ประวัติศาสตร์จาลัล อลดิน ตอนที่ 3: ชัยชนะครั้งใหญ่เหนือกองทัพมองโกล

จาลัล อลดิน ตอนที่ 3: ชัยชนะครั้งใหญ่เหนือกองทัพมองโกล

หลังจากที่เมือง Otrar แตก กองทัพมองโกลก็เข้าตีเมืองต่างๆ ในอาณาจักรของมูฮัมหมัด ชาห์ราวกับลมพัด ซึ่งเมืองต่างๆ แม้กระทั่งเมืองอย่างบูคาราและซามาร์คันด์ก็แตกอย่างรวดเร็ว ทหารแควราสเมียนและชาวเมืองต่างๆ ที่ไม่ยอมจำนนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม

ความรวดเร็วในการโจมตีของฝ่ายมองโกลนั้นทำให้มูฮัมหมัด ชาห์ไม่สามารถสร้างกองกำลังที่เข้มแข็งพอที่จะสู้รบกลางแปลงกับกองทัพม้ามองโกลได้เลยสักครั้งเดียว อันที่จริงแล้วพระองค์ไม่ได้แม้แต่จะยืนอยู่อย่างสงบเลยด้วยซ้ำ กองทัพมองโกลได้ทำให้พระองค์เป็นเหมือนกับสัตว์ป่าที่โดนไล่ล่า มูฮัมหมัด ชาห์เร่งหลบหนีไปตามเมืองต่างๆ โดยละทิ้งขัตติมานะในฐานะชาห์แห่งเปอร์เซียไปจนสิ้น

ระหว่างการหลบหนีนั้น จาลัล อลดินก็ได้เสด็จตามพระบิดาไปด้วย จนกระทั่งในปี ค.ศ.1220 มูฮัมหมัด ชาห์หนีไปไกลถึงดินแดนคอรัซซัน โดยพระองค์ได้หนีไปยังเกาะอันห่างไกลในทะเลแคสเปียน และได้ประชวรลงด้วยอาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบ และได้สวรรคตลงหลังจากนั้นไม่นานนัก

เมื่อสิ้นพระบิดาแล้ว จาลัล อลดินได้ประกาศว่าพระบิดาได้มอบบัลลังก์ให้กับตนในช่วงวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ และตัวเขาจะต่อสู้กับกองทัพมองโกลต่อไป

ทะเลแคสเปียน by Julia Ashikmina/ShutterStock

สถานการณ์อันยากลำบาก

จาลัล อลดินนั้นยังไม่สามารถสถาปนาตนเองเป็นชาห์ได้ เพราะอาณาจักรของพระองค์แตกสลายไปแล้ว เมืองต่างๆ นั้นไม่ยอมรับพระองค์เป็นชาห์เลยสักเมืองเดียว เดิมทีพระองค์คิดจะไปตั้งตัวที่เมือง Gurganj ซึ่งมีประชากร 90,000 คน และน่าจะใช้เป็นฐานที่มั่นได้อยู่ แต่ชนชั้นสูงของเมืองคิดจะกลุ้มรุมสังหารพระองค์ เคราะห์ดีที่มีผู้หวังดีมาเตือนล่วงหน้า ทำให้จาลัล อลดินหลบหนีไปได้สำเร็จ

จาลัล อลดินมีแค่ติมูร์ มาลิค (Timur Malik) และทหารม้าเพียง 300 คนเท่านั้น แต่ติมูร์ มาลิคผู้นี้เป็นแม่ทัพที่เก่งกาจสามารถมาก และเป็นหนึ่งในผู้ที่ต่อต้านกองทัพมองโกลอย่างแข็งแกร่งมาแล้วในสมรภูมิที่เมือง Khujand

ระหว่างที่จาลัล อลดินกำลังข้ามทะเลทรายคารากุม (Karakum desert) อยู่นั้น พระองค์ทรงเห็นว่ามีค่ายมองโกลตั้งอยู่ พระองค์จึงฉวยโอกาสเข้าโจมตี และสามารถสังหารทหารมองโกลได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงน้องชายสองคนของโตกาชาร์ บุตรเขยของเจงกิสข่านอีกด้วย

เมื่อกองบัญชาการมองโกลทราบก็เร่งส่งกองทัพมาไล่ล่าติดตามทันที จาลัล อลดินจึงต้องหนีไปตามเมืองต่างๆ แต่สุดท้ายกองทัพมองโกลก็คลาดกับพระองค์ที่บริเวณเมืองกาซนี เปิดโอกาสให้พระองค์เข้าเมืองขนาดใหญ่แห่งนี้ที่ยังไม่ได้เผชิญกับไฟสงคราม หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ก็ได้รับกำลังเสริม 30,000 คนจากญาติวงศ์ฝั่งมารดา ทำให้จาลัล อลดินเริ่มดำริถึงการตีโต้พวกมองโกลบ้าง

