ประวัติศาสตร์จาลัล อลดิน ตอนที่ 5: หลบหนีไปสู่ดินแดนอนุทวีปอินเดีย

จาลัล อลดิน ตอนที่ 5: หลบหนีไปสู่ดินแดนอนุทวีปอินเดีย

แม้ว่าจาลัล อลดินจะพ่ายศึกและสูญเสียครอบครัวแทบทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุด พระองค์ก็เอาชีวิตรอดมาได้ และอยู่ในฝั่งที่ปลอดภัยของแม่น้ำสินธุ ซึ่งกองทัพมองโกลยังไม่พร้อมที่จะไล่ตาม ทำให้จาลัล อลดินปลอดภัยขึ้นในระดับหนึ่ง

หลังจากนั้นไม่นานเหล่าทหารแควเรสเมียที่แตกหนีไปก็กลับมารวมกับจาลัล อลดินเช่นเดิม แน่นอนเพราะว่าพวกเขาไม่เห็นใครที่จะต่อต้านกองทัพมองโกลได้ดีกว่าจาลัล อลดินอีกแล้ว แม้ว่าพระองค์จะเพิ่งพ่ายแพ้ แต่การพ่ายแพ้ก็เป็นแบบมีเกียรติและศักดิ์ศรีกว่าครั้งใด

ทหารที่ข้ามฝั่งไปกับจาลัล อลดินได้สำเร็จนั้นน่าจะไม่เกิน 3,000-4,000 คน ซึ่งเพียงพอต่อการคุกคามแว่นแคว้นเล็กๆ ในอินเดียให้ตกอยู่ในอำนาจได้อยู่

เมือง Multan ประเทศปากีสถาน ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในอำนาจของจาลัล อลดิน by Ardentlone/Shutterstock

มุ่งสู่อินเดีย

อินเดียในช่วงศตวรรษที่ 13 นั้นแตกต่างกับในปัจจุบันอย่างมาก นั่นคือไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเดียว แต่เป็นอาณาจักรมากมาย โดยบริเวณตอนเหนือและตอนกลางนั้นถูกปกครองโดยสุลต่านชาวมุสลิม ซึ่งได้เข้ามารุกรานอินเดียก่อนหน้านี้ และได้สร้างเมืองหลวงเพื่อปกครองตนเองขึ้นที่นี่

ในเวลานั้นอาณาจักรที่แข็งแกร่งที่สุดในอินเดียก็คือรัฐสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ซึ่งมีสุลต่านนามว่า อิลทูมิช (Iltutmish) ปกครองภาคเหนือเกือบทั้งหมด และภาคกลางของอินเดีย แต่ดินแดนทางทิศตะวันตกนั้นก็ปกครองโดยหัวหน้าเผ่าและราชาที่ครองเมืองเล็กๆ ต่างๆ

เมื่อจาลัล อลดินเข้ามาถึงก็ได้พยายามปราบปราบหัวหน้าเผ่าและราชาที่ครอบครองเมืองเหล่านี้ แม้ว่าจะมีกำลังน้อยกว่ากองทัพอินเดีย แต่ทหารของจาลัล อลดินนั้นเคยปะทะกับกองทัพมองโกลมาแล้ว ดังนั้นเรื่องประสบการณ์การสู้รบไม่ต้องพูดถึง จาลัล อลดินจึงมีชัยอย่างง่ายดาย

ชัยชนะของจาลัล อลดินทำให้ดินแดนปัญจาบบางส่วนยอมอ่อนน้อมต่อพระองค์ ทำให้จาลัล อาดินสร้างฐานกำลังใหม่ที่มีขนาดย่อมเยาขึ้นมาทางทิศตะวันตกของรัฐสุลต่านแห่งเดลี เกิดเป็นภัยคุกคามที่สุลต่านอิลทูมิชเห็นว่าไม่ปลอดภัยสำหรับอาณาจักรของตน

การทูตที่เดลี

สำหรับจาลัล อลดินนั้นพระองค์ไม่สามารถรับศึกสามด้านได้ ในเวลานั้นพระองค์ต้องรับทั้งกองทัพมองโกลและศัตรูในดินแดนปัญจาบ ถ้ารัฐสุลต่านเดลีมาเป็นศัตรูกับพระองค์อีก นั่นเท่ากับว่าพระองค์มีศัตรูอยู่รอบทิศ ดังนั้นพระองค์จึงส่งทูตไปขอเจริญสัมพันธไมตรี โดยข้อเสนอของจาลัล อลดินคือ ขอให้สุลต่านแห่งเดลีอนุญาตให้พระองค์พำนักในดินแดนได้ รวมไปถึงสนับสนุนพระองค์ในการต่อต้านมองโกล

