ประวัติศาสตร์ยุทธการที่แม่น้ำเฝย ชัยชนะระดับปาฏิหาริย์ของราชวงศ์จิ้น

ยุทธการที่แม่น้ำเฝย ชัยชนะระดับปาฏิหาริย์ของราชวงศ์จิ้น

ร้อยกว่าปีหลังจากที่ยุคสามก๊กสิ้นสุดลง ราชวงศ์จิ้นของสุมาเอี๋ยนล่าหนีลงใต้มาตั้งแต่เมืองหลวงใหม่ที่เมืองเจี้ยนคัง (หนานจิงในปัจจุบัน) เพราะถูกพวกอนารยชนรุกราน ทำให้เสียทั้งเมืองฉางอานและลั่วหยาง อดีตเมืองหลวงไปทั้งหมด

ในปี ค.ศ.383 ฝูเจียนแห่งเผ่าตีได้เอาชนะเผ่าอื่นๆ และรวบรวมภาคเหนือและภาคกลางของจีนให้เป็นหนึ่งได้สำเร็จในนามราชวงศ์ฉิน (นักประวัติศาสตร์เรียกราชวงศ์นี้ว่า เฉียนฉิน เพื่อให้แยกออกจากราชวงศ์ฉินของจิ๋นซีฮ่องเต้ที่รวบรวมแผ่นดินได้เป็นหนึ่ง)

ดังนั้นฝูเจียนจึงปรารถนายกกองทัพลงใต้ เพื่อทำลายราชวงศ์จิ้นให้สิ้นซาก และรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งอีกครั้ง

ยุทธการระหว่างเฉียนฉินและราชวงศ์จิ้นนี้จะเป็นหนึ่งในยุทธการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีน นั่นคือยุทธการแห่งแม่น้ำเฝยนั่นเอง

พรมแดนระหว่างเฉียนฉิน (สีม่วง) และราชวงศ์จิ้นสีเหลือง พรมแดนสีดำคือพรมแดนของทั้งสองฝ่ายก่อนยุทธการที่แม่น้ำเฝย ส่วนพรมแดนสีแดงคือพรมแดนใหม่ท่เกิดจากการตีโต้ของราชวงศ์จิ้น หลังศึกแม่น้ำเฝย By 淝水之战前后形势图.PNG: noideaderivative work CC BY-SA 3.0,

ฝูเจียนประมาท

ฝูเจียน ฮ่องเต้แห่งเฉียนฉินประมาทราชวงศ์จิ้น อนึ่งเพราะฝูเจียนทรนงว่าฝ่ายเฉียนฉินมีทหารมาก อาณาเขตก็ใหญ่กว่าราชวงศ์จิ้นถึงสองเท่า ครอบคลุมเมืองฉางอาน, ลั่วหยาง และดินแดนจงหยวนทั้งหมด ไพร่พลที่มีก็มากกว่ามากมาย ฝูเจียนถึงกับกล่าวกับเหล่าขุนนางว่า

กองทัพของข้าใหญ่มากถึงขนาดที่ถ้าทหารทุกนายโยนแส้ของพวกเขาลงไปในแม่น้ำหยางจื่อ กระแสน้ำจะถูกหยุดในบัดดล

ขุนนางหลายคนได้เตือนและคัดค้านไม่ให้ฝูเจียนยกไปตีราชวงศ์จิ้น โดยเฉพาะฝูหรง น้องชายของฝูเจียน ฝูหรงทูลฝูเจียนว่าการไปตีราชวงศ์จิ้นเป็นเรื่องอันตราย พวกเซียนเปยและพวกเฉียงที่เพิ่งสวามิภักดิ์เองก็ไว้ใจไม่ได้ด้วย

หากแต่ว่าเพราะความมั่นใจในความสำเร็จที่ตนเองได้รับมาก่อนหน้านี้ และการดูถูกดูแคลนราชวงศ์จิ้น ทำให้ฝูเจียนไม่ฟังคำเตือนของฝูหรง และสั่งให้เตรียมกองทัพขนาดใหญ่ยกไปตีราชวงศ์จิ้น เขาสั่งให้เกณฑ์ชายฉกรรจ์ 60% ในอาณาจักรเข้าไปอยู่ในกองทัพทั้งหมด

