ประวัติศาสตร์อู๋ซานกุ้ย กระทาชายจอมทรยศแห่งสองราชวงศ์หมิง-ชิง

อู๋ซานกุ้ย กระทาชายจอมทรยศแห่งสองราชวงศ์หมิง-ชิง

ถ้าพูดถึง “คนทรยศ” ในหน้าประวัติศาสตร์จีนแล้ว ชื่อของคนผู้นี้ต้องอยู่ในลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน

เขาคือ อู๋ซานกุ้ย (吳三桂) ความทรยศของเขาอยู่ในระดับเดียวกันกับ พวกฮั่นเจียนที่เข้าข้างญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่น หรืออาจจะร้ายกว่าด้วยซ้ำไป เพราะอู๋ซานกุ้ยทรยศทั้งราชวงศ์หมิงและชิง

อู๋ซานกุ้ยมีส่วนสำคัญทำให้ชาวจีนต้องอยู่ภายใต้การปกครองของชาวต่างชาตินานเกือบสามร้อยปี จนกระทั่งซุนยัดเซ็น หวงชิง ชิวจิ่น และคนอื่นๆ ช่วยกันล้มล้างราชวงศ์ชิงได้ในที่สุด

อู๋ซานกุ้ยในเครื่องแบบราชวงศ์ชิง

เรามาดูวีรกรรมของชายผู้นี้กันดีกว่า

ความกล้าของอู๋ซานกุ้ย

อู๋ซานกุ้ยเกิดในปี ค.ศ.1612 ตระกูลของเขาเป็นตระกูลนักรบมาหลายชั่วคน เขาเป็นคนมีความสามารถมากคนหนึ่ง เห็นได้จากการที่เขาสามารถสอบได้ตำแหน่งจวี่เหริน หรือ บัณฑิตทางทหารได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก

เมื่อสอบได้แล้วอู๋ซานกุ้ยได้เข้าประจำการในกองทัพหมิงในดินแดนเหลียวตง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาณาจักรซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองจีน อู๋ซานกุ้ยจึงคุมกองทัพปะทะกับพวกแมนจูอยู่เนืองๆ

มีอยู่วันหนึ่ง อู๋เซียง บิดาของเขาถูกทหารแมนจูนับหมื่นล้อมเอาไว้ อู๋ซานกุ้ยพยายามขอความช่วยเหลือจากที่ต่างๆ แต่ไม่มีใครยอมให้การช่วยเหลือเลย แม้กระทั่งจูต้าโซ่ว น้องชายของแม่ของอู๋ซานกุ้ยเองก็ยังปฏิเสธ เพราะเกรงว่าช่วยไปก็ช่วยไม่ได้ และจะทำให้ทหารไปตายมากขึ้นเสียเปล่าๆ

อู๋ซานกุ้ยจึงตัดสินใจเลือกทหารม้าอาสาสมัครจำนวน 20 คน ซึ่งเป็นทหารที่ใกล้ชิดกับเขาไปช่วยเหลือบิดา อู๋ซานกุ้ยขี่ม้านำทหารม้า 20 นาย บุกเข้ากลางกองทัพแมนจู ตัวเขาตรงเข้าหาแม่ทัพแมนจูและสังหารได้สำเร็จ พร้อมกับอาศัยจังหวะชุลมุนช่วยบิดาออกมาได้

ความกล้าหาญของอู๋ซานกุ้ยเป็นที่เลี่องลือทั้งในกองทัพหมิงและกองทัพแมนจู จูต้าโซ่วจึงทูลให้จักรพรรดิฉงเจินแห่งราชวงศ์หมิงเลื่อนตำแหน่งให้กับเขา อู๋ซานกุ้ยจึงได้เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารจรยุทธ์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปีเท่านั้น