ข้อเสนอข้อแรกไม่ใช่ปัญหาสำหรับสุลต่านอิลทูมิช แต่ปัญหานั้นคือข้อที่สอง ในเวลานั้นรัฐสุลต่านแห่งเดลีเพิ่งจะรับทูตของเจงกิสข่านไปหมาดๆ โดยทูตมองโกลน่าจะเดินทางมาขอให้สุลต่านอย่าได้รับจาลัล อลดินเข้ามาไว้ในอาณาจักร

ดังนั้นสุลต่านอิลทูมิชจึงต้องเลือกว่าจะตอบสนองข้อเสนอของฝ่ายไหน จาลัล อลดินนั้นเป็นชาวมุสลิมด้วยกัน และกำลังหนีภัยพิบัติจากภายนอกมาพึ่งเย็น ส่วนพวกมองโกลนั้นแม้ว่าจะต่างศาสนา แต่ก็ได้สร้างความสะพรึงกลัวในดินแดนเอเชียกลางและเปอร์เซียมาแล้ว ถ้าพระองค์ปฏิเสธคำขอของเจงกิสข่าน เดลีอาจจะกลายเป็นแควเรสเมีย 2.0 ก็เป็นได้

ท้ายที่สุดแล้วอิลทูมิชจึงปฏิเสธข้อเสนอของจาลัล อลดินไป โดยอ้างว่าจาลัล อลดินเป็นกษัตริย์ ทำให้อาณาจักรของตนไม่มีที่ใดที่เหมาะสมกับจาลัล อลดิน แต่บางบันทึกว่าไว้ว่า นอกจากอิลทูมิชจะปฏิเสธแล้ว พระองค์ถึงกับยกกองทัพไปรบกับจาลัล อลดินเลยทีเดียว หลังจากปะทะกันเล็กน้อยถึงจะหย่าศึกกัน

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แบบใดก็ตาม แต่ที่แน่ๆ คือรัฐสุลต่านแห่งเดลีไม่ยอมรับจาลัล อลดินเข้ามา ซึ่งก็เป็นแนวทางการทูตที่ถูกต้อง เพราะไม่มีใครที่สติดีจะกล้าไปยั่วยุพวกมองโกลในเวลานั้น การทูตอันชาญฉลาดของอิลทูมิชาทำให้อินเดียปลอดภัยจากกองทัพมองโกลไปอีกถึง 70 ปี จนกระทั่งถูกรุกรานในช่วงปี ค.ศ.1300 แต่ฝ่ายอินเดียกลับได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดภายใต้สุลต่านอลาอุดดิน คัลจี

กลับเปอร์เซีย

แม้การทูตล้มเหลว จาลัล อลดินจึงพยายามแผ่อิทธิพลของตนเองต่อไปในดินแดนปัญจาบ ซึ่งทำให้ฐานกำลังของพระองค์มั่นคงขึ้นบ้าง แต่ก็เกิดกบฏแล้วกบฏเล่า ทำให้ทหารของพระองค๋ต้องทำศึกอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกันเจงกิสข่านก็ไม่เคยคิดจะปล่อยจาลัล อลดินไป เพราะเจ้าชายผู้นี้อาจจะกลับมาสร้างปัญหาเมื่อใดก็ได้ พระองค์จึงส่งกองทัพเข้าไปปราบปรามจาลัล อลดินถึงในดินแดนปัญจาบ อย่างไรก็ดีกองทัพมองโกลกองนี้กลับประสบความล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถตีป้อมปราการที่เมืองใหญ่อย่าง Multan ของจาลัล อลดินได้ ทำให้ต้องยกกองทัพกลับไป

สำหรับจาลัล อลดินนั้น พระองค์ทรงตระหนักดีว่าพระองค์ห้อมล้อมไปด้วยศัตรูที่แข็งแกร่งกว่าพระองค์มาก แถมสภาพอากาศในอินเดียก็ไม่เป็นมิตรกับทหารแควเรสเมียด้วย ด้วยเหตุนี้เพื่อมีคำเชิญจากน้องชายที่ปกครองดินแดนบางส่วนของเปอร์เซียให้เดินทางกลับไป จาลัล อลดินจึงไม่ลังเล พระองค์ทรงตระเตรียมผู้คน และออกจากดินแดนปัญจาบไปในช่วงปลายปี ค.ศ.1223

แต่จาลัล อลดินไม่ทราบเลยว่าชะตาชีวิตของพระองค์จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามพระองค์กำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้ว

ย้อนอ่านตอนเก่า

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!