งราชวงศ์โจวที่คั่นกลางราชวงศ์ถัง ทำให้อิทธิพลของศาสนาพุทธมีมาก ภายในจักรวรรดิถังมีพระและแม่ชีหลายแสนคน วัดและวิหารอีกหลายพันแห่ง ศาสนสถานเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรตระการตา จิตรกรและศิลปินจำนวนมากรังสรรค์ผลงานทางศิลปะมากมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ
เราอาจเรียกได้ว่าความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธอยู่ในระดับสูงมาก ไม่มีศาสนาท้องถิ่นใดๆ ที่จะมาเทียบได้
ในฐานะชาวเต๋า ถังหวู่จงไม่พอใจอย่างยิ่งที่อิทธิพลของคู่แข่งของศาสนาเต๋ามีมากมายเช่นนี้
ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ
ในสมัยถังหวู่จง ราชวงศ์ถังอยู่ในช่วงขาลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกขุนศึกต่างสร้างฐานอำนาจของตนขึ้นในดินแดนหลายแห่งในอาณาจักร จนปัญญาที่ราชสำนักถังจะไปปราบปรามได้
พวกขุนศึกเหล่านี้อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ถังแต่ในนามเท่านั้น ราชสำนักถังไม่มีสิทธิ์ขาดในดินแดนของพวกขุนศึกอีกต่อไป พวกขุนศึกเหล่านี้มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีด้วย ดังนั้นการจะส่งภาษีให้ครบตามจำนวนจึงขึ้นอยู่กับขุนศึกเหล่านี้ว่าจะส่ง ไม่ส่ง หรือ ส่งแต่ยักยอกเอาไว้บางส่วน
ไม่ต้องสงสัยว่าท้องพระคลังของราชวงศ์ถังจึงจัดเก็บภาษีได้น้อยลงมาก เมื่อเทียบกับครั้งยังรุ่งเรือง
แล้วประเด็นนี้มันเกี่ยวอะไรกับการปราบปรามศาสนาพุทธ?
ในปี ค.ศ.842 ถังหวู่จงได้ส่งกองทัพไปทำสงครามกับพวกอุยกูร์ในเอเชียกลาง ราชสำนักถังใช้เงินในท้องพระคลังไปเป็นจำนวนมาก รายจ่ายของราชสำนักมากกว่ารายได้ของราชสำนักหลายเท่า ทำให้การคลังของราชสำนักจะล้มละลายอยู่แล้ว ถังหวู่จงต้องการแก้ไขปัญหานี้ก่อนจะสายเกินไป
การเรียกเก็บภาษีจากพวกขุนศึกไม่สามารถกระทำได้ เพราะว่าถ้าทำแล้วนั้น พวกขุนศึกอาจจะก่อกบฏเป็นกบฏอันลู่ซาน 2 ซึ่งสามารถทำให้ราชวงศ์ล่มสลายได้เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เป้าหมายของถังหวู่จงจึงไปอยู่ที่ศาสนาพุทธ
ถังหวู่จงทราบดีว่ามีวัดพุทธมากมายในจักรวรรดิ และวัดเหล่านี้ได้รับการยกเว้นไม่ให้จ่ายภาษี ประชาชนชาวพุทธเองก็มีมาก ทุกคนต่างทำบุญกับพระ ทำให้วัดและพระมีทรัพย์สินมากมาย และมีที่ดินถือครองจำนวนมาก
ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่ศาสนาพุทธมีศาสนิกมาก ทำให้มีผู้มีจิตศรัทธาบวชเป็นภิกษุและแม่ชีจำนวนมากมาย ถังหวู่จงคิดว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และไม่ได้จ่ายภาษีให้กับราชสำนัก พวกพระและแม่ชีอยู่ได้ด้วยการช่วยเหลือของฆราวาสเท่านั้น
ในตอนแรกถังหวู่จงจึงปรารถนาที่จะปฏิรูปโครงสร้างเหล่านี้ แต่ภายในเวลาไม่นาน “การปฏิรูป” ก็จะกลายเป็น “การปราบปราม”
ช่วงแรก
ในปี ค.ศ.842 ถังหวู่จงมีคำสั่งให้เริ่ม “ปฏิรูป” ศาสนาพุทธ ราชสำนักมีคำสั่งให้คัดกรองเหล่าพระและแม่ชี พระหรือแม่ชีรูปใดที่ประพฤติตัวนอกลู่นอกทางตามคำสั่งของพระพุทธเจ้าถูกจับสึก และให้กลับไปใช้ชีวิตฆราวาสตามเดิม
พระทั่วไปที่รอดพ้นจากการจับสึกถูกสั่งให้มอบทรัพย์สินทั้งหมดที่ตนมีอยู่ให้กับราชสำนัก ถ้าพระหรือแม่ชีรูปใดเลือกที่จะเก็บทรัพย์สินดังกล่าวไว้จะถูกจับสึกและบังคับให้จ่ายภาษีจากเงินดังกล่าวต่อราชสำนัก
