ประวัติศาสตร์คอนสแตนติโนเปิลสิ้นลม: วาระสุดท้ายของอาณาจักรไบแซนไทน์

คอนสแตนติโนเปิลสิ้นลม: วาระสุดท้ายของอาณาจักรไบแซนไทน์

การสูญเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เป็นเหตุการณ์สำคัญระดับ AAA ในหน้าประวัติศาสตร์โลก นักประวัติศาสตร์สายหลักถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นการปิดฉากยุคกลางอย่างสมบูรณ์

อาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) หรืออาณาจักรโรมันตะวันออกเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ อาณาจักรแห่งนี้อยู่มานับพันปีตั้งแต่สมัยโรมัน และผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย

ในศตวรรษที่ 15 อาณาจักรไบแซนไทน์อ่อนแอลงมาก จนเหลือเพียงกรุงคอนสแตนติโนเปิลและเมืองโดยรวมไม่กี่เมืองเท่านั้น ในเมืองก็มีผู้คนไม่มากนัก ความยิ่งใหญ่ที่มีอยู่เดิมก็ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว

สุลต่านเมห์เมดที่ 2 (Mehmed II) แห่งออตโตมันจึงต้องการที่จะทำความปรารถนาของบรรพบุรุษให้เป็นจริง นั่นก็คือตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล (หรืออิสตันบูลในปัจจุบัน) ให้ได้ และปิดฉากอาณาจักรไบแซนไทน์เสียที

เมห์เมดที่ 2

ความอ่อนแอของอาณาจักรไบแซนไทน์

ในศตวรรษที่ 13 กรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของอาณาจักรกลับถูกยึดครองและปล้นสะดมอย่างอุกอาจโดยนักรบครูเสดที่เป็นชาวคริสต์ด้วยกัน ความเสียหายต่อดินแดนของอาณาจักรไบแซนไทน์นั้นมากมายเหลือคณานับ

ถึงแม้สุดท้ายแล้วชาวไบแซนไทน์จะตีชิงดินแดนที่สูญเสียไปต่อนักรบครูเสดกลับคืนมาได้ แต่อำนาจของอาณาจักรไบแซนไทน์ไม่เคยฟื้นกลับมา สาเหตุสำคัญคือช่วงเวลาร้อยกว่าปีหลังจากนั้น อาณาจักรไบแซนไทน์ผจญกับศึกสงครามบ่อยครั้งกับอาณาจักรชาวคริสต์ด้วยกันอย่างเซอร์เบีย และบัลแกเรีย และอาณาจักรที่เรืองอำนาจขึ้นมาอย่างออตโตมัน

การระบาดของกาฬโรคในช่วงศตวรรษที่ 14 ทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไปอีก ประชาชนในกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นเมืองหลวงล้มตายลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ความกลัวในโรคระบาดทำให้ผู้คนหนีไปอาศัยที่อื่น กำลังคนในเมืองจึงร่อยหรอลงไปมาก เมื่อไม่มีคน อาณาจักรไบแซนไทน์ย่อมฟื้นฟูความแข็งแกร่งได้ยาก

ตอนปลายศตวรรษที่ 14 ออตโตมันที่เรืองอำนาจขึ้นมาได้ตีชิงดินแดนต่างๆ ที่เหลืออยู่ของอาณาจักรไบแซนไทน์ตามลำดับ การสูญเสียเมืองสำคัญอย่างแอเดรียโนเปิล ทำให้พวกออตโตมันได้หัวหาดในการตีเมืองอื่นๆ ในฝั่งยุโรปของอาณาจักรไบแซนไทน์ เมืองต่างๆในกรีซจึงตกเป็นของออตโตมันไปทีละเมืองสองเมือง

พวกออตโตมันพยายามตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลมาแล้วสองครั้ง ครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1411 และ 1422 แต่เกิดความวุ่นวายในอาณาจักรออตโตมันทั้งสองครั้ง ทำให้อาณาจักรไบแซนไทน์รอดตายมาได้

แต่อาณาจักรไบแซนไทน์จะโชคดีเป็นครั้งที่ 3 งั้นหรือ?

