ในหน้าประวัติศาสตร์จีนแล้วนั้น การกบฏครั้งสำคัญมีอยู่หลายครั้ง อาทิเช่น กบฏต้าเจ๋อเซียง กบฏโจรโพกผ้าเหลือง กบฏหวากัง กบฏหวงเฉา กบฏหลี่จื้อเฉิง และกบฏไท่ผิง
หากแต่ว่ากบฏที่สร้างความเสียหายชนิดที่เรียกว่าย่อยยับที่สุดครั้งหนึ่งคือ กบฏอันลู่ซาน ที่เกิดขึ้นในกลางราชวงศ์ถัง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ราชวงศ์ถังอ่อนแอลงมาก สูญเสียความเป็นมหาอำนาจ และทำให้ราษฎรจีนล้มตายไปนับสิบล้านคน
กบฏครั้งนี้มีที่มาอย่างไรกันแน่?
อันลู่ซาน
ในช่วงศตวรรษที่ 8 ราชวงศ์ถังในรัชกาลของถังเสวียนจง (หลานชายของบูเช็คเทียน) รุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่แล้วถังเสวียนจงกลับเริ่มเปลี่ยนไป เขาใช้เวลาอยู่กับหยางกุ้ยเฟย หนึ่งในสี่ยอดหญิงงามของจีน และไม่ใส่ใจในราชการแผ่นดิน หยางกว๋อจง ขุนนางกังฉินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครมหาเสนาบดี ราชสำนักถังจึงเริ่มฟอนเฟะตามลำดับ
ก่อนหน้านี้นั้นราชวงศ์ถังได้แต่งตั้งให้พวกอนารยชนและชาวท้องถิ่นของเอเชียกลางให้มีอำนาจทางทหารอยู่หลายคน คนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพรักษาการณ์บริเวณชายแดน และคอยปราบปรามสกัดกั้นกองทัพศัตรูอาทิเช่น กองทัพทูเจี๋ยที่มักรุกรานจีนทางตอนเหนือเป็นต้น
ในสมัยถังเสวียนจง หนึ่งในคนเหล่านี้ที่ได้รับตำแหน่งสำคัญคือ อันลู่ซาน
อันลู่ซานผู้นี้เป็นลูกครึ่งทูเจี๋ยผ่านทางแม่ ส่วนบิดาของเขาไม่แน่ชัดว่าเป็นชนชาติไหน แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ชนชาติจีนฮั่นอย่างแน่นอน อันลู่ซานไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารที่ชายแดนคนหนึ่ง หลังจากนั้นอันลู่ซานเริ่มสร้างบารมีของตนเองที่ทั้งชายแดนและในราชสำนัก
ที่ฉางอาน อันลู่ซานได้ประจบประแจงถังเสวียนจงและหยางกุ้ยเฟย ทำให้ทั้งสองโปรดปรานเขามาก ดังนั้นถังเสวียนจงอวยยศและมอบอำนาจการควบคุมกองทัพและหัวเมืองเพิ่มเติมให้กับอันลู่ซาน ทำให้เขามีอิทธิพลเพิ่มพูนขึ้นไปทุกวัน
หากแต่ว่าที่ฉางอาน อันลู่ซานกลับไม่ถูกกับหยางกว๋อจง ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีอย่างมาก เพราะว่าทั้งสองล้วนแต่มักใหญ่ใฝ่สูงและต้องการอำนาจ หยางกว๋อจงผู้นี้เป็นญาติกับหยางกุ้ยเฟย ทำให้อำนาจของเขาเองก็ไม่ธรรมดาเช่นเดียวกัน
หยางกว๋อจงฉวยโอกาสที่อันลู่ซานไม่อยู่ที่เมืองหลวงทูลให้ถังเสวียนจงจัดการกับอันลู่ซาน เขาทูลว่าอันลู่ซานคงจะเป็นกบฏในไม่ช้า แต่ถังเสวียนจงกลับปฏิเสธ
ด้วยความโปรดปราน ถังเสวียนจงอนุญาตให้อันลู่ซานสามารถแต่งตั้งยศของพวกทหารเองได้ โดยไม่ต้องผ่านราชสำนัก ทำให้อันลู่ซานยิ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนหยางกว๋อจงได้แต่ทำตาปริบๆ ที่เห็นศัตรูคู่แค้นได้ดิบได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ
