ประวัติศาสตร์"ชิวจิ่น" วีรสตรีผู้เสียสละและกล้าหาญแห่งแผ่นดินจีน

“ชิวจิ่น” วีรสตรีผู้เสียสละและกล้าหาญแห่งแผ่นดินจีน

ชิวจิ่น (秋瑾) เป็นวีรสตรีที่ได้รับการยกย่องทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน เธอเป็นวีรสตรีผู้กล้าหาญและเสียสละได้แม้แต่ชีวิตของเธอเองเพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ เรื่องราวของเธอถูกนำมาทำเป็นซีรีส์และภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง

เรามาดูกันดีกว่า ชีวิตของชิวจิ่นเป็นอย่างไร

ชิวจิ่น

ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น

ชิวจิ่นเกิดในมณฑลฝูเจี้ยนในปี ค.ศ.1875 แต่เธอเติบโตขึ้นที่หมู่บ้านซานยิน ในมณฑลเจ้อเจียง

ทั้งนี้เราไม่ทราบชีวิตในวัยเด็กของเธอมากนัก เมื่อชิวจิ่นโตขึ้น เธอถูกคลุมถุงชนให้แต่งงานกับสามีและใช้ชีวิตอยู่กับเขาตามธรรมเนียมจีนทั่วไป ชีวิตคู่ของเธอไม่ราบรื่นเท่าไรนัก แม้ว่าเธอจะมีลูกกับเขาสองคนก็ตาม

ต่อมาชิวจิ่นมีโอกาสเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง (เป่ยจิง) เมืองหลวงของประเทศที่เพิ่งจะย่อยยับเพราะกองทัพพันธมิตรแปดชาติและกบฏนักมวย เธอรู้สึกขุ่นเคืองที่เห็นประเทศอ่อนแอ ชิวจิ่นรู้สึกเกลียดชังรัฐบาลชิงที่บริหารประเทศได้อย่างย่ำแย่ และปล่อยให้ชาติอื่นๆ รังแกชาวจีน เธอจึงเริ่มสนใจการเมืองนับตั้งแต่บัดนั้น และสนใจในแนวคิดตะวันตกเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

ช่วงที่อยู่กรุงปักกิ่ง ชิวจิ่นได้สวมใส่เครื่องแต่งกายของชาวชาวตะวันตก และไปเข้าร่วมสมาคมพูดคุยของผู้หญิง มีอยู่วันหนึ่งเธอได้พบกับ ชิเกโกะ หญิงสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เดินทางมาปักกิ่งกับสามี ชิเกโกะบรรยายความรู้สึกในวันนั้นว่า เธอไม่รู้ผู้ที่อยู่ตรงหน้าเธอเป็นชายหรือหญิงกันแน่ เธอเลยเข้าไปถามชิวจิ่นตรงๆ

ชิวจิ่นตอบว่า

เจตนาของฉันคือแต่งกายให้เป็นชาย! อย่างที่สามีของคุณทราบดี ในประเทศจีน ผู้ชายแข็งแกร่ง ส่วนผู้หญิงถูกกดขี่เพราะพวกเธอถูกหมายมั่นว่าจะต้องอ่อนแอ ฉันปรารถนาที่จะมีจิตใจที่แข็งแกร่งเหมือนผู้ชาย ถ้าฉันเริ่มต้นด้วยการทำตัวเป็นผู้ชาย ฉันคิดว่าจิตใจของฉันจะต้องเป็นเหมือนผู้ชายในท้ายที่สุด ผมของฉันถูกตัดในแบบของชาวต่างชาติ แบบที่คนจีนไม่ควรจะทำ และฉันกำลังสวมใส่เครื่องแต่งกายแบบตะวันตก

หลังจากนั้นทั้งสองเริ่มสนิทสนมกัน ชิวจิ่นเดินทางไปเยี่ยมเยียนชิเกโกะอยู่หลายครั้ง นานวันเข้าเรื่องที่ทั้งสองพูดคุยกันก็เริ่ม “รุนแรง” มากขึ้นทุกที

ชิวจิ่นเคยถามเธอว่าชิเกโกะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายปฏิวัติ ชิเกโกะตอบแบบเลี่ยงๆ ว่าเธอเชื่อในคำสอนของขงจื้อ ทำให้ชิวจิ่นไม่พอใจเท่าไรนัก เธอกล่าวว่า

เธอเชื่อในคำสอนของขงจื้องั้นหรือ! นั่นหมายความว่าเธอเชื่อว่า ผู้หญิงไม่สามารถเรียนรู้ได้งั้นสิ!

