ประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหลียงแห่งภาคใต้ (1): รุ่งโรจน์ ทรงและทรุดในรัชกาลเดียว

ราชวงศ์เหลียงแห่งภาคใต้ (1): รุ่งโรจน์ ทรงและทรุดในรัชกาลเดียว

ราชวงศ์เหลียง (Liang Dynasty) หรือหนานเหลียง (Southern Liang) เป็นราชวงศ์ที่ปกครองภาคใต้ของจีนช่วงยุคราชวงศ์เหนือใต้ โดยราชวงศ์เหลียงมีอำนาจตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.502-557

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าราชวงศ์นี้แปลกกว่าราชวงศ์อื่น ราชวงศ์ทั่วไปของจีนนั้นมักจะเริ่มต้นด้วยผู้ก่อตั้งราชวงศ์ที่เฉลียวฉลาด มีสติปัญญา มีบารมี หรือไม่ก็ชำนาญการศึกและการเมืองอย่างหาตัวจับยาก และสืบทอดด้วยรัชทายาทที่มีสติปัญญาปานกลาง (แต่ถ้าเป็นราชวงศ๋ที่อยู่นานก็จะได้คนที่มีความสามารถมากกว่าบิดา) ราชวงศ์นี้ก็จะค่อยๆ ขึ้นถึงจุดสูงสุดก่อนที่จะแตกดับโดยผู้ปกครองที่เป็นทรราชหรือว่าหมดสิ้นอำนาจ (เพราะขันทีหรือขุนนาง) ในยุคหลัง

แต่ราชวงศ์เหลียงนั้นต่างจาก pattern นี้โดยสิ้นเชิง เพราะเหลียงเริ่มต้น รุ่งโรจน์ ไปจนถึงทรงและทรุดในรัชกาลเดียว นั่นคือรัชกาลของผู้ก่อตั้งอย่างเหลียงหวู่ตี้ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกสนใจในราชวงศ์เหลียงซึ่งผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไป

เรามาดูกันดีกว่าครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับราชวงศ์เหลียงบ้าง

ปูมหลังของราชวงศ์เหลียง

ก่อนที่เราจะไปเล่าถึงราชวงศ์เหลียงนั้น ผมต้องขอย้อนเล่าเหตุการณ์ที่หลายคนน่าจะเคยอ่านมาแล้วตอนที่ผมเขียนเรื่องหลิวซ่ง นั่นคือเซียวเต้าเฉิงได้ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ของราชวงศ์หนานฉี หลังจากนั้นก็สังหารเชื้อพระวงศ์ตระกูลหลิวของหลิวซ่งจนหมด

เซียวเหยี่ยน (หรือเหลียวหวู่ตี้ในอนาคต) เป็นบุตรชายของลูกพี่ลูกน้องของเซียวเต้าเฉิง ซึ่งว่ากันตามตรงเซียวเหยี่ยนก็เป็นหลานของเซียวเต้าเฉิง ทั้งนี้บิดาของเซียวเหยี่ยนเป็นคนสนิทของเซียวเต้าเฉิง และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยเซียวเต้าเฉิงช่วงชิงบัลลังก์ ดังนั้นเซียวเหยี่ยนจึงได้รับการศึกษาอย่างดีในตระกูลขุนนาง และมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด แถมยังมีหน้าตาหล่อเหลา พอเติบโตขึ้นเขาก็ได้เข้ารับราชการ และจัดว่าเป็นขุนนางอนาคตไกลคนหนึ่งของราชสำนักในรัชกาลของฉีหวู่ตี้ (โอรสของเซียวเต้าเฉิง)

หลังจากฉีหวู่ตี้สวรรคตในปี ค.ศ.493 ราชสำนักหนานฉีมีการแย่งชิงราชสมบัติกัน ทำให้รากฐานของราชวงศ์เริ่มพังทลาย ระหว่างนี้ที่เซียวเหยี่ยนได้สร้างบารมีของตนด้วยการเป็นแม่ทัพไปทำศึก และต้านทานการรุกรานของเป่ยเว่ยเอาไว้หลายครั้ง เขาจึงเป็นที่เคารพในหมู่ทหารมากขึ้นตามลำดับ

ในปี ค.ศ.498 เซียวหลวน หลานชายของเซียวเต้าเฉิงได้แย่งราชสมบัติได้สำเร็จและขึ้นครองราชย์ในนามฉีหมิงตี้ หลังจากนั้นก็ให้สังหารเชื้อพระวงศ์หนานฉีจำนวนมาก โดยเฉพาะโอรสของเซียวเต้าเฉิงและฉีหวู่ตี้ การสังหารนี้ทำให้เชื้อพระวงศ์ในราชสำนักน้อยลงมาก แถมหลังจากที่การสังหารจบสิ้นแล้ว ฉีหมิงตี้กลับประชวรสวรรคตลงด้วย ทำให้ราชวงศ์หนานฉีแทบจะไม่หลงเหลือผู้ใดครองราชย์อีก เว้นแต่เพียงเซียวเป่าจ้วน ผู้เป็นโอรสแต่เพียงผู้เดียว

รัชสมัยเซียวเป่าจ้วนเป็นช่วงที่โศกระทมไม่ต่างจากยุคของฉีหมิงตี้ เพราะเซียวเป่าจ้วนในวัยแค่ 15 ปีเป็นหนุ่มอารมณ์ร้อนที่ให้สังหารพวกขุนนางเป็นผักปลา เซียวเหยี่ยนนั้นเห็นว่าอีกไม่นานราชวงศ์หนานฉีคงต้องล่มจม เขาจึงให้สั่งสมกำลังไว้จำนวนมาก ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดขึ้นกบฏขึ้นทั่วทั้งแผ่นดินตามที่เขาคาดการณ์ไว้