ปะทะกับพวกแมนจู

อู๋ซานกุ้ยยังคงอยู่ที่เหลียวตงต่อไป และปะทะกับกองทัพแมนจูอีกหลายต่อหลายครั้ง และสร้างความดีความชอบได้มากมาย ทำให้เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นแม่ทัพในช่วงปี ค.ศ.1638 ต่อมาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นแม่ทัพชายแดนประจำการที่เมืองหนิงหย่วน อันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญที่ป้องกันพวกแมนจู

ระหว่างที่อยู่ที่หนิงหย่วน อู๋ซานกุ้ยฝึกกองทัพของเขาอย่างขยันขันแข็ง ความอุตสาหะทำให้กองทัพของเขาแข็งแกร่งที่สุดในบรรดากองทัพหมิงทั้งหมด กองทัพของเขาปะทะกับกองทัพแมนจูครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1640 ทั้งสองฝ่ายได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ยังไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะ

ในปี ค.ศ.1641 ระหว่างที่ฝ่ายหมิงและแมนจูกำลังเจรจากันอยู่ ฉงเจินฮ่องเต้มีรับสั่งให้อู๋ซานกุ้ยเข้าโจมตีฝ่ายแมนจู การโจมตีของอู๋ซานกุ้ยไม่สามารถเอาชนะกองทัพแมนจูได้ และถูกตีถอยออกมาอย่างง่ายดาย

ราชสำนักแมนจูโกรธมากจากการถูกลอบโจมตีครั้งนั้น นับตั้งแต่บัดนั้นจึงเลิกการเจรจาใดๆกับราชสำนักหมิงอีก

การต่อสู้ระหว่างทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้นตลอดช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ.1641 อู๋ซานกุ้ยพยายามช่วงชิงความได้เปรียบด้วยการเป็นฝ่ายรุก แต่กองทัพแมนจูแข็งแกร่งมาก ทำให้อู๋ซานกุ้ยไม่สามารถเอาชนะพวกแมนจูได้

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1641 กองทัพแมนจูเปลี่ยนกลับเป็นฝ่ายรุก ทำให้ฝ่ายหมิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แม่ทัพหมิงคนหนึ่งถอยทัพหนีไปโดยพลการ ทำให้เกิดช่องโหว่ในแนวต้านทานของฝ่ายหมิง

สำหรับครั้งนี้ แทนที่อู๋ซานกุ้ยจะกล้าหาญเหมือนกับครั้งก่อนๆ เขากลับหนีตามแม่ทัพหมิงผู้นั้นไปด้วยเช่นกัน แต่หนีไปด้วยวิธีการอันชาญฉลาด เขาคาดการณ์การสกัดของกองทัพแมนจูออก และตีฝ่าออกไปในเส้นทางที่มีทหารแมนจูน้อยได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามว่ากันว่า หวงไท่จี๋ ข่านและจักรพรรดิของพวกแมนจูมองเห็น “ประโยชน์” ของอู๋ซานกุ้ย เขาจึงไม่ได้สั่งให้กองทัพม้าแมนจูยกติดตามไป แม้ว่าจะสามารถทำได้ก็ตาม

การหนีครั้งนั้นทำให้กองทัพแมนจูทำลายกองทัพหมิงจนแตกยับเยิน ทหารหมิงมากกว่าห้าหมื่นคนพลีชีพกลางสมรภูมิ การหนีของอู๋ซานกุ้ยแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนเก่ง แต่เป็นคนที่ปราศจากคุณธรรม เขาพร้อมที่จะละทิ้งผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด

ตามกฎของกองทัพแล้ว การหนีทัพของอู๋ซานกุ้ยมีโทษประหาร แต่เรื่องแปลกกลับเกิดขึ้น อู๋ซานกุ้ยไม่โดนลงโทษอะไรเลย ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเขาไม่น้อยในราชสำนัก