ในปี ค.ศ.755 อันลู่ซานขอให้ถังเสวียนจงอนุญาตให้แม่ทัพเชื้อสายจีนฮั่นจำนวน 32 คนที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนเองย้ายไปประจำที่อื่น และให้แม่ทัพอนารยชนเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน สัญญาณดังกล่าวทำให้หยางกว๋อจงรู้สึกกลัว เขาทูลให้ถังเสวียนจงแต่งตั้งอันลู่ซานเป็นอัครมหาเสนาบดีและแบ่งหัวเมืองที่อันลู่ซานครอบครองอยู่เป็นสามส่วน มิฉะนั้นอันลู่ซานคงเป็นกบฏในไม่ช้า
ถังเสวียนจงอนุญาตให้ตามคำขอ แต่ให้ส่งคนไปตรวจดูพฤติกรรมของอันลู่ซานด้วย เมื่อคนของราชสำนักมาถึง อันลู่ซานติดสินบนคนผู้นั้นให้ไปทูลราชสำนักว่าไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ต่อมาราชสำนักกลับพบว่าอันลู่ซานติดสินบนเจ้าหน้าที่ ทำให้อันลู่ซานถูกเรียกตัวเข้ามาเมืองหลวงทันที
ช่วงเวลาเดียวกัน หยางกว๋อจงลอบสังหารคนของอันลู่ซานหลายคนในเมืองฉางอาน เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง อันลู่ซานเห็นว่าถ้าตนเองเข้าเมืองหลวงคงจะไม่มีชีวิตรอดกลับมา และตั้งมั่นอยู่เฉยๆ คงจะถูกตัดหัวเข้าสักวัน
อันลู่ซานจึงตัดสินใจเป็นกบฏต่อราชวงศ์ถังในปี ค.ศ.755 ข้ออ้างในการกบฏคือเขาได้รับพระบรมราชโองการลับจากถังเสวียนจงให้กำจัดหยางกว๋อจง แต่ทุกคนก็รู้ว่านั่นเป็นสิ่งที่อันลู่ซานอ้างขึ้นมาเท่านั้น
กองทัพถังแตกกระเจิง
อันลู่ซานมีกำลังทหารมีฝีมือที่สุดในราชสำนักถังในเวลานั้น กำลังของเขาเชื่อได้ว่ามีอย่างน้อย 150,000 คน และเป็นทหารฝีมือดีเพราะต่อสู้ป้องกันชายแดนมาอย่างยาวนาน
ราชสำนักถังที่ฉางอานตั้งตัวไม่ติดกับการกบฏ ขุนนางทุกคนรู้สึกกลัวพวกกบฏอย่างมาก มีแต่เพียงหยางกว๋อจงคนเดียวที่คิดว่าพวกกบฏกระจอก ถังเสวียนจงสั่งให้กองทัพยกไปสกัดกองทัพของอันลู่ซานที่บุกลงใต้ราวกับลมพัด
กองทัพถังที่ยกไปสกัดไม่อาจต้านทานกำลังของอันลู่ซานได้ อันลู่ซานยกทัพข้ามแม่น้ำเหลืองและพิชิตเมืองลั่วหยาง เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงทางตะวันออกของราชวงศ์ถังได้อย่างรวดเร็ว กองทัพถังถูกผลักดันให้ไปตั้งหลักที่ด่านท่งกวน และรอคอยกองทัพกบฏอยู่ที่นั่น
หลังจากพิชิตลั่วหยางได้แล้ว อันลู่ซานตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งเยียน แล้วส่งกำลังเข้าตีเมืองหลวงของราชวงศ์ถังที่ฉางอานทันที ผู้คนจำนวนมากต่างยอมจำนนต่ออันลู่ซาน เพราะคิดว่าราชวงศ์ถังคงจะไปไม่รอดแล้ว
หากแต่ว่ากองทัพอันลู่ซานกลับชะงักงัน เพราะการตีโต้ของแม่ทัพถังชื่อจางซวิน ต้นปี ค.ศ.756 จางซวินนำกำลังสองพันนายเข้าโจมตีกองทัพสี่หมื่นคนของอันลู่ซานจนแตกพ่ายที่ยงชิว ทำให้การรุกของพวกกบฏถูกยับยั้งไว้ได้เป็นครั้งแรก ทหารเยียนของอันลู่ซานจึงยังไม่อาจควบคุมทางตอนกลางของจีนไว้ได้ทั้งหมด
