ประวัติศาสตร์จาลัล อลดิน ตอนที่ 2: การศึกที่เมือง Otrar เมื่อความพินาศเริ่มปรากฏ

จาลัล อลดิน ตอนที่ 2: การศึกที่เมือง Otrar เมื่อความพินาศเริ่มปรากฏ

เหตุการณ์ที่เมือง Otrar นั้นเป็นจุดพลิกผันในหน้าประวัติศาสตร์โลกเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์เปอร์เซีย เพราะถ้าเรามองย้อนกลับไปแล้วนั้น แรกเริ่มเดิมทีเจงกิสข่านไม่ได้ต้องการจะทำศึกด้านตะวันตก เพราะกำลังเข้าโจมตีราชวงศ์จินอย่างดุเดือด ในทางตรงกันข้ามเจงกิสข่านต้องการเป็นพันธมิตรกับอาณาจักรแควราสเมียนเสียด้วยซ้ำ

แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตร เจงกิสข่านต้องทุ่มกำลังเกือบทั้งหมดยกมาทำศึกในเปอร์เซีย และส่งผลแบบ Domino effect ทำให้เกิดเป็นจักรวรรดิมองโกลขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ เราไปดูกันดีกว่าครับว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

กองคาราวานมองโกลมาถึง

ในช่วงปี ค.ศ.1218 เจงกิสข่านได้ส่งกองคาราวานขนาดใหญ่ โดยมีสมาชิกในคณะถึง 450 คนมายังแควราสเมีย ความประสงค์ของเจงกิสข่านแน่นอนว่าเป็นเรื่องการค้า แต่ก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกันที่จะส่งสายลับเดินทางมาเก็บข้อมูลด้วย เพราะก่อนหน้านั้นไม่นานก็เคยปะทะกันที่ชายแดนมาแล้ว

กองคาราวานที่ว่านี้มาถึงเมือง Otrar เมืองค้าขายที่รุ่งเรืองในย่านเส้นทางสายไหม เมืองนี้ถูกดูแลโดยอนัลชัค (Inalchuq) ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของมูฮัมหมัด ชาห์ ทันทีที่กองคาราวานมองโกลเข้ามาถึงเมือง อนัลชัคก็มองกองคาราวานเหล่านี้ด้วยความระแวงสงสัย และมีคำสั่งให้ควบคุมทุกคนในกองคาราวานไว้ทันที

ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้อนัลชัคสงสัยกองคาราวานมองโกลเหล่านี้ ข้อสันนิษฐานมีหลายประการด้วยกัน อาทิเช่น

  • อนัลชัคคิดว่ากองคาราวานมองโกลเป็นสายลับของเจงกิสข่านที่ต้องการมาเก็บข้อมูลศัตรูก่อนที่จะยกทัพมา เขาจึงจับกุมทั้งหมดตามหน้าที่
  • อนัลชัคเห็นกองคาราวานมีของมีค่ามากมาย เขาจึงอยากจะฉกชิงของเหล่านี้เป็นของตน
  • ทูตมองโกลในกองคาราวานไม่ให้เกียรติอนัลชัค

แต่ที่แน่ๆ พอจับกุมแล้ว อนัลชัคต้องการที่จะประหารชีวิตสมาชิกในกองคาราวานทั้งหมด แต่เขาก็ไม่ได้ลงมือทำทันที เขาได้ส่งสารไปขออนุญาตจากมูฮัมหมัด ชาห์ก่อน ซึ่งชาห์แห่งเปอร์เซียได้อนุญาตให้อนัลชัคลงมือได้

ด้วยเหตุนี้สมาชืกในกองคาราวานมองโกลจึงถูกประหารชีวิตทั้งหมด ส่วนของมีค่าทั้งหมดก็ถูกส่งไปขายในเมืองต่างๆ

