ประวัติศาสตร์มหากาพย์ราชวงศ์หลิวซ่ง ตอนที่ 7: การปกครองหยวนเจีย

มหากาพย์ราชวงศ์หลิวซ่ง ตอนที่ 7: การปกครองหยวนเจีย

ภายหลังจากที่กำจัดขุนนางที่ปลงพระชนม์พี่ชายทั้งสองได้แล้ว อำนาจในราชสำนักจึงกลับมาอยู่ในมือของซ่งเหวินตี้โดยสมบูรณ์ โดยเวลานั้นพระองค์ทรงมีพระชันษาได้เพียง 20 ปีเท่านั้นเองครับ หลังจากนั้นซ่งเหวินตี้ก็ให้ความสำคัญกับการว่าราชการแผ่นดินอย่างมาก ผู้ที่มีสติปัญญาถูกเลือกเข้ามาเป็นขุนนางและผู้ว่าราชการเมืองต่างๆ พร้อมกับสร้างระบบตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ทำให้ระบบราชการของหลิวซ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะภาษีถูกราชสำนักจัดเก็บในอัตราที่เหมาะสม ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของจีนจึงลืมตาอ้าปากได้บ้าง หลังจากที่ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองและการฆ่าฟันติดๆ กัน

ถ้าเทียบกับช่วงอื่นที่เปรียบได้กับนรกแล้ว การปกครองในช่วงนี้ของซ่งเหวินตี้เปรียบได้กับเป็นยุคทองของราชวงศ์ เพราะทุกอย่างอยู่กับร่องกับรอยมากที่สุด นักประวัติศาสตร์ตั้งชื่อช่วงนี้ว่าการปกครองหยวนเจีย (元嘉之治, หยวนเจียจือจื้อ)

อย่างไรก็ดีแม้ว่าซ่งเหวินตี้จะมีปัญญาชนที่ขยันและมีความสามารถในการปกครอง และในด้านอื่นๆ นั้น พระองค์ด้อยกว่าฮ่องเต้ราชวงศ์อื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก นั่นทำให้หลิวซ่งนั้นไม่ได้รุ่งเรืองอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับนำไปสู่การแตกดับอันรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

การรุกรานราชวงศ์เป่ยเว่ย

หลังจากที่พัฒนาอาณาจักรไปได้หลายปีจนกำลังฟื้นฟูขึ้นมามากแล้ว สายตาของซ่งเหวินตี้ก็พุ่งไปยังภาคเหนือ พระองค์ทรงต้องการจะตีชิงดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในกำมือของราชวงศ์เป่ยเว่ย (เว่ยเหนือ) ในปี ค.ศ.430 กองทัพหลิวซ่งจำนวน 50,000 คนถูกส่งขึ้นเหนือไปทำศึก

ราชวงศ์เป่ยเว่ยนั้นไม่ใช่กระจอก ไท่หวู่ฮ่องเต้ จักรพรรดิราชวงศ์เป่ยเว่ยเป็นนักบริหารที่มีสติปัญญา รวมไปถึงนักยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกองทัพหลิวซ่งที่ยังสด กองทัพเป่ยเว่ยจึงทิ้งเมืองสำคัญภาคใต้ของแม่น้ำเหลืองให้ทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงเมืองลั่วหยางด้วย

ปัญหาของกองทัพหลิวซ่งนั้นคือ ทุกการเคลื่อนไหวของกองทัพจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของฮ่องเต้ แม้ว่าฮ่องเต้จะไม่ได้อยู่ในสมรภูมิรบก็ตามที เหล่าแม่ทัพมีหน้าที่ทำตามคำสั่งอย่างเดียวโดยที่ไม่สามารถออกความเห็นใดๆ ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อซ่งเหวินตี้ทราบว่ากองทัพเป่ยเว่ยทิ้งเมืองให้กองทัพหลิวซ่ง พระองค์ก็สั่งให้กองทัพหยุดการโจมตี และสั่งให้กองทัพทั้งหมดตั้งมั่น

ยุทธศาสตร์ของซ่งเหวินตี้ดูเหมือนว่าจะรอบคอบ แต่เอาจริงแล้วกลับสร้างปัญหา เพราะซ่งเหวินตี้ได้ทำสัญญาพันธมิตรกับราชวงศ์หูเซี่ยว่าจะช่วยกันตีกระหนาบเป่ยเว่ย แทนที่ซ่งเหวินตี้จะรุกต่อตามที่นัดกันเอาไว้ แต่ฝ่ายหลิวซ่งกลับเรื่องตั้งรับเสียดื้อๆ เช่นนั้น

