หลายท่านที่เคยอ่านเรื่องจ้านกว๋อมาบ้าง คงจะทราบอยู่แล้วว่าจิ๋นซีฮ่องเต้ (ฉินสื่อหวงตี้) เป็นผู้รวมรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งได้สำเร็จ
หากแต่ว่าความสำเร็จของแคว้นฉินไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉินสื่อหวงตี้แต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นผลงานของกษัตริย์และประชาชนแคว้นฉินหลายชั่วคน
สิ่งที่ไม่อาจกล่าวถึงได้คือ การปฏิรูปประเทศของซางยางที่ทำให้แคว้นฉินแข็งแกร่งเหนือแคว้นทั้งหก
เรามาดูกันครับว่าซางยางปฏิรูปอะไรบ้าง
แคว้นฉินก่อนการปฏิรูป
แคว้นฉินเคยรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยของฉินมู่กง เจ้าผู้ครองแคว้นฉินในยุคชุนชิว แต่หลังจากนั้นแคว้นฉินอ่อนแอลง เพราะบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นฉินยุคหลังที่รวมดินแดนฝั่งตะวันตกได้หมดแล้วกลับใช้นโยบายอยู่อย่างพอเพียง ไม่ยุ่งกับใคร ทหารฉินจึงไม่ได้ออกรบกับแคว้นอื่นๆ เลย ทำให้ศักยภาพถดถอย
เมื่อแคว้นสามจิ้น (จ้าว เว่ย หาน) แตกออกมาจากแคว้นจิ้น แคว้นฉินจึงเริ่มประสบกับการรุกรานจากแคว้นเหล่านี้ และไม่สามารถเอาชัยชนะได้ ทำให้ต้องเสียเมืองชายแดนไปบางส่วน
นอกจากนี้ดินแดนเดิมของแคว้นฉินเป็นดินแดนที่ไม่อุดมสมบูรณ์มากนัก ซึ่งเทียบไม่ได้กับแคว้นอื่นที่อยู่ทางทิศตะวันออก การชลประทานก็ไม่ค่อยดีเท่าไรเพราะขาดการพัฒนามาอย่างยาวนาน
ระหว่างที่ซุนปิ้นและผังเจวียนสู้รบขับเคี่ยวกันอยู่นั้น ตำแหน่งเจ้าผู้ครองแคว้นฉินอยู่ในมือของ ฉินเสี้ยวกง
เขาไม่สบอารมณ์ยิ่งนักที่แคว้นฉินอ่อนแอ ฉินเสี้ยวกงจึงต้องการจะดำเนินการปฎิรูปแคว้น เขาเชื้อเชิญผู้มีสติปัญญามากมายมากที่แคว้นฉิน เว่ยยาง ราชนิกูลแคว้นเว่ย (衞) เป็นหนึ่งในผู้ที่เดินทางมายังแคว้นฉินด้วย
หมายเหตุสำคัญ: แคว้นที่เว่ยยางเป็นราชนิกูลคือแคว้นเว่ย (衞) ซึ่งเป็นแคว้นเล็กที่ไม่มีนัยสำคัญใดๆ ในยุคจ้านกว๋อ แคว้นนี้ต่างกับแคว้นเว่ย (魏) ที่เป็นหนึ่งในแคว้นสามจิ้น และเป็นแคว้นใหญ่ หลังจากนี้ผมขอไม่กล่าวถึงแคว้นเว่ย (เล็ก) ต่อไปอีก และแคว้นเว่ยที่กล่าวถึงต่อไปในบทความนี้จะเป็นแคว้นเว่ยที่เป็นแคว้นใหญ่เท่านั้น
ทั้งนี้นามเดิมของ “ซางยาง” คือ เว่ยยาง นั่นเอง
เว่ยยางพบฉินเสี้ยวกง
