ประวัติศาสตร์การต่อสู้กับความล้าหลังในรัสเซียของซาร์ปีเตอร์มหาราช

การต่อสู้กับความล้าหลังในรัสเซียของซาร์ปีเตอร์มหาราช

ซาร์ปีเตอร์มหาราชทรงเป็นซาร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาราชของรัสเซีย พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปฏิรูปรัสเซียให้พ้นจากความล้าหลัง ภายในเวลาเพียงสามสิบปี ปีเตอร์เปลี่ยนรัสเซียให้กลายเป็นมหาอำนาจของยุโรป ในการทำภารกิจดังกล่าวให้เป็นจริง ปีเตอร์ต้องเผชิญกับการต่อต้านมากมาย แต่ไม่มีสิ่งใดใครที่เอาชนะความมุ่งมั่นและบ้าระห่ำของพระองค์ได้

ซาร์ปีเตอร์มหาราช

ปูมหลัง

ปีเตอร์ต้องเผชิญกับการแย่งชิงอำนาจตั้งแต่วัยเด็ก พระองค์จำต้องแย่งชิงอำนาจกับซาร์เรฟนาโซเฟีย พี่สาวต่างมารดาของพระองค์เอง ปีเตอร์สามารถแย่งชิงอำนาจกลับมาได้ใน ปี ค.ศ.1689 เมื่ออำนาจของพระองค์มั่นคงแล้ว ซาร์หนุ่มวัย 17 ปีก็ทรงเริ่มต้นแนวทางการปฏิรูปที่พระองค์ดำริไว้ทันที

ตั้งแต่ปีเตอร์อายุได้เพียง 10 ขวบ ปีเตอร์สนใจในวิทยาการของชาวยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะการเดินเรือและการต่อเรือ ปีเตอร์ปรารถนาที่จะให้รัสเซียครอบครองเมืองท่าที่สามารถค้าขายได้ตลอดปีบ้าง เพราะในขณะนั้นการค้าขายทางเรือของรัสเซียต้องหยุดชะงักเพราะเมืองท่าอย่าง Arkhangelsk อยู่ในเขตอาร์กติก ทำให้ในช่วงฤดูหนาวไม่สามารถค้าขายได้

ปีเตอร์มองดูทะเลบอลติก ความฝันของพระองค์คือการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่นี่

เมืองท่าที่ทะเลโดยรอบไม่แข็งในฤดูหนาวและอยู่ใกล้กับรัสเซียมากที่สุดคือ ดินแดนปากแม่น้ำเนวา (Neva) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กในปัจจุบัน แต่ ณ เวลานั้น ดินแดนดังกล่าวอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรสวีเดน หนึ่งในมหาอำนาจของยุโรปในยุคศตวรรษที่ 17 ถ้าปีเตอร์ต้องการดินแดนดังกล่าว ปีเตอร์ต้องใช้กำลังทหารมาชิงเอาไปเท่านั้น

ปีเตอร์ทรงทราบดีว่าการจะเอาชนะสวีเดนได้ รัสเซียต้องทำการปฏิรูปประเทศให้เข้มแข็ง กองทัพต้องเป็นกองทหารอาชีพที่ได้รับการฝึกฝนแบบยุโรป มิใช่เป็นกองทหารจับฉ่ายที่ไร้ประสิทธิภาพ สังคมและเศรษฐกิจของรัสเซียต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของประเทศในด้านต่างๆ รัสเซียจะได้ตื่นจากการหลับใหลอันยาวนานเสียที

ปีเตอร์ศึกษาเรียนรู้

ในปี ค.ศ.1697 ปีเตอร์ได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆในยุโรป เมื่อสรรหาพันธมิตรในการต่อสู้กับอาณาจักรออตโตมัน อีกประการหนึ่งปีเตอร์ต้องการจะเรียนรู้วิทยาการของพวกเขาด้วย และถ้ามีใครที่มีความสามารถ พระองค์ก็จะเชิญให้เข้ามารับราชการในราชสำนักรัสเซีย

ปีเตอร์ได้ปลอมตัวเป็นช่างต่อเรืออยู่ในอู่ต่อเรือชาวดัชต์อยู่นานนับเดือน เพื่อที่จะเรียนศาสตร์ดังกล่าว ช่วงเวลาที่ปีเตอร์อยู่ในยุโรป พระองค์ได้เรียนรู้ค่านิยมและธรรมเนียมตะวันตกมากมาย สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้ปีเตอร์ปฏิรูปรัสเซียในเวลาต่อมา

