ประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหลียงแห่งภาคใต้ (3) : จุดจบของโหวจิ่ง

ราชวงศ์เหลียงแห่งภาคใต้ (3) : จุดจบของโหวจิ่ง

การปล่อยให้โหวจิ่งเข้ามากุมอำนาจในราชสำนักนั้นถือว่าเป็นความผิดอันร้ายแรงที่ทำลายเสถียรภาพของราชวงศ์อย่างไม่มีวันกลับคืนมาได้อีก นอกจากนี้การสวรรคตของเหลียงหวู่ตี้ก็เหมือนกับเป็นผีซ้ำด้ำพลอยที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปยิ่งกว่าเดิม

โหวจิ่งนั้นได้สถาปนาให้เซียวกัง ผู้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทเป็นฮ่องเต้ หลายคนอาจจะถามว่าเซียวเจิ้งเต๋อที่โหวจิ่งเคยสัญญาว่าจะให้เป็นฮ่องเต้หายไปไหน คำตอบโดนโหวจิ่งเก็บไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้เซียวเจิ้งเต๋อเคยล็อบบี้โหวจิ่งอย่างหนักเพื่อให้สังหารทั้งเหลียงหวู่ตี้และเซียวกัง แต่โหวจิ่งกลับปฏิเสธเสีย

หลังจากนั้นไม่นานเซียวเจิ้งเต๋อก็สำนึกได้และไปร่ำไห้ต่อหน้าเหลียงหวู่ตี้ และพยายามส่งจดหมายเรียกให้เชื้อพระวงศ์อื่นๆ ยกทัพมาช่วยเมืองหลวง แต่โหวจิ่งกลับจับได้ เซียวเจิ้งเต๋อจึงถูกโหวจิ่งสังหาร เป็นกงกรรมกงเกวียนที่ทรยศญาติพี่น้องของตนเองไปโดยปริยาย

เซียวกังจอมกวี

เซียวกังผู้นี้มีชื่อเสียงเรื่องโคลงกลอนหาตัวจับยาก และเป็นรัชทายาทผู้สนับสนุนด้านวรรณกรรมจีนยุคนั้นให้เฟื่องฟู ส่วนในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินนั้นก็ถือว่าใช้ได้ แม้ว่าจะไม่โดดเด่นมากนัก เขาเป็นกำลังสำคัญของเหลียงหวู่ตี้ในช่วงท้ายๆ รัชกาลที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุเกินกว่า 80 ชันษาแล้วในเวลานั้น

ตอนที่เซียวกังขึ้นนั่งบัลลังก์นั้น เมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้วนแต่ยอมรับพระองค์เป็นฮ่องเต้ แต่ไม่มีใครให้ค่าพระบรมราชโองการของพระองค์เท่าไรนัก เพราะรู้ดีว่าพระองค์ทรงถูกโหวจิ่งบังคับ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรกับความเป็นจริงที่เซียวกังนั้นทรงไม่มีอำนาจใดๆ หลงเหลืออยู่ในพระหัตถ์อยู่เลย

เซียวกังทรงรู้ดีว่าสถานะของพระองค์ไม่มั่นคง พระองค์จึงพยายามยืดอายุให้กับพระองค์เองด้วยการยกพระธิดาให้เสกสมรสกับโหวจิ่ง เพื่อที่หวังว่าเมื่อเป็นพระญาติแล้ว โหวจิ่งจะไม่คิดร้ายกับพระองค์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นโหวจิ่งเองก็ไม่ค่อยใส่ใจเซียวกังมากนัก เพราะเชื่อว่าตนเอง “เอาอยู่” แล้ว เขาจึงพุ่งความสนใจไปที่การปราบปรามราชนิกูลเหลียงคนอื่นๆ ที่ยังไม่อ่อนน้อมกับตน

หนึ่งในราชนิกูลที่มีฐานอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดตอนนั้นคือเซียวอี้ ซึ่งโหวจิ่งถือว่าเป็นศัตรูคนสำคัญ ดังนั้นจึงยกกองทัพใหญ่จากเจี้ยนคังยกไปตีด้วยตนเอง ระหว่างที่โหวจิ่งไม่อยู่นั้น พวกราชนิกูลเหลียงพยายามจะก่อรัฐประหารแย่งอำนาจในเมืองกลับคืน แต่แม่ทัพของโหวจิ่งกลับจับได้เสียก่อน ทำให้นับตั้งแต่บัดนั้น โหวจิ่งระแวงเซียวกัง เพราะคิดว่าเซียวกังให้การหนุนหลังฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจตน

โหวจิ่งนั้นยกกองทัพไปต่อสู้กับเซียวอี้ แต่กลับตีเมืองปาหลิ่งไม่ได้ ทำให้กองทัพของเขาเริ่มขาดเสบียง เซียวอี้จึงฉวยโอกาสนี้ยกทัพเข้าตี ทำให้กองทัพของโหวจิ่งแตกกระจัดกระจาย ตัวโหวจิ่งนั้นเหมือนกับเสือลำบาก เขาหนีตายไปยังเมืองเจี้ยนคัง และตระหนักว่าเวลาของเขาอีกไม่นานแล้ว ดังนั้นถ้าจะจบชีวิตลง เขาปรารถนาจะจบลงในตำแหน่งฮ่องเต้!

