ประวัติศาสตร์อัลเฟรด โนเบล: ผู้ให้กำเนิดทั้ง "ไดนาไมต์" และ "รางวัลโนเบล"

อัลเฟรด โนเบล: ผู้ให้กำเนิดทั้ง “ไดนาไมต์” และ “รางวัลโนเบล”

อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) เป็นผู้ให้กำเนิดนวัตกรรมหลายสิ่งของมนุษยชาติ หลายๆ อย่างที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ก็ต่อยอดจากสิ่งประดิษฐ์ของเขาทั้งสิ้น

ตลอดชีวิตของเขา โนเบลมีสิทธิบัตรในครอบครองไม่แพ้เอดิสัน เขามีสิทธิบัตรมากถึง 355 ใบเลยทีเดียว แต่สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดคือ ระเบิดไดนาไมต์ (Dynamite) ปัจจุบันระเบิดชนิดนี้ยังมีการใช้อย่างมากในวงการก่อสร้าง เหมืองแร่ ทำลายตึก และอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้แล้ว โนเบลยังเป็นผู้ให้กำเนิดรางวัลโนเบลด้วย รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดที่มอบให้บุคลากรชั้นนำของโลกในสาขาต่างๆ กัน ความยิ่งใหญ่ของรางวัลโนเบลดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมระเบิดไดนาไมต์กับรางวัลโนเบลถึงเกี่ยวข้องกันได้ในชีวิตของอัลเฟรด โนเบล เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ

โนเบล

ชีวิตในแวดวงวิศวกรรม

โนเบลเป็นชาวสวีดิชและเกิดในปี ค.ศ.1833 ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวนักประดิษฐ์และวิศวกรที่มีฐานะยากจน อย่างไรก็ตามโนเบลได้เริ่มฉายแววความฉลาดของเขาตั้งแต่ยังเด็ก พ่อของเขาจึงสอนพื้นฐานวิศวกรรมให้โนเบลบางส่วน ปรากฏว่าสิ่งที่โนเบลชื่นชอบมากที่สุดคือวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุไวไฟหรือระเบิดต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่โนเบลจะพัฒนาต่อไปในภายภาคหน้า

พ่อของโนเบลได้งานในจักรวรรดิรัสเซีย โดยเป็นผู้ผลิตอาวุธระเบิดต่างๆ ให้กับกองทัพ โนเบลจึงต้องย้ายจากสตอกโฮล์มมายังเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กด้วย ในช่วงนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของโนเบลสบายขึ้น เพราะรัฐบาลรัสเซียเองก็เริ่มพัฒนาอาวุธเพราะความตึงเครียดกับอังกฤษ-ฝรั่งเศส-ออตโตมันที่เลวร้ายลงตามลำดับ ยอดสั่งอาวุธในโรงงานของครอบครัวจึงเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ทำให้ครอบครัวโนเบลทำเงินได้มากมาย

โนเบลมีโอกาสช่วยงานในโรงงานของพ่ออยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วพ่อของเขาให้โนเบลร่ำเรียนหนังสือเสียมากกว่า การเรียนของโนเบลอยู่ในระดับดีเยี่ยม เขาพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซียได้อย่างคล่องแคล่ว แถมยังทำคะแนนวิชาเคมีได้อย่างไร้ที่ติด้วย

เมื่อโนเบลอายุได้ 17 ปี โนเบลถูกส่งตัวไปยังฝรั่งเศสเพื่อศึกษาต่อ ระหว่างที่อยู่ที่ฝรั่งเศสนี้เองที่โนเบลได้พบกับสิ่งที่เรียกว่า “ไนโตรกลีเซอรีน” (Nitroglycerin) เป็นครั้งแรก ในฐานะที่ชอบเรื่องระเบิดมาตั้งแต่เด็ก โนเบลสนใจมันมาก เพราะมันมีอานุภาพรุนแรงกว่าดินปืนทั่วไป แต่ยังไม่มีใครสามารถหาวิธีควบคุมการระเบิดของมันได้ ไนโตรกลีเซอรีนจึงอันตรายเกิดกว่าที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการก่อสร้างและเหมืองแร่