ศึกออตโตมันกับชาวคริสต์

หลังจากพิชิตแอเดรียโนเปิลได้แล้ว กองทัพออตโตมันรุกรานอาณาจักรบัลแกเรียและเซอร์เบียด้วย และช่วงชิงเมืองสำคัญได้หลายเมือง อาทิเช่น โคโซโว และเทสสาโลนิกา ดินแดนในยุโรปตกเป็นของออตโตมันมากขึ้นตามลำดับ ในปี ค.ศ.1441 ออตโตมันก็ผนวกดินแดนเซอร์เบียได้เกือบทั้งหมด สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงไปทั่วยุโรป

สถานการณ์อันย่ำแย่ของอาณาจักรไบแซนไทน์ (สีม่วง) By MapMaster – Own work, CC BY-SA 2.5,

ชาวคริสต์ในยุโรปที่ได้เห็นความเข้มแข็งและนโยบายทางทหารที่คุกคามดินแดนต่างๆ ของออตโตมันต่างกังวล อาณาจักรต่างๆ ในยุโรปตะวันออกอาทิเช่น ฮังการี โปแลนด์ ลิทัวเนีย ชาติอื่นๆ อีกเกือบสิบชาติ รวมไปถึงโป๊ปแห่งกรุงโรม ต่างรวมตัวกันเป็นพันธมิตรในนาม ครูเสดแห่งวาร์นา แล้วยกเข้าตีอาณาจักรออตโตมัน

ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างดุเดือด และเสียหายอย่างหนักทั้งคู่ สุลต่านมูราดที่ 2 แห่งอาณาจักรออตโตมันพยายามเจรจาสงบศึก แต่พวกนักรบครูเสดปฏิเสธ มูราดจึงนำกองทัพออตโตมันขนาดใหญ่มาเผชิญหน้าในสมรภูมิชี้ชะตาที่วาร์นา

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1444 ที่วาร์นา วลาดิสลอว์ที่ 3 กษัตริย์หนุ่มแห่งโปแลนด์ (Wladyslaw III) นำกำลังบุกเข้าตีกองทัพออตโตมันอย่างกล้าหาญ เขาพยายามจะจับกุมมูราดเป็นเชลยให้ได้ แต่โชคชะตาไม่เป็นใจเอาเสียเลย วลาดิสลอว์กำลังเข้าถึงตัวมูราดอยู่แล้ว แต่เขากลับถูกนักรบออตโตมันแทงเข้าที่หน้ากระโจมของมูราด กษัตริย์หนุ่มได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกนักรบออตโตมันตัดพระเศียรขาดจากร่าง

เมื่อสิ้นวลาดิสลอว์ กองทัพออตโตมันก็เข้าตีกองทัพครูเสดที่เหลืออยู่จนแตกพ่าย นักรบครูเสดในสมรภูมิเกือบสองหมื่นนายถูกสังหารไปมากถึง 15,000 นาย แต่กองทัพออตโตมันก็เสียหายหนักไม่แพ้กัน

ความเสียหายหนักของออตโตมันทำให้อาณาจักรออตโตมันต้องฟื้นฟูกำลัง การตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ความเสียหายที่กองทัพชาวคริสต์ได้รับก็หนักหนาเช่นกัน ทำให้ในเวลาต่อมาไม่มีกองทัพใดยกมาช่วยคอนสแตนติโนเปิลเลย

ไร้การช่วยเหลือ

ในปี ค.ศ.1451 หลังจากยุทธการที่วาร์นาเจ็ดปี เมห์เมดได้ครองราชย์เป็นสุลต่านแห่งออตโตมัน ในขณะนั้นเขามีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น

สิ่งที่เมห์เมดต้องการคือ คอนสแตนติโนเปิล เขาสั่งให้กองทัพทั้งหมดเตรียมการทันที ป้อมปราการใกล้กับช่องแคบบอสฟอรัสถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกองทัพเรือของชาวยุโรปที่อาจจะยกมาช่วยเมืองได้ นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้เข้าตีดินแดนไบแซนไทน์ที่เหลืออยู่ในกรีซ เพื่อไม่ให้ยกกำลังมาช่วยคอนสแตนติโนเปิลได้

ข่าวการเตรียมการของเมห์เมดทราบไปถึง จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 แห่งไบแซนไทน์ เขาขอความช่วยเหลือไปยังอาณาจักรต่างๆในยุโรปตะวันตกทันที แต่ความโกรธเคืองระหว่างสองคริสตจักรที่สืบเนื่องมานานตั้งแต่ยุคก่อน ทำให้คริสตจักรยุโรปไม่เต็มใจที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ถึงแม้ตัวโป๊ปนิโคลัสที่ 5 ปรารถนาจะช่วยก็ตาม

