ประวัติศาสตร์วาระสุดท้ายของคีฟสกา รุส อาณาจักรเก่าแก่ของรัสเซีย

วาระสุดท้ายของคีฟสกา รุส อาณาจักรเก่าแก่ของรัสเซีย

ในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซียนั้น อาณาจักรเก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์คือ อาณาจักรคีฟสกา รุส (Киевская Русь) หรือในภาษาอังกฤษว่า Kievan Rus นอกจากชาวรัสเซียแล้ว ชาวสลาฟตะวันออกอย่างชาวยูเครน และชาวเบลารุสต่างถือว่าชาวรุสแห่ง คีฟสกา รุสเป็นบรรพบุรุษของตนด้วยเช่นกัน

คีฟสกา รุสรุ่งเรืองอยู่นานหลายร้อยปีในช่วงศตวรรษที่ 9-13 และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวรัสเซียเริ่มนับถือศาสนาคริสต์ด้วย แต่สุดท้ายอาณาจักรแห่งนี้ก็สูญสิ้นไป

เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น?

คีฟสกา รุส ในสภาพที่แตกเป็นหลายแคว้นภายใน

เสื่อมโทรม

ความเสื่อมโทรมของ คีฟสกา รุส เริ่มมาตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 11 แล้ว

สาเหตุก็คือ ปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติ ไม่ต่างอะไรกับอาณาจักรอื่นๆ ในยุโรป เอเชีย หรือแม้กระทั่ง อินคา

หลังจากที่แกรนด์คเนียสยาโรสลาฟผู้ชาญฉลาด (Yaroslav the Wise) สวรรคต คีฟสกา รุส ถูกแบ่งเป็นห้าส่วนเพื่อมอบให้กับบุตรชายห้าคน

แต่ทว่าการแบ่งไม่ใช่การแบ่งธรรมดา แต่เป็นแบ่งที่ซับซ้อนมาก ดังต่อไปนี้

เมืองทั้งหมดถูกแบ่งเป็นห้าส่วน

  1. Kiev และ Novgorod
  2. Chernigov
  3. Ryazan
  4. Murom และ Tmutarakan
  5. Perayaslavl และ Rostov

รัชทายาทผู้เป็นแกรนด์คเนียสจะครองเมืองในหมายเลข 1 ตามมาด้วยผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ ระดับที่ 2-5 ตามลำดับ การแบ่งนี้ไม่ได้สิทธิ์ขาด เมืองลำดับ 2-5 ยังอยู่ภายใต้อำนาจของหมายเลข 1

สำหรับผู้มีสิทธิ์บัลลังก์ เรียงดังต่อไปนี้

  1. พี่ชายคนโตผู้เป็นแกรนด์คเนียส
  2. น้องชายทุกคนของพี่ชายคนโต (เรียงตามลำดับอายุ)
  3. ลูกชายของพี่ชายคนโต (เรียงตามลำดับอายุ)
  4. ลูกชายของน้องชายทุกคน (เรียนตามลำดับศักดิ์และอายุ)
  5. หลานและอื่นๆ

ในบรรดาผู้มีสิทธิ์บัลลังก์ ผู้มีศักดิ์สูงสุดลำดับที่ 1-5 จะได้ครองเมืองที่แบ่งไว้แล้วด้านบน และเมื่อแกรนด์คเนียสสวรรคต ทุกคนจะต้องสลับเปลี่ยนเมืองที่ครอบครองด้วย นั่นแปลว่าเมื่อผู้ที่มีสิทธิ์ลำดับ 2 ที่เคยครอง Chernigov ได้เป็นแกรนด์คเนียส ผู้มีสิทธิ์ลำดับ 3 จะต้องย้ายจาก Ryazan มาครอง Chernigov

แต่ทว่ายังไม่จบเพียงเท่านั้น ถ้าผู้มีสิทธิ์ไม่เคยไปถึงเมืองที่เขาปกครองเลย เพราะสิ้นชีวิตลงก่อน บุตรหลานของเขาจะถูกตัดสิทธิ์จากกองมรดกทั้งหมดทันที