แม้ความคิดของชิวจิ่นกับชิเกโกะจะแตกต่างกันหลายอย่าง แต่ทั้งสองก็เป็นเพื่อนสนิทกัน ชิวจิ่นเคยต้องการจะเดินทางไปอเมริกาเพื่อศึกษาต่อ แต่ชิเกโกะเสนอให้เธอไปเรียนในญี่ปุ่นแทน

ในปี ค.ศ.1903 มีการปราบปรามนักหนังสือพิมพ์ปฏิวัติในประเทศจีน ชิวจิ่นที่ได้เข้าร่วมกลุ่มลับของพวกนักปฏิวัติไปแล้วจึงต้องรีบเดินทางไปญี่ปุ่นตามคำแนะนำของชิเกโกะ โดยทิ้งให้ลูกๆของเธออยู่กับสามี

ที่ญี่ปุ่นเธอได้เข้าเรียนที่โรงเรียนหญิงล้วนของชิโมดะ อูทาโกะ

เข้าร่วมถงเหมิงฮุ่ย

ระหว่างที่เธอเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น ชิวจิ่นพบว่ามีองค์กรของพวกนักปฏิวัติจีนหลายกลุ่ม เธอจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมองค์กรเหล่านี้ด้วย ในปี ค.ศ.1905 องค์กรนักปฏิวัติทุกกลุ่มรวมเป็นหนึ่งในนาม “ถงเหมิงฮุ่ย” โดยมีซุนจงซาน (ซุนยัดเซ็น) เป็นผู้นำ ชิวจิ่นเองก็สังกัดกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน

เจตนารมณ์ของถงเหมิงฮุ่ยเห็นได้จากคำขวัญของกลุ่มดังกล่าวที่ว่า

ขับไล่พวกอนารยชน ฟื้นคืนประเทศจีน สถาปนาสาธารณรัฐ แจกจ่ายสิทธิครองที่ดิน

หมายเหตุ: ราชวงศ์ชิงที่ปกครองประเทศจีนอยู่ในเวลานั้นเป็นราชวงศ์ของชาวแมนจู อนารยชนที่เคยพิชิตดินแดนจีนเมื่อเกือบสามร้อยปีก่อน ด้วยเหตุนี้ในสายตาของถงเหมิงฮุ่ย ราชวงศ์นี้จึงเป็นพวกอนารยชนที่ต้องถูกขับไล่ออกไป

เหล่านักปฏิวัติแต่ละคนได้รับภารกิจที่แตกต่างกันออกไป ภารกิจของชิวจิ่นคือควบคุมและเผยแพร่แนวคิดการปฏิวัติในมณฑลเจ้อเจียง หรือบ้านของเธอนั่นเอง

ฝ่ายรัฐบาลชิงได้ทราบข่าวว่าพวกนักปฏิวัติรวมตัวเป็นสมาคมใหญ่โตก็หวาดกลัว รัฐบาลชิงจึงขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นปราบปรามพวกนักปฏิวัติทันที รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิบัติตามคำขอด้วยการจำกัดกิจกรรมและไล่พวกนักปฏิวัติออกจากสถานศึกษา

ในเวลานั้นพวกนักปฏิวัติจีนในญี่ปุ่นมีแนวคิดแตกแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกต้องการกลับจีนทันทีเพื่อดำเนินงานปฏิวัติ ส่วนอีกกลุ่มต้องการอยู่ในญี่ปุ่นไปก่อน เพื่อรอเวลาและโอกาส