อีกประการหนึ่ง อาณาจักรในยุโรปต่างวุ่นวายอยู่กับปัญหาของตน อังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ในสงครามร้อยปีมานาน และได้รับความเสียหายมากทั้งคู่ สเปนเองก็กำลังทำสงคราม reconquista เพื่อชิงคาบสมุทรไอบีเรียกลับมา ภายในอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็กำลังต่อสู้กันเอง ส่วนในยุโรปตะวันออกไม่ต้องพูดถึง ทุกอาณาจักรเสียหายอย่างหนักจากการทำสงครามที่วาร์นาก่อนหน้านี้

อาณาจักรที่พอจะช่วยเหลือได้คือ เวนิส แต่ก็เชื่องช้าเพราะสาเหตุโน่นนี่ ทำให้ไม่ได้มาช่วย

อาณาจักรไบแซนไทน์จึงได้รับการช่วยเหลือจากเหล่าอาสาสมัครที่เดินทางไปเองเท่านั้น ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนัก รวมทั้งหมดแล้วไม่น่าเกิน 2,000-3,000 คน

สรุปแล้วอาณาจักรไบแซนไทน์จึงโดดเดี่ยว ปราศจากการช่วยเหลือจากภายนอก และต้องตั้งรับการโจมตีของออตโตมันตามลำพัง

ถึงแม้จะดูหมดหวัง แต่คอนสแตนตินที่ 12 ยังไม่ถอดใจ เขาสั่งให้สร้างสิ่งกีดขวางจำนวนมากเพื่อสกัดกั้นไม่ให้พวกออตโตมันเข้ามาในอ่าว และซ่อมแซมกำแพงขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบเมืองให้พร้อม

การรุกรานเริ่มต้น

กองทัพเมห์เมดมีขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 50,000 คน (บ้างว่า 80,000 คน) ในจำนวนนี้ยังประกอบด้วยนักรบ Janissaries ที่มีฝีมือเก่งกาจอีกด้วย

ก่อนหน้าที่จะยกมาตีเมือง เมห์เมดได้รับข้อเสนอของนายช่างชาวฮังการีชื่อ Orban ว่าถ้าเมห์เมดให้การสนับสนุนเขา เขาจะหล่อปืนใหญ่ขนาดยักษ์ที่สามารถยิงถล่มกำแพงใดๆ ก็ตามบนโลกให้พังทลายไป แม้ว่าจะเป็นกำแพงเมืองบาบิโลนก็ตาม

เมห์เมดอนุญาต ออบานจึงหล่อปืนใหญ่ขนาดยักษ์ที่สามารถยิงกระสุนปืนใหญ่ขนาด 272 กิโลเมตร ได้ไกลเกือบสองกิโลเมตร เมื่อปืนเสร็จแล้ว เมห์เมดโปรดให้วัวจำนวนหกสิบตัวลากปืนนี้ไปกับกองทัพของเขาด้วย

เมห์เมดมาพร้อมกับปืนใหญ่ขนาดยักษ์

สำหรับกองทัพไบแซนไทน์ที่ป้องกันเมืองเป็นกองทัพผสม มีตั้งแต่ชาวไบแซนไทน์ ชาวอิตาเลียนจากหลายๆ เมือง หรือแม้กระทั่งชาวเติร์ก (เชื้อชาติเดียวกับฝ่ายออตโตมัน) ที่คอนสแตนตินที่ 11 ได้จ้างไว้ แต่ปืนใหญ่ๆ ต่างๆ ของฝ่ายไบแซนไทน์มีประสิทธิภาพด้อยกว่ามาก และมีขนาดเล็กกว่าปืนใหญ่ออตโตมันมากด้วย

กองทัพออตโตมันเริ่มเข้าโจมตีจากทั้งทางบกและทางเรือ ปืนใหญ่ขนาดใหญ่ของออตโตมันยิงกระหน่ำเข้าใส่เมือง แต่มันกลับสร้างความเสียหายไม่มากนัก เพราะความแม่นยำต่ำมาก และการยิงลูกหนึ่งต้องใช้เวลานาน พวกไบแซนไทน์จึงสามารถช่วยกันซ่อมแซมส่วนที่เกิดปัญหาได้เกือบทั้งหมด

เมห์เมดจึงสั่งให้กองทัพเข้าตีเมือง แต่กลับตีไม่แตก ทหารในเมืองที่มีน้อยกว่ามากกลับต้านทานได้อย่างแข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ ทหารออตโตมันได้รับความเสียหายอย่างหนักมาก

ส่วนในทางเรือนั้น ทั้งสองฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันรับ ถึงแม้กองทัพออตโตมันจะมีมากกว่า แต่ยังไม่สามารถตีบริเวณกำแพงทะเล (Sea Walls) ของเมืองได้ สถานการณ์จึงชะงักงันระหว่างทั้งสองฝ่าย