กฎสืบบัลลังก์นี้สร้างความปั่นป่วนให้กับ คีฟสกา รุสมากเพราะเหล่าเจ้าชายที่ทะเยอทะยานแต่มีสิทธิ์ต่ำ มักจะหาเหตุสังหารผู้มีสิทธิ์สูงก่อนที่จะได้ไปครองเมือง เพื่อที่สายดังกล่าวจะได้ถูกตัดออกจากสิทธิในการครอบครองบัลลังก์ทั้งหมด

นอกจากนี้กฎข้อนี้ยังทำให้สายตระกูลต่างๆเป็นอริกันโดยเปิดเผย บางครั้งถึงกับใช้สงครามเป็นวิธีการตัดสินความขัดแย้ง การต่อสู้นี้บางทีสืบทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้อาณาจักรมีสงครามกลางเมืองอยู่เกือบตลอด

ความวุ่นวายนี้รุนแรงขึ้นหลังจากที่ วลาดิเมียร์ที่ 2 ได้บัลลังก์โดยข้ามผู้มีสิทธิ์ในบัลลังก์เหนือกว่าไป ทำให้เกิดสงครามและความวุ่นวายใหญ่โตในคีฟสกา รุส วลาดิเมียร์จึงเสนอให้ตั้งแต่บัดนั้นเจ้าชายในแต่ละสายมีสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนของตนเองโดยไม่ต้องสลับสับเปลี่ยนอีกต่อไป

ความวุ่นวายใน คีฟสกา รุสจึงจบลง แต่ข้อเสนอของวลาดิเมียร์ทำให้ คีฟสกา รุส เป็นอาณาจักรซ้อนอาณาจักร เมืองหรือแคว้นทั้งหลายต่างมีผู้ปกครองเป็นของตนเอง (คล้ายกับจีนในยุคชุนชิว)

แม้แกรนด์คเนียสแห่งเคียฟจะยังเป็นประมุขร่วมของทุกแว่นแคว้น แต่ก็เป็นได้เพียงในนามเท่านั้น แกรนด์คเนียสแห่งเคียฟไม่สามารถควบคุมเหล่าเจ้าชายที่ปกครองในเมืองต่างๆ ได้อีกต่อไป

ในศตวรรษที่ 12 คีฟสกา รุส แตกออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ภายในมากกว่าสิบแคว้น และประกอบด้วย 9 ราชวงศ์ แม้จะมีเชื้อสายราชวงศ์รูริคเหมือนกัน แต่ว่าทุกสายต่างถือว่าสายอื่นไม่ได้ร่วมสกุลกันอีกต่อไปแล้ว ภายใน คีฟสกา รุสจึงมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงอำนาจและดินแดน

กรุงเคียฟ เมืองหลวงของอาณาจักรถูกผู้รุกรานจากวลาดิเมียร์ (ปัจจุบันคือหนึ่งในเมือง Golden Ring) หนึ่งในแคว้นของ คีฟสกา รุสเองตีแตกในปี ค.ศ.1169 มันแสดงให้เห็นว่าอำนาจของแกรนด์คเนียสแห่งเคียฟได้หมดสิ้นไปแล้ว

หลังจากนั้น คีฟสกา รุสยิ่งแตกแขนงออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ จำนวน 12 แคว้น แต่ละแคว้นไม่ขึ้นต่อกัน บางแคว้นถึงกับขับไล่ปกครองออกไป และเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐเช่น นอฟโกรอด (Novgorod) เป็นต้น

ในปี ค.ศ.1204 กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกพวกนักรบครูเสดปล้นสะดม เหตุการณ์นี้มีส่วนสำคัญทำให้ คีฟสกา รุส อ่อนแอลงไปอีก เพราะคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองท่าสำคัญที่ค้าขายกับ คีฟสกา รุสมาโดยตลอด รายได้ของแคว้นต่างๆ จึงหดตัวไปทั้งหมด

