ประวัติศาสตร์รัสเซียมี "มหาราช" กี่พระองค์ แต่ละพระองค์มีผลงานอะไรบ้าง

รัสเซียมี “มหาราช” กี่พระองค์ แต่ละพระองค์มีผลงานอะไรบ้าง

ประเทศรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตลอดประวัติศาสตร์ของรัสเซียมีกษัตริย์หรือจักรพรรดิทั้งหมด 3 พระองค์ แต่ละพระองค์ล้วนแต่มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้รัสเซียพัฒนาเป็นมหาอำนาจของโลก สืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้

เรามาดูกันดีกว่า “มหาราช” ของรัสเซียมีใครบ้าง

หมายเหตุ: เนื่องจากอาณาจักรคีฟสกา รุส (Kievan Rus) เป็นอาณาจักรร่วมของชาวสลาฟตะวันออก หรือ ชาวรัสเซีย เบลารุส ยูเครน ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าคีฟสกา รุส ยังไม่ใช่อาณาจักรของชาวรัสเซีย 100% ผมจึงขอไม่นับรวมมหาราชของคีฟสกา รุส ใส่ไว้ในที่นี้ด้วย

อีวานมหาราช

อีวานมหาราช (Ivan the Great) หรือ อีวานที่ 3 (Ivan III) เป็นแกรนด์คเนียสแห่งมอสโกผู้ยิ่งใหญ่

อีวานมหาราช By Дар Ветер – Own work, CC BY-SA 3.0,

ตลอดเวลา 43 ปีที่อีวานนั่งบัลลังก์แกรนด์คเนียส แกรนด์ดัชชีแห่งมอสโกได้กลายเป็นมหาอำนาจในดินแดนรัสเซียแต่เพียงผู้เดียว อีวานได้ผนวกรัฐย่อยต่างๆ ที่แตกกระจายมาหลายร้อยปีนับตั้งแต่สมัยคีฟสกา รุส ให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งหนึ่ง รัฐที่เป็นเอกภาพและรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางจึงถือกำเนิดขึ้นมาในดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรก

อีวานยังทำลายความเข้มแข็งของนอฟโกรอด (Novgorod) อาณาจักรทางตอนเหนือที่คุกคามมอสโกไปอย่างราบคาบ ดินแดนภายใต้การปกครองของมอสโกจึงเพิ่มเป็นสามเท่าภายในเวลาเพียงสี่สิบปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดในรัชสมัยของอีวานคือ การทำให้รัสเซียพ้นจากการตกเป็นประเทศราช (vassal) ของอาณาจักรโกลเด้นฮอร์ดของชาวมองโกลอย่างเป็นทางการ อีวานได้ฉีกสาส์นของข่านมองโกลออกเป็นชิ้นๆ และขับไล่พวกมองโกลที่มาราวีออกไปได้สำเร็จในปี ค.ศ.1480

นอกจากนี้อีวานยังเล่นการเมืองอย่างชาญฉลาด โดยอีวานได้แต่งงานกับเจ้าหญิง Sophia Palaiologina หลานสาวของคอนสแตนตินที่ 11 จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ถูกพวกออตโตมันทำลายในปี ค.ศ.1453

การแต่งงานดังกล่าวทำให้สถานะของอีวานและมอสโกสูงขึ้นมาก ทำให้มอสโกและรัสเซียในเวลาต่อมาสามารถอ้างได้ว่าเป็นผู้สืบทอดของอาณาจักรไบแซนไทน์ และเป็นผู้นำของชาวคริสต์ออโธดอกซ์ทั้งปวงด้วย หลังจากนั้นอีวานและแกรนด์คเนียสแห่งรัสเซียองค์ต่อมาจึงเริ่มใช้อินทรีสองหัวอันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ แสดงให้เห็นว่ามอสโกไม่ใช่แกรนด์ดัชชีเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว

ภายในดินแดนของมอสโก อีวานได้ปรับปรุงกฎหมายใหม่ให้ทันสมัย และซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของมอสโกให้กลับมาสวยงาม โดยเฉพาะในส่วนของเครมลิน นอกจากนี้อีวานได้เชื้อเชิญชาวต่างชาติต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถให้มาอาศัยอยู่ในมอสโก เพื่อถ่ายทอดความรู้ของเขาให้กับชาวรัสเซียด้วย