แต่ทว่ากองทัพของอันลู่ซานสายอื่นกลับเข้าถึงด่านท่งกวนได้สำเร็จ และเข้าตีที่มั่นของกองทัพถังที่ถอยไปตั้งมั่น ในช่วงนี้หยางกว๋อจงกลับสั่งให้ประหารชีวิตแม่ทัพที่รักษาด่านทั้งสองคน เพราะหาว่าขี้ขลาด แล้วสั่งให้กองทัพเข้าตีกองทัพของอันลู่ซานที่นอกด่าน
การปะทะไม่ต้องสงสัยว่าฝ่ายถังพ่ายแพ้ยับเยิน กองทัพถังไม่อาจต่อสู้กับทหารเจนศึกของอันลู่ซานได้ ด่านท่งกวนจึงแตกทำให้อันลู่ซานยกกำลังเข้าประชิดเมืองหลวงฉางอานอย่างรวดเร็ว ความโง่เขลาของหยางกว๋อจงกำลังจะทำลายราชวงศ์ถัง ณ บัดนั้นแล้ว
การหนีของฮ่องเต้
เมื่อพวกกบฏยาตราทัพเข้ามาใกล้ ทำให้ถังเสวียนจงตัดสินใจหนีจากเมืองหลวงพร้อมกับขุนนางและสนมจำนวนมากไปยังเสฉวน ถังเสวียนจงหวังว่าภูเขาอันสูงชันของเสฉวนจะช่วยป้องกันไม่ให้กองทัพกบฏเข้ามาได้
การเดินทางของถังเสวียนจงและคณะดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เพราะภูมิประเทศอันสูงชัน ทหารที่ให้การอารักขารู้สึกเหนื่อยล้าที่ต้องดูแลทรัพย์สินของหยางกุ้ยเฟย และหยางกว๋อจงที่พวกเขาคิดว่าเป็นตัวการที่ทำให้พวกตนต้องมายากลำบากเช่นนี้
ดังนั้นพวกทหารหลวงจึงปฏิเสธที่จะอารักขาต่อไป เว้นเสียแต่ถังเสวียนจงจะมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพวกตระกูลหยางเสีย แม้ถังเสวียนจงจะรักหยางกุ้ยเฟยมาก แต่ก็ไม่อาจขัดพวกทหารได้ ด้วยเหตุนี้หยางกุ้ยเฟยจึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยการรัดคอ เช่นเดียวกับหยางกว๋อจงที่ถูกพวกทหารสังหารไปก่อนหน้านั้นแล้ว
การข่มขู่ของพวกทหารทำให้ถังเสวียนจงรู้สึกเกรงกลัว ถังเสวียนจงจึงทิ้งให้หลี่เหิง ผู้เป็นรัชทายาทควบคุมกองกำลังองครักษ์เอาไว้ ส่วนตนเองหนีลงใต้ไปยังเมืองเฉิงตู และพำนักอยู่ที่นั่น
ระหว่างที่ถังเสวียนจงอยู่ที่เฉิงตู พวกทหารขอให้หลี่เหิงแต่งตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้ หลี่เหิงจำต้องราชาภิเษกตนเองเป็นฮ่องเต้นามว่า ถังซู่จง เมื่อถังเสวียนจงที่เฉิงตูทราบข่าวจึงยอมสละตำแหน่งฮ่องเต้โดยความสมัครใจ และเรียกตนเองว่าเป็นไท่ซ่างหวง (บิดาของฮ่องเต้) แทน
ขณะที่มีเรื่องวุ่นวายอยู่นี้ กองทัพของอันลู่ซานพิชิตเมืองฉางอานได้สำเร็จ เมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ถังได้รับความเสียหายอย่างมากจากการปล้นสะดม ผู้คนหลบหนีออกไปจากเมืองมากมาย อันลู่ซานได้สั่งให้ประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ถังที่หนีไม่ทันทั้งหมดด้วย
สถานการณ์ในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะเลวร้ายอย่างยิ่งต่อราชวงศ์ถัง แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น