ทรยศต่อชาวจีน

ในปี ค.ศ.1642 กองทัพแมนจูสามารถตีเมืองสำคัญนอกด่านได้ถึง 4 หัวเมือง ราชสำนักหมิงเองไม่มีกำลังจะไปตีสกัด เพราะในตอนนั้นกำลังวุ่นวายกับการปราบกบฏหลี่จื้อเฉิงที่คุกคามราชวงศ์อยู่

หวงไท่จี๋ได้สั่งสาส์นมาเสนอให้อู๋ซานกุ้ยยอมจำนนต่อแมนจู และเปิดทางให้กองทัพแมนจูยาตราทัพผ่านกำแพงเมืองจีน แต่อู๋ซานกุ้ยยังคงปฏิเสธ อู๋ซานกุ้ยเป็นคนฉลาด เขารู้ดีว่าเขาจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในไม่ช้า เขาจึงอยากจะดูสถานการณ์ให้แน่ใจก่อน

สองปีต่อมา กองทัพหลี่จื้อเฉิงเข้าใกล้กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของราชวงศ์หมิง ฮ่องเต้ฉงเจินจึงเรียกให้อู๋ซานกุ้ยและทหารอีกสี่หมื่นคนของเขามายังปักกิ่งเพื่อป้องกันกองทัพกบฏของหลี่จื้อเฉิง

แต่ก่อนที่กองทัพของอู๋ซานกุ้ยจะมาถึงปักกิ่ง อู๋ซานกุ้ยได้ทราบว่าปักกิ่งแตก และฮ่องเต้ฉงเจินปลงพระชนม์ตนเองจนสวรรคตไปแล้ว อู๋ซานกุ้ยจึงนำกำลังไปรักษาซานไห่กวน ด่านสำคัญของกำแพงเมืองจีนเอาไว้

จักรพรรดิฉงเจิน

สำหรับอู๋ซานกุ้ยแล้ว เขาอยู่ในวงล้อมของกองทัพแมนจูทางตอนเหนือและกองทัพกบฏทางตอนใต้ อำนาจรัฐของราชวงศ์หมิงไม่มีอยู่แล้ว ตัวเขาที่เป็นแม่ทัพราชวงศ์หมิงจึงไม่มีหวังว่าจะมีกองทัพหมิงมาปลดแอก

อย่างไรก็ดีทั้งกองทัพกบฏและแมนจูไม่ต้องการทำสงครามกับอู๋ซานกุ้ย ทั้งสองฝ่ายล้วนแต่อยากให้อู๋ซานกุ้ยยอมจำนนต่อฝ่ายตนทั้งสิ้น แต่ฝ่ายกบฏได้เปรียบเพราะได้จับกุมอู๋เซียง บิดาของอู๋ซานกุ้ยเอาไว้ด้วย ทำให้ตอนแรกอู๋ซานกุ้ยคิดจะยอมจำนนต่อฝ่ายกบฏ

เหตุการณ์ช่วงนี้คลุมเครือมากๆ มีเรื่องเล่ามากมายที่เล่าถึงสาเหตุที่อู๋ซานกุ้ยยอมจำนนต่อฝ่ายแมนจู อาทิเช่น

  • อู๋ซานกุ้ยทราบว่ากองทัพกบฏไม่ต่างอะไรกับพวกโจร และต่อมายังทราบว่าบิดาของเขาถูกทรมานด้วย เขาจึงยอมจำนนต่อฝ่ายแมนจู
  • อู๋ซานกุ้ยทราบว่าหลี่จื้อเฉิงได้ล่วงเกินเฉินหยวนหยวน หญิงงามที่เป็นคนรักของตน เขาจึงยอมจำนนต่อกองทัพแมนจู

เรื่องที่สองนี้มีชื่อเสียงมาก แต่นักประวัติศาสตร์มองว่าน่าจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาในยุคหลัง

อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญจริงๆ คือ การที่หลี่จื้อเฉิงนำกองทัพกบฏมาคุกคามอู๋ซานกุ้ยที่ด่านซานไห่กวน อู๋ซานกุ้ยรู้ดีว่ากองทัพของเขาต้านกองทัพกบฏเอาไว้ไม่อยู่ ดังนั้นทางเลือกทางเดียวคือยอมจำนนต่อกองทัพแมนจู

จริงๆแล้วฝ่ายแมนจูได้ติดต่อกับอู๋ซานกุ้ยมานานแล้วเช่นกัน อู๋ซานกุ้ยพยายามต่อรองว่าให้พวกแมนจูยึดครองภาคเหนือของจีนเท่านั้น และปล่อยให้ภาคใต้อยู่ในการครอบครองของราชวงศ์หมิง แต่ดอร์กอน แม่ทัพใหญ่ฝ่ายชิงปฏิเสธ อู๋ซานกุ้ยจึงยังไม่ยอมจำนน

จนกระทั่งเมื่อกองทัพกบฏมาถึงซานไห่กวน อู๋ซานกุ้ยเห็นจวนตัว เขาจึงตัดสินใจยอมรับข้อเสนอของดอร์กอนโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อเอาตัวรอด

การยอมจำนนของอู๋ซานกุ้ยเป็นการขายเพื่อนร่วมชาติอย่างชัดเจนที่สุด เพราะชาวแมนจูเป็นชาวต่างชาติ ขณะที่พวกกบฏเป็นชาวฮั่นด้วยกัน นี่เป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่เขาโดนประณามมาถึงทุกวันนี้

กองทัพแมนจูที่เข้าด่านมาได้จากการที่อู๋ซานกุ้ยยอมจำนน ตีกองทัพกบฏที่ด่านซานไห่กวนจนแตกยับ และยึดครองกรุงปักกิ่งได้อย่างรวดเร็ว ชาวแมนจูจึงได้สถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้น

หลี่จื้อเฉิงที่หลบหนีมาจากปักกิ่งได้จึงสั่งให้ประหารชีวิตครอบครัวของอู๋ซานกุ้ยทั้งหมดเพื่อเป็นการแก้แค้น อู๋ซานกุ้ยจึงยิ่งชิงชังหลี่จื้อเฉิง เขาคุมกองทัพชิงเข้าปราบปรามกองทัพกบฏที่เป็นชาวฮั่นด้วยกันจนแตกกระเจิง

ราชสำนักแมนจูตอบแทนความดีความชอบของอู๋ซานกุ้ยด้วยการยกเขาขึ้นเป็น “ฉินหวาง” หรือกษัตริย์แห่งฉิน ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าเชื้อพระวงศ์ระดับสูง

อย่างไรก็ตามอู๋ซานกุ้ยสังเกตเห็นว่าพวกแมนจูน่าจะระแวงตน เพราะแม้จะได้รับตำแหน่งอันสูงส่ง เขาถูกส่งไปประจำการในดินแดนที่ไม่มีความสำคัญ อู๋ซานกุ้ยจึงขอคืนตำแหน่งดังกล่าวแก่ราชสำนักชิงไป โดยแลกกับการประจำการในดินแดนที่มีทรัพยากรและทหารมากๆ ราชสำนักชิงก็ไม่ปฏิเสธแต่อย่างใด

สังหารจักรพรรดิราชวงศ์หมิง

ในช่วงปี ค.ศ.1648-1652 เหล่าแม่ทัพชาวฮั่นที่ยอมจำนนต่อราชวงศ์ชิงร่วมมือกันก่อกบฏ ทำให้สถานการณ์ปั่นป่วนไปทั่ว แต่ทว่าแทนที่อู๋ซานกุ้ยจะช่วยชาวฮั่นด้วยกัน อู๋ซานกุ้ยกลับช่วยพวกแมนจูปราบกบฏเหล่านี้

