การกลับเข้าสู่วังพร้อมกับมีโอรสให้กับฮ่องเต้ และได้รับการแต่งตั้งเป็น “จาวหยี” (เจ้าคุณพระ) ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของหวู่เม่ยเหนียง อย่างไรก็ตามเธอเองกลับต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่ทรงอำนาจในไม่ช้า
นั่นคือหวางหวงโฮ่วและเซียวซู่เฟย
หวู่เม่ยเหนียงจำต้องกำจัดทั้งสองนางนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวนางเอง การกระทำของนางเป็นที่ถกเถียงอย่างยิ่งในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่า นางได้เล่นละครเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของนางจริงหรือไม่
ได้รับการโปรดปราน
หลังจากได้กลับเข้ามาในวัง หวู่เม่ยเหนียง (Wu Meiniang) ได้รับการโปรดปรานอย่างมากจากถังเกาจงฮ่องเต้ (Emperor Gaozong of Tang) ในเวลาไม่นานเซียวซู่เฟยก็ตกกระป๋องไปอย่างสมบูรณ์
จริงอยู่ว่าในช่วงแรกหวางหวงโฮ่วรู้สึกสะใจที่ได้ทำให้เซียวซู่เฟยเจ็บช้ำ แต่พอผ่านไปสักพักหนึ่ง นางก็เริ่มรู้ตัวว่าหวู่เม่ยเหนียงกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นทุกวัน เพราะความโปรดปรานที่ได้รับจากฮ่องเต้ และการที่นางพยายามสร้างฐานอำนาจขึ้นในวัง
ในปี ค.ศ.653 หวู่เม่ยเหนียงให้กำเนิดหลี่เสียน (Li Xian) โอรสอีกคนหนึ่งทำให้ถังเกาจงโปรดปรานนางมากขึ้นไปอีก และเพิ่มความอิจฉาริษยาในตัวหวางหวงโฮ่วให้เพิ่มมากขึ้น นางเริ่มเกลียดหวู่เม่ยเหนียงไม่ต่างอะไรกับที่เคยเกลียดเซียวซู่เฟยก่อนหน้านี้
ความเกลียดและริษยาหวู่เม่ยเหนียงเพิ่มมากขึ้นทุกที จนทำให้หวางหวงโฮ่วทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อขึ้น นั่นคือนางคืนดีกับเซียวซู่เฟย และจับมือกันต่อต้านหวู่เม่ยเหนียง
อย่างไรก็ตามด้วยความที่มีเส้นสายในวังมาก ไม่ว่าจะเป็นนางในหรือขันที ทำให้หวู่เม่ยเหนียงทราบเรื่องอย่างรวดเร็ว หวู่เหม่ยเหนียงตระหนักว่านางต้องทำศึกชี้ชะตากับอีกสองนางในไม่ช้า
วันแห่งโชคชะตามาถึงในปี ค.ศ.654
กลลวง?
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อหวู่เม่ยเหนียงให้กำเนิดธิดาน้อยได้ไม่นาน หวางหวงโฮ่วได้เดินทางมาเยี่ยมที่ตำหนักของหวู่เม่ยเหนียง และได้เข้าใกล้หรืออุ้มธิดาน้อย ปรากฏว่าหลังจากที่หวางหวงโฮ่วกลับไป สาวใช้พบว่าธิดาของหวู่เม่ยเหนียงไม่หายใจแล้ว
การจากไปของธิดาน้อยทำให้เกิดประเด็นอย่างใหญ่หลวงขึ้นมาทันทีในพระราชวัง เพราะว่าหวางหวงโฮ่วเป็นคนท้ายๆที่อยู่กับธิดาน้อย สาวใช้ทุกนางต่างเห็นกันดี ทำให้หวางหวงโฮ่วกลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่าจะฆาตกรรมธิดาน้อย
หวู่เม่ยเหนียงเองก็ฉวยโอกาสทูลถังเกาจงไปในเชิงว่า หวางหวงโฮ่วอาจจะสังหารธิดาน้อยของนาง ทำให้ถังเกาจงเริ่มคล้อยตาม เพราะว่าถังเกาจงทราบดีว่าหวางหวงโฮ่วแสดงความอิจฉาริษยาหญิงอื่นมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยเซียวซู่เฟย ในครั้งนี้นางอาจจะสังหารธิดาน้อยด้วยความอิจฉาริษยาก็เป็นได้
ปรากฏว่าหวางหวงโฮ่วไม่อาจจะแก้ต่างได้ เพราะนางขาดพยานที่ชี้ให้เห็นว่านางไม่ได้ทำ ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เห็นว่านางอยู่กับธิดาน้อยเป็นคนสุดท้ายมีเต็มไปหมด ถ้าเปรียบพยานต่างๆ แล้ว หวางหวงโฮ่วผู้เป็นจำเลยไม่อาจจะสู้กับพยานฝ่ายโจทก์อย่างหวู่เม่ยเหนียงได้เลย
สิ่งที่น่าสนใจคือ หวางหวงโฮ่วสังหารธิดาน้อยจริงหรือไม่?