กองเรือออตโตมันขนย้ายทหารมายังคอนสแตนติโนเปิล

เมห์เมดพยายามทำให้ทหารในเมืองเสียกำลังใจด้วยการจับเชลยศึกมาทรมาน แต่พวกในเมืองก็จับเชลยออตโตมันมาทำอย่างเดียวกัน ทำให้การต่อสู้ดุเดือดมากขึ้น

เมื่อเห็นว่าทุกวิธีไม่ได้ผล เมห์เมดจึงให้ทหารช่างขุดอุโมงค์เข้าไปใกล้เมืองเพื่อที่จะใช้ดินปืนวางระเบิดกำแพงเมืองให้ทรุดลงมา แต่นายช่างชาวเยอรมันที่อยู่ในเมืองคิดวิธีแก้ไขได้ เขาให้ทหารในเมืองขุดอุโมงค์เหมือนกัน แล้วส่งกำลังเข้าไปไล่สังหารพวกออตโตมันที่ขุดอุโมงค์อยู่ด้วยการฉีดไฟ (Greek Fire) เข้าใส่ ความพยายามของเมห์เมดจึงล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง

เกือบสองเดือนผ่านไป กองทัพออตโตมันเข้าตีคอนสแตนติโนเปิลด้วยวิธีที่ต่างๆ กัน แต่ทำอย่างไรก็ยังตีเมืองไม่แตก เมห์เมดจึงส่งทูตไปเจรจา เขาสัญญาว่าจะให้จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 และชาวเมืองทุกคนออกไปจากเมืองได้พร้อมกับทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ เมห์เมดยินดีที่จะยอมรับว่าคอนสแตนตินที่ 11 เป็นผู้ครองดินแดนในกรีซ และยินดีที่จะปกป้องพลเมืองทุกคนที่ยืนกรานจะอาศัยอยู่ในเมืองต่อไปด้วย

คอนสแตนตินที่ 11

คอนสแตนตินตอบว่า เขายินดีที่จะจ่ายบรรณาการให้กับออตโตมันมากขึ้น และยอมรับว่าดินแดนที่ออตโตมันยึดได้เป็นของออตโตมัน แต่เรื่องที่จะทิ้งเมืองให้นั้นคงเป็นไปไม่ได้ คอนสแตนตินที่ 11 ตอบในจดหมายไปว่า

การมอบเมืองให้กับท่านไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราหรือชาวเมืองคนใดคนหนึ่ง พวกเราตัดสินใจด้วยความต้องการของเราเองที่จะตายโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพวกเรา

เมห์เมดไม่มีทางเลือก เขาสั่งให้เตรียมการเข้าตีเมืองครั้งใหญ่ เพราะว่าเขาคาดว่าในเมืองน่าจะอ่อนแอลง หลังจากต่อสู้อย่างหนักมานานกว่าสองเดือน

วันสุดท้าย

วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1453 ทั้งสองฝ่ายได้มีการทำพิธีกรรมทางศาสนาขนาดใหญ่ ฝ่ายออตโตมันมีการสวดมนต์ให้กับทหารทุกนาย พวกเขาได้รับคำสั่งให้นอนพักผ่อนสำหรับการโจมตีในคืนวันนั้น

สำหรับในเมือง ในวันเดียวกันพิธีกรรมทางศาสนาถูกจัดขึ้นที่มหาวิหารฮาเกีย โซเฟีย อย่างยิ่งใหญ่ พิธีกรรมครั้งนั้นจะเป็นพิธีกรรมครั้งสุดท้ายของคริสตจักรที่จัดขึ้นในมหาวิหารแห่งนี้

ในเวลาหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย กองทัพออตโตมันทั้งหมดก็เข้าโจมตี กองทหารคริสเตียนที่สังกัดกองทัพออตโตมันเข้าโจมตีก่อนตามมาด้วยกองทัพที่เหลือทั้งหมด

การโจมตีพุ่งเป้าไปที่กำแพงยุคศตวรรษที่ 11 ที่เก่าและเสียหายจากการยิงของปืนใหญ่ กองทัพออตโตมันเข้าเมืองได้สำเร็จ แต่ก็ถูกผลักดันออกมาโดยทหารที่ป้องกันเมืองอยู่

เสียงดาบ เสียงปืนใหญ่ดังก้องไปทั่วเมือง ทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่พวกทหารที่ป้องกันเมืองก็สู้ตายไม่ให้ทหารออตโตมันเข้ามาได้สักคนเดียว