ในช่วงแรกนี้ จะว่าไปแล้วถังหวู่จงมีส่วนช่วย “ปฏิรูป” ศาสนาพุทธให้บริสุทธิ์ขึ้นด้วยซ้ำไป การที่พระครอบครองเงินทองและของมีค่าจำนวนมากนั้นผิดพระธรรมวินัยอยู่แล้ว รวมไปถึงพวกที่หากินโดยใช้สถานะพระสงฆ์ด้วยเช่นกัน
หากแต่ว่าภายในเวลาไม่นาน “การปฏิรูป” ก็จะกลายเป็น “การปราบปราม”
ใกล้ตัวถังหวู่จงมีนักบวชเต๋ารูปหนึ่งชื่อ จ้าวกุยเจิน (趙歸真) ถังหวู่จงเชื่อและศรัทธานักบวชเต๋าผู้นี้มาก ไม่ว่าเขาทูลอะไร ถังหวู่จงก็เชื่อไปหมด ถังหวู่จงจึงกลายเป็นชาวเต๋าคลั่งศาสนา และเกลียดศาสนาพุทธมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อจ้าวกุยเจินเพ็ดทูล ให้จัดการกับศาสนาพุทธรุนแรงขึ้น ถังหวู่จงไม่ลังเลที่จะทำตามคำแนะนำของเขา
อย่างไรก็ตาม สาเหตุอาจจะไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะพระญี่ปุ่นรูปหนึ่งชื่อ เอ็นนิน (Ennin) ผู้อยู่ในจีนในช่วงนั้นบันทึกว่าถังหวู่จงอาจตกหลุมรักนักบวชหญิงในศาสนาเต๋านางหนึ่ง และหลงนางอย่างหนัก เมื่อนางทูลให้ปราบปรามศาสนาพุทธ ถังหวู่จงจึงยินยอมทำตามคำขอ
ในส่วนนี้เราก็ไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง แต่ที่แน่ๆ คือ ถังหวู่จงมีคำสั่งให้ใช้มาตรการหนักขึ้นต่อศาสนาพุทธ
ช่วงที่สอง
ในปี ค.ศ.844 การปราบปรามในช่วงที่สองก็เริ่มต้นขึ้น ครั้งนี้เองที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อศาสนาพุทธ
ด้วยคำสั่งจากราชสำนัก วัดและวิหารในศาสนาพุทธต่างถูกทำลายหลายพันแห่ง พระและแม่ชีไม่ว่าจะประพฤติดีหรือไม่ดีต่างถูกจับสึกอย่างไม่มีข้อแม้ พระที่มาจากต่างประเทศต่างถูกจับสึกหรือไล่ออกจากอาณาจักรทั้งหมด
นอกจากนี้ราชสำนักได้ริบที่ดินที่อยู่ในการครอบครองของวัดทั้งหมดมาเป็นของหลวง พระพุทธรูปและรูปเคารพต่างถูกแยกชิ้นส่วน และนำส่วนที่เป็นของมีค่า อาทิเช่น ทองคำหรือเงินมาเข้าท้องพระคลัง แม้แต่สิ่งที่ใช้สักการะเล็กๆ น้อยก็ถูกขนไปทำลายทั้งหมด
อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่า วัดถูกทำลายทั้งหมด ถังหวู่จงอนุญาตให้แต่ละเมืองมีวัดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ภายในเวลาเพียง 20 เดือน วัดและวิหารทั้งหมด 4,600 แห่งก็ถูกทำลาย พระและแม่ชี 260,000 รูปถูกจับสึกและหวนคืนสู่ชีวิตฆราวาส ราชสำนักได้ที่ดินคืนมานับร้อยล้านเอเคอร์ (1 เอเคอร์ = 2.53 ไร่)
การปราบปรามศาสนาพุทธยังเลยไปกระทบศาสนาอื่นที่เป็นศาสนาของชาวต่างชาติเหมือนกันด้วย เช่น ศาสนาคริสต์ และศาสนาโซโรแอสเตอร์ เป็นต้น แต่ศาสนาอิสลามกลับไม่โดนปราบปราม เพราะว่าในขณะนั้นยังไม่มีผู้นับถือในจีนเท่าใดนัก
เหตุการณ์ทั้งหมดจบลงเมื่อถังหวู่จงสวรรคตในปี ค.ศ.846 (เชื่อกันว่าเพราะยาอายุวัฒนะที่นักบวชเต๋าถวายให้กินมีส่วนผสมของสารมีพิษ) ถังเซวียนจง ฮ่องเต้พระองค์ใหม่มีรับสั่งให้ยุติการปราบปรามศาสนาพุทธอย่างถาวร ศาสนาพุทธจึงค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากนั้น
ผลกระทบต่อศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธได้รับผลกระทบอันร้ายแรงจากเหตุการณ์นี้ ศาสนาพุทธพยายามฟื้นตัวขึ้นมาอย่างช้าๆ ในช่วงเวลาหลายร้อย หลายพันปีต่อมา
อิทธิพลของศาสนาพุทธที่มีต่อวัฒนธรรมจีนยังคงมีอยู่ แต่ดินแดนจีนไม่เคยสร้างสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม หรือ จิตรกรรมเชิงพุทธศิลป์ที่เทียบเคียงกับในสมัยต้นและกลางราชวงศ์ถังได้อีก ศาสนาพุทธไม่เคยกลับไปรุ่งเรืองเหมือนกับช่วงก่อนที่จะมีการปราบปรามได้อีกเลย