“จูมง” น่าจะเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์เกาหลีที่คนไทยจำนวนหนึ่งน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะซีรีส์เกาหลีเรื่อง “จูมง” เคยมีการนำมาฉายในประเทศไทยเมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว จูมงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งโกคูรยอ หนึ่งในอาณาจักรยุคสามอาณาจักรของเกาหลี
โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบซีรีส์เรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่พอได้ศึกษาเพิ่มเติมในแง่ของประวัติศาสตร์จริงๆ พบว่าเรื่องในซีรีส์ร้อยละ 99 เป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานที่นักประวัติศาสตร์มีอยู่เกี่ยวกับจูมงถือว่าน้อยมากๆ แถมส่วนใหญ่ยังเป็นตำนานปรัมปราที่ยากจะเชื่อได้ว่าเป็นจริง
เรามาดูกันเลยดีกว่า ชีวิตของจูมงในหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร
ตำนานจูมง
จูมงผู้นี้จริงๆ แล้วมีการเรียกกันหลายชื่อ บ้างว่า “ชูมง” บ้าง “ชูโม” บ้าง หรือแม้กระทั่ง “ชุงโม”และ”โดโม” แต่ชื่อหลังจากที่ครองราชย์แล้วชัดเจนนั่นคือ ดงมยองซง ที่แปลว่า กษัตริย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งแดนตะวันออก
หลักฐานหลักๆที่เรามีเกี่ยวกับจูมงคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์สองฉบับและอีกหนึ่งศิลาหิน หลักฐานสองฉบับคือ จดหมายเหตุ Samguk Sagi และ Samguk Yusa ที่เขียนขึ้นพันกว่าปีหลังการสมัยของจูมง ทำให้ว่ากันตามตรงแล้ว ความน่าเชื่อถือต่ำมาก
ส่วนศิลาหินที่ว่าคือ ศิลาหินกวางแกโทที่จารึกประวัติศาสตร์ของโกคูรยอไว้อย่างคร่าวๆ ตัวศิลาหินนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.414 ก่อนที่โกคูรยอจะล่มสลายประมาณสองร้อยกว่าปี แต่ศิลาหินนี้จารึกแค่ตำนานการกำเนิดของจูมงเท่านั้น ไม่ได้กล่าวในเชิงประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตามหลักฐานทั้งสามให้ข้อมูลตำนานของจูมงที่คล้ายกันมาก มีข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราจะพอสรุปตำนานของจูมงได้ดังนี้
กษัตริย์แฮบูรูแห่งปูโยเหนือได้ย้ายถิ่นมายังปูโยตะวันออก และได้รับกึมวาเป็นบุตรเลี้ยงเพื่อที่จะได้สืบบัลลังก์ของตนต่อไป กึมวาได้ครองราชย์หลังจากที่แฮบูรูสิ้นชีวิตไปแล้ว
วันหนึ่งกึมวาได้ออกไปล่าสัตว์ที่เขาแทบัค เขาได้พบกับหญิงสาวที่หน้าตางดงามมากใกล้กับลำธารชื่ออูบัลซู กึมวาจึงเข้าไปถามว่าเธอเป็นใคร
หญิงสาวผู้นั้นตอบว่า
ข้าเป็นธิดาของฮาแบค มังกรผู้เป็นเจ้าแห่งแม่น้ำตะวันตก และยูฮวาเป็นชื่อของข้า
ยูฮวาเล่าต่อไปว่านางได้ออกมาเที่ยวเล่น และมีชายคนหนึ่งชื่อ แฮโมซูบอกว่าเขาเป็นโอรสสวรรค์ แฮโมซูได้นำยูฮวาไปที่กระท่อมแห่งหนึ่งใกล้กับแม่น้ำยาลู แฮโมซูได้ร่วมเพศกับยูฮวา หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้กลับมาหานางอีก เมื่อพ่อแม่ของนางทราบจึงโกรธมาก ทั้งสองไล่ยูฮวาออกมาอยู่ในสถานที่ที่กึมวาพบนาง