เมื่อการต่อสู้เข้าถึงจุดไคลแมกซ์ เมห์เมดได้สั่งให้นักรบ Janissaries เข้าโจมตีกำแพงเมือง พวกทหารที่อยู่ในเมืองพยายามหยุดยั้งกองทัพ Janissaries เอาไว้แต่ก็ทำได้ขณะหนึ่งเท่านั้น จำนวนที่มากกว่ามหาศาลเริ่มผลักดันทหารในเมืองทีละน้อย ทำให้ทหารในเมืองเริ่มเสียขวัญ ทหารตะวันตกบางส่วนเริ่มหนีไปที่เรือ ส่วนทหารไบแซนไทน์บางคนละทิ้งหน้าที่เพื่อพาครอบครัวของตนเองหนี แต่ทหารรับจ้างชาวเติร์กฝั่งไบแซนไทน์กลับต่อสู้กล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาพลีชีพลงกลางสมรภูมิแทบทุกคน

สุลต่านเมห์เมดเข้ากรุงคอนสแตนติโนเปิล

แนวต้านทานเมืองจึงแตกไปในที่สุด กองทัพออตโตมันเข้าเมืองได้สำเร็จ แต่การต่อสู้ในเมืองยังมีอยู่ คอนสแตนตินที่ 11 โยนเครื่องทรงแบบกษัตริย์ทิ้ง และเข้าต่อสู้กับทหารออตโตมันราวกับว่าเป็นทหารคนหนึ่ง เขาพลีชีพลงกลางสมรภูมิอย่างกล้าหาญ

ชาวยุโรปที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ร่างของทหารออตโตมันและทหารคริสเตียนที่ป้องกันเมืองเกลื่อนกลาดไปทั่วเมือง แม่น้ำและคลองในเมืองกลายเป็นสีเลือดทั้งหมด

หลังจากนั้นทุกส่วนของเมืองจึงอยู่ในการยึดครองของออตโตมันโดยสมบูรณ์ ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1453 อาณาจักรไบแซนไทน์ที่มีอายุนานกว่าหนึ่งพันปีได้จบสิ้นลงแล้ว

ผลที่ตามมา

เมห์เมดได้มีคำสั่งให้ทหารเข้าปกป้องไม่ให้สถานที่สำคัญถูกทำลาย หลังจากนั้นจึงอนุญาตให้กองทัพทั้งหมดปล้นเมืองได้เป็นเวลาสามวัน แต่ในภายหลังเมห์เมดกลับต้องรู้สึกผิดที่ให้ทหารปล้นเมือง เพราะสิ่งก่อสร้างในเมืองเสียหายจำนวนมาก ประชาชนถูกสังหารหรือข่มขืน ชาวเมืองหลายหมื่นคนถูกจับเป็นทาส

หลังจากนั้นเมห์เมดได้ย้ายเมืองหลวงของออตโตมันมาตั้งที่นี่ และเปลี่ยนมหาวิหารฮาเกีย โซเฟียให้เป็นมัสยิด เมห์เมดอนุญาตให้คริสตจักรกรีกออโธดอกซ์ดำรงอยู่ต่อไปได้ตามปกติ

ข่าวกรุงคอนสแตนติโนเปิลแตกได้สร้างความตกใจกับโลกคริสตจักร ถึงกับมีการปรึกษากันว่าจะจัดกองทัพไปตีคอนสแตนติโนเปิลกลับคืน แต่แผนการนี้ก็ไม่เคยเป็นจริง เพราะไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดต้องการจะนำกองทัพดังกล่าว

ผลสุดท้าย กลับกลายเป็นฝ่ายออตโตมันที่ทวีความเข้มแข็งขึ้นหลังได้กรุงคอนสแตนติโนเปิล ในช่วงร้อยกว่าปีต่อมา อาณาจักรออตโตมันจะรุกรานยุโรปจนถึงกรุงเวียนนา ก่อนจะถูกหยุดยั้งได้ในที่สุด

นักปราชญ์จำนวนมากได้หนีจากอาณาจักรไบแซนไทน์และกรุงคอนสแตนติโนเปิล พวกเขาได้นำความรู้ แนวคิด วิทยาการและค่านิยมกรีกโรมันกลับไปยังยุโรปตะวันตก แนวคิดเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเริ่มต้นการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือที่เรียกกันว่ายุค Rennaissance การมาของยุคนี้ได้ทำให้ยุคกลางสิ้นสุดลงในที่สุด

อิสตันบูล (คอนสแตนติโนเปิลเดิม) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรออตโตมัน จนกระทั่งอตาเติร์กล้มเลิกราชวงศ์ และสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีขึ้นมาแทนที่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!