ประวัติศาสตร์เรื่องเศร้าของ "ฉงเจินฮ่องเต้" จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิง

เรื่องเศร้าของ “ฉงเจินฮ่องเต้” จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิง

เรื่องของฉงเจินฮ่องเต้เป็นเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่ง เขาคือจักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิง และเป็นชาวจีนฮั่นคนสุดท้ายที่ได้นั่งบนบัลลังก์มังกรด้วย

ฉงเจินได้รับมรดกเป็นจักรวรรดิที่กำลังเสื่อมสลาย ราชวงศ์หมิงในช่วงนั้นเต็มไปด้วยปัญหามากมายสารพัด ปัญหาเหล่านี้ยากเกินกว่าที่ผู้ที่มีสติปัญญาธรรมดาอย่างฉงเจินจะสามารถแก้ไขได้โดยผู้เดียว จุดจบของราชวงศ์หมิงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว

เรามาดูชีวิตของฉงเจินกันดีกว่าครับ

ฉงเจินฮ่องเต้

ชีวิตที่ปราศจากแม่

ฉงเจินเป็นโอรสของไท่ชางฮ่องเต้และพระสนมระดับต่ำต้อยนางหนึ่ง ชื่อของเขาคือ จูโหยวเจี่ยน เมื่อจูโหย่วเจี่ยนอายุได้เพียง 4 ขวบ มารดาของจูโหยวเจี่ยนกลับได้รับโทษประหารชีวิต ทำให้เขาถูกเลี้ยงดูโดยพระสนมคนอื่นมาตั้งแต่เด็ก

ในปี ค.ศ.1620 ไท่ชางฮ่องเต้จวนจะสวรรคต แต่ปรากฏว่าโอรสของไท่ชางทุกคนกลับสิ้นพระชนม์ไปก่อนไท่ชางทั้งสิ้น ทำให้เหลือแต่จูโหยวเจี้ยว และจูโหยวเจี่ยนเท่านั้น

เนื่องจากจูโหย่วเจี้ยวเป็นพี่จึงได้สืบบัลลังก์ก่อน โดยมีนามว่า เทียนฉี่ฮ่องเต้

รัชสมัยของเทียนฉี่เป็นรัชสมัยที่เละเทะ ทั้งราชสำนักอยู่ในกำมือของขันทีเว่ยจงเสียน จูโหยวเจี่ยนรู้สึกกลัวอำนาจของขันทีผู้นี้จึงหาทางหลบหลีกไม่เข้าวังอยู่เนืองๆ โดยอ้างว่าป่วย

เจ็ดปีผ่านไป เทียนฉี่ พี่ชายต่างมารดาของจูโหยวเจี่ยนกลับประชวรหนัก เนื่องจากเทียนฉี่ไม่มีโอรสที่มีชีวิตอยู่เลยสักคนเดียว ทำให้ตำแหน่งฮ่องเต้ต้องตกอยู่กับจูโหยวเจี่ยนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดีในเวลานั้นจูโหย่วเจี่ยนมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น เขาจึงไม่พร้อมเสียทีเดียวกับการครองบัลลังก์ โดยเฉพาะบัลลังก์ที่สุดแสนจะไม่มั่นคงแห่งราชวงศ์หมิงในเวลานั้น

ขึ้นครองราชย์

หลังจากเทียนฉี่สวรรคต จูโหย่วเจี่ยนได้ครองราชย์เป็นฮ่องเต้ในปี ค.ศ.1627 นามว่าฉงเจินฮ่องเต้

หลายคนคงจะเดาว่าฉงเจินน่าเป็นเหมือนฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์ นั่นคือไม่เอาใจใส่ราชการแผ่นดิน และหมกมุ่นอยู่กับสุรานารี แต่ฉงเจินกลับไม่ได้มีพฤติกรรมเช่นนั้นเลย ฉงเจินว่าราชการอย่างเอางานเอาการ เขาพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อรักษาราชวงศ์และจักรวรรดิเอาไว้ให้ได้

สิ่งแรกที่ฉงเจินลงมือคือกำจัดเว่ยจงเสียน ฉงเจินปลดเว่ยจงเสียนออกจากตำแหน่งและเนรเทศเขาไปยังภาคใต้ รวมถึงกวาดล้างพรรคพวกของเขาอย่างเด็ดขาดด้วย