ในปี ค.ศ.1853 รัสเซียทำสงครามไครเมียกับชาติพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสและออตโตมันเป็นเวลานาน 3 ปี โรงงานของครอบครัวโนเบลได้รับออเดอร์จำนวนมาก แต่เมื่อสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัสเซีย เงินที่รัฐบาลสัญญาว่าจะจ่ายให้จึงไม่มาตามกำหนด ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ยังตัดงบทางทหารอย่างมากด้วย สุดท้ายแล้วโรงงานของโนเบลผิดนัดชำระหนี้และต้องปิดกิจการลง

ครอบครัวโนเบลตัดสินใจเดินทางกลับสวีเดน ยกเว้นลุดวิก พี่ชายของโนเบลคนเดียวที่เปิดบริษัทใหม่ในรัสเซีย และประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

รุ่งโรจน์ในฐานะพ่อค้า

โนเบลที่กลับมาอยู่ที่สวีเดนได้ทุ่มเทให้กับการพัฒนาวัตถุระเบิดต่อไป โดยเฉพาะไนไตรกลีเซอรีน เพราะเขาปรารถนาจะควบคุมสารดังกล่าวให้ได้ แต่แล้วในปี ค.ศ.1864 เรื่องเศร้าก็เกิดขึ้นกับครอบครัวโนเบล เอมิล น้องชายคนสุดท้องของโนเบลได้ทดลองไนโตรกลีเซอรีนและทำพลาด โรงงานจึงระเบิดทำให้เอมิลจบชีวิตลง

แม้จะเผชิญกับอุปสรรคและเรื่องเศร้า แต่โนเบลไม่เคยยอมแพ้ สามปีต่อมาโนเบลคิดวิธีการทำให้ไนโตรกลีเซอรีนเสถียรได้ในที่สุดด้วยการใช้ หินที่เรียกว่า Diatomaceous earth มาหุ้มมันไว้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่โนเบลคิดค้นขึ้นเรียกว่า “ไดนาไมต์” (Dynamite) อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้นี่เอง

ไดนาไมต์ได้รับสิทธิบัตรในหลายประเทศอาทิเช่นในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา แต่สิทธิบัตรจำกัดการใช้อยู่แค่อุตสาหกรรมเหมืองแร่และการสร้างถนนเท่านั้น อย่างไรก็ตามไดนาไมต์ได้ทำเงินให้กับโนเบลได้อย่างมากมาย ทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่บัดนั้น

โนเบลได้วิจัยวัตถุระเบิดต่อไปจนได้ระเบิดชนิดใหม่ที่รุนแรงกว่า แต่เสถียรกว่าไดนาไมต์ชื่อ gelignite ในปี ค.ศ.1875 ทำให้กิจการของโนเบลยิ่งขยายตัวออกไปตามลำดับ เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ทุกหนแห่งต้องการระเบิดของเขาไปสร้างถนน และขุดเจาะเหมืองแร่

ความตั้งใจที่ผันแปร

ในปี ค.ศ.1888 โนเบลที่อายุ 55 ปีแล้วทราบข่าวว่าลุดวิก พี่ชายของเขาที่เป็นพ่อค้าใหญ่ในรัสเซียเสียชีวิตในเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส แต่ทว่าหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสกลับคิดว่าเป็นตัวโนเบลเองที่เสียชีวิต

หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวพาดหัวว่า “พ่อค้าแห่งความตายได้จบชีวิตลงแล้ว” และได้เสียดสีประณามโนเบลมากมาย ปรากฏว่าหนึ่งในผู้ที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวคือตัวโนเบลเอง

โนเบลรู้สึกกังวลใจไม่น้อยกับภาพลักษณ์ที่ดูย่ำแย่ของตัวเขา และรู้สึกไม่ดีที่คนรุ่นหลังจะมองตนในฐานะพ่อค้าอาวุธ หรือพ่อค้าความตาย เขาจึงตัดสินใจเขียนพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นมา และยกเลิกพินัยกรรมฉบับเดิมไปเสีย