กึมวาได้นำยูฮวาไปอยู่ที่ในห้องมืดแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานยูฮวาก็ให้กำเนิดบุตรออกมา แต่บุตรที่ว่ากลับเป็นไข่ขนาดใหญ่ กึมวาตกใจมาก เขานำไข่ที่ยูฮวาคลอดออกมาไปให้สุนัขและสุกรกิน แต่พวกมันกลับไม่แตะต้องไข่ใบนี้เลย
กึมวาจึงนำไข่ใบนี้ไปโยนที่ตามทางที่พวกสัตว์จะเดินผ่าน แต่ม้าและสัตว์อื่นๆ ต่างเลือกที่จะหลีกเลี่ยงไม่เหยียบมัน ต่อมากึมวาโยนไข่ไปที่ทุ่ง เขากลับพบว่าพวกนกและสัตว์ต่างๆ ปกป้องไข่ดังกล่าวไว้ด้วยขนของพวกมัน กึมวารู้สึกอัศจรรย์ เขาจึงพยายามกระแทกเปลือกไข่ให้แตกออก แต่ไม่ว่าเขาจะทำอย่างไรก็ตาม เขาไม่สามารถกระเทาะเปลือกไข่ให้แตกได้
สุดท้ายกึมวาจึงนำไข่กลับไปมอบให้ยูฮวา ผู้ให้กำเนิดไข่ใบนี้ออกมา ยูฮวานำผ้านุ่มไปห่อไข่ใบดังกล่าว และนำไปเก็บไว้ในที่อุ่นๆ หลังจากนั้นไม่นานไข่กลับแตกออกด้วยตัวของมันเอง ปรากฏว่ามีเด็กน้อยรูปงามอยู่ในนั้น เขาช่างดูเหมือนว่าเป็นเด็กที่มีฐานะสูงศักดิ์ราวกับเป็นเจ้าชายน้อยคนหนึ่ง
เมื่อเด็กคนนี้อายุได้เจ็ดขวบ เด็กชายกลับแข็งแรงราวกับเป็นผู้ใหญ่ เขาประดิษฐ์คันธนูและลูกธนูด้วยตนเอง และใช้มันด้วยความสามารถอันเยี่ยมยอด ทำให้ผู้คนเรียกเขาว่า จูมง นักธนูมือขมัง
หลังจากที่จูมงเกิด ยูฮวาได้เข้าวังและอยู่ในฐานะสนมของกึมวา กึมวาเลี้ยงจูมงราวกับว่าเป็นลูกชายของตนเองคนหนึ่ง จูมงจึงได้รับการศึกษาร่วมกับเจ้าชายคนอื่นๆ แต่ความสามารถของจูมงเยี่ยมยอดมาก พวกเจ้าชายเจ็ดคนที่เป็นลูกของกึมวาแท้ๆไม่มีใครเทียบจูมงได้สักคนเดียวในทุกด้านๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านบู๊และบุ๋น
แดโซ บุตรชายคนโตของกึมวาได้กล่าวกับกึมว่าว่า
จูมงไม่ใช่บุตรของมนุษย์ ยิ่งเขาตายเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีสำหรับราชบัลลังก์เท่านั้น
กึมวากลับไม่เชื่อแดโซ ต่อมากึมวาสั่งให้จูมงไปช่วยดูแลม้า ในเวลาไม่นานจูมงก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเลี้ยงม้ามากคนหนึ่ง จูมงรู้จักแยกแยะว่าม้าตัวไหนมีฝีเท้าเร็ว ในงานล่าสัตว์ จูมงขี่ม้าของเขาและแสดงฝีมือการใช้ธนูของเขาให้ทุกคนในราชสำนักปูโยตะวันออกได้ชม การแสดงฝีมือของจูมงยิ่งทำให้เหล่าเจ้าชายคนอื่นต่างเกลียดชังจูมงมากเข้าไปใหญ่
พวกเจ้าชายทั้งเจ็ดตัดสินใจได้ว่าพวกเขาจะต้องสังหารจูมงเสีย แต่ทว่ายูฮวา แม่ของจูมงทราบเรื่องเสียก่อน นางจึงเสนอให้จูมงหนีออกจากปูโยตะวันออกไปโดยเร็วที่สุด
จูมงขึ้นม้าและหนีไปพร้อมกับบริวารคนสนิทสองคน เขาหนีมาจนถึงลำธารที่มีกระแสน้ำไหลแรงมาก จูมงกล่าวขึ้นว่า
ข้าเป็นโอรสสวรรค์และหลานของฮาแบค ตอนนี้พวกศัตรูกำลังไล่กวดข้า ข้าจะทำอย่างไรดี
ทันใดนั้นเอง เต่าและปลาจึงรวมตัวกันเป็นสะพานให้จูมงและบริวารข้ามไปได้ เมื่อจูมงข้ามไปได้แล้ว พวกปลาและเต่าจึงสลายตัวเพื่อที่ทหารที่ติดตามจูมงมาจะได้ข้ามไปไม่ได้
จูมงหนีมาถึงโจลบอนปูโย (Jolbon Puyo) ที่อยู่ในคาบสมุทรเหลียวตง จูมงได้แต่งงานกับโซซอโน ธิดาของประมุขแห่งโจลบอนปูโย และได้รวมเผ่าทั้งห้าของโจลบอนปูโยให้เป็นหนึ่งเดียว หลังจากนั้นจูมงได้ราชาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์และตั้งชื่ออาณาจักรใหม่ว่า “โกคูรยอ”