ดังนั้นเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อีวานมีคุณูปการยิ่งต่อชาวรัสเซีย ดินแดนแม่ของรัสเซียคงจะไม่เป็นหนึ่งเดียวถ้าปราศจากอีวาน อีวานได้สร้างพื้นฐานอันเข้มแข็งแก่แกรนด์ดัชชีแห่งมอสโกที่จะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในภายภาคหน้า

ปีเตอร์มหาราช

ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) หรือ ปีเตอร์ที่ 1 (Peter I) เป็นซาร์และจักรพรรดิของรัสเซียแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ปีเตอร์เป็นมหาราชที่มีชื่อเสียงที่สุดของรัสเซีย และมีบทบาทสำคัญมากในการทำให้รัสเซียเป็นมหาอำนาจของโลก

ปีเตอร์มหาราช

ปีเตอร์รับช่วงเป็นซาร์ในเวลาที่ยากลำบาก ปีเตอร์ต้องแย่งชิงบัลลังก์กับพี่สาวต่างมารดาของตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และสามารถเอาชัยชนะได้ในที่สุด

ในฐานะซาร์ ปีเตอร์มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลอย่างที่ยากจะหาใครมาเปรียบได้ ปีเตอร์ตระหนักว่ารัสเซียล้าหลังและอ่อนแอ และต้องการปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วน การปฏิรูปของปีเตอร์จึงเริ่มต้นขึ้นทันทีหลังจากที่ปีเตอร์มีอำนาจเด็ดขาด และดำเนินไปโดยอย่างเต็มกำลัง

ปีเตอร์ได้ปฏิรูปรัสเซียในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านการทหาร เศรษฐกิจ การค้า เกษตรกรรม การศึกษา ศาสนา และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าจะกล่าวถึงสิ่งที่ปีเตอร์ทำและริเริ่มแล้ว คงจะต้องเขียนเป็นหนังสือเล่มใหญ่ๆ ที่ยาวหลายร้อยหน้า ปัจจุบันองค์กรของรัฐและสถานศึกษาของรัสเซียจำนวนมากล้วนมีที่มาย้อนไปถึงสมัยของปีเตอร์ทั้งสิ้น

นอกจากนี้การปฏิรูปของปีเตอร์ไม่ใช่ว่าทำแล้วล้มเหลวเหมือนกับหลายประเทศ การปฏิรูปของปีเตอร์ทำให้รัสเซียมีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น เศรษฐกิจและการค้าก้าวกระโดด ชาวรัสเซียได้รับการศึกษามากขึ้น กองทัพสมัยใหม่ที่แข็งแกร่งและได้รับการฝึกแบบตะวันตกได้ถือกำเนิดขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ปีเตอร์สามารถเอาชนะสวีเดน คู่ปรับและศัตรูที่สำคัญที่สร้างปัญหาให้กับรัสเซียมานานหลายร้อยปีได้อย่างเด็ดขาดในสงคราม Great Northern War ชัยชนะของปีเตอร์ทำให้สวีเดนสิ้นสุดการเป็นมหาอำนาจไปโดยถาวร รัสเซียได้ดินแดนที่สูญเสียไปอย่างชายฝั่งทะเลบอลติกกลับคืนมา

ปีเตอร์ได้สร้างเมืองหลวงใหม่ตั้งชื่อว่า เซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก (Saint Petersburg) เมืองหลวงใหม่ทำให้รัสเซียมีทางออกทะเลบอลติก การค้าและการติดต่อกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปเฟื่องฟูไปอย่างรวดเร็ว

ความสำเร็จของปีเตอร์ทำให้รัสเซียเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ปีเตอร์ได้ยกสถานะของรัสเซียเป็นจักรวรรดิในปี ค.ศ.1721 ทำให้จักรวรรดิรัสเซียเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้น

ผลงานอันมากมายของปีเตอร์ทำให้เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมปีเตอร์ถึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นมหาราชของรัสเซีย

แคทเทอรีนมหาราช

แคทเทอรีนมหาราช (Catherine the Great) หรือ แคทเทอรีนที่ 2 (Catherine II) เป็นซาริซาและจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย แคทเทอรีนมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ของรัสเซีย และเป็นมหาราชของรัสเซียพระองค์เดียวที่เป็นหญิง