ตีโต้พวกมองโกล

การรุกเร็วของกองทัพมองโกลยังดำเนินต่อไป เมืองต่างๆ ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของอาณาจักรแควราสเมียล้วนแต่ถูกตีแตก กองทัพบางส่วนได้เริ่มเข้าตีเมืองคันดาฮาร์ (Kandahar) ซึ่งอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน

คันดาฮาร์นั้นอยู่ห่างจากกาซนีไปไม่ไกลนัก เพราะฉะนั้นอยู่ในจุดที่พระองค์จะยกทัพไปช่วยเหลือได้ จาลัล อลดินทราบดีว่าถ้าพระองค์ได้ชัยชนะจะเป็นการปลุกขวัญกำลังใจในหมู่ชาวเปอร์เซียให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่ง พระองค์จะแพ้ไม่ได้เป็นอันขาด

กองทัพของจาลัล อลดินจึงเข้าตีกองทัพมองโกลที่กำลังล้อมเมืองคันดาฮาร์อยู่ และได้ต่อสู้กันอย่างรุนแรงในช่วงเวลาสองวัน ผลปรากฏคือกองทัพแควราสเมียนได้รับชัยชนะอย่างหมดจด

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้จาลัล อลดินดำเนินกลยุทธ์นี้ต่อไป นั่นก็คือพระองค์จะส่งกองทัพเข้าตีด้านหลังของพวกมองโกลที่กำลังล้อมเมืองอยู่ ซึ่งจะทำให้พวกมองโกลไม่ทันตั้งตัวและหลบหนียากขึ้น กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นไม่นานจาลัล อลดินก็เข้าตีกองทัพมองโกลแตกอีกที่เมืองวาลิยัน (Valiyan) และชาริการ์ (Charikar)

ความพ่ายแพ้ติดๆ กันของกองทัพมองโกลถึงสามครั้งด้วยน้ำมือของจาลัล อลดินไปเข้าหูเจงกิสข่าน ข่านมองโกลผู้ยิ่งใหญ่จึงยอมไม่ได้ พระองค์สั่งให้แม่ทัพมองโกลชื่อชิกิ กูตูร์ (Shigi Qutuqu) นำกองทัพมองโกลขนาดใหญ่ด้วยกำลังพล 45,000 นายไปขยี้จาลัล อลดินให้แหลกลาญ

ชิกิ กูตูร์ผู้นี้เป็นเสนาบดีผู้มีความสามารถในการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมาย แต่ไม่ใช่แม่ทัพที่มีประสบการณ์ การที่เจงกิสข่านใช้คนผู้นี้เป็นแม่ทัพจึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมข่านมองโกลถึงทำเช่นนั้น แต่อาจจะเข้าใจได้เพราะว่าในเวลานั้นแม่ทัพที่มีฝีมือกว่านั้นอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันตกอย่างมาก หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะประมาทในฝีมือของจาลัล อลดินก็เป็นได้

ยุทธการแห่งปาร์วัน (Battle of Parwan)

ในเวลานั้นกำลังของจาลัล อลดินมีประมาณ 60,000 นาย ซึ่งมากกว่าพวกมองโกลอยู่พอสมควร แต่ทหารส่วนใหญ่ไม่ได้มีประสบการณ์ ต่างจากทหารม้ามองโกลที่ออกรบและมีชัยมาแล้วมากมาย ดังนั้นถ้าพูดถึงเรื่องกำลังพลแล้ว ผมมองว่าฝ่ายมองโกลได้เปรียบ พงศาวดารเองก็บันทึกไว้ว่าตัวชิกิ กูตูร์เองก็มั่นใจว่าจะเอาชนะจาลัล อลดินได้โดยง่าย

เมื่อพวกมองโกลมาถึง จาลัล อลดินจึงสั่งให้กองทัพฝ่ายตนถอยเข้าไปในโตรกแคบๆ ซึ่งแน่นอนว่าเหล่าทหารม้าไม่สามารถตีโอบหรือว่าวนรอบเหล่าทหารราบได้ ทำให้พวกมองโกลสูญเสียความได้เปรียบ แต่ด้วยความมั่นใจของชิกิ กูตูร์ เขาจึงสั่งให้ทหารมองโกลลงจากม้าและเข้าโจมตี ปรากฏว่าทหารแควราสเมียต้านทานเอาไว้ได้ และยังตอบโต้ทหารมองโกลจนกลับไปถึงหน้าค่ายอีกด้วย

วันต่อมาชิกิ กูตูร์พยายามหลอกให้จาลัล อลดินเข้าโจมตีโดยใช้หุ่นฟางวางบนหลังม้า หลังจากนั้นพวกมองโกลจะได้เข้าตีกระหนาบ แต่จาลัล อลดินกลับไม่หลงกล ทำให้วันที่สองนั้นทั้งสองฝ่ายไม่ได้รบกัน