ระหว่างการเตรียมกองทัพ ฝูเจียนได้รับแจ้งว่ากองทัพของเขาประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งไว้ใจไม่ได้ นอกจากนี้การฝึกฝนและระเบียบวินัยก็ยังไม่ดีพอ แต่ฝูเจียนกลับไม่สนใจ เขาสั่งให้การโจมตีราชวงศ์จิ้นเริ่มต้นทันที

สงครามเปิดฉาก

กองทัพเฉียนฉินจำนวน 300,000 คนที่นำโดยฝูหรงเป็นกองหน้าเข้าตีราชวงศ์จิ้น ภายในเดือนตุลาคม กองทัพเฉียนฉินสามารถตีเมืองโซ่วหยางแตกได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ฝูเจียนยิ่งทรนงตนมากขึ้นไปอีก

ข่าวศึกมาถึงเจี้ยนคัง เมืองหลวงของราชวงศ์จิ้น ทำให้พวกขุนนางจิ้นจำนวนมากตื่นตระหนก แต่อัครมหาเสนาบดีเซี่ยอันกลับไม่หวั่นไหว เขาสั่งให้กองทัพทั้งหมดเตรียมการต่อสู้ และให้เซี่ยสือกับเซี่ยซวนเป็นแม่ทัพนำกองทหารราบเป่ยฝูจำนวนแปดหมื่นคนเข้าเผชิญศึก

เซี่ยซวนเสนอว่าให้เซี่ยอันนำกำลังกลับไปสักสี่ห้าพันคนเพื่อป้องกันเจี้ยนคัง (ปัจจุบันคือเมืองนานกิง) แต่เซี่ยอันปฏิเสธ เขายืนกรานว่าเจี้ยนคังมีการป้องกันเพียงพอแล้ว

ขณะนั้นกองทัพเฉียนฉินกำลังทะลักเข้ามาในดินแดนของราชวงศ์จิ้น ทหารเฉียนฉินทั้งหมดเชื่อว่ามีมากถึง 870,000 นาย แต่ด้วยความที่ฝูเจียนใจร้อน เขาไม่รอให้กองทัพทั้งหมดมาพร้อมเสียก่อน เขารีบนำทหาร 8,000 คนและมุ่งหน้าไปสมทบกับฝูหรงทันที

กองทัพฝูหรงยังไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ เพราะกองทัพจิ้นของเซี่ยสือกับเซี่ยซวนสกัดไว้อย่างหนาแน่น ฝูเจียนจึงสั่งให้จูซีว์ นายทหารจิ้นที่สวามิภักดิ์ต่อเฉียนฉินเป็นทูตไปเกลี้ยกล่อมให้เซี่ยสือและเซี่ยซวนยอมจำนน

แต่ทว่าจูซีว์กลับทรยศฝ่ายเฉียนฉินอีกทีหนึ่ง และนำความทั้งหมดไปบอกแม่ทัพจิ้นทั้งสองอย่างละเอียดว่า กองทัพเฉียนฉินยังมาไม่ถึงพร้อมกัน ฝ่ายจิ้นจึงควรฉวยโอกาสเข้าโจมตีก่อน

ด้วยเหตุนี้เซี่ยสือจึงนำทหารกองหนึ่งเข้าตีค่ายของเฉียนฉินทั้งทางบกและทางน้ำ พงศาวดารจิ้นซูว่ากองทัพจิ้นได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ ทหารเฉียนฉินล้มตายไปมากถึง 15,000 คน

หลังจากนั้นทั้งสองแม่ทัพจิ้นได้ตั้งกองทัพประจันหน้ากับกองทัพเฉียนฉิน แม้จะมีทหารมากกว่าหลายเท่า ฝูเจียนกลับไม่กล้าสั่งให้กองทัพโจมตี เพราะทั้งสองแม่ทัพจิ้นได้สั่งให้ตั้งกองทัพแบบกระจายตัวออกไป ทำให้กองทัพจิ้นดูมีทหารมาก ฝูเจียนถึงกับกล่าวกับพวกแม่ทัพเฉียนฉินว่า ทำไมพวกเขาถึงเคยบอกว่ากองทัพจิ้นมีทหารน้อย