เพราะฉะนั้นโหวจิ่งที่ได้รับยศศักดิ์เป็นฮั่นหวางแล้วในขณะนั้นจึงถอดเซียวกังลงเป็นจิ้นอันหวาง ต่อมาก็สังหารเชื้อพระวงศ์เหลียงที่อยู่ในกำมือตนทั้งหมด ยกเว้นเซียวตงที่ตนเองเอามาตั้งไว้เป็นฮ่องเต้หุ่นไปพลางก่อน

หลังจากที่ถูกถอดแล้ว เซียงกังที่ถูกคุมขังไว้ในวังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแต่งกลอน ว่ากันว่าพระองค์ทรงแต่งกลอนที่ไพเราะเพราะพริ้งที่เกิดจากความโศกเศร้าและหวาดผวา และเขียนมันลงไปบนกำแพงวัง เพราะว่าโหวจิ่งไม่ให้กระดาษสักแผ่นเดียวในมือของพระองค์

สองเดือนหลังจากนั้น โหวจิ่งได้ส่งมือสังหารสามคนไปยังวังของเซียวกัง ซึ่งเซียวกังก็รู้ดีว่าทั้งสามมาทำไม เซียวกังกลับสั่งให้ตั้งโต๊ะและเลี้ยงมือสังหารทั้งสามอย่างดี และตัวพระองค์เองก็ได้เสพสุราจนเมามายจนไม่รู้สึกองค์ มือสังหารทั้งสามของโหวจิ่งจึงใช้โอกาสนั้นปลงพระชนม์เสีย เป็นอันจบชีวิตของฮ่องเต้ผู้เป็นนักประพันธ์ผู้เก่งกาจคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์จีน พระศพของเซียวกังนั้นถูกใส่ไว้ในโลงศพชั่วคราวและทิ้งไว้ในวังของพระองค์จนกระทั่งโหวจิ่งหมดอำนาจแล้วถึงได้รับการจัดงานพระศพอย่างถูกต้องตามประเพณี

จุดจบของโหวจิ่ง

หลังจากนั้นไม่นานโหวจิ่งก็บังคับให้เซียงตงมอบเครื่องราชเก้าสิ่งให้กับตน ต่อมาก็ให้ถอดเซียงตงและตั้งตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ แต่โหวจิ่งก็ฮ่องเต้ที่ไม่มีผู้ใดยอมรับ ฝ่ายเซียวอี้จึงให้แม่ทัพของตนยาตราไปตีเจี้ยนคังเพื่อกำจัดโหวจิ่งให้ราบคาบ ฝ่ายโหวจิ่งพยายามส่งกองทัพออกมาต่อสู้ แต่ไม่เป็นผล เพราะล้วนแต่พ่ายแพ้ต่อกองทัพของเซียวอี้

โหวจิ่งจึงเห็นว่าเหลือกำลังที่จะป้องกันเมืองอีกต่อไปได้ ทำให้เขาเลือกที่จะหนีตายเอาตัวรอด ด้วยการหนีกลับไปภาคเหนือ แต่เหล่าผู้ติดตามนั้นไม่มีใครเอาด้วยอีกแล้ว โหวจิ่งถูกผู้ติดตามของเขาสังหารในที่สุด ซึ่งก็เป็นกรรมตามสนองเช่นกัน เพราะในชีวิตของโหวจิ่งนั้นเขาทรยศผู้คนมากมาย (ทรยศทั้งสามอาณาจักร เว่ยตะวันออก เว่ยตะวันตก และเหลียง) สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตของตนด้วยการถูกทรยศ

ศพของโหวจิ่งนั้นถูกส่งตัวไปยังเจี้ยนคัง และถูกตัดหัวเสียบประจานไว้ที่กลางเมืองโดยกองทัพของเซียวอี้ อย่างไรก็ดีการตายของโหวจิ่งไม่ได้ทำให้สงครามกลางเมืองในอาณาจักรเหลียงสิ้นสุดลง เพราะเหล่าราชนิกูลเหลียงนั้นล้วนแต่มีกำลังทหารเป็นของตนเอง และยังไม่ยอมรับอีกฝ่ายขึ้นเป็นฮ่องเต้

ถึงกระนั้นเซียวอี้ได้สถาปนาขึ้นเป็นฮ่องเต้ในปี ค.ศ.552 และพยายามจะปราบปรามราชนิกูลองค์อื่นๆ ด้วยกำลังทหาร หนึ่งในกลยุทธ์ที่เซียวอี้ต้องการจะใช้ก็คือขอกองทัพเว่ยตะวันตกเข้าตีเฉิงตู ที่มั่นของเซียวจี้ บุตรชายคนสุดท้องของเหลียงหวู่ตี้ที่ครอบครองดินแดนเสฉวนอยู่

นี่จะเป็นอีกหนึ่งความอัปยศทางด้านยุทธศาสตร์ของราชวงศ์เหลียง ซึ่งนอกจากจะทำให้ราชวงศ์สูญสิ้นแล้ว ฐานที่มั่นสำคัญทางภาคใต้จะเสียไปอย่างถาวร และเป็นส่วนสำคัญให้ราชวงศ์ในภายหลัง (เป่ยโจวและสุย) พิชิตอาณาจักรที่เหลือได้ในที่สุด เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!