Uncategorizedจางซื่อเฉิง พ่อค้าเกลือผู้เป็นหนึ่งในมหาศัตรูของจูหยวนจาง

จางซื่อเฉิง พ่อค้าเกลือผู้เป็นหนึ่งในมหาศัตรูของจูหยวนจาง

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 ราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลอยู่ในกลียุค เพราะแม่น้ำฮวงโห (หรือแม่น้ำเหลือง) ได้ไหลบ่าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของราษฎร นโยบายของราชสำนักมองโกลที่ไร้ประสิทธิภาพยิ่งทำให้ผู้คนจำนวนหลายแสนคนต้องจบชีวิตลงจากอุทกภัยไปจนถึงโรคระบาดและสภาวะขาดอาหาร จนลามไปเป็นการต่อต้านราชสำนักทั่วทุกหนทุกแห่ง

ช่วงเวลานั้นเองก็ได้มีชายผู้หนึ่งที่แม้ว่าจะไม่ได้เคยเป็นแม่ทัพนำผู้คนมาก่อน แต่กลับขันอาสารวบรวมผู้คนลุกฮือขึ้นต่อต้านการกดขี่ของชาวมองโกล เขาผู้นั้นคือจางซื่อเฉิง พ่อค้าเกลือแห่งมณฑลเจียงซู เขาผู้นี้เองที่จะก้าวมาเป็นหนึ่งในกลุ่มกบฏที่แข็งแกร่งที่สุดในช่วงปลายราชวงศ์หยวน และเป็นคู่ปรับสำคัญของจูหยวนจาง ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง

เราไปดูกันดีกว่าชีวิตของเขาเป็นอย่างไรกันแน่

พ่อค้าเกลือแห่งเจียงซู

ในสมัยโบราณนั้น เกลือนั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าและมีราคาสูง เหมืองเกลือต่างๆ จึงต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของราชสำนัก เพราะว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำเงินให้กับท้องพระคลัง อย่างไรก็ตามเกลือเถื่อนนั้นก็มีอยู่ทั่วไป อย่างเช่นถูกลักลอบออกมาบ้าง หรือว่ามาจากแหล่งที่ไม่ใช่เป็นของทางการ ฯลฯ

เดิมทีจางซื่อเฉิงนั้นก็เป็นคนขนส่งเกลือ แต่เริ่มเห็นลู่ทางการทำกำไร เพราะฉะนั้นเขาจึงเริ่มต้นเป็นพ่อค้าเกลือ โดยรับเกลือทั้งแบบที่ถูกกฎหมายและเกลือเถื่อนมาขายตามเมืองต่างๆ สร้างผลกำไรได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดีจางซื่อเฉิงนั้นเป็นคนใจกว้าง เพราะฉะนั้นเขาได้แบ่งผลกำไรที่ได้มาให้กับแรงงานเป็นอย่างดี ทำให้เป็นที่นับถือในหมู่แรงงานเหมืองเกลือทั่วไป หรือพูดง่ายๆ ก็เป็น “ตั่วเฮีย” ของพวกแรงงานนั่นเองครับ

ต่อมาในปี ค.ศ.1353 กบฏโพกผ้าแดงได้เกิดขึ้นทั่วทั้งราชสำนักหยวน จางซื่อเฉิงเองก็เช่นกัน เขาได้รวบรวมพวกคนงานเหมืองเกลือที่นับถือตนแล้วลุกฮือขึ้นต่อต้านราชสำนัก ภายในเวลาไม่นาน จางซื่อเฉิงก็ตีชิงจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเจียงซูไว้ได้ในกำมือหลายแห่ง เพราะกำลังทหารมองโกลนั้นไม่เพียงพอที่จะปราบกบฏชาวฮั่นที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่า

แผ่ขยายอำนาจ

ด้วยความที่มีภูมิหลังเป็นพ่อค้าเกลือ จางซื่อเฉิงนั้นทราบดีว่าจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการค้าขายอยู่ที่ใด ดังนั้นเขาจึงยกพลไปตีเมืองหยางโจว เมืองท่าสำคัญที่เป็นศูนย์กลางการค้าเกลือในภาคตะวันออกของจีน ซึ่งก็ตีได้โดยง่าย ต่อมาอีกสองปีก็เข้าตีเมืองซูโจว เมืองท่าสำคัญอีกแห่งหนึ่งเอาไว้ได้ในกำมือ ในตอนนั้นจางซื่อเฉิงเห็นว่าสถานะของตนมั่นคงแล้วจึงตั้งตนเป็นใหญ่ในนาม เฉิงหวาง

แคว้นของจางซื่อเฉิงนั้นเป็นแว่นแคว้นที่ร่ำรวยมาก เพราะเขาได้คุมศูนย์กลางการค้าขายไว้แทบทั้งหมด และยังเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของประเทศจีนอีกด้วย ว่ากันว่าดินแดนของจางซื่อเฉิงนั้นผลิตเกลือเกินครึ่งหนึ่งของทั้งดินแดนจีน ดังนั้นเขาจึงผูกขาดการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนี้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และสร้างความมั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ความร่ำรวยและมีเสถียรภาพนี้ทำให้มีขุนศึก ทหาร และบัณฑิตมากมายเหลือที่จะยอมจำนนต่อจางซื่อเฉิงแทนที่จะเป็นกลุ่มอื่นๆ

