ประวัติศาสตร์ซือหม่าเชียน นักประวัติศาสตร์เอกผู้ถูก "ตอน" เพราะช่วยเพื่อน

ซือหม่าเชียน นักประวัติศาสตร์เอกผู้ถูก “ตอน” เพราะช่วยเพื่อน

ซือหม่าเชียน (司马迁) เป็นนักประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เขาคือผู้ประพันธ์พงศาวดารสื่อจี้ บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอันดับ 1 ของจีน ผลงานของเขาทำให้เรารู้ว่าดินแดนจีนในครั้งโบราณ ไม่ว่าจะเป็นในยุคตำนานปรัมปรา ยุคราชวงศ์ซาง โจวตะวันตก และชุนชิวจ้านกว๋อ มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง

แม้อาชีพนักประวัติศาสตร์จะเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากนัก ชีวิตกลับซือหม่าเชียนกลับพลิกผันอย่างไม่น่าเชื่อทำให้สุดท้ายแล้ว เขาถูกลงอาญาด้วยการ “ตอน” และไม่สามารถสืบสกุลได้อีกต่อไป

ซือหม่าเชียน

ชีวิตในวัยเด็ก

ซือหม่าเชียนเป็นบุตรชายของซือหม่าถัน ข้าราชการตำแหน่ง “ไท่ซื่อ” ที่มีหน้าที่จัดทำปฏิทินและหาวันที่มีฤกษ์ดีเพื่อที่ ฮั่นหวู่ตี้ จักรพรรดิราชวงศ์ฮั่น (ราชวงศ์ที่หลิวปังสถาปนาขึ้นหลังจากได้ชัยเหนือเซี่ยงอวี่) จะได้ประกอบพิธี นอกจากนี้ไท่ซื่อยังมีหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ในแต่ละวันที่เกิดขึ้นในราชสำนักและอาณาจักรด้วย

ดังนั้นไท่ซื่อจึงถือว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ความสามารถไม่น้อย และจัดว่าเป็นปัญญาชน ซือหม่าเชียนที่เติบโตมาในครอบครัวดังกล่าวจึงซึมซับค่านิยมการศึกษาความรู้ไปด้วย ในช่วงนั้นราชวงศ์ฮั่นก็สนับสนุนแนวคิดของขงจื้อ ทำให้ซือหม่าเชียนโตขึ้นมาเป็นแบบบัณฑิตขงจื้อคนหนึ่ง

ตั้งแต่เด็ก ซือหม่าเชียนสนใจประวัติศาสตร์ เมื่อเขาอายุได้เพียง 10 ขวบก็เริ่มอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของซือหม่าถันแล้ว ทำให้ซือหม่าถันและบุคคลทั่วไปต่างมองว่าบุตรชายคนนี้จะสืบสานงานของบิดาได้ในมิช้า

เมื่อซือหม่าเชียนอายุได้ 20 ปี เขาตัดสินใจเริ่มต้นการท่องเที่ยวแผ่นดินจีนที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮั่น เขาเดินทางไปหลายที่หลายแห่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างเช่น บ้านเกิดของขงจื้อในซานตง และสุสานของแม่ทัพคนสำคัญอย่างหานสิ้น

ตลอดการเดินทางซือหม่าเชียนได้พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ และจดบันทึกข้อมูลสำคัญๆ เก็บไว้ด้วย

หลังจากที่เขากลับมาราชสำนัก ฮั่นหวู่ตี้เห็นซือหม่าเชียนมีความรู้ดีจึงแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงในราชสำนัก และมีหน้าที่ติดตามฮ่องเต้ไปยังสถานที่ต่างๆ

เริ่มเขียนพงศาวดาร

ชีวิตของซือหม่าเชียนค่อนข้างเรียบง่ายและไร้เรื่องราว จนกระทั่งเมื่อเขาอายุได้ 35 ปี (ปี 110 BC) ซือหม่าถันผู้เป็นบิดาป่วยหนัก หลังจากตรอมใจที่ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานพิธีสำคัญ ซือหม่าถันรู้สึกว่าเขาคงจะจากโลกนี้ไปในไม่ช้า และคงไม่มีวันเห็นความใฝ่ฝันของตนเองเป็นจริง

ความใฝ่ฝันของซือหม่าถันก็คือ การเขียนพงศาวดารชิ้นเอกที่จะเรียบเรียงเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ในอดีตกาลมาถึงสมัยฮั่นหวู่ตี้ ฮ่องเต้ในเวลานั้น