จดหมายเหตุ Samguk Sagi ว่าเดิมทีจูมงมีแซ่โก (Go) แต่เปลี่ยนเป็นแฮ (Hae) เมื่ออยู่ในราชสำนักปูโยตะวันออก หลังจากที่เขาได้ครองราชย์แล้ว เขากลับมาใช้แซ่โกอีกครั้งหนึ่ง
นั่นจึงเป็นตำนานคร่าวๆ เกี่ยวกับจูมงจากจดหมายเหตุ Samguk Sagi และ Samguk Yusa
สกัดความจริงจากตำนาน
จากด้านบน เราค่อนข้างเห็นชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ และเป็นตำนานเสียมากกว่า ดังนั้นถ้าเราตัดเรื่องน่าเหลือเชื่อทั้งหลายออก โดยเฉพาะเรื่อง “ไข่” ที่ผู้แปล Samguk Yusa วิจารณ์ว่าเป็นธรรมเนียมของชาวเอเชียตะวันออกในสมัยโบราณที่มักจะใช้ “ไข่” เป็นสัญลักษณ์ว่า ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรไม่ใช่คนธรรมดา แต่สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า
เราพอจะสกัดได้ข้อมูลจากตำนานเหล่านี้ว่า
จูมงเป็นลูกชายของยูฮวา พระสนมของกึมวา แต่กึมวาเป็นพ่อเลี้ยงของเขา พ่อของจูมงเป็นใครเราก็ไม่ทราบแน่ชัด จูมงเป็นคนเก่งทำให้บุตรชายแท้ๆ ของกึมวารู้สึกอิจฉา ด้วยเหตุนี้จูมงจึงหนีออกจากปูโยตะวันออกไปยังโจลบอนปูโย
ต่อมาจูมงได้รวมห้าเผ่าของโจลบอนปูโยเป็นหนึ่งเดียว แต่งงานกับบุตรสาวของประมุขแห่งโจลบอนปูโย และได้ราชาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์ของแคว้นใหม่ที่มีนามว่าโกคูรยอ
นี่คือสิ่งที่เราได้จากเรื่องนี้ แต่เราก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังคลุมเครือมากๆ อยู่ดี
รัชสมัยของจูมง (Jumong)
รัชสมัยของจูมงไม่ต่างอะไรกับชาติกำเนิดของจูมง นั่นคือมันคลุมเครือมากๆ หรือพูดง่ายๆ คือเราแทบจะไม่รู้อะไรเลย เพราะไม่มีหลักฐานชั้นต้นเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน เราพอจะได้ปีศักราชจากการเปรียบเทียบหลักฐานหลายๆ แห่งว่า จูมงครองราชย์ในปี 37 BC (37 ปีก่อนคริสตกาล) และสวรรคตในปี 19 BC
ข้อมูลที่เราพอมีอยู่บ้างอธิบายว่ามีการทำสงครามหลายครั้งในสมัยของจูมง เขาได้ปราบปรามแว่นแคว้นรอบๆ อย่าง Okjeo ได้สำเร็จและได้ขับไล่ชนเผ่า Mohe ออกไปจากดินแดนโกคูรยอด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อได้ว่าจูมงน่าจะสร้างพื้นฐานให้กับอาณาจักรไว้ดีพอสมควร เพราะโกคูรยอขยายตัวไปมากหลังจากรัชกาลของจูมง
ช่วงปลายรัชสมัยของจูมงเหมือนว่าจะมีการขัดแย้งว่าผู้ใดจะเป็นรัชทายาท เพราะภรรยาคนแรกของจูมงได้เดินทางมาจากปูโยตะวันออก และได้นำบุตรชายมาด้วย ทำให้โซซอโน ภรรยาคนที่สองที่เป็นราชินีของโกคูรยอตัดสินใจสละตำแหน่งและเดินทางลงใต้ไปกับบุตรชายของเธอสองคน ต่อมาออนโจ บุตรชายคนรองได้ก่อตั้งอาณาจักรแพ็กเจขึ้นทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี
พงศาวดาร Samguk Sagi ให้ข้อมูลว่าจูมงมีอายุไม่ยืน จูมงสวรรคตเมื่ออายุได้เพียง 40 ปีเท่านั้น ราชบัลลังก์ตกเป็นของยูริ บุตรชายของจูมงที่เกิดกับภรรยาคนแรก
Sources:
- Kim Busik, The Koguryo Annals of Samguk Sagi
- Ilyon, Samguk Yusa