สถานการณ์พลิกกลับ
ในปี ค.ศ.757 อันลู่ซานกลับสิ้นชีวิตเพราะถูกอันชิ่งชีว์ บุตรชายของตนเองสังหาร อันชิ่งชีว์ตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งเยียน ทหารและแม่ทัพจำนวนมากไม่ยอมรับอันชิ่งชีว์ทำให้พวกกบฏอ่อนแอลง
ในช่วงนี้เอง ถังซู่จงได้ให้หลี่กวงปี้กับกั๋วจื่ออี้เป็นแม่ทัพใหญ่นำทหารหลวงเข้าปราบปรามพวกกบฏ ทั้งสองยืมกำลังจากพวกทูเจี๋ย อาณาจักรอัปปาสิดของชาวอาหรับ และชาวอุยกูร์ แล้วเข้าตีเมืองฉางอานกลับคืน การสู้รบดำเนินไปอย่างรุนแรง แต่สุดท้ายเมืองฉางอานก็ถูกตีกลับคืนมาได้
ช่วงเวลาเดียวกัน จางซวินได้ตีสกัดกองทัพใหญ่ฝ่ายเยียนไว้ที่สุยหยาง เมื่อไม่ให้กองทัพเยียนเข้าถึงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงได้ กองทัพถังของจางซวินมีทหารเพียงหนึ่งหมื่นคน แต่กองทัพเยียนมีถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นคน
การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือด กองทัพเยียนเข้าตีเท่าใด เมืองสุยหยางก็ไม่แตกเพราะการป้องกันอย่างแข็งแกร่งของจางซวิน กองทัพเยียนจึงต้องใช้วิธีการล้อมไว้แทน ผ่านไปหลายเดือนภายในเมืองก็สิ้นเสบียง ทหารถังจึงต้อง “กิน” เหล่าพลเมืองเป็นอาหาร แต่ก็ยังไม่ยอมจำนน
ก่อนที่เมืองจะแตก ทหารถังที่อยู่ในเมืองเหลือเพียง 400 คนเท่านั้น ทุกคนล้วนแต่อ่อนล้าเกินกว่าจะต่อสู้ป้องกันต่อไปได้ ท้ายที่สุดเมืองก็แตก จางซวินถูกจับกุมตัวได้ เขาไม่ยอมจำนนต่อกองทัพเยียนจึงถูกประหารชีวิตพร้อมกับทหารของเขา
การต่อสู้ที่สุยหยางนี้ทำให้กองทัพเยียนได้รับความเสียหายมาก เพราะเสียกำลังไปหลายหมื่นคน พร้อมกับเสบียงเหลือคณานับ ทหารมีฝีมือเองก็บาดเจ็บล้มตายมากมาย ยุทธการครั้งนี้เปิดโอกาสให้ราชวงศ์ถังตั้งหลักได้ และเริ่มการตีโต้ในที่สุด
ทหารเยียนบาดเจ็บและอ่อนล้าจากการรบที่สุยหยางและที่อื่นๆ ทำให้ไม่สามารถต่อต้านกองทัพหลวงฝ่ายถังได้ กองทัพถังและพันธมิตรสามารถตีเมืองลั่วหยางกลับคืนได้ในปี ค.ศ.757 และเริ่มผลักดันกองทัพเยียนกลับไปทางตอนเหนือ กองทัพถังยกตามไปเพื่อที่จะเผด็จศึกพวกกบฏ
พวกกบฏพ่ายแพ้
เวลานั้นเองซื่อซือหมิง แม่ทัพฝ่ายกบฏที่ยอมจำนนต่อราชวงศ์ถังได้หันกลับไปหาอันชิ่งชีว์ แต่ซื่อซือหมิงกลับฆ่าอันชิ่งชีว์เสียและตั้งตนเป็นใหญ่ในหมู่พวกกบฏแทนที่อันชิ่งชีว์ หลังจากนั้นจึงคุมกองทัพกบฏเข้าปะทะกับกองทัพถังอีกครั้งหนึ่ง
ซื่อชือหมิงปะทะกับกองทัพถังและเอาชนะกองทัพถังได้ เขาตีเมืองสำคัญกลับมาได้หลายแห่ง รวมไปถึงเมืองลั่วหยางด้วย แต่การรุกของซื่อชือหมิงกลับถูกสกัดเอาไว้ได้โดยกองทัพถัง ทั้งสองฝ่ายจึงยังไม่มีใครได้รับชัยชนะเด็ดขาด
