เมื่ออวี่เหวินไท่ได้ทราบว่าเซียวอี้เสนอให้ยกทัพเข้าตีเซียวจี้ เขาก็แทบจะตอบรับในทันที เพราะตระหนักว่านี่เป็นโอกาสอันหาได้ยากที่จะตีชิงดินแดนซื่อชวน (เสฉวน) อันอุดมสมบูรณ์มาเป็นของเว่ยตะวันตก
กองทัพใหญ่ของเว่ยตะวันตกบุกลงใต้ราวกับลมพัด ในเวลาไม่นานก็มาถึงเมืองเฉิงตู เมืองหลวงของเซียวจี้ ฝ่ายกองทัพเหลียงนั้นก็ยาตรามาเช่นกัน ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าเซียวจี้ไม่อาจจะต้านทานไว้ได้ ท้ายที่สุดเขาก็ถูกสังหาร ส่วนเมืองต่างๆ ในซื่อชวนนั้นก็ถูกกองทัพเว่ยตะวันตกยึดไว้ได้จนหมด
ผลที่ตามมาก็คืออาณาจักรเหลียงสูญเสียดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ให้เว่ยตะวันตกไปอย่างถาวร เพียงเพราะเซียวอี้ต้องการจะกำจัดพี่น้องที่เห็นว่าเป็นศัตรูแย่งราชสมบัติเท่านั้น แต่ความเขลาของเซียวอี้ยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้
สิ้นบัลลังก์
ในเวลานั้นเมืองหลวงของเซียวอี้ที่ตั้งตนเป็นฮ่องเต้นั้นอยู่ที่เจียงหลิง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นเก่าของตน ไม่ใช่เจี้ยนคังที่เป็นเมืองหลวงเดิม เมืองเจียงหลิง (หรือเกงจิ๋วในนิยายสามก๊ก) นี้มีข้อดีอยู่คือเป็นเมืองที่ร่ำรวยมั่งคั่ง แต่ข้อเสียก็คืออยู่ใกล้พรมแดนที่ติดกับเว่ยตะวันตกมาก เพราะฉะนั้นถ้าเว่ยตะวันตกคิดจะเป็นศัตรู แค่เดินทัพไม่กี่วันจากชายแดนก็ถึงเมืองหลวงของฝ่ายเหลียงแล้ว
หลังจากกำราบเซียวจี้ได้สำเร็จ เซียวอี้ก็ต้องการย้ายเมืองหลวงกลับไปยังเจี้ยนคัง แต่ก็ตัดสินใจไม่ได้ เพราะตัวเมืองเสียหายหนักไม่น้อยจากสงครามกลางเมืองช่วงโหวจิ่งที่เหลียงหวู่ตี้ถูกล้อมอยู่ด้านในถึงเกือบปีหนึ่ง
ท้ายที่สุดเซียวอี้จึงต้องคงเมืองหลวงที่เมืองเจียงหลิงต่อไป โดยไม่ที่ไม่ได้ตระหนักว่าหายนะจะมาถึงพระองค์ในไม่ช้า
ในช่วงปี ค.ศ.554 เซียวอี้รับทูตจากสองอาณาจักรทางตอนเหนือ นั่นคือเว่ยตะวันตกที่เคยเป็นพันธมิตรกัน และเป่ยฉี ทว่าในเวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างเหลียงกับเว่ยตะวันตกกลับเลวร้ายลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ (ถ้าให้เดาคงเป็นเรื่องดินแดนเสฉวนที่เว่ยตะวันตกยึดไว้ ทำให้เซียวอี้นั้นให้การต้อนรับทูตเป่ยฉีอย่างดี ส่วนทูตเว่ยตะวันตกกลับต้อนรับแบบดูถูกดูแคลน มิหนำซ้ำยังส่งสาส์นไปในเชิงข่มขู่ว่าให้เว่ยตะวันตกคืนดินแดนที่ยึดไปได้กลับมาให้ตน
เมื่ออวี่เหวินไท่ได้ทราบความทั้งหมดก็โกรธจัด เขาด่าว่าคนอย่างเซียวอี้นั้นเป็นคนที่สวรรค์ทอดทิ้ง และไม่ว่าใครที่ไหนจะช่วยเหลือก็ไม่ได้ หลังจากนั้นก็ให้เตรียมกองทัพใหญ่ยกไปตีอาณาจักรเหลียงของเซียวอี้
การเตรียมการของเว่ยตะวันตกนั้นถูกรายงานไปเข้าหูของเซียวอี้ แต่เซียวอี้กลับประมาท เพราะคิดว่าเว่ยตะวันตกคงจะไม่ยกทัพมาโจมตี ซึ่งก็เป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะอวี่เหวินไท่ยกกองทัพหลวงมาด้วยตนเอง และเข้าล้อมเมืองเจียงหลิงที่อยู่ใกล้ชายแดนตนอยู่อย่างหนาแน่น