กำจัดทหารการเมือง

ในปี ค.ศ.1698 ระหว่างที่ปีเตอร์อยู่ในยุโรป พระองค์ได้รับทราบข่าวว่าพวกทหาร Streltsy ก่อกบฏขึ้นในเมืองมอสโก พระองค์รีบเสด็จกลับรัสเซียในทันที

ทหาร Streltsy เหล่านี้เป็นทหารรักษาพระองค์ที่มีประวัติย้อนไปถึงสมัยของซาร์อีวานผู้เลวร้าย แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกทหารเหล่านี้กลับมีอิทธิพลในการเมืองรัสเซีย พวก Streltsy เหล่านี้ใช้อำนาจบาตรใหญ่กดขี่ศัตรูทางการเมือง ในสมัยที่ปีเตอร์ยังเป็นเด็ก ปีเตอร์เคยเห็นพวกทหารเหล่านี้ลากญาติพี่น้องฝ่ายแม่ของพระองค์ไปสังหารมาแล้ว ความโกรธแค้นทหารเหล่านี้จึงมีอยู่ในใจปีเตอร์อย่างมาก

เมื่อได้อำนาจกลับคืน ปีเตอร์ไม่เคยไว้ใจทหารเหล่านี้เลย แต่ก็ยังไม่มีข้ออ้างจะจัดการทหารเหล่านี้ได้ ปีเตอร์จึงรวบรวมเหล่าเพื่อนที่เคยเล่นเกมสงครามกับพระองค์ตั้งแต่เด็กมาเป็นกองทัพรูปแบบใหม่ กองทัพนี้ได้รับการฝึกฝนแบบยุโรป และติดอาวุธอย่างยุโรป และทำหน้าที่เป็นกองทหารรักษาพระองค์เพื่อคานอำนาจกับพวก Streltsy

ปีเตอร์เคยส่งพวกทหาร Streltsy ไปสู้รบกับกองทัพออตโตมันในการช่วงชิงเมือง Azov ในทะเลดำ ผลที่ออกมาคือพวก Streltsy ต่อสู้อย่างหย่อนยาน ระเบียบวินัยก็ไม่มี เมื่อปีเตอร์ปรารถนาจะปฏิรูปประเทศ พวก Streltsy ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำการขัดขวาง เรื่องเหล่านี้ทำให้ปีเตอร์ไม่สบพระทัยยิ่งนัก

ปีเตอร์เตรียมการสังหารพวก Streltsy

ดังนั้นเมื่อพวก Streltsy ก่อกบฏ ปีเตอร์จะไม่ทนกับพวกทหารเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว พระองค์รีบเสด็จกลับมาอย่างเร่งด่วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขณะเดียวกันก็สั่งให้แพทริค กอร์ดอน แม่ทัพชาวสกอตนำกำลังทหารสี่พันคนเข้าโจมตีพวกกบฏ กองทหารเหล่านี้เป็นกองทัพใหม่ที่ปีเตอร์กำลังสร้างขึ้นมา ดังนั้นเมื่อปะทะกับพวก Streltsy ที่เก่งแต่การเมือง พวก Streltsy ก็แตกย่อยยับ

ปีเตอร์ที่กลับมาถึงมอสโกในภายหลังโปรดให้สังหารพวก Streltsy ที่เข้าร่วมการกบฏอย่างโหดเหี้ยม โดยรวมแล้วพวก Streltsy ถูกสังหารไปถึงพันกว่าคน และอีกจำนวนมากถูกส่งไปตัวไปยังไซบีเรีย ศัตรูสำคัญที่จะขัดขวางการปฏิรูปจึงสิ้นซากไป

การปฏิรูปสังคม

การกำจัดพวก Streltsy ทำให้ปีเตอร์มีอำนาจเต็มเปี่ยม ปีเตอร์เริ่มต้นการปฏิรูปรัสเซียอย่างขนานใหญ่ทันที ปีเตอร์จ้างที่ปรึกษาชาวตะวันตกจำนวนมากให้เข้ามารับราชการ ประกาศให้เหล่าขุนนางและข้าราชบริพารโกนหนวดเคราและสวมใส่เสื้อผ้าแบบตะวันตก ถ้าผู้ใดไม่ทำตามจะต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลในนามว่า ภาษีเครา (Beard Tax)

ต่อมาปีเตอร์ยังได้เปลี่ยนปฏิทินรัสเซียเป็นรูปแบบจูเลียน ส่วนปฏิทินแบบเดิมของรัสเซียนั้นให้เลิกเสีย เพื่อที่รัสเซียจะได้นับเวลาตรงกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป

สิ่งต่อไปที่ปีเตอร์ต้องการจะจัดการคือศาสนา รัสเซียเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมและคลั่งศาสนา ศรัทธาในศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ของชาวรัสเซียมีอยู่เต็มเปี่ยม ทำให้สถาบันศาสนากลายเป็นสถาบันที่ร่ำรวย ครอบครองที่ดินจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ ทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียเลย ศาสนจักรจึงเป็นแกนกลางสำคัญในการต่อต้านการปฏิรูปประเทศให้พ้นจากความล้าหลังของปีเตอร์

วิธีการควบคุมศาสนาของปีเตอร์คือ เมื่อพระสังฆราชา (Patriarch) สิ้นชีวิตลง ปีเตอร์ไม่ได้แต่งตั้งใครขึ้นมาแทนที่ ปีเตอร์เปลี่ยนโครงสร้างของการบริหารฝ่ายศาสนจักรเป็นรูปแบบสภาที่เรียกว่า Holy Synod โดยมีประธานสภาสูงสุดเป็นผู้ที่ปีเตอร์เลือกเอง

หลังจากนั้นศาสนจักรจึงอยู่ในมือปีเตอร์อย่างเด็ดขาด ปีเตอร์ได้ใช้อิทธิพลของศาสนจักรในการป้องกันไม่ให้ประชาชนชาวรัสเซียลุกฮือขึ้นต่อต้านการปฏิรูปและสงคราม รวมไปถึงยังใช้ที่ดินต่างๆของศาสนจักรเพื่อประโยชน์ของรัฐที่กำลังทำสงครามกับสวีเดนอยู่ด้วย ตั้งแต่บัดนั้นศาสนจักรจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิรูปประเทศของปีเตอร์อีกต่อไป

การปฏิรูปกองทัพและการศึกษา

ในปี ค.ศ.1700 ปีเตอร์ประกาศสงครามกับสวีเดน และประสบกับความพ่ายแพ้ยับเยินที่สมรภูมิแห่ง Narva กองทัพรัสเซียที่มีจำนวนเป็นสี่เท่าของสวีเดนกลับถูกตีแตกพ่ายเพราะความไร้ระเบียบวินัยของทหาร (โดยเฉพาะพวก Streltsy ที่เหลืออยู่) อาวุธและกลยุทธ์ที่ใช้ยังเป็นแบบโบราณ ปีเตอร์จึงเร่งสร้างกองทัพใหม่ของพระองค์ตามรูปแบบตะวันตก

ปีเตอร์ดำริว่ากองทัพที่ดีต้องสร้างขึ้นมาจากการศึกษาที่ดี อาทิเช่นกองทหารปืนใหญ่ต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อที่จะยิงปืนได้อย่างแม่นยำ การตั้งป้อมปราการต้องใช้หลักวิศวกรรม เช่นเดียวกับการต่อเรือ

ดังนั้นปีเตอร์โปรดให้ก่อตั้งวิทยาลัยการเดินเรือและคณิตศาสตร์ในปี ค.ศ.1701 ต่อมาก็โปรดให้ก่อตั้งวิทยาลัยการแพทย์ วิทยาลัยวิศวกรรม และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ ปีเตอร์ได้ใช้เงินจำนวนมากในการจ้างครูดีมีฝีมือจากยุโรปตะวันตกมาสอนที่วิทยาลัยเหล่านี้เพื่อหวังจะสร้างคนรัสเซียรุ่นใหม่ที่เก่งกาจ

ความปรารถนาอย่างหนึ่งของปีเตอร์คือการสร้างสังคมที่ทันสมัยเพื่อที่ลบล้างภาพลักษณ์ที่ว่าชาวรัสเซียล้าหลัง ปีเตอร์ริเริ่มให้มีหนังสือพิมพ์ของรัฐเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามพระองค์ในการเรียนรู้จากยุโรปตะวันตก พระองค์สนับสนุนให้ประชาชนเรียนรู้รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ

ปีเตอร์ไม่เกรงกลัวว่าปัญญาชนจะเป็นอันตรายต่ออำนาจของพระองค์ แต่มองว่าปัญญาชนเป็นประโยชน์อย่างมากของพัฒนาการของประเทศ ต่อมาปีเตอร์ได้ประกาศให้มีการศึกษาภาคบังคับ นักเรียนทุกคนที่เป็นลูกหลานอภิสิทธิ์ชนจะต้องเรียนคณิตศาสตร์ และมีการสอบอย่างคร่ำเคร่งเมื่อเรียนจบ