หลังจากกำจัดเว่ยจงเสียนแล้ว สิ่งที่ฉงเจินปรารถนาจะทำต่อไปคือปฏฺิรูปราชสำนักและการปกครองทั้งหมด แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ราชสำนักหมิงฟอนเฟะมาตั้งแต่พวกขุนนางกังฉินอย่างเหยียนซงมีอำนาจ พวกขุนนางต่างฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างยกใหญ่ ทำให้รัฐบาลหมิงเก็บภาษีได้น้อยกว่าความเป็นจริงมาก

การคอรัปชั่นนี้ไม่ใช่สร้างปัญหาทางด้านท้องพระคลังเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหากับการเข้ารับราชการด้วย เพราะพวกขุนนางเรียกเก็บสินบนจากพวกคนรวยที่ต้องการรับราชการ ทำให้มีแต่พวกที่ติดสินบนที่สอบผ่าน ขุนนางในราชสำนักหมิงจึงเต็มไปด้วยพวกคดโกงที่หวังจะหาประโยชน์ใส่ตัว และปราศจากคนเก่งที่มีคุณธรรมอย่างสิ้นเชิง

ไม่ปรากฏว่าฉงเจินใส่ใจกับการแก้ปัญหาเหล่านี้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ฉงเจินเกรงกลัวการแบ่งพรรคแบ่งพวกในราชสำนักอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มตงหลินกับพวกขันที ทำให้ฉงเจินน่าจะมัวแต่เอาใจใส่กับเรื่องเหล่านี้และละเลยการปฏิรูปที่สำคัญกว่า

กบฏชาวนา

ในปี ค.ศ.1628 จักรวรรดิหมิงประสบกับปัญหาหลายอย่างพร้อมๆกัน ตั้งแต่โรคระบาดครั้งใหญ่ ภัยแล้ง และน้ำท่วมติดๆกัน ราชสำนักหมิงของฉงเจินไม่สามารถช่วยเหลือของประชาชนได้รวดเร็ซพอ พวกชาวนาที่ถูกรีดนาทาเร้นมานานหลายทศวรรษจึงลุกฮือขึ้นก่อกบฏ

การกบฏลุกลามไปอย่างรวดเร็ว พวกกบฏรวมกลุ่มกันภายใต้ผู้นำอย่างหลี่จื้อเฉิง และจางเซี่ยนจง พวกกบฏเอาชนะทหารหมิงในภาคใต้และภาคกลางได้อย่างลมพัด ส่วนหนึ่งเพราะทหารเจนศึกถูกส่งไปป้องกันการรุกรานของกองทัพแมนจูทางภาคเหนือ

ในช่วงที่เกิดกบฏนั้น ฉงเจินพยายามทำทุกวิถีทางที่จะสยบพวกกบฏไม่ว่าจะใช้ไม้แข็งหรือไม้อ่อนแต่ก็ไม่เป็นผล พวกขุนนางที่รายรอบก็ด้อยสติปัญญาเกินกว่าจะแนะนำยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพให้กับฉงเจินได้

แม่ทัพที่ไปทำศึกกับพวกกบฏต่างใช้ยุทธวิธีบ้าคลั่งโดยไม่สนใจชีวิตของประชาชน ยกตัวอย่างเช่นผู้ว่าราชการแห่งเมืองไคเฟิง (1 ใน 5 เมืองหลวงที่สำคัญของจีน) ทำลายคันกันน้ำของเมืองเพียงเพื่อต้องการทำลายกองทัพกบฏที่กำลังล้อมเมืองอยู่ ผลที่ตามมาคือราษฎรสิ้นชีวิตมากถึงเกือบสี่แสนคน

เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ใครกันที่จะอุทิศตนเพื่อราชวงศ์หมิงต่อไปอีก ราษฎรจำนวนมากต่างหันมาสนับสนุนหลี่จื้อเฉิง ผู้นำของพวกกบฏ ทำให้กองทัพกบฏตีได้ซีอาน, ลั่วหยางและไคเฟิงได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงเวลาเช่นนี้ ฉงเจินกลับหวาดระแวงแม่ทัพของตนเอง ดังนั้นฉงเจินจึงสั่งให้ปลดออกจากตำแหน่งและประหารชีวิตไปหลายคน หนึ่งในแม่ทัพที่ถูกฉงเจินสั่งประหารชีวิตคือ หยวนฉงฮ่วน ยอดแม่ทัพผู้ปกป้องชายแดนภาคเหนือจากกองทัพแมนจู สำหรับแม่ทัพคนอื่นๆ นั้น ถึงแม้ว่าแม่ทัพบางคนจะไม่ได้มีความสามารถโดดเด่น แต่การสั่งประหารชีวิตพวกเขาในเวลานี้ทำให้ราชสำนักหมิงขาดผู้นำที่จะควบคุมกองทัพเข้าสู้รบกับศัตรูได้อีก

