ประวัติศาสตร์การลอบสังหารเซอร์เกย์ คิรอฟ: ต้นเหตุการกวาดล้างของสตาลิน

การลอบสังหารเซอร์เกย์ คิรอฟ: ต้นเหตุการกวาดล้างของสตาลิน

การลอบสังหารเซอร์เกย์ คิรอฟ (Sergei Kirov) เป็นเหตุการณ์สำคัญมากในประวัติศาสตร์รัสเซีย เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของการกวาดล้างครั้งใหญ่ของสตาลินที่เรียกกันว่า The Great Terror หรือว่า The Great Purge

นอกจากนี้การลอบสังหารครั้งนี้มีความคลุมเครืออย่างยิ่งยวด ใครเป็นผู้ลงมือสังหารคิรอฟ? สตาลินเป็นผู้ลงมือสังหารเพื่อนรักของเขาจริงหรือไม่? ทุกอย่างล้วนแต่เป็นปริศนาไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่ช่องเขาดยัตลอฟเลย

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไรกันแน่?

คิรอฟคือใคร?

คิรอฟเป็นนักปฏิวัติเก่าแก่ที่สังกัดพรรคบอลเชวิค หลังจากการปฏิวัติตุลาคม คิรอฟได้กลายเป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ในเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเปิร์กในปัจจุบัน) และเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาพาลิตบรู (Политбюр) หรือ โพลิตบิวโร (Politburo) ในภาษาอังกฤษ

แต่ไหนแต่ไรมา คิรอฟเป็นเพื่อนรักของสตาลิน และเป็นผู้สนับสนุนสตาลินอันดับต้นๆ ด้วย สตาลินสนิทสนมกับเขามากถึงขนาดที่มักจะโทรศัพท์ไปพูดคุยเล่นกับเขาเสมอในยามว่าง เชื่อกันว่าคิรอฟถูกวางตัวให้เป็นผู้นำอันดับ 2 ของพรรครองจากสตาลินด้วยซ้ำไป

คิรอฟเป็นคนเก่งโดยเฉพาะเรื่องการบริหาร เขาทำงานได้อย่างดีเยี่ยมทำให้เป็นที่ไว้วางใจในพรรคเป็นอย่างมาก สตาลินเองก็ไว้ใจเขามากด้วย คิรอฟเป็นผู้พายาคอฟ บุตรชายของสตาลินที่เกิดกับภรรยาคนแรกมายังมอสโก เพื่อที่พ่อลูกจะได้พบหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในต้นปี ค.ศ.1934 เหล่าศัตรูของสตาลินพยายามหาทางกำจัดสตาลิน และเลือกคนที่มีความอดทนมากกว่าขึ้นมาแทน คิรอฟคือผู้ที่ได้รับทาบทามจากคนเหล่านี้ให้เป็นผู้นำคนต่อไป เราไม่ทราบแน่ชัดว่าคิรอฟตอบพวกเขาอย่างไร แต่คิรอฟได้บอกเรื่องทั้งหมดกับสตาลินทันที ทำให้สตาลินกล่าวว่า

ขอบคุณมาก ฉันจะไม่มีวันลืมทุกสิ่งที่ฉันติดค้างคุณ

การลอบสังหารคิรอฟ

ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1934 คิรอฟเดินทางมายัง Smolny Institute อดีตโรงเรียนสอนหญิงที่กลายเป็นออฟฟิศของพวกคอมมิวนิสต์ในเวลาประมาณสี่โมงเย็น

ระหว่างที่คิรอฟกำลังเดินเข้าไปยังห้องทำงานของเขาที่ชั้นสาม ปรากฏว่ามีชายคนหนึ่งชื่อ ลีโอนิด นิคาลาเยฟ (Леонид Николаев) ออกมาจากที่ซ่อน เขาชักปืนพกยิงคิรอฟที่หลังคอ ทำให้คิรอฟล้มลงและเสียชีวิตทันที ส่วนนิคาลาเยฟถูกรวบตัวได้อย่างทันควัน

นิคาลาเยฟ

ทุกอย่างช่างดูเรียบง่ายและง่ายดายอย่างผิดธรรมชาติ โดยทั่วไปแล้วคิรอฟจะมีบอดี้การ์ดคอยคุ้มกันอย่างแน่นหนา แต่ในวันนั้นกลับไม่มีใครรอบกายเขาเลยสักคนเดียว! บาริซอฟ บอดี้การ์ดคนสนิทที่ติดตามคิรอฟทุกฝีก้าวเองก็ไม่อยู่ที่นั่น บ้างว่าเขาเพิ่งจะผละจากคิรอฟได้ไม่นาน เพราะขอตัวไปหาอะไรกิน ในรุ่งขึ้นบาริซอฟกลับตายอย่างลึกลับ เพราะพลัดตกลงมาจากรถบรรทุกที่กำลังวิ่ง

นอกจากนี้ทหารยามที่ Smolny Institute ยังปล่อยให้นิคาลาเยฟเข้าไปได้ง่ายดาย ทั้งๆที่นิคาลาเยฟเคยถูกจับสองครั้งพร้อมกับปืนพก และแผนที่ออฟฟิศของคิรอฟด้วย

ใครคือผู้บงการ?