เจงกิสข่านพยายามประนีประนอม

เรื่องนี้รู้ไปถึงหูเจงกิสข่านเร็วราวกับลมพัด ซึ่งประมุขของชาวมองโกลก็กริ้วโกรธอย่างมาก แต่ก็ยังคงมองว่าอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน เขาจึงส่งทูตไปแควราสเมียสามคน โดยมีชาวมุสลิมคนหนึ่ง ส่วนอีกสองคนเป็นชาวมองโกล

เจตนารมณ์ของการส่งทูตครั้งนี้คือขอให้มูฮัมหมัด ชาห์ลงโทษอนัลชัค เพราะมองว่าอนัลชัคอาจจะกระทำการโดยพลการ โดยที่ราชสำนักแควราสเมียไม่ทราบเรื่อง แต่เจงกิสข่านนั้นไม่รู้เลยว่าก่อนที่อนัลชัคจะลงมือ เขาได้ขออนุญาตชาห์แห่งเปอร์เซียมาแล้ว

ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่มูฮัมหมัด ชาห์จะรักษาอาณาจักรของตนเองเอาไว้ได้ ถ้าพระองค์ปัดความรับผิดชอบทั้งหมดให้กับอนัลชัค เรื่องทั้งหมดก็จะจบ แต่แน่นอนว่ามูฮัมหมัด ชาห์ไม่ยอม เพราะอนัลชัคเองจะเป็นพระญาติวงศ์ แถมพระองค์ก็ยังมั่นพระทัยอยู่มากว่ากองทัพมองโกลนั้นอยู่ไกลมาก ถึงยกมาจริงก็น่าจะเสียเปรียบ ดังนั้นถ้าทำศึกกันกองทัพของพระองค์ก็น่าจะต้านทานเอาไว้ได้

ด้วยเหตุนี้มูฮัมหมัด ชาห์จึงตัดสินพระทัยสั่งให้ประหารทูตมองโกลที่เป็นคนมุสลิม ส่วนทูตอีกสองคนที่เป็นชาวมองโกลนั้นให้โกนเคราทั้งหมด และเนรเทศออกจากแควราสเมียไป

เมื่อเจงกิสข่านได้ทราบว่ามูฮัมหมัด ชาห์ประหารทูตของตนเช่นนั้นก็พิโรธถึงที่สุด ข่านแห่งมองโกลจึงเห็นว่าสันติวิธีกับอาณาจักรแห่งนี้เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว สถานะสงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ

ถูกโจมตีโดยไม่คาดคิด

กองทัพมองโกลของเจงกิสข่านที่ยกไปควาราสเมียนั้นมีขนาดใหญ่ โดยตัวเลขนั้นมีตั้งแต่ 100,000 คนไปจนถึง 800,000 คนในหน้าพงศาวดาร แต่ผมมองว่าคงไม่น่าจะเกิน 150,000 คน เพราะในตอนนั้นมองโกลยังไม่ได้ปกครองดินแดนที่มีประชากรหนาแน่น แถมยังต้องเหลือกำลังไว้ป้องกันการโจมตีของคู่ศึกเดิมอย่างราชวงศ์จินอีกด้วย

มูฮัมหมัด ชาห์และราชสำนักแควราสเมียมองว่าเจงกิสข่านจะต้องยกมาทาง Dzungarian Gate ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมระหว่างเอเชียกลางและจีน เส้นทางนี้เป็นด่านที่มีภูเขาสูงชันเป็นปราการ ดังนั้นถ้าแควราสเมียส่งกำลังเข้าอุดปากทางตรงนี้ไว้ กองทัพมองโกลก็ไม่สามารถเข้าถึงเมืองสำคัญของแควราสเมียได้

แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ชาห์แห่งเปอร์เซียคิด เพราะเจงกิสข่านนั้นเหนือชั้นกว่ามากในการทำสงคราม