ผลที่ตามมาคือไท่หวู่ฮ่องเต้ได้ส่งกองทัพไปตีราชวงศ์หูเซี่ยจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก (ก่อนที่จะทำลายทิ้งทั้งหมดในอีกปีต่อมา) ทำให้แผนการที่วางเอาไว้พังทลายย่อยยับ

พอกองทัพหูเซี่ยไม่อยู่แล้ว กองทัพเป่ยเว่ยก็เริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ไปยังเมืองที่หลิวซ่งยึดไว้ได้ ซึ่งก็ตีได้โดยง่าย ซ่งเหวินตี้เห็นท่าไม่ดีจึงเร่งแก้สถานการณ์ด้วยการส่งถันเต้าจี้ไปช่วยเหลือ

แม้ว่าถันเต้าจี้จะพยายามเต็มที่ แต่สถานการณ์การศึกนั้นเลวร้ายเกินกว่าที่จะทำอะไรได้ เพราะกองทัพหลิวซ่งที่เหลืออยู่ในภาคเหนือนั้นถูกล้อมตัดเสบียงอย่างแน่นหนา ถันเต้าจี้ไม่อาจจะเข้าถึงกองทัพที่โดนล้อมอยู่ได้ และกองทัพของเขาเองก็เกือบจะพ่ายยับเสียด้วย แต่เพราะการใช้กลลวงหลอกอันชาญฉลาดด้วยการหลอกว่ามีเสบียงมากทั้งๆ ที่ไม่มี จนกองทัพเป่ยเว่ยไม่กล้าเข้าตี ทำให้เขาเอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

ผลของการรุกรานครั้งนี้คือ หลิวซ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก และไม่ได้อะไรกลับมาเลยอีกด้วย

กรณีหลิวอี้คัง

ความปราชัยต่อราชวงศ์เป่ยเว่ยนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายต่อหลิวซ่งมากนัก เพราะรากฐานของราชวงศ์ที่ซ่งเหวินตี้ทรงวางไว้ยังดีอยู่ แต่สถานการณ์ภายในเริ่มปริแตกอย่างช้าๆ อย่างไม่มีใครคาดคิด

ปัญหาแรกก็คือ ตัวซ่งเหวินตี้เอง แม้ว่าพระองค์จะขยันและเอาใจใส่การบริหารราชการ แต่สุขภาพของพระองค์ไม่ค่อยดีนัก แม้ว่าจะยังหนุ่มแน่น พระองค์มักจะประชวรอยู่เสมอ ทำให้ต้องพึ่งพาเหล่าขุนนางและเชื้อพระวงศ์ในการจัดการเรื่องต่างๆ

คนที่ซ่งเหวินตี้ไว้พระทัยมากที่สุดคืออนุชาชื่อ หลิวอี้คัง ซึ่งเป็นคนมีสติปัญญาด้านการจัดการที่ใช้ได้ มีความจำดี และที่สำคัญที่สุดคือไม่เย่อหยิ่งจองหอง ด้วยเหตุนี้ซ่งเหวินตี้โปรดให้แต่งตั้งเขาเป็นสมุหนายก คอยกำกับดูแลราชการต่างพระเนตรพระกรรณ หลิวอี้คังเองก็มักมาเยี่ยมอาการป่วยของพี่ชายอยู่บ่อยครั้งด้วยความผูกพันระหว่างพี่น้อง

ด้วยความที่หลิวอี้คังมีอำนาจมากและฮ่องเต้ก็เชื่อถือ เพราะฉะนั้นจึงมีคนมาเข้าหามากมาย พร้อมกับประจบประแจงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งนี้ทำให้หลิวอี้คังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ เขาเริ่มทะเยอทะยาน และจองหองมากยิ่งขึ้น หลิวอี้คังเริ่มสร้างฐานอำนาจของตนเอง พร้อมๆ กับใช้อำนาจเกินกว่าที่ตนเองมีอยู่ ราวกับว่าตนเองเป็นฮ่องเต้เลยทีเดียว

เมื่อซ่งเหวินตี้ทราบก็ไม่พอพระทัยเท่าไรนัก แต่ก็ยังไม่ได้แสดงออกมา ส่วนเหล่าขุนนางนั้นแตกเป็นสองฝั่ง ระหว่างฝั่งสนับสนุนหลิวอี้คัง และฝั่งต่อต้านหลิวอี้คัง การบริหารที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้ดีในช่วงการปกครองหยวนเจียก็เริ่มส่อแววเละในช่วงกลางรัชกาลของซ่งเหวินตี้นั่นเอง