เมื่อเว่ยยางศึกษาจบแล้วได้เข้าไปสมัครงานเป็นที่ปรึกษาของสมุหนายกแคว้นเว่ย (魏) สมุหนายกแคว้นเว่ยเห็นในสติปัญญาของเว่ยยาง ก่อนจะสิ้นใจ เขาได้ทูลเว่ยฮุ่ยหวาง (กษัตริย์แคว้นเว่ยที่สั่งลงโทษซุนปิ้น) ว่า
ในบรรดาขุนนางที่อยู่ข้างกายพระองค์นั้น เว่ยยางมีสติปัญญาเหนือคนสามัญ ถ้าต้าหวางไม่ทรงใช้เขา ขอให้สังหารเขาเสีย ก่อนที่เขาจะหนีไปแคว้นอื่นและทำให้แคว้นอื่นรุ่งเรือง
เว่ยฮุ่ยหวางผู้นี้เหมือนเป็นกษัตริย์ที่มีกรรม เขาได้พบพานคนเก่งหลายคนแต่กลับไม่ได้ใช้ ซุนปิ้นเขาก็ไม่ได้ใช้ เช่นเดียวกับเว่ยยาง เว่ยฮุ่ยหวางไม่เชื่อถือคำกล่าวนี้ เพราะคิดว่าเป็นคำพูดของคนที่ใกล้จะตาย สติของสมุหนายกน่าจะเลอะเลือน ท้ายที่สุดเว่ยฮุ่ยหวางจึงไม่ทำทั้งสองอย่าง นั่นคือไม่ใช้เว่ยยางและไม่สังหารเขาด้วย
ความผิดพลาดนี้เว่ยฮุ่ยหวางจะต้องจดจำไว้จนตาย เพราะมันทำลายแคว้นเว่ยได้มากกว่า การพ่ายศึกต่อซุนปิ้นทั้งสองครั้ง
เมื่อเว่ยยางได้ยินว่าฉินเสี้ยวกง เจ้าผู้ครองแคว้นฉินชักชวนเหล่าบัณฑิตมาเป็นขุนนาง โดยสัญญาว่าจะมอบค่าตอบแทนให้อย่างงาม เว่ยยางจึงเดินทางไปแคว้นฉิน
เว่ยยางเดินทางมารับสมัครกับขุนนาง ขุนนางผู้รับสมัครเห็นเว่ยยางมีสติปัญญา เขาจึงเรียนให้ฉินเสี้ยวกงทราบ ฉินเสี้ยวกงจึงเชิญตัวเว่ยยางมาพูดคุยสอบถามเรื่องการปกครองด้วยตนเอง
ระหว่างพูดคุยกัน เว่ยยางนำเอาหลักการสมัยโน้นสมัยนี้มาพูดมากมายไปหมด จนดูเหมือนกับว่าอวดความรู้ที่ตนมีอยู่ ทำให้ฉินเสี้ยวกงรู้สึกเบื่อและหลับไป
ฉินเสี้ยวกงจึงมาโวยวายกับขุนนางรับสมัครว่าส่งผู้ใดเข้ามา พูดจาได้วกวน น่าเบื่อ ใช้ไม่ได้ ดูโง่เขลา
ขุนนางรับสมัครต่อว่าเว่ยยางว่าทำไมเว่ยยางถึงไปพูดจาไร้สาระกับเจ้าผู้ครองแคว้นฉินเล่า
เว่ยยางจึงร้องขอโอกาสอีกครั้งหนึ่ง
หากแต่ว่าพอพูดอีกครั้ง ทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม
ครั้งนี้ฉินเสี้ยวกงสุดจะทน เขาพูดขึ้นว่า
ท่านแนะนำให้ใช้วิธีการปกครองที่โบราณอย่างสมัยสามหวาง ห้าเต้ ข้าคิดว่าคงไม่เหมาะกับสมัยปัจจุบันของเรา
หลังจากนั้นฉินเสี้ยวกงจึงให้เว่ยยางออกไปทั้งๆที่เขายังพูดไม่จบ
เว่ยยางพยายามขอโอกาสอีกครั้งกับขุนนางรับสมัคร แต่ครั้งนี้ขุนนางรับสมัครก็เฉยเสีย เพราะเกรงว่าจะทำให้เจ้านายโมโหแล้วหัวตนเองจะหลุดจากบ่า