เขามีบทบาทสำคัญในการตีกองทัพชาวฮั่นแตกกระเจิงครั้งแล้วครั้งเล่า ราชสำนักแมนจูจึงเห็นว่าเขาจงรักภักดี และเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นอีก พร้อมกับให้อำนาจในการคุมกองทัพและดินแดนอันกว้างใหญ่ด้วย

เมื่อราชสำนักชิงทราบว่า หย่งลี่ ฮ่องเต้ของราชวงศ์หมิงใต้หนีไปที่พม่า เพื่อเป็นการสกัดกั้น ราชสำนักชิงจึงส่งอู๋ซานกุ้ยนำกองทัพใหญ่ไปยังชายแดนที่ติดกับพม่าเพื่อกำจัดหย่งลี่ให้ได้

อู๋ซานกุ้ยขอให้ราชสำนักชิงอนุญาตให้ตนเองนำกองทัพบุกเข้าไปในพม่า เขาต่อรองกับราชสำนักอังวะว่าให้ส่งหย่งลี่มาให้เขาเสียจะได้ไม่ต้องทำสงครามกัน ราชสำนักพม่าจึงยินยอมส่งตัวหย่งลี่ให้แต่โดยดี

หลังที่ได้ตัวหย่งลี่มาได้ไม่นาน อู๋ซานกุ้ยจึงสังหารหย่งลี่เสียด้วยการรัดคอ ซึ่งเขาเป็นผู้ลงมือด้วยตนเอง

ในวาระสุดท้ายหย่งลี่ด่าอู๋ซานกุ้ยว่าทรยศต่อราชวงศ์หมิงและเพื่อนร่วมชาติ และขอให้อู๋ซานกุ้ยฆ่าเขาเสียให้ไวๆ เพราะว่าเขารู้สึกรังเกียจที่จะต้องเห็นหน้าคนทรยศ

ด้วยความดีความชอบนี้ ทำให้ราชสำนักแมนจูตั้งให้อู๋ซานกุ้ยเป็นผิงซีหวาง และได้รับมณฑลยูนนานทั้งมณฑลเป็นดินแดนในปกครอง

ทรยศต่อราชวงศ์ชิง

ในปี ค.ศ.1662 เป็นปีแห่งความรุ่งโรจน์ของอู๋ซานกุ้ย เพราะเขาได้มณฑลกุ้ยโจวเป็นดินแดนในปกครองอีกหนึ่งมณฑล และบุตรชายของเขายังได้แต่งงานกับเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ชิงด้วย

ราชสำนักแมนจูไม่เคยไว้ใจอู๋ซานกุ้ย แต่ต้องใช้อู๋ซานกุ้ยไปก่อนเพราะยังไม่สามารถจัดการการปกครองแผ่นดินจีนให้อย่างมั่นคง อู๋ซานกุ้ยเองก็ทราบดี เขาจึงรวบรวมทั้งเสบียงกรัง กองทัพ และทรัพยากรอย่างเงียบๆ เพื่อที่จะก่อการกบฏในไม่ช้า

เมื่อคังซีฮ่องเต้ขึ้นเสวยราชย์ คังซีที่เป็นฮ่องเต้หนุ่มปรารถนาจะกำจัดอิทธิพลของอู๋ซานกุ้ย และแม่ทัพฮั่นคนอื่นๆ อย่างส่างเขอสี่ และเกิ่งจิงจง เพราะทั้งสามครอบครองดินแดนอันกว้างใหญ่ และมีผู้คนมาก

การปล่อยบุคคลทั้งสามให้ครองอำนาจอยู่เช่นนี้อาจจะทำให้ราชวงศ์ชิงซ้ำรอยราชวงศ์ถังได้ แต่การจะทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งสามอาจก่อกบฏก่อนที่ราชสำนักพร้อมที่จะปราบปราม

