ประวัติศาสตร์มหาภัยแล้งแห่งเหอหนานปี ค.ศ.1942-1943 แล้งจัดจนอดตาย!

มหาภัยแล้งแห่งเหอหนานปี ค.ศ.1942-1943 แล้งจัดจนอดตาย!

ในปี ค.ศ.1942 ประเทศจีนอยู่ในสงครามกับญี่ปุ่นมานานหลายปีแล้ว ดินแดนทางภาคตะวันออกเกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือของญี่ปุ่น รัฐบาลจีนคณะชาติ (กั๋วมินตั๋ง) ของเจียงไคเช็ก (เจี่ยงเจี้ยฉือ) ย้ายเมืองหลวงหนีกองทัพญี่ปุ่นไปอยู่ที่ฉงชิ่ง เมืองสำคัญทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

มณฑลเหอหนานเป็นมณฑลที่อยู่ทางภาคกลางค่อนไปทางเหนือของประเทศจีน มณฑลนี้เป็นสมรภูมิรบระหว่างจีนและญี่ปุ่นมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1938 รัฐบาลของเจียงไคเช็กพยายามหยุดยั้งการรุกของกองทัพญี่ปุ่นด้วยการเปิดเขื่อนกั้นแม่น้ำเหลือง และปล่อยให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อไม่ให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาได้

ไม่ปรากฏว่าทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตไปเท่าไร แต่ไม่น่ามากเท่าใดนัก เพราะกองทัพญี่ปุ่นแทบจะไม่ได้อยู่ในบริเวณนั้นเลย ในทางกลับกันราษฎรจีนในมณฑลเหอหนานสิ้นชีวิตไปอย่างน้อย 500,000 คน

ทหารญี่ปุ่นกลับเป็นผู้ช่วยเหลือชาวบ้านจีนที่ประสบอุทกภัยจากรัฐบาลตัวเอง

สี่ปีต่อมา ชาวจีนในมณฑลเหอหนานก็ต้องรับกับเคราะห์หนักอีกครั้งหนึ่ง ภัยที่พวกเขาจะประสบจะตรงกันข้ามกับครั้งที่แล้วโดยสิ้นเชิง ครั้งที่แล้ว “น้ำ” มากเกินไป แต่ครั้งนี้จะไม่มี “น้ำ” เลย

ภัยธรรมชาติเริ่มต้น

สัญญาณร้ายเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1940-1941 พืชผลที่ชาวบ้านปลูกไว้เป็นอาหารอย่างข้าวสาลี ข้างฟ่าง และข้าวโพด มีผลผลิตที่แย่มากในช่วงสองปีนั้น ส่วนหนึ่งเพราะน้ำท่วมในปี ค.ศ.1938 ได้ทำให้ตะกอนและโคลนทับดินที่อุดมสมบูรณ์ไปจนหมด ระบบชลประทานก็เสียหายยับเยิน การเพาะปลูกจึงทำแทบไม่ได้เลย

ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาด้วยการกินอาหารที่กักตุนเอาไว้จากผลผลิตปีก่อนๆ เพื่อประทังชีวิต พวกเขาหวังว่าปี ค.ศ.1942 สถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง

แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของปีนั้น ฝนแทบจะไม่ตกเลย แถมยังมีวัชพืชระบาดครั้งมโหฬาร ทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตย่ำแย่ยิ่งกว่าช่วงปี ค.ศ.1940-1941 เสียอีก แถมในครั้งนี้ชาวบ้านไม่เหลือเสบียงอาหารที่กักตุนไว้อีกแล้ว

เค้าลางแห่งความตายจึงเกิดขึ้นที่เหอหนาน

นโยบายภาษีที่พังพินาศ

ช่วงเวลานั้นเหอหนานแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น อีกส่วนอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลกลางที่ฉงชิ่ง

สำหรับกองทัพญี่ปุ่นแล้ว ไม่ต้องสงสัยว่าปฏิบัติกับชาวจีนอย่างศัตรู พวกเขาจึงฉกฉวยเสบียงอาหารจากชาวบ้านอยู่แล้ว ชาวบ้านจีนจำนวนมากจึงอดตายมากมาย

แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ การตอบสนองของรัฐบาลกั๋วมินตั๋ง ต่อสถานการณ์ความแห้งแล้งที่เหอหนาน