เซียวเหยี่ยนเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านราชสำนัก และด้วยความที่เก่งกาจในการศึก เขาตีทหารหลวงแตกกระจายจนสุดท้ายยกทัพเข้าประชิดเมืองเจี้ยนคัง ทั้งนี้เหล่าขุนนางตลอดจนทหารองครักษ์ล้วนแต่ไม่มีใครรักเซียวเป่าจ้วน ดังนั้นจึงสังหารทิ้งเสียและเปิดประตูให้เซียวเหยี่ยนเข้าเมือง นับตั้งแต่บัดนั้นอำนาจในราชสำนักก็อยู่ในกำมือเซียวเหยี่ยน

เซียวเหยี่ยนได้ยกบัลลังก์ให้กับเซียวเป่าหรง เด็กหนุ่มที่ใช้เป็นหุ่นเชิดมาตั้งแต่ก่อการกบฏใหม่ๆ ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้นามว่าฉีเหอตี้ ทว่าหลังจากนั้นเซียวเหยี่ยนก็หาเหตุสังหารเชื้อพระวงศ์หนานฉีที่หลงเหลืออยู่ และบีบให้ฮ่องเต้มอบตำแหน่งที่สูงขึ้นให้กับตน จนสุดท้ายก็ขึ้นเป็นเหลียงหวางและรับเครื่องราชเก้าสิ่ง เรียกได้ว่าเขาทำทุกอย่างตาม step ของการชิงบัลลังก์

ในปี ค.ศ.500 เซียวเหยี่ยนก็ทำขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือบังคับให้ฮ่องเต้หนุ่มยกบัลลังก์ให้กับตน เซียวเหยี่ยนจึงครองบัลลังก์เป็นฮ่องเต้ในนามเหลียงหวู่ตี้ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหลียง ส่วนฮ่องเต้หนุ่มวัย 14 นั้นอยู่ได้อีกไม่นานก็ถูกปลงพระชนม์

รัชกาลของเหลียงหวู่ตี้

จริงอยู่ว่าเหลียงหวู่ตี้ขึ้นนั่งบัลลังก์แบบไม่ถูกต้องเท่าไรนัก แต่ต้นรัชกาลของพระองค์นั้น ราชวงศ์รุ่งเรืองในระดับหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงเอาใจใส่ในราชการแผ่นดินและไม่ฟุ่มเฟือย แถมยังเป็นฮ่องเต้ที่ยอมรับความคิดเห็นของขุนนางที่แตกต่างจากพระองค์ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดีเหลียงหวู่ตี้ทรงไม่เด็ดขาดเท่ากับฮ่องเต้ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ในหน้าประวัติศาสตร์จีน พระองค์ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการลงโทษเหล่าเชื้อพระวงศ์ แม้ว่าพวกเขาจะทำผิดมากเพียงใดก็ตาม ขณะที่กฎหมายเหลียงนั้นเข้มงวดและเอาผิดอย่างมากกับประชาชนทั่วไป มีอยู่วันหนึ่งเหลียงหวู่ตี้ทรงพบชาวนาเฒ่าที่ขอให้พระองค์ทรงแก้กฎหมาย พระองค์ก็รับว่าจะทำ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำเป็นต้น

ถึงกระนั้นแผ่นดินเหลียงก็สงบสุขมายี่สิบกว่าปีในรัชกาลของเหลียงหวู่ตี้ (สงบสุขภายในแต่ภายนอกไม่ เพราะว่ามีการทำศึกกับอาณาจักรทางตอนเหนืออยู่อย่างสม่ำเสมอ) พระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด และมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายและประหยัด นอกจากนี้ยังให้เกียรติเหล่าข้าราชบริพารอีกด้วย

ทว่าช่วงปลายรัชกาลนั้น ปัญหาก็เริ่มมากขึ้นด้วยความที่พระองค์ทรงไม่ลงโทษพวกเชื้อพระวงศ์ กลุ่มคนเหล่านี้จึงคอรัปชั่นฉ้อโกงกันยกใหญ่ พวกขุนนางเองก็ไม่ได้ต่างกัน แถมพระองค์ยังเริ่มใช้พระราชทรัพย์ในทางที่ผิด ตั้งแต่สร้างเจดีย์และวัดพุทธขนาดใหญ่เกินตัวมากมาย ประชาชนล้วนแต่ได้รับความยากลำบาก พอมีขุนนางมาทัดทาน เหลียงหวู่ตี้ก็มิได้สนพระทัยที่จะแก้ไข ลางร้ายอันดำทะมึนจึงค่อยๆ ปกคลุมราชวงศ์เหลียงอย่างช้าๆ

ในปี ค.ศ.549 เกาฮวนแห่งตระกูลเกาสิ้นชีวิต ทำให้โหวจิ่ง แม่ทัพใหญ่ที่ครอบครองสิบสามจังหวัดของเว่ยตะวันออกจึงตั้งตนเป็นกบฏ โดยโหวจิ่งขอยอมจำนนต่อราชสำนักเหลียง และขอกำลังสนับสนุน โดยตนเองจะมอบจังหวัดทั้งเก้าที่ตนครอบครองอยู่ให้กับฝ่ายเหลียง

เหลียงหวู๋ตี้ในเวลานั้นมีพระชันษา 80 ปีแล้ว (ถือว่าอายุยืนมากๆ ในเวลานั้น) พระองค์ทรงไม่มั่นพระทัยว่าจะรับข้อเสนอของโหวจิ่งหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การตัดสินพระทัยของพระองค์จะส่งผลกระทบต่อราชวงศ์อย่างไม่มีวันย้อนกลับได้

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!