ซือหม่าถันจึงเรียกซือหม่าเชียนเข้ามาหา และขอให้บุตรชายทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไป สิ่งที่ซือหม่าถันมอบให้กับบุตรชายคือโครงร่างของตัวพงศาวดารว่าจะเป็นอย่างไร และงานเขียนเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยมากเท่านั้น นั่นเท่ากับว่าซือหม่าเชียนเกือบจะเริ่มต้นจากศูนย์

สำหรับซือหม่าเชียนแล้ว เขาเต็มใจอย่างยิ่งที่จะทำความฝันของพ่อให้เป็นจริง ตัวเขาเองสนใจประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำขอของพ่อยิ่งกระตุ้นความมุ่งมั่นของเขา หลังจากนั้นซือหม่าเชียนจึงใช้เวลาศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างจริงจัง

เมื่อฝากฝังทุกสิ่งไว้กับบุตรชายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกไม่นานซือหม่าถันก็อำลาโลกใบนี้ไป ซือหม่าเชียนจึงได้สืบตำแหน่งไท่ซื่อต่อจากพ่อ ปรากฏว่าฮั่นหวู่ตี้โปรดปรานเขาระดับหนึ่ง เขาจึงได้เลื่อนเป็นเสนาบดีระดับสูงและมีหน้าที่ให้คำปรึกษากับฮ่องเต้และจัดทำบันทึกประวัติศาสตร์ด้วย

ซือหม่าเชียนถูกตอน

ในปี 99 BC หลี่หลิง เพื่อนคนหนึ่งของของซือหม่าเชียนเป็นแม่ทัพยกไปตีชนเผ่าซงหนูทางตอนเหนือ ปรากฏว่าหลี่หลิงรบพลาด และถูกพวกซงหนูจับเป็นเชลย เขาได้ยอมจำนนต่อพวกซงหนูในเวลาต่อมา

เมื่อฮั่นหวู่ตี้ทราบว่าหลี่หลิงยอมจำนนต่อพวกซงหนูก็โกรธมาก เช่นเดียวกับประชาชนและข้าราชการในราชสำนักที่มองว่าหลี่หลิงเป็นคนทรยศ ขุนนางทั้งราชสำนักทุกคนต่างเสนอให้ฮั่นหวู่ตี้ประหารชีวิตครอบครัวของหลี่หลิงโทษฐานกบฏ

มีแต่เพียงซือหม่าเชียนเท่านั้นที่พูดแก้ต่างให้หลี่หลิง คำแก้ต่างของซือหม่าเชียนทำให้ฮั่นหวู่ตี้โกรธจัด เพราะรู้สึกว่าซือหม่าเชียนโจมตีตัวฮั่นหวู่ตี้เอง ซือหม่าเชียนจึงโดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และได้รับโทษประหารชีวิต

อย่างไรก็ตามกฎหมายของราชวงศ์ฮั่นเปิดให้ซือหม่าเชียนสามารถหลุดพ้นโทษประหารชีวิตได้ ถ้ายอมจ่ายเงินก้อนโตให้กับราชสำนัก หรือยินยอมรับการตอน (ตัดอวัยวะสืบพันธุ์) ครอบครัวของซือหม่าเชียนไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองอะไรมากมาย ทำให้ซือหม่าเชียนยินยอมรักษาชีวิตไว้ด้วยการรับโทษการ “ตอน” แต่โดยดี

การถูก “ตอน” สร้างความอัปยศให้กับซือหม่าเชียนและครอบครัว แต่เขาก็จำต้องทนเพื่อเอาชีวิตกลับมาเขียนพงศาวดารที่รับช่วงต่อจากบิดาให้เสร็จสิ้น

หลังจากถูกตอนแล้ว ซือหม่าเชียนติดคุกอยู่สามปีถึงได้ออกมาจากคุก เขาบรรยายว่าประสบการณ์ในคุกช่างเจ็บปวดเป็นอย่างยิ่ง และเคยคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกอับอายที่ตนเองเป็นถึงปัญญาชนและเสนาบดีระดับสูงแต่กลับต้องมาถูกตอน

อย่างไรก็ตามซือหม่าเชียนเอาชนะความคิดดังกล่าวได้เพราะความมุ่งมั่นที่จะเขียนพงศาวดารเล่มนี้ให้เสร็จสิ้น เพื่อ “ป้องกันไม่ให้เรื่องราวในอดีตของผู้มีชื่อเสียงและน่ายกย่องต้องสูญหายไป”