สำหรับชิวจิ่นแล้ว เธอต้องการกลับจีนโดยเร็วที่สุด ในที่ประชุมนักศึกษาเจ้อเจียงที่สังกัดถงเหมิงฮุ่ย ชิวจิ่นปามีดที่เธอพกติดตัวตลอดเวลาไปที่เสา และประกาศว่า

ถ้าฉันกลับไปแผ่นดินแม่ และยอมจำนนต่อพวกคนเถื่อนชาวแมนจู และโกหกชาวฮั่นเรา โปรดแทงฉันด้วยมีดเล่มนี้!

ในปี ค.ศ.1906 ชิวจิ่นและนักศึกษาจีนอีกสองพันคนจึงเดินทางกลับจีนเพื่อดำเนินการปฏิวัติ

กลับสู่จีน

ตลอดเวลาที่เธออยู่ในญี่ปุ่น ชิวจิ่นเป็นกำลังสำคัญในการออกเอกสารโปรโมตการปฏิวัติ เธอชี้ให้คนอื่นๆ เห็นว่าภาษาที่พวกนักปฏิวัติใช้ยากเกินไปมาก ขนาดที่ปัญญาชนจีนหลายคนยังไม่เข้าใจ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่าชาวบ้านจีนนับร้อยล้านคนที่ไม่รู้หนังสือย่อมไม่เข้าใจอย่างแน่นอน เธอจึงสนับสนุนให้เอกสารทุกชิ้นใช้ภาษาที่ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หลังจากที่เธอกลับไปจีน เธอเริ่มเขียนบทความของเธอเพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงจีนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองเธอเขียนในบทความของเธอว่าผู้หญิงจีน 200 ล้านคนเป็นผู้ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่สมควรที่สุดบนโลกนี้

ชิวจิ่นยกตัวอย่างว่าตัวเธอเองถูกรัดเท้าและบังคับให้แต่งงานตามความต้องการของบิดามารดา แถมยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรได้รับอีก เธอจึงเรียกร้องให้หญิงจีนลุกขึ้นมาและเป็นตัวของตัวเอง ปลดแอกจาก “กรงขัง” ที่ผู้ปกครองและสามีคุมขังพวกเธอไว้เสียที

สำหรับเรื่องการปฏิวัตินั้น ชิวจิ่นตระหนักว่ามันต้องเริ่มต้นจากระดับเล็กที่สุดอย่างในครอบครัวก่อน แล้วถึงจะเพิ่มขึ้นไประดับสูงขึ้นต่อไป อย่างการล้มล้างราชวงศ์ชิง

ภาษาของชิวจิ่นเรียบง่าย ทรงพลังและชัดเจน ทำให้งานของเธอเป็นที่แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ผลงานของเธอเป็นงานเขียนแรกๆ ที่จุดประกายเรื่องสิทธิสตรีในประเทศจีนเลยทีเดียว

วาระสุดท้ายของชิวจิ่น

ทั้งหญิงและชายที่เคยเห็นชิวจิ่นหลายคนเล่าว่าชิวจิ่นมีอะไรบางอย่างที่แสดงถึงความเป็นวีรสตรีอยู่ในตัวของเธอ สาเหตุหนึ่งคงเพราะชิวจิ่นสนใจในศิลปะการต่อสู้มาก เธอได้ใช้โรงเรียนของเธอบังหน้าในการฟูมฟักกองกำลังปฏิวัติ และเตรียมการที่จะลุกฮือร่วมกับสมาคมนักปฏิวัติอื่นๆ ในไม่ช้า

ชิวจิ่นทราบดีว่าเส้นทางที่เธอเลือกเดินเป็นเส้นทางที่อันตราย เธอได้ศึกษาชีวิตของหญิงสาวต่างชาติที่เลือกเส้นทางนี้เป็นอย่างดี เธอรู้ดีว่าโซเฟีย เพรอฟสกายา นักปฏิวัติหญิงชาวรัสเซียที่ร่วมปลงพระชนม์ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 มีจุดจบลงอย่างไร แต่ชิวจิ่นหาได้สนใจไม่ เธอพร้อมแล้วที่จะเผชิญหน้ากับความตาย และเป็น “โซเฟีย” คนต่อไป