ทฤษฎีหนึ่งว่า หวางหวงโฮ่วสังหารธิดาน้อยจริง เพราะความอิจฉาและเกลียดชังที่มีต่อหวู่เม่ยเหนียง แต่เดิมหวางหวงโฮ่วไม่เป็นที่โปรดปราน ทำให้ไม่มีบุตรธิดากับถังเกาจง ประเด็นนี้จึงเหมือนเป็นปมด้อยของนางมาโดยตลอด เมื่อเห็นบุตรธิดาของสามีกับหญิงคนอื่น นางจึงโกรธขึ้นมาและระบายกับธิดาน้อย
อย่างไรก็ตาม หลักฐานชั้นต้นและตำนานร่วมสมัยล้วนแต่อธิบายว่า หวู่เม่ยเหนียงนั่นแหละที่สังหารลูกสาวตนเอง และจัดละครฉากใหญ่ขึ้นมาเพื่อจะป้ายความผิดให้กับหวางหวงโฮ่ว นางจะได้หลุดจากตำแหน่งหวงโฮ่วไปเสีย
ทฤษฎีนี้เล่าว่า หลังจากที่หวู่เม่ยเหนียงเห็นว่าหวางหวงโฮ่วอุ้มธิดาน้อยขึ้นมา และกลับไปแล้ว นางรีบเข้าไปในห้องและสังหารธิดาน้อยเสีย นางจะได้ใช้เรื่องนี้กำจัดศัตรูทางการเมืองของนาง โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม คุณธรรมอะไรทั้งสิ้น
ทฤษฎีนี้มีชื่อเสียงมากที่สุด และได้รับการยอมรับมากที่สุดด้วย
อย่างไรก็ตามทฤษฎีมีช่องโหว่หลายอย่าง อย่างแรกคือหลักฐานร่วมสมัยมักจะมองหวู่เม่ยเหนียงในแง่ลบอยู่เสมอ ทำให้เชื่อได้ว่าผู้เขียนคงมีอคติกับนางไม่น้อย เราควรจะฟังหูไว้หูหลักฐานพวกนี้จะดีกว่า
นอกจากนี้ถ้าหวู่เม่ยเหนียงลงมือสังหารธิดาน้อยจริงๆ นางคงจะทำในที่ลับสุดๆ โดยไม่มีผู้ใดพบเห็น แล้วผู้เขียนประวัติศาสตร์จะนำข้อมูลมาจากที่ใด?