ยุทธการที่แม่น้ำเฝย

การประจันหน้าดำเนินอยู่ได้สักพักใหญ่ๆ ฝ่ายจิ้นจึงส่งทูตไปให้ฝูเจียนว่า ขอให้กองทัพฉินถอยทัพไปจากแม่น้ำเสียหน่อย กองทัพจิ้นจะได้ข้ามแม่น้ำมาและทำศึกให้รู้แพ้รู้ชนะกัน

พวกแม่ทัพเฉียนฉินต่างทูลไม่ให้ฝูเจียนยอมรับข้อเสนอของกองทัพจิ้น เพราะทหารฉินมีมากมาย การถอยทัพย่อมยากลำบาก และอาจเกิดความวุ่นวายจากพวกทหารที่ไม่มีระเบียบวินัยที่มีเป็นจำนวนมาก แต่ฝูเจียนไม่สนใจ เขาสั่งให้กองทัพถอยหลังไปตามข้อเสนอของกองทัพจิ้น

ดังนั้นเซี่ยสือและเซี่ยซวนจึงนำกองทัพข้ามแม่น้ำไปตามที่ได้ตกลงไว้กับฝูเจียน การศึกระหว่างทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นขึ้นแล้ว กองทัพจิ้นมีทหารเจนศึก 80,000 คน ส่วนกองทัพฉินมีทหารมากถึง 800,000 คน ซึ่งเป็นสิบเท่าของกองทัพจิ้น

ระหว่างที่กองทัพจิ้นกำลังข้ามแม่น้ำ ฝูเจียนกลับสั่งให้กองทัพเฉียนฉินทั้งหมดโจมตีกองทัพจิ้นทันที โดยฝูเจียนหวังว่าถ้าเขาโจมตีระหว่างที่กองทัพจิ้นข้ามแม่น้ำได้เพียงครึ่งเดียว ชัยชนะอันเด็ดขาดจะเป็นของฝ่ายเฉียนฉิน

แต่ทว่าด้วยขนาดของกองทัพที่เรียกได้ว่ามหาศาล การเปลี่ยนแปลงคำสั่งก่อให้เกิดความวุ่นวายในกองทัพเฉียนฉินทันที พวกทหารไม่ทราบว่าฝูเจียนมีคำสั่งให้ถอยทัพหรือเข้าโจมตีกันแน่ ฝ่ายเฉียนฉินจึงเกิดความโกลาหลทั้งๆ ที่ฝ่ายจิ้นยังไม่ได้เข้าโจมตีด้วยซ้ำไป

ขณะเดียวกันฝ่ายจิ้นที่ข้ามแม่น้ำมาถึงได้เข้าปะทะกับกองทัพฉิน ทหารจิ้นแต่ละนายล้วนแต่เป็นทหารมีฝีมือ ส่วนทหารของเฉียนฉินบางคนเป็นแค่ทหารที่เพิ่งถูกเกณฑ์มา และกำลังงุนงงกับคำสั่งที่กลับไปกลับมาด้วย ทำให้ฝ่ายจิ้นเป็นฝ่ายไล่สังหารอย่างดุเดือด ซากศพทหารเฉียนฉินเริ่มกลาดเกลื่อนพื้นดินริมแม่น้ำเฝย

ระหว่างที่การสู้รบกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น จูซีว์คนเดิมได้ตะโกนขึ้นว่า

ถอย! กองทัพฉินแตกพ่ายแล้ว

การตะโกนของจูซีว์ได้ทำให้ทหารเฉียนฉินที่กำลังงุนงงอยู่แล้วตื่นตระหนกและไม่คิดจะต่อสู้อีกต่อไป ทหารเฉียนฉินแต่ละนายเร่งหลบหนีเอาชีวิตรอด ความกลัวเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดเพราะมันสามารถติดต่อกันได้ ภายในไม่ช้า ทหารเฉียนฉินแต่ละนายล้วนแต่วิ่งหนีตาย ไม่มีใครนำกำลังสกัดกั้นกองทัพจิ้นไว้เลย เซี่ยซวนและกองทัพของเขาจึงใช้ดาบฟาดฟันทหารเฉียนฉินล้มลงคนแล้วคนเล่า