พินัยกรรมของโนเบลที่มอบทรัพย์สิน 94% ให้กับการมอบรางวัล

ในปี ค.ศ.1895 หนึ่งปีก่อนที่โนเบลจะอำลาโลกนี้ไป เขาได้ลงนามในพินัยกรรมฉบับสุดท้ายต่อหน้าสาธารณชนที่กรุงปารีส พินัยกรรมของเขาทำให้ทุกคนถึงกับตกตะลึง

โนเบลประกาศว่าหลังจากที่เขาตายไปแล้ว เขาขอมอบทรัพย์สิน 94% ของตัวเขาเองเพื่อเป็นทุนในการจัดตั้งรางวัลโนเบลขึ้นมา รางวัลดังกล่าวจะมอบให้กับผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับมนุษยชาติใน 5 สาขาด้วยกันดังต่อไปนี้

  • ฟิสิกส์
  • เคมี
  • สรีรวิทยาหรือการแพทย์
  • วรรณกรรม
  • สันติภาพ

รางวัลดังกล่าวไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในเรื่องเชื้อชาติแก่ผู้รับ ไม่ว่าจะมาจากเชื้อชาติใดก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับรางวัลดังกล่าวได้ทั้งสิ้น

ในปี ค.ศ.1896 โนเบลก็จากโลกนี้ไปด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคหัวใจ เขามีอายุได้ 63 ปี

รางวัลโนเบล

หลังการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบล มูลนิธิโนเบลจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้น และเริ่มต้นมีการมอบรางวัลในปี ค.ศ.1897 การมอบรางวัลเกิดขึ้นเกือบทุกปี ยกเว้นบางปีที่เกิดปัญหาอย่างเช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่รางวัลถูกประเภทไม่มีการแจกแต่อย่างใด

รางวัลโนเบลกลายเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดที่มนุษยชาติมีมา โดยเฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์ ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้จะได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก นักวิทยาศาสตร์อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือ มารี คูรี ต่างเคยได้รับรางวัลโนเบลมาแล้วทั้งสิ้น

ปัจจุบันรางวัลโนเบลจำนวน 4 สาขา (ยกเว้นรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) มีการทำพิธีมอบในสวีเดน โดยกษัตริย์สวีเดนเป็นผู้มอบให้ด้วยพระองค์เอง ส่วนพิธีมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจัดขึ้นที่นอร์เวย์ และประธานคณะกรรมาธิการโนเบลเป็นผู้มอบให้กับผู้ได้รับรางวัล งานมอบรางวัลโนเบลจัดเป็นพิธีใหญ่ของทั้งสองประเทศ

สำหรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์นั้นมีการมอบตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 เพราะธนาคารกลางสวีเดนได้ช่วยออกเงินทุนและขอให้มูลนิธิโนเบลเป็นผู้คัดเลือกและมอบรางวัลดังกล่าว แม้ว่าจริงๆ แล้วโนเบลจะไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมของเขาว่าให้มอบรางวัลในสาขาดังกล่าวด้วยก็ตาม

ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่รางวัลโนเบล แต่ผู้ได้รับรางวัลสาขานี้จะได้รับการประกาศชื่อและมอบรางวัลเทียบเท่ากับสาขาอื่นทุกประการ โดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นแต่อย่างใด

แม้รางวัลโนเบลจะเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติ แต่มีผู้ปฏิเสธรางวัลโนเบลด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ส่วนมากจะเป็นเหตุผลทางด้านการเมืองและเกี่ยวข้องกับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมและสันติภาพ อาทิเช่น Boris Pasternak ผู้เขียนนวนิยายระดับตำนานอย่าง Doctor Zhivago ที่ปฏิเสธรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1958 เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลโซเวียตจะตอบสนองอย่างไรกับการที่ตัวเขาไปรับรางวัลที่สตอกโฮล์ม

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!