ผ่านไปหลายวัน เว่ยยางจึงตัดใจและมายื่นขอถอนใบสมัคร ขุนนางรับสมัครถามว่าจะไปที่ใด เว่ยยางตอบว่า
ในยุคที่ชุลมุนวุ่นวายแย่งอำนาจกันนี้ ยังมีอีกหลายแคว้นให้ข้าไป ข้าว่าคงมีเจ้านายสักคนที่ทรงภูมิปัญญากว่าเจ้าผู้ครองแคว้นฉินเป็นแน่ ข้าจะไปแสวงหาเอง
ขุนนางรับสมัครจึงเร่งไปเรียนฉินเสี้ยวกงอีกครั้งหนึ่ง
ระหว่างที่ขุนนางรับสมัครมาขอเข้าพบ ฉินเสี้ยวกงกำลังดื่มเหล้าชมทิวทัศน์อยู่ พอดีเขากลับเห็นหงส์บินผ่านไป เขาจึงถอนหายใจ ขุนนางรับสมัครทูลว่าทำไมฉินเสี้ยวกงถึงถอนหายใจ
ฉินเสี้ยวกงตอบว่า
ข้าให้แสวงหานักปราชญ์มาหลายเดือนแล้ว กลับไม่มีผู้ใดที่เหมือนกับก่วนจ้งของฉีหวนกงเลย
ขุนนางรับสมัครจึงทูลว่า
เว่ยยาง คนที่เจ้านายบอกว่าพูดจาไม่น่าฟังน่าเบื่อหน่ายอย่างไรเล่านายท่าน เขามีวิธีการเป็นอธิราชผู้ยิ่งใหญ่ แล้วเขายังพูดไม่จบเลย นายท่านก็ไล่ให้เขาออกไปเสียแล้ว
ฟ้าเหมือนกับจะต้องการให้แคว้นฉินรวบรวมแผ่นดินได้เป็นหนึ่ง ฉินเสี้ยวกงจึงสั่งให้เว่ยยางมาพบตนอีกครั้ง
ในรอบที่สามนี้ ฉินเสี้ยวกงจึงได้ถามเว่ยยางตั้งแต่แรกเลยว่าวิธีการทำให้แคว้นฉินเป็นมหาอำนาจคืออะไร
เว่ยยางตอบว่า การจะทำให้แคว้นเป็นมหาอำนาจจะต้องฝืนความรู้สึกของราษฎร ฉินเสี้ยวกงอาจจะไม่พอใจจึงไม่รีบทูลให้ทราบ
ฉินเสี้ยวกงรู้สึกสงสัย เขาถามขึ้นว่าเพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น
เว่ยยางจึงกล่าวว่า
ถ้านายท่านเล่นพิณ แล้วเสียงพิณไม่เข้ากัน ก็ต้องเปลี่ยนสายและขันให้ตึงใช่หรือไม่ มันก็คล้ายคลึงกับการปกครองที่ไม่ครอบคลุม ประชาราษฎร์เอาแต่สุขสบาย ไม่มีใจคิดถึงอนาคต ประเทศก็ไม่เจริญรุ่งเรือง ขอให้นายท่านดูอย่างก่วนจ้งแห่งแคว้นฉี เขาได้จัดระเบียบประเทศหลายอย่างมากมายทั้งกองทัพ การเกษตร กฎหมาย ซึ่งแต่ละอย่างเป็นสิ่งที่ต้องบังคับบรรดาราษฎรให้ปฎิบัติ แม้ราษฎรจะไม่พอใจ แต่ในระยะยาวสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์กับแคว้นและราษฎร นี่เป็นสิ่งที่แคว้นฉีเข้มแข็ง และทำให้ก่วนจ้งมีชื่อเสียงจนมาถึงทุกวันนี้นั่นเอง
ฉินเสี้ยวกงจึงถามต่อไปว่าแล้วเว่ยยางมีวิธีใดที่จะจัดระเบียบประเทศ
เว่ยยางจึงว่า