คู่ปรับสำคัญของจางซื่อเฉิงนั้นไม่ใช่ใครอื่นนอกจากจูหยวนจางที่ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมืองหนานจิงที่อยู้ค่อนลงมาทางตอนใต้ ทั้งสองฝ่ายจึงสัประยุทธ์กันอยู่เนืองๆ แต่ส่วนมากจางซื่อเฉิงมักจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ด้วยความที่เป็นพ่อค้า จางซื่อเฉิงได้เสนอว่าจะยอมอ่อนน้อมและมอบบรรณาการให้กับจูหยวนจาง แลกกับการที่จูหยวนจางไม่รุกรานดินแดนของตน แต่ด้วยสาเหตุอะไรที่ไม่แน่ชัด ฝ่ายหลังได้ปฏิเสธ จางซื่อเฉิงจึงหันไปยอมอ่อนน้อมต่อราชสำนักหยวนแทน และเริ่มส่งออกเกลือไปยังต้าตู (ปักกิ่งในปัจจุบัน) เมืองหลวงของราชวงศ์หยวน ความสัมพันธ์ระหว่างจางซื่อเฉิงและจูหยวนจางขาดสะบั้นลงอย่างถาวร

จุดจบ

ในช่วงปี ค.ศ.1360 จูหยวนจางได้ทำศึกใหญ่กับเฉินโหย่วเลี่ยง อีกหนึ่งขุนศึกที่ทรงอำนาจทางภาคใต้ ในช่วงนี้นั้นจางซื่อเฉิงจึงได้ส่งกองทัพยกไปตีจูหยวนจางเหมือนกัน แต่กลับปราชัยอย่างยับเยินทั้งสองครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะเฉินโหย่วเลี่ยงกับจางซื่อเฉิงไม่ได้ร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ ทำให้จูหยวนจางแทบไม่เคยต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแบ่งกำลังทหารเป็นสองส่วนเลย และทำให้ไม่ต้องประสบกับความปราชัยเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ต่อมาในปี ค.ศ.1365 ดินแดนของเฉินโหย่วเลี่ยงนั้นอยู่ในมือของจูหยวนจางทั้งหมดหลังจากที่ได้รับชัยชนะในยุทธนาวีแห่งทะเลสาบโผหยาง จางซื่อเฉิงจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับเกมโอเวอร์ เพราะจูหยวนจางนั้นแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และไม่มีเฉินโหย่วเลี่ยงที่คอยรบกวนอีกแล้ว ทำให้จูหยวนจางสามารถทุ่มกำลังทหารจัดการกับจางซื่อเฉิงได้โดยตรง

อนึ่งจูหยวนจางตระหนักว่าการรบกับจางซื่อเฉิงนั้นไม่ง่าย เพราะจางซื่อเฉิงมีกำลังทหารมาก และได้รับการช่วยเหลือจากราชสำนักหยวนอยู่เนืองๆ ดังนั้นขั้นตอนแรกเขาจะต้องแยกจางซื่อเฉิงออกจากราชสำนักหยวนเสียก่อน กองทัพใหญ่จึงถูกส่งไปตีเมืองเกาโหยว และยึดพื้นที่บริเวณคลองต้าอวิ๋นเหอที่เชื่อมภาคใต้เข้ากับปักกิ่ง เมืองหลวงของราชวงศ์หยวนเอาไว้ทั้งหมด

หลังจากนั้นกองทัพใหญ่ของจูหยวนจางก็เข้าตีเมืองซูโจว เมืองหลวงของจางซื่อเฉิง แม้ว่าจางซื่อเฉิงจะพ่ายแพ้ต่อจูหยวนจางมาตลอด แต่ครั้งนี้ต่อสู้แข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาหมดสิทธิ์ที่จะถอยหนีไปที่ใดอีกแล้ว

ผ่านไปสิบเดือน กองทัพของจูหยวนจางก็เข้าเมืองซูโจวได้สำเร็จ จางซื่อเฉิงพยายามตั้งรับในเมืองแต่ก็ไม่เป็นผล เมืองซูโจวจึงเสียให้กับจูหยวนจาง

ชะตาชีวิตของจางซื่อเฉิงหลังเมืองแตกนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด บ้างว่าจางซื่อเฉิงแขวนคอตนเองสิ้นชีวิต หรือไม่ก็ถูกสังหาร แต่ที่แน่ๆ ชาวเมืองซูโจวจำนวนมากล้วนแต่รักจางซื่อเฉิง เพราะในการปกครองของเขานั้นทำให้ตัวเมืองมั่งคั่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

หลังจากจางซื่อเฉิงตายไปแล้ว ชาวเมืองยังมีการเฉลิมฉลองวันเกิดของจางซื่อเฉิงในทุกๆ ปี เมื่อจูหยวนจางที่ได้เป็นฮ่องเต้ราชวงศ์หมิงได้ทราบก็รู้สึกระแวงสงสัย พวกกรมการเมืองจึงต้องทูลว่าชาวเมืองซูโจวนั้นเพียงแค่ไหว้พระกษิติครรภโพธิสัตว์เท่านั้น (ในภาษาจีนกลาง พระกษิติครรภโพธิสัตว์ถูกเรียกว่าตี้จ้างหวาง คล้ายกับตี้จางหวางที่เป็นชื่อของจางซื่อเฉิงที่ชาวเมืองยกย่องให้เป็นเทพ) ประเพณีได้สืบต่อกันมาหลายร้อยปี จนกระทั่งจบสิ้นลงในช่วงยุคคอมมิวนิสต์ครับ

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!