นอกจากการให้ความรู้ทหารและพลเรือนแล้ว ปีเตอร์ยังได้ยกเครื่องการเรียนการศึกษาของกองทัพรัสเซียใหม่ทั้งหมด คู่มือโบราณถูกทำลายทิ้ง ทหารจากตะวันตกจำนวนมากถูกจ้างเพื่อมาเสริมสร้างระเบียบวินัยและศักยภาพในการต่อสู้แก่ทหารรัสเซีย อาวุธจำนวนมากถูกสั่งเข้ามาเพื่อให้ทหารรัสเซียมีอาวุธที่ทันสมัยทัดเทียมกับนานาประเทศ

ปีเตอร์ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับระเบียบวินัยของกองทัพ การปฏิรูปดังกล่าวใช้เวลานานนับสิบปี แต่ก็สำเร็จผล เพื่อกองทัพรัสเซียสามารถเอาชนะกองทัพสวีเดนได้อย่างเด็ดขาดที่ Poltava

การปฏิรูปเศรษฐกิจ

ปีเตอร์เล็งเห็นความสำคัญของการค้า นั่นเป็นสาเหตุที่พระองค์ทรงปรารถนาที่จะครอบครองชายฝั่งทะเลของสวีเดน ปีเตอร์ทราบดีว่าการสร้างกองทัพต้องใช้เงินมาก และเงินเหล่านี้จะมาจากภาษีประชาชนอย่างเดียวคงจะไม่ได้ การค้าเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำเงินให้กับพระองค์

เริ่มแรกปีเตอร์ให้การศึกษาแก่ประชาชนก่อน ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนการค้า การทำเหมือง และการผลิตสินค้า ปีเตอร์ได้สั่งให้เปิดโรงงานหลายแห่ง (ยังไม่ใช่แบบอุตสาหกรรม) ขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าในการค้าขาย รายได้การค้าของรัสเซียเพิ่มพูนขึ้นมากหลังจากที่ปีเตอร์ยึดเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กมาจากสวีเดนได้สำเร็จ

การปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ปีเตอร์สำเร็จน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการปฏิรูปอย่างอื่น ปีเตอร์พยายามจะรณรงค์ให้ใช้อุปกรณ์ทุ่นแรงมากขึ้นเพื่อลดภาระของพวกเซิร์ฟ (คล้ายๆ กับไพร่) แต่ก็ไม่เป็นผลเท่าไรนัก เพราะพื้นที่ของรัสเซียมีมากเกินไปกว่าที่จะบังคับใช้ได้หมด สิ่งที่ปีเตอร์ลองมือทำจึงไม่สำเร็จเท่าที่ปีเตอร์คาดไว้

อนุสาวรีย์ของซาร์ปีเตอร์มหาราชที่สร้างถวายโดยซารินาแคทเทอรีนมหาราช Cr: Godot13

การปฏิรูปการปกครอง

ปีเตอร์เริ่มการลดอำนาจของพวกโบยาร์ด้วยการจัดระเบียบโครงสร้างยศเสียใหม่ ยศถาบรรดาศักดิ์ทางราชการจะถูกเรียงตามความดีความชอบที่ทำให้กับรัฐบาล ไม่ว่าจะเกิดในฐานะที่สูงศักดิ์สักเพียงใด ถ้าต้องการรับราชการก็จะต้องเริ่มต้นจากตำแหน่งที่ต่ำสุด เจตนารมณ์คือปีเตอร์ต้องการกำจัดพวกหัวเก่าที่สืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับราชการ

หน่วยงานแบบใหม่ที่คล้ายกับระบบกระทรวงยังถูกนำเสนอโดยปีเตอร์ หน่วยงานเหล่านี้ครอบคลุมด้านการต่างประเทศ สงคราม กองเรือ การคลัง พาณิชย์ ยุติธรรม และตรวจสอบ ในองค์กรเหล่านี้ปีเตอร์ปรารถนาให้มีการตรวจสอบและคานอำนาจกันอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสขึ้นมาในรัสเซีย

บทสุดท้าย

ปีเตอร์ยังคงทำการปฏิรูปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รัสเซียได้กลายเป็นมหาอำนาจในรัชกาลของพระองค์ หลายๆ สิ่งที่มีอยู่ในรัสเซียทุกวันนี้มาจากการริเริ่มของปีเตอร์ ตลอดชีวิตปีเตอร์ทำงานด้วยความอุตสาหะ นั่นทำให้พระองค์ได้สมญานามว่า ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great)

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!