ฝูหรงเป็นผู้เดียวที่คุมสติได้อยู่ และพยายามสกัดกั้นการถอยหนีของทหารฝ่ายเดียวกันเอง ระหว่างนั้นเองทหารจิ้นสามารถเข้าถึงตัวฝูหรง และกลุ้มรุมสังหารเขาได้สำเร็จ

การตายของฝูหรงทำให้โครงสร้างของกองทัพเฉียนฉินพังทลาย ทหารส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการฝึกมาอย่างดีจึงถอยหนีอย่างไม่มีใครสนใจอะไรอีกต่อไป เซี่ยซวนสังเกตจากล้อรถศึกที่สะเปะสะปะ ทำให้เขาคิดว่าฝ่ายเฉียนฉินแตกกระเจิงจริงๆ และไม่น่าจะมีแผนการอะไร เขาจึงสั่งให้กองทัพทั้งหมดไล่ติดตามไปราวกับลมพัด

การไล่ฆ่าฟันแต่ฝ่ายเดียวจึงเริ่มต้นขึ้น กองทัพจิ้นไล่ติดตามกองทัพศัตรูขึ้นเหนือไปอย่างรวดเร็ว และสังหารไพร่พลเฉียนฉินได้เป็นจำนวนมากมาย พร้อมยึดเสบียงอาหารและยุทธปัจจัยได้ทั้งหมด

ทหารเฉียนฉินที่ปราศจากอาหารจึงต้องหนีตายอย่างหิวโหยจนสุดท้ายก็สิ้นลมเป็นจำนวนมาก หนังสือจิ้นซูรายงานว่าทหารเฉียนฉินมากถึง 700,000 คนต้องพลีชีพลงในการต่อสู้ครั้งนี้จากการขาดอาหาร และถูกไล่สังหารโดยทหารจิ้น

ผลที่ตามมา

กองทัพจิ้นสามารถทำให้ปาฏิหาริย์เป็นจริง เขาเอาชนะกองทัพศัตรูที่มีจำนวนมากกว่าถึงสิบกว่าเท่า อย่างไรก็ตามน่าสงสัยว่าตัวเลขกองทัพเฉียนฉินนี้เป็นไปได้หรือไม่ หนังสือจิ้นซูเองก็มีความคลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่ากองทัพฉินอาจจะไม่ถึง 870,000 นาย แต่น่าจะมากกว่ากองทัพจิ้นหลายเท่า

ทั่วทั้งราชสำนักจิ้นล้วนแต่ยินดีกับชัยชนะ กองทัพจิ้นฉวยโอกาสบุกขึ้นเหนือและตีชิงดินแดนที่เสียไปให้พวกอนารยชนกลับคืนได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังทำให้ภาคใต้ของจีนเป็นอิสระอีกนานถึงสองร้อยปี จนกระทั่งสุยเหวินตี้พิชิตราชวงศ์เฉินในศตวรรษที่ 6

ฝูเจียนที่พ่ายแพ้หลบหนีเอาตัวรอดกลับเมืองหลวงได้ แต่ความพ่ายแพ้ย่อยยับของเขา ทำให้พวกชนเผ่าต่างๆ ไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของเฉียนฉินอีกต่อไป ฝูเจียนถูกสังหารโดยแม่ทัพของตนเอง ส่วนอาณาจักรเฉียนฉินล่มสลายหลังจากนั้นไม่นาน

ภาคเหนือของจีนจึงเกิดการต่อสู้วุ่นวายอีกนานหลายปี จนกระทั่งราชวงศ์เว่ยเหนือรวบรวมดินแดนภาคเหนือได้สำเร็จอีกครั้งในช่วงศตวรรษที่ 5

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!