แคทเทอรีนมหาราช

ในทางทฤษฎีและปฏิบัติ แคทเทอรีนไม่ได้เป็นชาวรัสเซียเลยสักนิดเดียว เธอเคยเป็นเจ้าหญิงเยอรมันแห่ง Anhalt-Zerbest และมีนามว่า Sophie มาก่อน แต่เมื่อเธอได้แต่งงานกับเซซาร์เรวิชปีเตอร์ เธอจึงเปลี่ยนชื่อเป็นแคทเทอรีน และเปลี่ยนศาสนามาเป็นนิกายรัสเซียนออโธดอกซ์

แคทเทอรีนเป็นหญิงสาวที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เธอปรับตัวให้เข้ากับราชสำนักรัสเซียได้อย่างรวดเร็ว และเรียนภาษารัสเซียจนใช้มันได้อย่างคล่องแคล่ว

เมื่อปีเตอร์ที่ 3 สามีของเธอขึ้นเป็นซาร์ แคทเทอรีนจึงได้ขึ้นเป็นซาริซา แต่ความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างปีเตอร์ฝ่ายหนึ่งกับแคทเทอรีนและทหารองครักษ์หลายๆ กลุ่มอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้พวกทหารสนับสนุนแคทเทอรีนในการก่อรัฐประหารและถอดปีเตอร์ออกจากตำแหน่ง แคทเทอรีนจึงได้ขึ้นเป็นซาริซาและจักรพรรดินีของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

แคทเทอรีนได้เริ่มต้นการปฏิรูปประเทศรัสเซียดังเช่นปีเตอร์มหาราชเคยทำมาครั้งแต่ก่อน เธอปฏฺิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เกิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรัสเซีย และยังสนับสนุนการย้ายถิ่นของชาวบ้านไปสู่ที่รกร้างในดินแดนอันกว้างใหญ่ของจักรวรรดิ ทำให้เกิดเมืองใหม่ๆ ขึ้นมามากมายด้วย นอกจากนี้เธอยังมอบหมายให้ธนาคารเริ่มออกธนบัตรออกมาใช้เป็นครั้งแรกในรัสเซีย

ในด้านการปกครอง แคทเทอรีนปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นจังหวัด และออกกฎหมายมากมายที่ปรับปรุงให้สังคมรัสเซียทันสมัยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เธอเปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาแบบตะวันตกหลายแห่งเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับคนรัสเซีย โดยเฉพาะเหล่าสตรี ในช่วงเวลานี้เองที่สถาบัน Smolny ที่เป็นสถาบันสอนหญิงแห่งแรกได้ถือกำเนิดขึ้น

ตัวแคทเทอรีนเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของการศึกษามาก เธอสนใจในแนวคิด enlightenment และเปิดกว้างกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ด้วย เธอเชื้อเชิญนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกมากมายเข้ามาที่เซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเพื่อพัฒนาการศึกษาในรัสเซีย แคทเทอรีนตัดสินใจเข้ารับการปลูกฝีด้วยตนเองเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษ และให้หลังจากที่เธอทดลองแล้วพบว่าไม่มีอันตราย เธอจึงให้แพทย์ปลูกฝีให้กับชาวรัสเซียทั้งมวล ทำให้โรคที่เคยคร่าชีวิตดังกล่าวคร่าชีวิตชาวรัสเซียน้อยลงไปมาก

แคทเทอรีนสนใจศิลปะและวัฒนธรรมมาก เธอได้ซื้อภาพเขียนมากมายมาจากศิลปินชั้นยอดของยุโรป ปัจจุบันผลงานทางศิลปะมากมายที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Hermitage เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่แคทเทอรีนซื้อมาในอดีต

ผลงานที่สำคัญที่สุดของแคทเทอรีนคือ ในรัชกาลของเธอ รัสเซียสามารถทำลายอาณาจักรโปลิช-ลิทัวเนีย และรัฐข่านแห่งไครเมีย (Crimean Khanate) ศัตรูทั้งสองที่เคยรุกรานรัสเซียและสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงได้อย่างราบคาบ ดินแดนของอาณาจักรทั้งสองได้ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ทำให้ชาวรัสเซียไม่ต้องหวาดกลัวจากการรุกรานอีกต่อไป

ตลอดรัชสมัยของเธอ รัสเซียเป็นมหาอำนาจของยุโรปที่ทุกประเทศหวั่นเกรง ความเข้มแข็งของรัสเซียที่แคทเทอรีนพัฒนาขึ้นมีส่วนสำคัญทำให้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 สามารถต้านทานการรุกรานของนโปเลียนได้ในเวลาต่อมา

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!