ถึงเวลานั้นเซียวอี้ก็รู้ตัวว่าตนเองไม่มีทางรอดแน่ เพราะกองทัพสนับสนุนนั้นอยู่ห่างไกล และไม่ได้มีการเตรียมทัพอะไรไว้เลย เซียวอี้กลับทำสิ่งที่สร้างหายนะต่อประวัติศาสตร์จีนมากที่สุดครั้งหนึ่งด้วยการเผาหนังสือโบราณที่ตนเองเก็บสะสมมาทั้งหมด ซึ่งมีเอกสารเก่าแก่ถึง 140,000 ฉบับ ทำให้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หลักฐานในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงก่อนหน้านั้นไม่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากเผาหนังสือเสร็จแล้ว พวกขุนนางเสนอให้เซียวอี้ตีฝ่าออกไปจากเจียงหลิง แต่เซียวอี้กลับคิดว่าหนีไปแล้วก็น่าจะไม่รอด ดังนั้นจึงเปิดประตูเมืองไปยอมจำนนโดยอวี่เหวินไท่โดยเสียดื้อๆ ไม่กี่เดือนต่อมาเซียวอี้ก็ถูกประหารชีวิตพร้อมบุตรชาย และนำร่างไปฝังไว้ที่นอกเมืองเจียงหลิง โดยไม่ได้มีพิธีศพเหมือนกับจักรพรรดิใดๆ ทั้งสิ้น ร่างของเซียวอี้ต้องรออีกหลายปี จนกระทั่งราชวงศ์เฉินถูกสถาปนาขึ้น เฉินเหวินตี้ถึงให้จัดพิธีศพย้อนหลังให้ตามธรรมเนียม
แผ่นดินที่ล่มสลาย
การตายของเซียวอี้ทำให้แผ่นดินว่างฮ่องเต้ ฝ่ายเป่ยฉีจึงฉวยโอกาสส่งกองทัพเพื่อสนับสนุนเซียวหยวนหมิง ราชนิกูลปลายแถวคนหนึ่งเป็นฮ่องเต้ โดยราชสำนักเป่ยฉีหวังว่าฮ่องเต้เหลียงองค์ใหม่จะยอมอ่อนน้อมเป็นรัฐในอารักขาของเป่ยฉี
กองทัพเป่ยฉีนั้นมีชัยเหนือกองทหารเหลียงที่ต่อต้านอย่างรวดเร็ว ทำให้สุดท้ายเฉินปาเซี่ยน และหวังเซิงเปี้ยน สองแม่ทัพที่กุมอำนาจในเจี้ยนคังต้องยินยอม เพราะเกรงในความแข็งแกร่งของกองทัพเป่ยฉี
ทว่าเฉินปาเซี่ยนนั้นได้ซ่อนคมเอาไว้ และรอเวลาเหมาะๆ ที่จะกำจัดเซียวหยวนหมิงที่เป็นหุ่นเชิดของเป่ยฉี ในปี ค.ศ.555 เฉินปาเซี่ยนได้ก่อรัฐประหารด้วยการสังหารหวังเซิงเปี้ยน และถอดเซียวหยวนหมิงออกจากตำแหน่งฮ่องเต้ แล้วให้เซียวฟางจื้อเป็นฮ่องเต้แทน ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองเว่ยตะวันตกก็ได้สถาปนาเซียวฉาเป็นฮ่องเต้ที่เจียงหลิง ทำให้เหลียงกลายเป็นสองอาณาจักรคู่ขนานกัน โดยอาณาจักรของเซียวฉานั้นเรียกว่าซีเหลียง หรือเหลียงตะวันตก โดยมีสถานะเป็นเมืองขึ้นอย่างเป็นทางการต่อเว่ยตะวันตก
ในเวลานั้นอาจจะเรียกได้ว่าทุกสิ่งที่ค้ำจุนราชวงศ์เหลียงได้พังพินาศไปหมดแล้ว เพราะเซียวฟางจื้อที่นั่งบัลลังก์อยู่ที่เจี้ยนคังก็ไม่มีอำนาจ เนื่องจากทุกสิ่งอยู่ในกำมือเฉินปาเซี่ยนทั้งหมด
หลังจากนั้นเฉินปาเซี่ยนก็ได้ทำทุกอย่างเหมือนกับการแย่งชิงอำนาจในอดีต นั่นคือค่อยๆ บีบให้ฮ่องเต้เหลียงมอบตำแหน่งสูงขึ้นให้กับตนอย่างรวดเร็ว จากเฉินโหวเป็นเฉินหวางในเวลาเพียงไม่ถึงหกเดือน หลังจากนั้นไม่นาน เฉินปาเซี่ยนก็อัปเปหิเซียวฟางจื้อออกจากบัลลังก์ ราชวงศ์เหลียงจึงจบสิ้นอย่างเป็นทางการ และถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์เฉิน
ขณะที่ราชวงศ์ซีเหลียงนั้นอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงปี ค.ศ.587 โดยหลังจากที่ราชวงศ์สุยสถาปนาขึ้น สุยเหวินตี้โปรดให้ล้มล้างราชวงศ์เหลียง และถอดถอนจักรพรรดิซีเหลียงลงเป็นเหลียงโหว เป็นอันจบสิ้นเรื่องราวความวุ่นวายของราชวงศ์เหลียงโดยสมบูรณ์