ผมจึงมองว่าการจะฟันธงว่านางสังหารลูกตัวเองเพื่อใส่ร้ายหวางหวงโฮ่วจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักสักเท่าใดนัก แม้ว่ามันจะมีความเป็นไปได้ก็ตาม
ทฤษฎีสุดท้ายอธิบายว่า ธิดาน้อยอาจจะสิ้นชีวิตเพราะการขาดอากาศหายใจ โดยที่ไม่มีใครสังหารนาง ประเด็นนี้จริงๆแล้วก็เป็นไปได้ เพราะการถ่ายเทอากาศในยุคนั้นไม่ดีเท่าในปัจจุบัน การวางธิดาน้อยลงอย่างไม่ระมัดระวังอาจจะทำให้เด็กสิ้นใจก็เป็นได้
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอะไรเกิดขึ้นกับธิดาน้อย การชันสูตรศพก็ยังไม่มีในยุคนั้น ทำให้ถังเกาจงปักใจเชื่อว่าหวางหวงโฮ่วเป็นฆาตกรที่สังหารธิดาน้อยวัยแบเบาะของตนเอง
ปลดหวงโฮ่ว
หลังจากนั้นถังเกาจงปรารถนาจะถอดหวางหวงโฮ่วและสถาปนาให้หวู่เม่ยเหนียงเป็นหวงโฮ่วแทน แต่การจะทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะพวกขุนนางเก่าแก่อย่างจ่างซุนหวู่จี้ และฉู่ซุ่ยเหลียงยังสนับสนุนหวางหวงโฮ่ว ทั้งสองจำได้ว่าก่อนที่ถังไท่จงจะสวรรคตได้สั่งให้พวกเขาคอยดูแลทั้งถังเกาจงและหวางหวงโฮ่วไว้ให้ดี ในครั้งนี้พวกเขาจึงยังถือหางหวางหวงโฮ่ว และทูลถังเกาจงว่าเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดหวางหวงโฮ่วได้
ดังนั้นสถานการณ์จึงชะงักงัน ถังเกาจงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะพวกขุนนางเหล่านี้มีอำนาจ และตัวถังเกาจงเองก็เคยถูกฝากฝังไว้กับพวกขุนนางเหล่านี้ด้วย ถังเกาจงย่อมเกรงใจพวกขุนนางเป็นปกติ
หวู่เม่ยเหนียงเห็นว่าพวกขุนนางผู้ดีเก่าที่ทรงอำนาจกำลังกีดขวางเส้นทางสู่อำนาจของนาง หวู่เม่ยเหนียงจึงเริ่มติดต่อกับพวกขุนนางผู้ดีใหม่ของสวีจิ้งจง (Xu Jingzong) เพื่อสร้างกลุ่มผู้สนับสนุนนางขึ้นในท้องพระโรงจะได้ต่อกรกับพวกขุนนางผู้ดีเก่าได้อย่างสูสียิ่งขึ้น
ในปี ค.ศ.655 หวู่เม่ยเหนียงโจมตีหวางหวงโฮ่ว (และน่าจะเซียวซู่เฟยด้วย) ว่าใช้เวทมนตร์คาถา ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงในราชสำนัก จากข้อหาหนักทั้งสองข้อ ถังเกาจงจึงยิ่งปรารถนาจะกำจัดทั้งสองนางออกไปจากฝ่ายในเสีย
ถังเกาจงเรียกพวกขุนนางระดับสูงมาปรึกษาตามเดิม ขุนนางอย่างฉู่ซุ่ยเหลียงยังคงคัดค้านอย่างหนักหน่วง แต่จ่างซุนหวู่จี้ใช้วิธีเปลี่ยนเรื่องและนิ่งเงียบ ทำให้ถังเกาจงยังไม่กล้าพอที่จะปลดหวางหวงโฮ่ว
อย่างไรก็ตามการที่ถังเกาจงมีหวู่เม่ยเหนียงชักใยอยู่ด้านหลัง และมีขุนนางหัวใหม่สนับสนุนในท้องพระโรงด้วย ถังเกาจงจึงเริ่มมั่นใจว่าจะทานพวกขุนนางหัวเก่าได้ นอกจากนี้เมื่อถังเกาจงขอคำชี้แนะจากหลี่จี ขุนนางระดับสูงคนหนึ่ง หลีจีทูลว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องในครอบครัว ถังเกาจงไม่มีความจำเป็นต้องถามคนอื่น หลังจากได้ฟังหลี่จี ถังเกาจงจึงตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด
ถังเกาจงมีรับสั่งให้ปลดทั้งหวางหวงโฮ่วและเซียวซู่เฟยออกจากตำแหน่ง และสุถาปนาหวู่เม่ยเหนียงขึ้นเป็นหวงโฮ่ว ความทะเยอทะยานของหญิงสาวนางหนึ่งจึงเป็นจริงในที่สุด