อู๋ซานกุ้ย

ในปี ค.ศ.1673 ส่างเขอสี่ หนึ่งในแม่ทัพฮั่นที่มีอำนาจขอคืนดินแดนและอำนาจทั้งหมดให้ราชสำนักเพราะว่าป่วย อู๋ซานกุ้ยและเกิ่งจิงจงก็ทำเช่นเดียวกัน แต่เจตนาของสองคนหลังคือการทดสอบว่าราชสำนักชิงกลัวพวกตนหรือไม่ ถ้าราชสำนักกล้าให้พวกตนพ้นจากตำแหน่งก็แปลว่าไม่กลัว

ภายในราชสำนักชิงมีการโต้เถียงกันอย่างมากในประเด็นนี้ แต่คังซีตัดสินใจให้ทั้งสามพ้นจากตำแหน่ง แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงก็ตาม สำหรับส่างเขอสี่ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเขาต้องการเกษียณตัวเองอยู่แล้ว

ฝ่ายอู๋ซานกุ้ยและเกิ่งจิงจงเห็นว่าถ้าพวกตนพ้นจากตำแหน่ง สิ่งที่ลงทุนทำมาตลอดหลายสิบปีก็จะล้มเหลว ดังนั้นทั้งสองจึงก่อกบฏขึ้นในปลายปี ค.ศ.1673 การคิดคดครั้งนี้จึงเป็นการทรยศราชวงศ์ชิง หรือการทรยศครั้งที่สองของเขา

การกบฏครั้งนี้เป็นการกบฏครั้งใหญ่ เพราะอู๋ซานกุ้ยและเกิ่งจิงจงมีอำนาจมาก โดยเฉพาะอู๋ซานกุ้ยซึ่งในขณะนั้นอายุ 60 เศษแล้ว กองทัพของอู๋ซานกุ้ยพิชิตมณฑลกว่างซี หูหนาน หูเป่ย และซื่อชวน (เสฉวน) ได้ราวกับลมพัด และยังไล่ตีกองทัพแมนจูแตกยับเยินด้วย

นอกจากนี้พวกกบฏยังได้รับกำลังสนับสนุน เพราะหลังจากที่ส่างเขอสี่ตายลง ส่างจื่อซินและดินแดนของเขาก็ก่อกบฏด้วย ภายในปี ค.ศ.1676 ราชสำนักชิงมีภัยคับขัน เพราะพวกกบฏสามารถช่วงชิงมณฑลได้ถึง 11 มณฑล หรือดินแดนทางตอนใต้ทั้งหมด

ชัยชนะในช่วงนี้ทำให้อู๋ซานกุ้ยสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ และสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นในปี ค.ศ.1678

จบชีวิตอู๋ซานกุ้ย

หลังจากที่อู๋ซานกุ้ยเป็นฮ่องเต้ได้ไม่นาน ตัวเขากลับล้มป่วยและเสียชีวิตลงด้วยวัย 65 ปีเศษ การจากไปของเขาทำให้พวกกบฏอ่อนแอลง และถูกปราบปรามอย่างราบคาบในเวลาต่อมา

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้าอู๋ซานกุ้ยไม่ป่วยตายเสียก่อน เขาจะก่อกบฏต่อราชวงศ์ชิงสำเร็จหรือไม่? เพราะตัวเขาเป็นแม่ทัพที่มีความสามารถมาก เขาจะผลักดันราชวงศ์ชิงของชาวแมนจูออกไปนอกด่านได้หรือเปล่า?

คำถามนี้คงไม่มีใครตอบได้

แต่ที่แน่ๆ คือ ชื่ออู๋ซานกุ้ยได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการทรยศไปแล้วเรียบร้อย แม้กล่าวถึงอู๋ซานกุ้ย ชาวจีนจะทราบทันทีว่าหมายถึงจอมทรยศอันดับต้นๆ ของประวัติศาสตร์จีน

Sources:

  • Wakeman, The Great Enterprise: The Manchu Reconstruction of Imperial Order in Seventeenth-Century China
  • Porter. Imperial China, 1350–1900

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!