รัฐบาลคณะชาติของเจียงไคเช็กเก็บภาษีพืชผลของชาวบ้านที่เหอหนานในจำนวนเท่าเดิม ทำให้รัฐบาลนำข้าวสาลีจากชาวบ้านไปเกือบทั้งหมด ใครที่จ่ายภาษีไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็ให้พวกเขาขายวัวและลาเพื่อจ่ายเป็นส่วนต่างภาษี แล้วชาวบ้านจะอยู่ได้อย่างไรเมื่อชาวบ้านต้องใช้สัตว์เหล่านี้ในการทำไร่ทำนา??

นักข่าวสหรัฐชื่อ Theodore White อยู่ในจีนในเวลานั้นและได้พูดคุยกับชาวบ้าน เขาอธิบายสถานการณ์ ณ เวลานั้นว่า

รัฐบาลในอำเภอแล้วอำเภอเล่าต่างต้องการให้พวกชาวนาจ่ายภาษีเป็นข้าวสาลีในจำนวนมากกว่าที่พวกเขาเก็บเกี่ยวได้ โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น ชาวบ้านที่ต้องกินไม้ของต้นเอล็มและใบไม้แห้งเป็นอาหารต้องนำเมล็ดพืชสุดท้ายที่เขามีอยู่ไปโยนไว้ที่สำนักงานเก็บภาษี พวกชาวนาอ่อนแอมาก พวกเขาแทบไม่สามารถเดินไปเก็บอาหารสัตว์ให้กับม้าของกองทัพได้ อาหารสัตว์เหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าสิ่งสกปรกที่พวกเขากินอยู่ในปากเสียอีก ชาวนาที่ไม่สามารถจ่ายภาษีได้ ต่างถูกบังคับให้ขายสัตว์ ขายเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั่งที่ดินเพื่อหาเงินมาซื้อข้าวสาลีมาจ่ายภาษี

นอกจากนี้ไวท์ยังได้ระบุว่าราคาข้าวสาลีที่พวกชาวนาต้องซื้อมาจ่ายภาษีนั้นสูงมาก ราคาของมันสูงกว่าที่อเมริกาถึง 60 เท่าเลยทีเดียว

รัฐบาลกั๋วมินตั๋ง (จีนคณะชาติ) ในฉงชิ่งล่าช้ามากในการตอบสนองกับปัญหาเหล่านี้ กว่ารัฐบาลจะรู้ตัวว่าชาวบ้านที่เหอหนานกำลังอดตายก็เข้าสู่ปลายปี ค.ศ.1942 แล้ว แถมรัฐบาลยังพยายามปิดข่าวด้วย เมื่อมีหนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่ง พยายามรายงานเรื่องดังกล่าว รัฐบาลกั๋วมินตั๋งถึงกับสั่งให้ปิดบริษัทของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเป็นเวลาสามวัน

การหลบหนี

ชาวบ้านที่เหอหนานต่างพยายามหลบหนีเอาตัวรอดไปยังมณฑลอื่น แต่การเดินทางไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้หญิงสูงอายุที่รัดเท้าตามประเพณีแทบไม่สามารถเดินได้ ลูกๆ ของพวกเธอจึงต้องคอยอุ้มไป ส่วนพวกเด็กๆ ก็ต้องช่วยพ่อแม่หิ้วของ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า พวกเด็กๆ หิ้วของที่ใหญ่กว่าตัวเองเสียอีก

มิชชันนารีตะวันตกที่เห็นเหตุการณ์ให้ข้อมูลว่า พวกที่หนีไปจากเหอหนานได้ล้วนแต่เป็นพวกที่แข็งแรง พวกที่เหลืออยู่ที่เหอหนานล้วนแต่เป็นคนแก่และอ่อนแอเกินกว่าจะเดินทางไปได้ ส่วนบางคนห่วงเรือกสวนไร่นาของตัวเอง พวกเขาจึงยอมอยู่ที่เหอหนานต่อไป และแสวงหารากไม้และดินมากินเพื่อประทังชีวิต

