ประวัติศาสตร์ยุทธการแห่งทัลลัส (Battle of Talas) เมื่ออาณาจักรถังและแอบบาซิดปะทะกัน

ยุทธการแห่งทัลลัส (Battle of Talas) เมื่ออาณาจักรถังและแอบบาซิดปะทะกัน

ยุทธการแห่งทัลลัส (Battle of Talas หรือต๋าหลัวซิอจ้านอี้) เป็นยุทธการครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่สองแห่งของโลกเข้าปะทะกัน นั่นก็คือราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty) และอาณาจักรแอบบาซิด (Abbasid Caliphate) จักรวรรดิมุสลิมที่เรืองอำนาจอยู่ในดินแดนตะวันออกกลาง

ทั้งสองอาณาจักรนี้อยู่ห่างกันไกลหลายพันกิโลเมตร แต่มีสาเหตุอะไรที่ทำให้ทั้งสองมาปะทะกันได้ และผลของการสู้รบจะเป็นอย่างไรกันแน่? เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ

ปูมหลัง

ช่วงกลางศตวรรษที่ 8 ราชวงศ์ถังได้กลายเป็นมหาอำนาจของโลกด้วยการปราบปรามพวกทูเจี๋ย ทำให้อิทธิพลของอาณาจักรแผ่กระจายเข้าไปในเอเชียกลาง เมืองหลายแห่งในเส้นทางสายไหม (อย่างเช่นคาชการ์ โฮทัน คูชา ซึ่งอยู่ในซินเจียงในปัจจุบัน) จึงยอมเป็นเมืองในอารักขาของราชสำนักถัง กลายเป็นเขตปกครองพิเศษอย่างเช่น เขตอันซี (Anxi Protectorate) ที่ขึ้นกับราชสำนักที่ฉางอาน

ราชวงศ์ถังช่วงต้นศตวรรษที่ 8 by Ian Kiu, CC by SA 3.0

อิทธิพลของราชสำนักถังในเอเชียกลางจึงถือว่ายิ่งใหญ่มาก แต่อันที่จริงแล้วราชสำนักถังไม่ได้ปกครองดินแดนเหล่านี้โดยตรง เพียงแต่มีกำลังทหารบางส่วนที่คอยรักษาการความสงบ และคอยจัดการว่าเมืองเหล่านี้อยู่ในการควบคุมเท่านั้น

ถ้าเทียบกับอาณาจักรถังแล้วแอบบาซิดถือว่าเป็นอาณาจักรที่ใหม่มาก เพราะเพิ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.750 หรือแค่ปีเดียวก่อนเกิดยุทธการที่ทัลลัสเท่านั้นเอง จริงๆ แล้ว แอบบาซิดเพิ่งจะมีชัยเหนืออาณาจักรอูเมยัด (Umayyad) ที่ปกครองตะวันออกกลางมานับศตวรรษอยู่เพียงไม่กี่เดือน เสถียรภาพและความมั่นคงจึงไม่อาจเปรียบได้กับราชวงศ์ถังที่ตั้งมาร้อยกว่าปีแล้ว ณ เวลานั้นได้เลย

ความขัดแย้ง

สาเหตุของการต่อสู้ไม่มีอะไรมากกว่าการที่สองอาณาจักรแผ่อำนาจเข้ามาในเอเชียกลางแล้วเข้ามาเผชิญหน้ากัน

แอบบาซิดที่เพิ่งจะเอาชนะอาณาจักรอูเมยัดได้ใหม่ๆ จึงต้องการเข้าควบคุมเมืองในเอเชียกลางที่เคยขึ้นกับอูเมยัด ขณะที่ฝ่ายถังเองก็ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลของตนออกไปให้ไกลที่สุด

ในช่วงต้นปี ค.ศ.751 หลัุงจากเกิดความขัดแย้งระหว่างเฟอร์กานา (บ้านเกิดของบาเบอร์ แต่ในเวลานั้นขึ้นอยู่กับราชวงศ์ถัง) และทัชเคนท์ (Tashkent, ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศอุซเบกิสถาน) กองทัพถังภายใต้ได้เข้าตีพิชิตเมืองทัชเคนท์ได้สำเร็จ แต่เมืองนี้ขึ้นอยู่กับแอบบาซิดจึงทำให้ฝั่งแอบบาซิดยอมไม่ได้ กองทัพขนาดใหญ่จึงถูกระดมพลอย่างรวดเร็วเพื่อมาต่อสู้กับกองทัพถัง

กำลังของแอบบาซิดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีเท่าไร หลักฐานจีนว่าประเมินว่ามากถึง 200,000 คน ส่วนฝ่ายถังนั้น แอบบาซิดว่า 100,000 คน ส่วนฝั่งจีนว่าฝ่ายถังมีทหารเพียง 10,000 คน และมีทหารรับจ้างชาวเติร์กอีกประมาณ 20,000 คน

เนื่องจากหลักฐานจีนที่เขียนถึงยุทธการครั้งนี้ร่วมสมัยกว่าฝั่งอาหรับ ผมจึงขออนุมานว่าหลักฐานจีนน่าจะแม่นยำกว่า และเชื่อว่ากำลังของฝ่ายแอบบาซิดน่าจะมากกว่าพอสมควร แต่กองทัพแอบบาซิดไม่น่าจะมากถึง 200,000 คนเพราะในเวลานั้นแอบบาซิดเพิ่งจะชนะสงครามกลางเมือง ดังนั้นต้องใช้กำลังควบคุมดูแลส่วนอื่นของอาณาจักรด้วย ตัวเลข 200,000 คนจึงเป็นตัวเลือกที่ดูน่าจะมากไปเสียหน่อย ผมมองว่าตัวเลข 60,000-100,000 คนน่าจะสมเหตุสมผลกว่า

ขณะที่ฝ่ายถังน่าจะอยู่ที่ 30,000-40,000 คน เพราะตัวสมรภูมินั้นอยู่ลึกเข้าไปในเอเชียกลาง ซึ่งห่างไกลจากจีนหลายพันกิโลเมตร ผมจึงมองว่ากำลัง 100,000 คนน่าจะมากเกินไป กำลังส่วนนี้น่าจะรวมกำลังของเมืองต่างๆ ที่อยู่ในการควบคุมไปแล้วเช่นกัน

การรบ

ทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่ใกล้กับแม่น้ำทาลัส (ส่วนหนึ่งของประเทศคีร์กิซสถานในปัจจุบัน) อย่างไรก็ดีบ้างก็ว่าปะทะกันที่เมืองทาราซ (Taraz) ที่อยู่ในเขตประเทศคาซัคสถานเลยทีเดียว

แม่น้ำทาลัส จุดที่เชื่อกันว่าทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน by Thermokand, Public Domain

รายละเอียดของการสู้รบนั้นมีน้อยมาก หรืออาจจะพูดได้ว่าไม่มีเลยดีกว่า พงศาวดารอธิบายแค่เพียงว่าทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างหนัก และยังไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะ แต่จู่ๆ ทหารรับจ้างชาวเติร์กที่มีมากถึง 2 ใน 3 ของกองทัพถังทั้งหมดกลับไปเข้ากับแอบบาซิด และเข้าโจมตีกองทัพถังจากด้านข้าง

ด้วยสาเหตุนี้กองทัพถังจึงแตกกระจัดกระจาย เพราะไม่สามารถต้านทานกำลังมหาศาลของฝ่ายศัตรูได้อยู่ หลักฐานจีนว่าจากหนึ่งหมื่นคน ทหารถังเหลือเพียง 2,500 นายเท่านั้น แต่แม่ทัพถังก็ยังสร้างความเสียหายให้กับกองทัพของแอบบาซิดอย่างมากมาย

นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมแอบบาซิดจึงไม่เข้าโจมตีหัวเมืองที่ขึ้นกับฝ่ายถังต่อจากนั้น และเลือกที่จะถอนกำลังออกไปแทน

อย่างไรก็ดีอาจจะเพราะว่าแอบบาซิดเองก็ไม่มั่นคง การรุกรานหัวเมืองที่ขึ้นกับฝ่ายถังอาจจะทำให้อีกฝ่ายส่งกองทัพที่ใหญ่กว่าเดิมเข้ามาได้ อัลแซฟฟา กาหลิบแห่งแอบบาซิดจึงสั่งให้ยกเลิกการโจมตี และถอยทัพกลับเปอร์เซียนั่นเอง