ในปี ค.ศ.761 ประวัติศาสตร์กลับซ้ำรอยเมื่อซื่อชือหมิงถูกสังหารโดยซื่อฉาวอี้ บุตรชายของตนเอง พวกกบฏเกิดการต่อสู้กันเอง ทำให้ทหารและแม่ทัพฝ่ายเยียนจำนวนมากยอมจำนนต่อราชสำนักถัง กองทัพถังฉวยโอกาสบุกตะลุยจนสามารถชิงเมืองลั่วหยางกลับคืนมาได้
ซื่อฉาวอี้พยายามจะหนีแต่ถูกสกัดเอาไว้ได้โดยทหารถัง เขาเลือกที่จะฆ่าตัวตายดีกว่าจะถูกจับกุม เมื่อสิ้นซื่อฉาวอี้ พวกกบฏที่เหลืออยู่จึงวางอาวุธต่อราชสำนักถัง การกบฏที่ดำเนินมาถึง 8 ปีจึงสิ้นสุดลง
ความย่อยยับ
ความเสียหายตลอด 8 ปีของการกบฏเรียกได้ว่ามหาศาล โดยเฉพาะพิ้นที่บริเวณฉางอานและลั่วหยางที่เคยอุดมสมบูรณ์ ราชสำนักถังสูญเสียประชากรจำนวนมากไปกับ การสู้รบ การขาดอาหาร และการอพยพหลบหนีสงคราม ความย่อยยับเหล่านี้ถูกบรรยายให้เห็นภาพโดยบทกวีของตู้ฝู่ มหากวีของชาวจีน
จากการสำรวจสำมะโนครัวพบว่า ในปี ค.ศ.755 ราชสำนักถังมีประชากรประมาณ 53,000,000 คน แต่เหลือเพียงไม่ถึง 17,000,000 คนในปี ค.ศ.764
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ประชากรทุกคนที่หายไปจะต้องเสียชีวิตทั้งหมด แต่พวกเขาหลบไปอาศัยอยู่ที่อื่น และไม่ได้อยู่ในระบบการจ่ายภาษีอีกต่อไป หลังจากนี้ราชสำนักจึงประสบกับปัญหาทางการเงินอยู่โดยตลอด เพราะว่าไม่สามารถเก็บภาษีได้เท่าเดิม หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลถังทำเพื่อแก้ปัญหาคือการปราบปรามศาสนาพุทธในปี ค.ศ.845
การกบฏครั้งนี้ทำให้ราชสำนักถังอ่อนแอลงมาก ดินแดนในเอเชียกลางของราชวงศ์ถังเสียให้กับอาณาจักรทิเบต และอุยกูร์ และไม่สามารถกู้คืนมาได้ นอกจากนี้การกบฏยังทำให้พวกขุนศึกเรืองอำนาจ เพราะราชสำนักถังไม่ได้สังหารพวกกบฏที่ยอมจำนน แต่กลับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพตามเดิม โดยมีข้อแม้อย่างเดียวคือต้องยอมรับว่าอยู่ภายใต้ราชสำนักถัง
นานวันเข้าพวกขุนศึกเหล่านี้จึงยิ่งกร่างและไม่ใส่ใจราชสำนักถังอีกต่อไป อำนาจในการปกครองของราชวงศ์ถังจึงน้อยลงไปตามลำดับ ราชวงศ์ถังต้องสูญเสียทรัพยากร ผู้คน และเงินทองมหาศาลเพื่อพยายามปราบปรามพวกขุนศึกเหล่านี้ ราชวงศ์ถังจึงไม่สามารถฟื้นคืนความยิ่งใหญ่ในอดีตกลับมาได้อีกเลย ราชวงศ์ได้แต่ทรงกับทรุด จนกระทั่งถูกทำลายหมดสิ้นในปี ค.ศ.907
อนึ่งกบฏอันลู่ซานทำให้ผู้คนจำนวนมากหลบหนีลงใต้ ทำให้ภาคใต้ของจีนมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และเป็นศูนย์กลางทางการเกษตรกรรมและการค้าแทนที่บริเวณภาคกลางที่เสียหายอย่างยับเยิน ภาคใต้ของจีนจึงทวีความสำคัญขึ้นจนเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของจีนมาจนถึงทุกวันนี้
Sources:
Twitchett, The Cambridge History of China, Volume 3, Sui and T’ang China