ถ้าประเทศไม่มั่งคั่ง ก็ไม่อาจจะทำสงครามได้ ถ้าทหารไม่เข้มแข็ง ก็ไม่สามารถจะเอาชนะข้าศึกได้ นายท่านจะต้องจูงใจบรรดาราษฎรและทหารให้ทำในหน้าที่ตนเองอย่างเต็มที่ด้วยการให้รางวัลพวกเขา ชาวนาจะได้ทำนาอย่างเต็มที่ ทหารจะได้ตั้งใจสู้รบอย่างเต็มที่เพื่อที่จะเอารางวัล แต่ทว่าถ้าพวกเขาไม่ยอมทำก็ต้องลงโทษสถานหนักเพื่อบังคับให้ทำ การให้รางวัลและลงโทษจะต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อที่ราษฎรและทหารจะได้ชั่งน้ำหนักดูแล้วว่า ถ้าทำแล้วได้รางวัลกับไม่ทำแล้วโดนลงโทษ ควรจะเลือกเอาข้างใด ถ้านายท่านทำเช่นนี้แล้ว ความเข้มแข็งของแคว้นฉินก็อยู่ไม่ไกล
วิธีการของเว่ยยางคือ Meritocracy รวมกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดนั่นเอง เพื่อสร้างระเบียบวินัยขึ้นมาในสังคม
ฉินเสี้ยวกงจึงกล่าวว่าดีมากและขอให้เว่ยยางพูดต่อไป แต่เว่ยยางกลับทูลว่าขอให้ฉินเสี้ยวกงไตร่ตรองอีกสักสองสามวัน หลังจากนั้นจะเรียนให้ทราบต่อไป หลังจากนั้นเว่ยยางจึงลากลับไป
พอได้ฟังไปบ้างแล้ว ฉินเสี้ยวกงรู้สึกร้อนใจอยากจะฟังต่อ เขาจึงส่งข้าหลวงไปเชิญเว่ยยางมา แต่เว่ยยางกลับปฎิเสธ โดยกล่าวว่า
ข้าบอกเจ้านายว่าจะมาพบในเวลาสามวัน นี่วันเดียวจะให้ไปพบเสียแล้ว เป็นการเสียสัจจะ
ข้าหลวงจึงกลับไป
ครบสามวัน เว่ยยางเดินทางมาพบกับฉินเสี้ยวกงอีกครั้ง ฉินเสี้ยวกงแสดงท่าทีเด็ดขาดต้องการจะปฎิรูปแคว้น เว่ยยางจึงอธิบายแผนการทั้งหมดให้ฉินเสี้ยวกงฟังนานถึงสามวันสามคืน ฉินเสี้ยวกงกลับไม่ได้มีอาการเหนื่อยล้า เขายังคงนั่งฟังอย่างตั้งใจ
เมื่อเว่ยยางกล่าวจบแล้ว ฉินเสี้ยวกงจึงให้เว่ยยางขึ้นเป็นสมุหนายกทันทีด้วยความเต็มใจยิ่ง
การปฏิรูปของเว่ยยาง
เว่ยยางเริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของแคว้นใหม่ กฎหมายใหม่ส่งเสริมให้ราษฎรตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อผลงานและรางวัล ถ้าใครทำดีจะได้รางวัลอย่างเต็มที่ แต่ถ้าใครทำไม่ดีจะถูกลงโทษอย่างเข้มงวด กฎหมายนี้ใช้บังคับทุกชนชั้นตั้งแต่รัชทายาทลงไปถึงทาส
กฎหมายในแคว้นฉินหย่อนหยานมานาน บรรดาราษฎรจึงไม่เชื่อในกฎหมายใหม่ เว่ยยางจึงสั่งให้นำไม้น้ำหนักเบาซึกหนึ่งไปวางไว้ที่กลางเมืองหยิ่งตู เมืองหลวงแคว้นฉิน และติดประกาศว่า ผู้ใดยกไปวางที่ประตูเมืองทิศเหนือได้ จะได้รับรางวัลสิบตำลึง