สังหารถันเต้าจี้

ในช่วงปี ค.ศ.436 ซ่งเหวินตี้ป่วยกระเสาะกระแสะแต่ยังไม่สวรรคต อย่างไรก็ดีมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าพระองค์จะไม่รอดแล้ว หลิวอี้คังได้ลักลอบทูลให้พระองค์สังหารถันเต้าจี้ เพราะถ้าพระองค์สวรรคตไปแล้ว จะไม่มีใครสามารถต้านทานเขาได้ เพราะเก่งกาจในการศึก แถมยังมีบุตรชายหลายคนที่เอางานเอาการและเฉลียวฉลาดอีก

เมื่อได้ฟังคำของหลิวอี้คังแล้ว ซ่งเหวินตี้ก็เห็นด้วยกับหลิวอี้คัง แต่พระองค์ทรงไม่ทราบเลยว่าจริงๆ แล้วการหลิวอี้คังทัดทานซ่งเหวินตี้ไม่ใช่เพราะเป็นห่วงราชวงศ์หรือรัชทายาทอะไรเท่าไรนัก เขาแค่เกรงว่าถ้าซ่งเหวินตี้สวรรคตไปแล้ว ตนเองจะมีถันเต้าจี้เป็นเสี้ยนหนามต่างหาก

ถ้ามองตามบริบทของยุคนั้นแล้ว ซ่งเหวินตี้มีเหตุที่ระแวงถันเต้าจี้ เพราะซ่งหวู่ตี้ (หลิวยี่ว์) พระบิดาของพระองค์เองก็ชิงบัลลังก์จิ้นมาได้เพราะทำสงครามเก่ง และมีฐานอำนาจที่แข็งแกร่ง ถันเต้าจี้ในเวลานั้นก็เริ่มจะเข้าล็อกเดียวกัน

ถันเต้าจี้จึงถูกเรียกตัวเข้าเมืองเจี้ยนคัง (นานกิง) เพื่อเตรียมจะสังหาร แต่ผ่านไปเดือนหนึ่ง ซ่งเหวินตี้ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะให้ทำอะไรกับเขา เพราะในช่วงนั้นพระองค์ก็มีอาการดีขึ้น และยังเห็นว่าใช้ถันเต้าจี้เป็นประโยชน์ในการทำศึกกับเป่ยเว่ยได้ พระองค์จึงคิดจะปล่อยเขาไป ท้ายที่สุดจึงมีรับสั่งให้เดินทางไปยังเจียงโจว เพื่อเตรียมกองทัพไปตีภาคเหนืออีกคำรบหนึ่ง

จริงๆ แล้วถันเต้าจี้ไม่ได้คิดจะมักใหญ่ใฝ่สูงอะไร เขาจึงออกจากเจี้ยนคังไปที่ท่าเรือเพื่อเตรียมการไปเจียงโจวตามรับสั่ง แต่เป็นคราวเคราะห์ของถันเต้าจี้ เพราะในวันเดียวกันนั้น ซ่งเหวินตี้กลับประชวรหนักขึ้นมา หลิวอี้คังจึงออกคำสั่งให้จับกุมถันเต้าจี้เข้าคุก ต่อมาก็มีพระบรมราชโองการของซ่งเหวินตี้ให้นำตัวเขาไปประหารชีวิตพร้อมกับบุตรชาย

ไม่ปรากฏว่าคำสั่งให้ประหารชีวิตถันเต้าจี้นั้นเป็นของซ่งเหวินตี้หรือว่าหลิวอี้คังลักลอบปลอมพระราชโองการ แต่ที่แน่ๆ ก่อนที่ถันเต้าจี้จะสิ้นลม เขาได้ประกาศว่าหลิวซ่งได้ทำลาย “กำแพงใหญ่” ที่ปกป้องตนเอง ซึ่งก็ไม่เกินความเป็นจริงเท่าไรนัก เพราะถันเต้าจี้เป็นแม่ทัพที่เก่งกาจที่สุดและได้รับความเคารพนับถือโดยเหล่าทหาร การจากไปของเขาทำให้หลิวซ่งอ่อนแอลงอย่างมาก เมื่อข่าวไปถึงราชสำนักเป่ยเว่ยก็มีกระแสยินดีปรีดากันทั่วไปเลยทีเดียว

เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไปติดตามได้ในตอนหน้าครับ

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!