ปัญหาการทางเมืองและเศรษฐกิจอันเรื้อรัง ทำให้ คีฟสกา รุสแทบจะสิ้นชื่ออยู่แล้ว จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 13 ที่มัจจุราชที่แท้จริงได้เดินทางมาเอาชีวิตของ คีฟสกา รุส

มองโกลมาถึง

พวกมองโกลได้รุกรานเปอร์เซียและเอเชียกลางในช่วงกลางศตวรรษที่ 13 ในปี ค.ศ.1223 กองทัพของสุบูไต (Subutai) แม่ทัพผู้เก่งกล้าของชาวมองโกลก็เข้ามาใกล้ คีฟสกา รุส

พวกชนเผ่าคูแมนส์ (Cumans) ที่เคยรุกรานกลับเป็นผู้แจ้งข่าวดังกล่าวให้กับ คีฟสกา รุส เพราะต้องการขอกำลังสนับสนุน พวกคูแมนส์บอกสติสลาฟ (Mstislav) แกรนด์คเนียสแห่ง คีฟสกา รุสว่าถ้าชาวรุสไม่ช่วยพวกเขา ชาวรุสเองก็จะโดนพวกมองโกลรุกรานในไม่ช้า

ผู้เขียนจดหมายเหตุ Chronicle of Novgorod บันทึกไว้ว่าชาวรุสต่างตื่นตระหนกเพราะไม่ทราบว่ากองทัพมองโกลคือพวกไหนและมาจากที่ใด แต่สติสลาฟตัดสินใจส่งกองทัพกองหนึ่งยกไปช่วยพวกคูแมนส์ต่อต้านพวกมองโกล กองทัพรุสนี้เป็นกองทัพใหญ่เพราะแว่นแคว้นเกือบทั้งหมดในคีฟสกา รุส ล้วนแต่ส่งกำลังเข้าช่วยรบ

ในปี ค.ศ.1223 กองทัพพันธมิตรรุส-คูมันปะทะกับกองทัพมองโกลที่แม่น้ำ Kalka การสู้รบดำเนินไปอย่างรุนแรง แต่ฝ่ายรุสกลับเป็นฝ่ายเสียท่าและพ่ายแพ้ยับเยิน ทหารรุสที่ไปรบ 10 คน เหลือกลับมายังดินแดนรุสเพียงคนเดียวเท่านั้น สติสลาฟฝ่าวงล้อมกองทัพมองโกลออกมาได้อย่างหวุดหวิด ส่วนเจ้าชายแห่งแว่นแคว้นและชนชั้นสูงจำนวนมากถูกจับกุมและประหารชีวิตโดยพวกมองโกล

โชคเป็นของชาวรุสที่กองทัพมองโกลถูกเรียกกลับไปดินแดนแม่ทั้งหมด คีฟสกา รุสจึงรอดพ้นภัยพิบัติครั้งดังกล่าวไปได้

แต่แล้วสิบกว่าปีต่อมา กองทัพมองโกลก็กลับมาอีกครั้ง

สิ้นคีฟสกา รุส

ในปลายปี ค.ศ.1236 กองทัพมองโกลขนาดใหญ่ของบาตูข่านและสุบูไตได้หวนกลับมา บาตูข่านทำลายล้างพวกคูแมนส์จนยับเยิน และยังทัพเข้าตีเมืองต่างๆในอาณาจักรคีฟสกา รุส

ในปี ค.ศ.1237 กองทัพมองโกลเข้าตี Ryazan จนแตกยับเยิน และเข้าตีกองทัพรุสที่มาสกัดกั้นจนแตกยับ กองทัพมองโกลเผาทำลายเมืองอย่าง Kolomna และ Moscow (ในเวลานั้นยังเป็นเมืองเล็กๆ) จนแตกยับ และเข้าประชิดเมืองวลาดิเมียร์ เมืองหลวงของนครรัฐวลาดิเมียร์-ซูสดัล สามวันต่อมากองทัพมองโกลก็เข้าเมืองได้ และเผาทำลายเมืองจนย่อยยับ