เหล่าราษฎรต่างไม่เข้าใจว่า จะให้รางวัลสูงขนาดนี้กันทำไม เพราะไม้นี้ใครๆ ก็แบกได้ ทุกคนจึงไม่มีใครกล้าแบกเพราะกลัวจะมีอะไรแอบแฝงเอาไว้
เว่ยยางเห็นไม่มีผู้ใดกล้าแบกจึงสั่งให้เปลี่ยนป้ายประกาศเป็นมอบรางวัลให้ห้าสิบตำลึง
ชายผู้หนึ่งจึงเดินออกมาแล้วแบกไม้ดังกล่าวออกไปวางที่ประตูทิศเหนือตามคำสั่ง เว่ยยางจึงสั่งให้นำทองคำห้าสิบตำลึงไปมอบให้ชายผู้นั้นทันที
ราษฎรแคว้นฉินต่างเห็นว่า สมุหนายกคนใหม่พูดจริงทำจริง ต่างคนจึงทำงานหนักขึ้นเพื่อหวังรางวัล
หลังจากนั้นไม่นานเว่ยยางจึงเริ่มการปฎิรูปดังต่อไปนี้
เริ่มแรกเขาปฎิรูปที่ดิน เว่ยยางสั่งให้แจกจ่ายที่ดินให้ราษฎรที่สามารถทำผลผลิตให้ถึงกับโควตาที่ตั้งไว้ และสั่งให้บุกเบิกที่ดินที่รกร้างไม่ได้ใช้ในการเพาะปลูก รวมไปถึงแบ่งที่ดินของชนชั้นสูงมามอบให้แก่ชนชั้นล่าง เพื่อทำให้ความเท่าเทียมในแคว้นลดลง
ต่อมาเว่ยยางปฎิรูประบบประชากรและการเก็บภาษี เขาออกกฎหมายสนับสนุนให้ราษฎรแต่งงานกันเร็วขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนประชากร หากแต่ว่ากฎหมายใหม่จะเก็บภาษีบ้านที่มีลูกชายที่โตแล้วมากกว่าหนึ่งคน เจตนาของเว่ยยางคือให้ครอบครัวใหญ่แตกออกเป็นครอบครัวเล็กๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนการเก็บภาษีให้เป็นแบบเดียวกันทั้งแคว้น ทำให้เกิดความโปร่งใส การหลบเลี่ยงภาษีจึงทำได้ยากขึ้น
ในด้านการปกครอง เขาเปลี่ยนการปกครองของแคว้นฉินเป็นระบบจังหวัดและอำเภอ เว่ยยางแบ่งดินแดนแคว้นฉินออกเป็น 41 จังหวัด เพื่อทำให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการรวมอำนาจสู่เจ้าผู้ครองแคว้น ไม่ใช่แตกออกเช่นในสมัยของราชวงศ์โจวที่ทำให้เกิดการต่อสู้ฆ่าฟันกันของบรรดาชนชั้นสูง
ส่วนในเรื่องกองทัพ เว่ยยางสั่งปฎิรูปเสียใหม่ทั้งหมด เขาเปลี่ยนยศทหารเป็นแบบยี่สิบขั้น ทหารจะเลื่อนขั้นจากความดีความชอบในการทำสงคราม ดังนั้นผู้ที่เป็นแม่ทัพแคว้นฉินจะมีความเก่งกล้าทุกคน เพราะผ่านสงครามมาครั้งแล้วครั้งเล่า เขายังได้กำจัดระบบเส้นสายในกองทัพอย่างเด็ดขาด และสั่งให้นำระเบียบวินัยที่เข้มงวดมาใช้ในกองทัพ ผู้ใดฝ่าฝืนกฎของกองทัพมีโทษถึงตาย