ในวันที่สามซึ่งเป็นวันสุดท้าย กองทัพมองโกลทางปีกขวาได้เข้าโจมตีกองทัพแควราสเมียอย่างรุนแรง แต่จาลัล อลดินได้ให้เหล่าทหารลงจากหลังม้าทั้งหมด แล้วกระหน่ำยิงพวกมองโกลด้วยลูกธนู พวกมองโกลจึงพ่ายแพ้กลับไป กองทัพแควราสเมียจึงเข้าโจมตีตอบโต้ แต่กลับโดนกองหนุนฝ่ายมองโกลตีกระหน่ำกลับมา ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับความเสียหายหนักไม่ต่างกัน

ช่วงเวลาที่สำคัญนี้เอง จาลัล อลดินได้สั่งให้เหล่าทหารขึ้นม้า ส่วนตัวพระองค์ก็สวมใส่เกราะเพื่อนำหน้าเข้าโจมตีพวกมองโกลด้วยตนเอง การโจมตีของจาลัล อลดินประสบผลสำเร็จ เพราะกองทัพมองโกลแตกกระจัดกระจาย ชิกิ กูตูร์ต้องขี่ม้าหลบหนีไป ทิ้งเหล่าทหารให้ทหารแควราสเมียจับเป็นได้มากมาย ซึ่งทหารมองโกลที่เป็นเชลยล้วนแต่ถูกสังหารจนหมดสิ้น

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้จาลัล อลดินมีชื่อเสียงดังก้องไปทั่วแผ่นดิน เพราะพระองค์เป็นคนแรกที่เอาชนะกองทัพใหญ่มองโกลได้ในแผ่นดินเปอร์เซีย

อย่างไรก็ดีในเย็นวันที่ได้รับชัยชนะนั้น อามิน มาลิค (Amin Malik) ญาติฝั่งพระมารดาและเป็นพ่อตาของจาลัล อลดินด้วยกลับทะเลาะกับ Saif al-Din Ighrak หัวหน้าของพวกอัฟกันในเรื่องการแบ่งข้าวของที่ยึดมาได้ โดยเฉพาะม้าสีขาวตัวหนึ่ง การทะเลาะรุนแรงนี้มากถึงขนาดที่อามิน มาลิคใช้แส้ฟาดอีกฝ่าย ทำให้ Saif al-Din Ighrak ต้องทูลให้จาลัล อลดินลงโทษอามิน มาลิคตามกฎกองทัพ

แต่จาลัล อลดินกลับเลือกที่จะไม่ลงโทษพระญาติวงศ์ ทำให้ Saif al-Din Ighrak ไม่พอใจอย่างรุนแรง ในวันเดียวกันเขาจึงนำทหารอัฟกันทั้งหมดไปจากจาลัล อลดิน ทำไปทำมา จาลัล อลดินที่เพิ่งได้รับชัยชนะจึงเหมือนกับพ่ายแพ้ เพราะพระองค์เสียพันธมิตรที่สำคัญซึ่งมีกำลังเกือบครึ่งหนึ่งของพระองค์ จาลัล อลดินไม่ทราบเลยว่าการตัดสินใจพระทัยที่ผิดพลาดครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดในเวลาไม่ช้า

ถึงกระนั้นจาลัล อลดินก็ยังหยิ่งผยองและมั่นพระทัย พระองค์ได้ทรงสาส์นท้ารบไปยังเจงกิสข่าน ซึ่งมีเนื้อหาประมาณว่าเจงกิสข่านพร้อมที่จะรบที่แห่งใด จาลัล อลดินจะได้นำกองทัพไปรอล่วงหน้า

เจงกิสข่านทราบข่าวเรื่องความพ่ายแพ้อยู่แล้ว และมองว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ พระองค์จึงสร้างให้เตรียมกองทัพทันทีเพื่อที่จะยกไปจัดการกับจาลัล อลดินด้วยพระองค์เอง แต่ก่อนหน้านั้นก็ได้เสด็จไปเยี่ยมทหารมองโกลที่เพิ่งพ่ายแพ้ ตลอดจนสมรภูมิรบที่ปาร์วัน แต่ตัวชิกิ กูตร์นั้น เจงกิสข่านก็ไม่ได้เอาโทษแต่ประการใด

แต่ก่อนจะยกกองทัพไปทำศึกกับจาลัล อลดินนั้น เมืองต่างๆ ในอาณาจักรแควราสเมียต่างกระด้างกระเดื่อง เพราะได้ทราบถึงชัยชนะครั้งใหญ่ที่ปาร์วัน ทำให้กองทัพมองโกลต้องเผชิญหน้ากับศัตรูมากมายในดินแดนที่พวกตนเพิ่งตีได้

เรื่องจะดำเนินอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

ย้อนอ่านตอนเก่า

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!