ทฤษฎีว่าใครเป็นผู้บงการนิคาลาเยฟให้สังหารคิรอฟมีมากมาย แต่ที่โด่งดังที่สุดคือ สตาลินเป็นผู้บงการให้สังหารคิรอฟเอง เพราะสตาลินจะได้หาเหตุในการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของตน

ผู้ที่เชื่อในทฤษฎีนี้ตั้งข้อสังเกตว่า สตาลินเป็นผู้สั่งให้พวกยามหละหลวมอย่างจงใจ เพื่อที่นิคาลาเยฟจะได้สังหารคิรอฟ และสตาลินเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการตายของคิรอฟ

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้เต็มไปด้วยช่องโหว่ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสตาลินเป็นผู้บงการ

อย่างแรก เราไม่มีหลักฐานใดๆที่แสดงให้เห็นว่าสตาลินเป็นผู้ลงมือเลย การทำลายหลักฐานแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำลายแบบสิ้นซากไม่ใช่เรื่องง่าย ขนาดครุชเชฟ ผู้นำโซเวียตคนต่อมาที่เป็นปฏิปักษ์กับสตาลินให้มีการสอบสวนการตายของคิรอฟใหม่อย่างละเอียด แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าสตาลินลงมือจริงๆ

อย่างที่สอง มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสตาลินสั่งให้ตำรวจลับคอยคุ้มกันคิรอฟอย่างดีหลายต่อหลายครั้ง และไม่เคยสั่งให้ปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด

ดังนั้นเราไม่อาจสรุปได้ว่าสตาลินเป็นคนบงการให้สังหารคิรอฟ เพราะว่าไม่มีหลักฐานใดๆ

ในเอกสารอย่างเป็นทางการ รัฐบาลโซเวียตอธิบายว่า นิคาลาเยฟเป็นผู้สนับสนุนซีโนเวียฟ ศัตรูของสตาลิน ดังนั้นเขาจึงถูกสั่งโดยซีโนเวียฟและคาเมเนฟให้สังหารคิรอฟ การที่ไม่มีใครคุ้มกันคิรอฟในวันนั้นก็เพราะว่า ยาโกดา ผู้บังคับบัญชาตำรวจลับสั่งให้กำจัดอุปสรรคทุกอย่างเพื่อให้มือสังหารเข้าถึงตัวคิรอฟได้

นอกจากนี้ทฤษฎีอื่นผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นนิคาลาเยฟได้เงินจากพวกฟาสซิสต์บ้าง นิคาลาเยฟลงมือด้วยตนเองเพราะภรรยาของนิคาลาเยฟเป็นชู้กับคิรอฟบ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย

ปัจจุบันเราจึงยังไม่ได้ข้อพิสูจน์อย่างแท้จริงว่ามีคนบงการนิคาลาเยฟหรือไม่ และทำไมถึงไม่มีใครคุ้มกันคิรอฟในวันดังกล่าว

พิพิธภัณฑ์เซอร์เกย์ คิรอฟอธิบายการสิ้นชีวิตของคิรอฟว่า “ยังไม่ทราบจนถึงทุกวันนี้”

การสอบสวน

อย่างไรก็ตาม เย็นวันที่คิรอฟสิ้นชีวิต สตาลินที่ได้ทราบข่าวการตายของคิรอฟก็เสียใจและโกรธมาก เขาสั่งให้มีการสอบสวน โดยตัวสตาลินจะเป็นผู้สอบสวนด้วยตนเอง

เมื่อสตาลินเผชิญหน้ากับนิคาลาเยฟ สตาลินถามว่าเขาได้ปืนมาจากไหน นิคาลาเยฟจึงชี้ไปที่ ซาโปโรเซ็ตส์ รองผู้บังคับบัญชาตำรวจลับ และพูดขึ้นว่า

คุณจะมาถามฉันทำไม ถามเขาสิ

หลังจากนั้นสตาลินจึงสั่งให้นำตัวนิคาลาเยฟออกไป และด่าว่ายาโกดาอย่างรุนแรง

สามสัปดาห์ต่อมา เมื่อการสอบสวนสิ้นสุดลง นิคาลาเยฟถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ส่วนพวกตำรวจลับที่ไม่ดูแลคิรอฟให้ดีนั้น สตาลินเนรเทศพวกเขาไปที่ไซบีเรียจนหมดสิ้น โดยเฉพาะซาปาโรเซ็ตส์ บางคนถูกนำตัวไปยิงเป้าในปี ค.ศ.1937

ผลที่ตามมา

สตาลินจัดงานศพให้คิรอฟอย่างยิ่งใหญ่ เขามาร่วมงานศพด้วยตนเอง และก้มลงจูบที่หน้าผากของร่างไร้วิญญาณของคิรอฟที่อยู่ในโลงศพ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่แบกที่ตั้งศพของคิรอฟด้วย ใบหน้าของสตาลินเศร้าสร้อย แต่สตาลินเศร้าจริงหรือเปล่าไม่มีใครทราบ

หลังจากนั้นไม่นาน สตาลินใช้การตายของคิรอฟเป็นข้ออ้างในการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในพรรคคอมมิวนิสต์เอง กลุ่มแรกที่เผชิญการกวาดล้างคือ คาเมเนฟและซีโนเวียฟในข้อหาสังหารคิรอฟ ทั้งสองถูกจับกุมเข้าคุก และได้รับโทษยิงเป้าในเวลาต่อมา

การกวาดล้างของสตาลินดำเนินไปอย่างหนักหน่วงเป็นเวลานานหลายปี ทำให้ชาวโซเวียตจำนวนมากต้องสิ้นชีวิตลง โดยปราศจากความผิดใดๆ

Sources:

  • Conquest, The Great Terror: A Reassessment
  • Radzinsky, Stalin

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!