อย่างไรก็ตาม เว่ยยางเห็นว่าแคว้นฉินอยู่ห่างไกล พลเมืองน้อย ถ้ากองทัพยกไปรบแล้วจะไม่มีผู้คอยทำนาหาข้าวปลาอาหาร เว่ยยางจึงออกกฎหมายสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานของชาวแคว้นอื่นในเข้ามาในแคว้นฉิน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในทำไร่ไถนา ในขณะที่ราษฎรแคว้นฉินเป็นทหารสู้รบกับแคว้นอื่น
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เว่ยยางได้ทำคือ การขอให้ฉินเสี้ยวกงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองเสียนหยาง ส่วนหนึ่งเพราะต้องการกำจัดอิทธิพลของพวกชนชั้นสูงเดิมที่ขัดขวางการปฏิรูป แต่อีกสาเหตุหนึ่งเพราะเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญของเมืองนี้
เมืองเสียนหยางเป็นเมืองหลวงเดิมของราชวงศ์โจวตะวันตก แต่ถูกทำลายในสมัยโจวอิวหวางโดยพวกชนเผ่าเฉวียนหรง เว่ยยางเห็นว่าเสียนหยางเป็นเมืองที่ป้องกันง่าย บริเวณโดยรอบทั้งหมดเป็นหุบเขาใหญ่ ส่วนอีกด้านเป็นแม่น้ำ กองทัพศัตรูยกเข้ามาได้เพียงทางเดียวนั่นคือด่านหานกู่เท่านั้น ถ้ากองทัพฉินปิดกั้นไม่ให้ศัตรูเข้ามาจากด่านหานกู่ได้ เมืองหลวงแคว้นฉินก็ปราศจากอันตราย นอกจากนี้เสียนหยางยังเป็นศูนย์กลางการค้าขายอีกด้วย
เสียนหยางเป็นเมืองหลวงของแคว้นฉินสืบต่อมา จนกระทั่งถูกทำลายโดยเซี่ยงอวี่หลังการล่มสลายของราชวงศ์ฉิน
การปฎิรูปของเว่ยยางทำให้แคว้นฉินมั่งคั่ง รัฐบาลกลางสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับกองทัพที่มีอานุภาพมากขึ้น แคว้นฉินจึงเปลี่ยนจากแคว้นล้าหลังเป็นแคว้นที่เข้มแข็งมั่งคั่งและร่ำรวย
แปดปีหลังจากเริ่มต้นปฏิรูป เว่ยยางทราบว่าผังเจวียนเสียชีวิตแล้วที่หม่าหลิง เขาจึงขอฉินเสี้ยวกงยกไปตีแคว้นเว่ย
เว่ยยางบดขยี้กองทัพเว่ยจนแตกพ่าย และบุกเข้าประชิดเมืองหลวงของแคว้นเว่ย เว่ยฮุ่ยหวางไม่มีทางเลือก นอกจากต้องตัดดินแดนมหาศาลใกล้กับแม่น้ำเหลืองให้กับแคว้นฉินเพื่อหย่าศึก แคว้นฉินจึงได้ครอบครองดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่บริเวณตอนกลางของประเทศ ทำให้แคว้นฉินเข้มแข็งกว่าเดิม
ความดีความชอบของเว่ยยางยิ่งใหญ่มาก ฉินเสี้ยวกงจึงมอบเมือง 15 เมืองให้เขาดูแล หลังจากนั้นเว่ยยางจึงเปลี่ยนเป็นชื่อเป็นซางยาง อย่างที่เขาเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา
เว่ยยางสิ้นชีวิต
การปฏิรูปของเว่ยยางทำให้พวกชนชั้นสูงในแคว้นฉินไม่พอใจมาก เพราะพวกตนเสียประโยชน์ กฎหมายที่เว่ยยางบังคับใช้กับทุกชนชั้น ทำให้พวกเขาไม่มีอภิสิทธิ์อีกต่อไป
นอกจากนี้รัชทายาทแคว้นฉินยังไม่ชอบหน้าเว่ยยางด้วย เพราะเว่ยยางเคยลงโทษเขาและตัดจมูกอาจารย์ของเขาด้วยเพราะทำผิดกฎหมาย
เว่ยยางจึงอยู่ในแคว้นฉินได้ เพราะฉินเสี้ยวกงสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ แต่ถ้าฉินเสี้ยวกงสิ้นชีวิต เว่ยยางจึงไม่มีเกราะคุ้มกันภัยอีก
หลังจากฉินเสี้ยวกงสวรรคต ฉินฮุ่ยเหวินกง เจ้าผู้ครองแคว้นฉินคนใหม่จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเว่ยยางด้วยข้อหากบฎ ไม่ปรากฎแน่ชัดว่าเว่ยยางเป็นกบฏจึงหรือไม่ บ้างว่าเขาพยายามต่อต้านฉินฮุ่ยเหวินกง ด้วยการจะก่อกบฎที่ดินแดนของเขา
เว่ยยางและครอบครัวจึงถูกจับกุมตัวมาประหารชีวิต ตัวเว่ยยางถูกประหารชีวิตแบบ “ห้าม้าแยกร่าง” จนเขาจากโลกนี้ไป
จริงอยู่ว่าฉินฮุ่ยเหวินกงเกลียดเว่ยยางมาก แต่เขาไม่เกลียดการปฏิรูปของเว่ยยาง เขาสั่งให้คงการปฏิรูปของเว่ยยางไว้เช่นเดิม และได้สถาปนาตนเองเป็นหวาง หรือ กษัตริย์เทียบเท่ากับกษัตริย์ราชวงศ์โจว
ต่อมาฉินฮุ่ยเหวินหวางได้ทำตามคำแนะนำของกานหลิง สมุหนายก กองทัพฉินยกเข้าตีแคว้นปาและสู่ที่ตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน แม้จะเข้าถึงยาก แต่ดินแดนปาและสู่อุดมสมบูรณ์มาก แถมยังมีเทือกเขาขนาดใหญ่เป็นปราการทำให้ข้าศึกเข้าตีจากทิศตะวันออกได้ยาก
กองทัพฉินสามารถตีดินแดนทั้งสองได้อย่างง่ายดาย โดยยกทัพผ่านทางทิศเหนือ หลังจากนั้นจึงมีรับสั่งให้พัฒนาระบบชลประทานในดินแดนทั้งสองเหล่านี้ สุดท้ายแล้วดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนที่ส่งเสบียงอย่างไม่มีวันหมดสิ้นให้กับแคว้นฉินในการทำสงครามกับแคว้นทั้งหกในทิศตะวันออก
การปฏิรูปของเว่ยยางทำให้แคว้นฉินกลายเป็นแคว้นที่เข้มแข็งที่สุดในยุคจ้านกว๋อ ฉินฮุ่ยเหวินหวางส่งประกาศไปทั่วสารทิศว่า แคว้นใดไม่อยากจะถูกโจมตีต้องตัดดินแดนมาให้แคว้นฉิน
ยักษ์ที่เคยหลับใหลจึงตื่นขึ้นมาแล้ว
Sources:
- Sima Qian, Record Of the Grand Historian
- วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์, เลียดก๊ก เล่ม 3