ผลของการต่อสู้

หลักฐานอาหรับให้ข้อมูลว่าจับเชลยศึกจีนได้เป็นจำนวนมาก นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเชลยศึกเหล่านี้น่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำกระดาษให้กับโลกมุสลิม และทำให้อาณาจักรมุสลิมต่างๆ ยกเลิกการใช้ปาปิรัส และเปลี่ยนไปใช้กระดาษแทนในที่สุด

หนึ่งในผลของสงครามที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือ ความพ่ายแพ้ของฝ่ายถังทำให้อำนาจของราชสำนักถังในเอเชียกลางจบลงหรือไม่

คำตอบก็คือยุทธการได้ทำให้การแผ่อำนาจเผชิญกับกำแพง แต่การแผ่อำนาจก็ยังคงดำเนินต่อไปอยู่ดี ฝ่ายถังยังคงอำนาจอยู่ในเอเชียกลางและเส้นทางสายไหมต่อไปเช่นเดิม สองปีต่อมาทัชเคนท์กลับยอมเป็นเมืองในอารักขาของราชวงศ์ถังโดยละม่อมเสียอย่างนั้น

สาเหตุที่ทำให้ราชวงศ์ถังหมดอำนาจในเอเชียกลางอย่างแท้จริงคือกบฎอันลู่ซาน เพราะต้องนำกำลังทั้งหมดไปปราบกบฏซึ่งยืดเยื้อยาวนานเกือบสิบปี ดินแดนในเอเชียกลางจึงตกไปอยู่ในกำมือของอาณาจักรใกล้เคียงอย่างทิเบตและอุยกูร์

ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองอาณาจักรถังและแอบบาซิดกลับเป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่กี่ปีต่อมาหลังจากยุทธการที่ทัลลัส ฝ่ายแอบบาซิดกลับริเริ่มเจริญสัมพันธไมตรีกับฝ่ายถังด้วยการส่งทูตไปยังฉางอานหลายครั้ง และน่าจะตกลงกันเรื่องการขยายอำนาจและเขตแดนกันได้

หลังจากนั้นทั้งสองจักรวรรดิจึงกลายเป็นพันธมิตรกัน ถึงขนาดที่กาหลิบแห่งแอบบาซิดได้ส่งกองทัพสองหมื่นคนมาช่วยปราบปรามกบฏอันลู่ซานด้วย หลังจากเสร็จศึก ฮ่องเต้ถังจึงให้พวกเขาอาศัยอยู่ในดินแดนหนิงเซี่ย และชนรุ่นหลังของทหารเหล่านี้ยังอาศัยอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ หนิงเซี่ยจึงเป็นมณฑลที่มีสัดส่วนชาวมุสลิมมากที่สุดแห่งหนึ่งในจีน

ส่วนฝ่ายถังเองก็ตอบสนองด้วยการปฏิเสธการส่งกองทัพไปช่วยเมืองต่างๆในเอเชียกลางที่ต่อสู้หรือแข็งข้อกับแอบบาซิดตลอดมา ทำให้เชื่อได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองอาณาจักรน่าจะแน่นแฟ้นในระดับหนึ่ง

เหล่าเชลยศึกจีนจากทัลลัสจึงได้มีโอกาสเดินทางกลับจีนในไม่อีกกี่ปีต่อมาหลังสงคราม หนึ่งในนั้นคือตู้หวน ผู้ที่เขียนบรรยายดินแดนต่างๆ ในอาณาจักรแอบบาซิดอย่างเช่นแอฟริกาตอนเหนือไว้อย่างละเอียด น่าเสียดายที่ผลงานของเขาไม่ได้ตกทอดถึงปัจจุบัน มีแต่เพียงส่วนน้อยที่ถูกอ้างถึงในพงศาวดารฉบับอื่นๆ เท่านั้น

นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่าตู้หวนบรรยายอาณาจักรแอบบาซิดในแง่บวกอย่างมาก ดังนั้นเขาและเชลยศึกจีนน่าจะได้รับการปฏิบัติจากชาวอาหรับอย่างดีเลยทีเดียว

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!