สุดท้ายแล้วความตายก็เดินทางมาถึงเธอ

ในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ.1907 เพื่อนนักปฏิวัติชายของเธอนามว่า ซีว์ซีหลินถูกจับกุมโดยรัฐบาลชิง เขาถูกทรมานโดยฝ่ายรัฐบาล และยอมปริปากบอกความลับออกมาทั้งหมด ทำให้รัฐบาลรู้ว่าชิวจิ่นและพวกนักปฏิวัติกำลังจะลุกฮือในไม่ช้า ทหารและตำรวจของรัฐบาลชิงจึงแห่มายังโรงเรียนของชิวจิ่นทันที

ชิวจิ่นปฏิเสธที่จะหลบหนี เธอพร้อมที่จะตายไปกับอุดมการณ์ของเธอ ด้วยเหตุนี้เธอจึงถูกจับกุมตัวได้โดยรัฐบาล

รัฐบาลชิงพยายามทรมานชิวจิ่นเพื่อรีดความลับ แม้ว่าชิวจิ่นจะถูกทรมานสักเพียงใด เธอปฏิเสธที่จะบอกความลับและขายเพื่อนนักปฏิวัติคนอื่น เธอจึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ก่อนที่ชิวจิ่นจะตาย เธอได้กล่าวว่า

ฝนและลมแห่งฤดูใบไม้ร่วง ได้ทำให้คนๆหนึ่งจากไปด้วยความเศร้า

คำกล่าวของเธอหมายถึงว่า เธอเศร้าใจที่ไม่ได้เห็นการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในประเทศจีน

ชิวจิ่นจากไปในวันที่ 15 กรกฏาคม ค.ศ.1907 เธอมีอายุได้ 31 ปีเศษ

อนุสาวรีย์ชิวจิ่น By 刻意, CC BY-SA 3.0,

หลังจากนั้น

สี่ปีเศษหลังจากการจากไปของชิวจิ่น เหล่านักปฏิวัติสังกัดถงเหมิงฮุ่ยลุกฮือที่หวู่ชาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติซินไฮ่ที่ล้มล้างราชวงศ์ชิงสำเร็จ การปฏิวัติที่เธอเฝ้ารอมาโดยตลอดจึงเป็นจริงเสียที

การจากไปด้วยความกล้าหาญของชิวจิ่น ทำให้รัฐบาลสาธารณรัฐจีนยกย่องว่าเธอเป็นวีรสตรี ผู้เสียสละทุกสิ่งเพื่อประเทศชาติ ร่างของเธอถูกนำไปฝังริมทะเลสาบซีหูในเมืองหางโจวอย่างสมเกียรติ

เมื่อรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจ บ้านของชิวจิ่นได้ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ และให้มีการเผยแพร่ผลงานของเธอ ทำให้ชื่อเสียงของเธอดังขจรขจายไปไกลถึงประเทศตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ชิวจิ่นจากไปตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้งานเขียนของชิวจิ่นมีไม่มากนัก แต่ผลงานของชิวจิ่นทั้งโคลงกลอนและเรียงความต่างได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยม ชิวจิ่นได้ใช้ตำนานจีนโบราณมาผสมผสานกับแนวคิดปฏิวัติทำให้เกิดผลงานอันทรงคุณค่าขึ้น มันได้แสดงถึงความสามารถทางด้านวรรณกรรมอันสุดยอดของเธอ

ชีวิตของชิวจิ่นถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง การประหารชีวิตของเธอถูกนำมาเป็นฉากแรกของภาพยนตร์เรื่อง “1911” ที่เฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติซินไฮ่ที่นำแสดงโดยแจ็กกี้ ชาน (เฉินหลง)

Sources:

Kazuko, Chinese women in a century of revolution, 1850-1950

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!