เมื่อซือหม่าเชียนออกมาจากคุก ฮั่นหวู่ตี้มอบหมายให้เขารับราชการในตำแหน่งจงชูหลิง หรือตำแหน่งนักบันทึกประวัติศาสตร์แห่งวังหลวง

พงศาวดารสื่อจี้

เราไม่ทราบแน่ชัดว่าซือหม่าเชียนเสร็จสิ้นพงศาวดารของเขาเมื่อใด บ้างสันนิษฐานว่าน่าจะประมาณ 94 BC หรือไม่กี่ปีก่อนที่ซือหม่าเชียนจะล่วงลับไป

พงศาวดารเล่มนี้มีชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ว่า “สื่อจี้” (史记) รวมทั้งหมดแล้วสื่อจี้มี 130 บท ตัวอักษรจีน 526,500 ตัว และแบ่งเป็นห้าส่วนประกอบด้วย

  • เปิ่นจี – พงศาวดารทั่วไปตั้งแต่ยุคห้าจักรพรรดิ ราชวงศ์เซี่ย ซาง โจว (ชุนชิวจ้านกว๋อ) ฉิน และเรียงรายมาจนถึงฮั่นหวู่ตี้
  • เปี่ยว – ตารางเวลาที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญ และเชื้อสายพงศ์ญาติของกษัตริย์และเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในสมัยโบราณ
  • ชู – เล่าถึงพัฒนาการของวัฒนธรรม ประเพณี ดนตรี และเทคโนโลยีต่างๆ
  • ชื่อเจีย – เล่าถึงประวัติของตระกูลต่างๆ
  • เลี่ยจ้วน – เล่าถึงประวัติของบุคคลสำคัญ

ซือหม่าเชียนได้ใช้หลักฐานชั้นต้นจำนวนมากในการเรียบเรียงพงศาวดารสื่อจี้ออกมา เช่น บันทึกของแพทย์ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่จิงเคอพยายามลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ (ฉินสื่อหวงตี้) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันหลักฐานเหล่านี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว การที่ซือหม่าเชียนได้บันทึกงานเหล่านี้ไว้ในพงศาวดารของเขา ทำให้เรื่องราวเหล่านี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามซือหม่าเชียนได้บันทึกในพงศาวดารของเขาด้วยว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของแคว้นต่างๆ ในยุคชุนชิวจ้านกว๋อไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะฉินสื่อหวงตี้ได้เผามันทั้งหมดจากการที่หลักฐานเหล่านี้โจมตีและว่ากล่าวถึงแคว้นฉินในทางลบ

นอกจากนี้ซือหม่าเชียนยังชี้ให้เห็นว่าหลักฐานโบราณบางฉบับที่เล่าถึงเรื่องเดียวกันต่างขัดแย้งกันเองด้วย ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะเขียนเฉพาะสิ่งที่เขามั่นใจว่าเป็นความจริงเท่านั้น และถ้าเขาไม่แน่ใจ เขาเลือกที่จะไม่เขียนมันลงไป (ผมมองว่าน่าเสียดาย จริงๆ น่าจะใส่มาทั้งหมด แล้วกำกับว่ามันไม่แน่ชัดแบบที่ Tacitus นักประวัติศาสตร์โรมันได้ทำ)

วิธีการเช่นนี้ของซือหม่าเชียนทำให้พงศาวดารสื่อจี้ห่างไกลจากความครบถ้วนสมบูรณ์มากนัก แต่มันก็ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว อย่างไรก็ดีแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์แบบซือหม่าเชียนนี้ได้สร้างวิธีการเขียนแบบใหม่ขึ้นมาในวงการวรรณกรรมและประวัติศาสตร์จีน นักประวัติศาสตร์ยุคหลังจากเขาล้วนแต่ใช้พงศาวดารสื่อจี้เป็นแบบอย่างในการเขียนพงศาวดารสืบต่อกันมา ซือหม่าเชียนก็ได้รับการยกย่องจากชนรุ่นหลังว่าเป็น นักประวัติศาสตร์ชั้นเอก หรือ ไท่ซื่อกง

แม้ว่าซือหม่าเชียนจะเป็นนักประวัติศาสตร์ เรากลับไม่ทราบว่าเขาล่วงลับไปเมื่อใด นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าน่าจะหลังที่เขียนสื่อจี้เสร็จได้ไม่กี่ปี และคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ฮั่นหวู่ตี้สวรรคต

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!