วาระสุดท้าย

ตรุษจีนปี ค.ศ.1644 หลี่จื้อเฉิงได้ตั้งตัวเป็นหวาง (กษัตริย์) แห่งต้าซุ่นที่เมืองซีอาน หลังจากนั้นจึงนำกองทัพเข้าตีกรุงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) อันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์หมิง

เมื่อกองทัพกบฏกำลังใกล้เข้ามา ฉงเจินได้สั่งให้กองทัพนำกำลังไปป้องกันศึก แต่ทหารหมิงที่แข็งแกร่งล้วนแต่ถูกกองทัพกบฏสังหารไปหมดแล้ว หรือไม่ก็เผชิญหน้ากับกองทัพแมนจูอยู่ทางภาคเหนือ ทหารที่เหลืออยู่ต่างไม่ได้รับเสบียงอาหารที่เพียงพอ ฉงเจินเองก็ค้างจ่ายค่าตอบแทนพวกทหารมามากกว่าหนึ่งปีแล้ว เพราะว่าไม่มีเงินในท้องพระคลัง พวกทหารเหล่านี้ย่อมไม่ลังเลที่จะยอมจำนนต่อพวกกบฏ

พวกขุนนางเห็นว่าไม่อาจต้านพวกกบฏอีกต่อไป พวกเขาจึงเสนอให้ฉงเจินทิ้งเป่ยจิงและหนีไปตั้งหลักที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเมืองหนานจิง (นานกิง) และดินแดนโดยรอบยังมีกองทัพหมิงป้องกันเอาไว้ได้อยู่ แต่ฉงเจินกลับปฏิเสธ

ไม่มีใครทราบว่าฉงเจินคิดอะไรในเวลานั้น ฉงเจินอาจจะต้องการรักษาเกียรติยศ หรือไม่อยากอัปยศเหมือนกับฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งที่หนีลงใต้จนสุดท้ายก็สิ้นชาติเหมือนกันก็เป็นได้

ในเดือนเมษายน ฉงเจินมีพระบรมราชโองการให้อู๋ซานกุ้ยที่เผชิญหน้ากับพวกแมนจูอยู่กลับมาป้องกันเมืองหลวง อู๋ซานกุ้ยนำทัพมาตามคำบัญชา แต่กองทัพของอู๋ซานกุ้ยไม่มีวันมาถึงเป่ยจิง เพราะราชสำนักหมิงมีอันเป็นไปเสียก่อน

วันที่ 23 เมษายนเป็นวันสุดท้ายที่ฉงเจินออกว่าราชการ ภายนอกเมืองเป่ยจิงเต็มไปด้วยกองทัพกบฏ หลี่จื้อเฉิงผู้นำกบฏเสนอให้ฉงเจินยอมจำนน แต่ฉงเจินกลับแสดงขัตติยมานะด้วยการปฏิเสธที่จะยอมแพ้ กองทัพกบฏจึงเข้าโจมตีเมืองหลวงในวันต่อมา

เช้าวันที่ 25 เมษายน ฉงเจินได้สังหารภรรยาและบุตรสาวของตนเองไปหลายคนเพื่อไม่ให้พวกนางต้องทนอัปยศจากการตกเป็นเชลย หลังจากนั้นตนเองก็เดินทางไปยังสวนจิ่งซานใกล้กับพระราชวังต้องห้าม ฉงเจินจบชีวิตตนเองด้วยการแขวนคอลงมาจากต้นไม้ ฉงเจินมีอายุได้ 33 ปีเท่านั้น

ต้นไม้ต้นใหม่ที่ถูกปลูกขึ้นบนสถานที่เดิมที่ฉงเจินฮ่องเต้ปลงพระชนม์พระองค์เอง By User:Clee7903, CC BY 3.0,

การสวรรคตของฉงเจินเป็นการปิดฉากราชวงศ์หมิงอย่างถาวร ว่ากันว่าฉงเจินได้เขียนจดหมายลาตายไว้ว่า ตัวเขาอนุญาตให้พวกกบฏทำอะไรกับศพของตนเองก็ได้ แต่ขออย่าได้ทำลายสุสานหลวงของอดีตฮ่องเต้ และไว้ชีวิตชาวเมืองเป่ยจิงด้วย

หลี่จื้อเฉิงได้ทำพิธีฝังพระศพของฉงเจินอย่างสมเกียรติ ปัจจุบันร่างของฉงเจินจึงอยู่ในสุสานราชวงศ์หมิงใกล้กับเป่ยจิง

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!