ไวท์เล่าว่าที่เหอหนาน พ่อแม่บางคนจำต้องทิ้งลูกหรือฆ่าลูกในไส้ของตนเองเพื่อที่จะได้รอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีการฆ่ากินศพอยู่บ่อยๆ ด้วย บางเรื่องกลายเป็นเรื่องสยองขวัญที่พูดปากต่อปากไปทั่วมณฑล

ต่อมาไม่นาน ในเหอหนานยังเกิดโรคระบาดอีกด้วย ผู้คนที่อ่อนแออยู่แล้วยิ่งล้มตายเร็วมากขึ้นไปอีก

เหอหนานในเวลานั้นจึงไม่ต่างอะไรกับนรกบนดิน

การช่วยเหลือที่น่าอัปยศ

รัฐบาลกั๋วมินตั๋งอนุมัติการช่วยเหลือให้กับเหอหนานเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 200,000,000 เหรียญสหรัฐ (ไม่ปรากฏว่าในเวลานั้นเป็นกี่หยวน) ทว่าสิ่งที่ชาวเหอหนานต้องการไม่ใช่เงิน แต่เป็นอาหารต่างหาก

เมื่อเงินจำนวนนั้นมาถึงเหอหนาน พวกพ่อค้าทั้งหลายปฏิเสธที่จะรับมัน เพราะมันไม่มีความน่าเชื่อถือเสียเลยจากการที่มันเป็นเงินที่เพิ่งจะพิมพ์มาใหม่ๆ แบบสดๆ ร้อนๆ เงินที่จัดสรรมาจึงสูญเปล่าและไม่ได้ไรเลย

ทำไมรัฐบาลกั๋วมินตั๋งถึงทำเช่นนั้น?

สาเหตุคือมณฑลอื่นๆ ปฏิเสธที่จะส่งเสบียงที่พวกตนเหลืออยู่ไปยังเหอหนาน เจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้เสบียงเหล่านั้นหาประโยชน์ส่วนตน พวกเขากินเลี้ยงอย่างอิ่มเอม และฉวยโอกาสคอรัปชั่นโดยขายเสบียงเหล่านั้นในราคาสูงๆ ทำให้ไม่มีใครต้องการส่งสิ่งเหล่านี้ไปช่วยมณฑลที่กำลังเป็นนรกบนดินเลย

ถึงกระนั้น เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่เป็นการจัดการที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิงของรัฐบาลกั๋วมินตั๋ง และตัวเจียงไคเช็กเอง

ในเวลาต่อมา รัฐบาลกั๋วมินตั๋งอนุมัติการช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นข้าวสารจำนวนหนึ่งหมื่นถัง และข้าวอื่นๆ อีกสองหมื่นถัง แต่พลเมืองที่เหอหนานมีมากถึง 10 ล้านคน! ชาวบ้านจึงได้รับแจกเป็นข้าวสารเพียงแค่เพียงกำมือเดียวเท่านั้น

ผู้ที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจังกลับเป็นองค์กรของมิชชันนารีคริสเตียนที่นำเสบียงมาแจกจ่ายกับประชาชนที่หิวโหย

จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเวลา 2-3 ปีนั้นมีอย่างน้อยถึง 2 ล้านคน เมืองใหญ่ๆ อย่างเจิ้งโจว เหลือพลเมืองเพียง 1 ใน 3 ของช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติเท่านั้น

บทเรียนที่ไม่มีใครจำ

ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนี้กลับเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เหมาเจ๋อตงได้ใช้เป็นโอกาสในการโฆษณาชวนเชื่อว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์เห็นใจประชาชนมากกว่า เพราะว่าพลเมืองที่อยู่ในการปกครองของพวกคอมมิวนิสต์ได้รับการลดภาษีในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของเหมาที่มีอำนาจในภายหลังกลับไม่เคยจำบาดแผลอันเจ็บปวดนี้เลย รัฐบาลคอมมิวนิสต์มีส่วนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ในช่วงปี ค.ศ.1958-1962 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าเหตุการณ์ที่เหอหนานหลายเท่า

ปัจจุบันเหตุการณ์ภัยแล้งที่เหอหนานกลายเป็นภัยพิบัติที่ถูกลืม และไม่มีใครกล่าวถึงมันเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเพราะมันถูกกลบโดยสงครามโลกครั้งที่สอง และการอดอาหารที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคอมมิวนิสต์

ดูรูปความอดอยากได้ ที่นี่

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!