บาตูข่านทำลายเมือง Suzdal

กองทัพรุสกองเล่ากองเล่าที่ส่งไปถูกทำลายสิ้น ยูริที่ 2 (Yuri II) แกรนด์คเนียสแห่งวลาดิเมียร์พยายามจะต่อต้านกองทัพมองโกลที่แม่น้ำ Sit แต่กลับถูกกองทัพมองโกลตีแตกยับ ตัวยูริพลีชีพลงกลางสมรภูมิอย่างกล้าหาญ

ความพ่ายแพ้ของยูริทำให้กองทัพกองสุดท้ายที่พอจะต้านทานพวกมองโกลได้มลายหายไป บาตูข่านจึงให้กองทัพมองโกลแยกกันเป็นกองย่อย และนำอาวุธที่ใช้เข้าตีเมืองของชาวจีนไปด้วย ภายในเวลาไม่นาน พวกมองโกลตีหัวเมืองรุสได้อย่างรวดเร็วถึง 14 เมือง เพราะกำแพงของชาวรุสไม่มีประโยชน์ใดๆ เมื่อต้องเผชิญกับอาวุธอันล้ำสมัยจากจีน

เมืองที่รอดพ้นการทำลายของพวกมองโกลคือนอฟโกรอด (Novgorod) และสคอฟ (Pskov) เพราะทั้งสองเมืองยอมจำนนโดยปราศจากการต่อต้าน

บาตูข่านใช้เวลาจัดการกับหัวเมืองรุสอยู่นานนับปี และได้เข้ารุกรานไครเมียและมอลดาเวียด้วย ในปี ค.ศ.1240 หัวเมืองรุสทั้งหมดแทบจะถูกทำลายหรือยึดครองโดยพวกมองโกลทั้งหมดแล้ว เมืองที่คีฟสกา รุส เหลืออยู่จึงมีแค่เคียฟเมืองเดียวเท่านั้น

กองทัพมองโกลมาถึงเคียฟและสัมผัสได้ถึงความสวยงาม เหมิงเก๋อ (พี่ชายของกุบไลข่าน) ที่นำกองทัพมาถึงได้เสนอให้เคียฟยอมจำนน แต่ภายในเมืองกลับปฏิเสธ และสังหารทูตมองโกลด้วย การโจมตีเคียฟอย่างรุนแรงจึงเริ่มต้นขึ้น กองทัพมองโกลใช้เครื่องยิงต่างๆ ยิงถล่มเมืองอย่างบ้าคลั่ง แต่ภายในเมืองต่อสู้ป้องกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้เมืองยังไม่แตก

ช่วงเวลานั้นมีกองทัพหัวเมืองรุสยกมาช่วยเคียฟ แต่กลับถูกตีแตกยับเยินทุกกอง ทำให้เคียฟถูกตัดออกจากโลกภายนอก และไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้อีกแล้ว

พวกมองโกลทำลายเคียฟ

ท้ายที่สุดเคียฟถูกพวกมองโกลตีแตกในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ.1240 ภายในเมืองถูกทำลายยับเยิน ผู้คนที่เคยมีมากกว่า 50,000 คนในเมืองถูกสังหารเรียบ เหลือเพียง 2,000 คนเท่านั้น

การพังพินาศของเคียฟเท่ากับว่าอาณาจักรคีฟสกา รุสได้กลายเป็นอดีตไปโดยสมบูรณ์ พวกแว่นแคว้นต่างๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของคีฟสกา รุส ยอมเป็นรัฐบริวารของอาณาจักรมองโกลนานถึงสองร้อยกว่าปี จนกระทั่งมอสโกได้เรืองอำนาจขึ้นมา และปลดแอกชาวรุสทั้งปวงให้พ้นจากพวกมองโกลได้ในที่สุด

Sources:

The chronicle of Novgorod, 1016-1471

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!