ทันทีที่เจงกิสข่านตัดสินใจทำสงคราม เขาได้สั่งให้กองทัพของโจชิกับเจอเปที่อยู่ในภาคตะวันตกของอาณาจักรมองโกลเคลื่อนทัพทันที กองกำลังที่ว่านี้มีไม่เกิน 20,000 คน ดังนั้นมีความคล่องตัวพอสมควร ทั้งสองแม่ทัพได้ข้ามเทือกเขาเทียนซานไปในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นสภาพที่หฤโหดอย่างที่สุด ทำให้ทหารมองโกลบางส่วนล้มตายลง แต่ก็ข้ามมาได้สำเร็จ ซึ่งเมื่อข้ามมาได้แล้ว กองทัพมองโกลก็มาถึงหุบเขาเฟอร์กานาของแควราสเมียที่มีความอุดมสมบูรณ์ (บ้านเกิดของบาเบอร์) และได้เข้าโจมตีเมืองต่างๆ ทันที

by Chen Zhao/CC By 2.0

เมืองเหล่านี้นั้นไม่เคยคิดว่าจะมีกองทัพเข้ามาถึงหน้าเมืองในระยะเวลาที่รวดเร็วขนาดนี้ ดังนั้นจึงถูกตีแตกกระเจิง โจชิกับเจอเปนั้นปล้นสะดมเมืองแล้วเมืองเล่า เป็นการตัดกำลังของฝ่ายแควราสเมียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

การที่กองทัพมองโกลมาถึงหุบเขาเฟอร์กานานั้นทำให้มูฮัมหมัด ชาห์และราชสำนักแควราสเมียตกตะลึง และรีบสั่งการอย่างลนลานให้กองทัพยกไปโจมตีกองทัพมองโกลที่เฟอร์กานา แต่โจชินั้นเป็นแม่ทัพที่มีความสามารถมาก เขาอาศัยความที่กองทัพของตนมีแต่ทหารม้าที่มีความรวดเร็วในการหลีกเลี่ยงการปะทะ ดังนั้นกองทัพแควราสเมียที่ส่งมาจึงเหนื่อยเปล่า

ระหว่างที่ฝ่ายแควราสเมียกำลังสับสนนั้น เจงกิสข่านจึงให้ชากาไตกับโอโกไต โอรสทั้งสองนำกองทัพใหญ่ยกผ่านแนว Dzungarian Gate เข้าโจมตีเมือง Otrar เมืองเจ้าปัญหา ซึ่งในเวลานั้นการป้องกันของแควราสเมียยังไม่เสร็จสิ้นดี และภายใต้การสับสนวุ่นวาย ทำให้กองทัพมองโกลผ่านแนวป้องกันมาได้โดยง่าย

ศึกเมือง Otrar

การปะทะที่เมือง Otrar นี้ไม่ได้ง่ายสำหรับพวกมองโกลเหมือนที่โจชิตีเมืองต่างๆ ในหุบเขาเฟอร์กานา เพราะปรากฏว่าอนัลชัคเป็นแม่ทัพที่มีฝีมือในการทำศึกผู้หนึ่ง

แทนที่จะยกออกนอกเมืองไปทำศึกแล้วพ่ายแพ้ อนัลชัคสั่งให้กองทหารทั้งหมดตั้งรับอยู่ในเมืองอย่างแข็งแกร่ง โดยเน้นที่การรักษากำแพงเมืองโดยรอบเอาไว้ให้ได้ ชากาไตและโอโกไตจึงสั่งให้กองทัพมองโกลเข้าตีเมือง แต่ตียังไงก็ตีไม่แตก พวกมองโกลนั้นไม่ได้เก่งกาจเรื่องการตีเมืองอยู่แล้ว แต่จะเน้นหลอกทหารรักษาเมืองออกมาแล้วโจมตีให้ย่อยยับไปก่อนมากกว่า เมื่ออนัลชัคไม่ออกมารบ พวกมองโกลก็ทำอะไรไม่ได้

สถานการณ์เป็นแบบนี้อยู่นานถึงห้าเดือน เมือง Otrar ก็ยังไม่แตก กองทัพมองโกลจึงรู้สึกถึงความชะงักงันเป็นครั้งแรก จนกระทั่งวันหนึ่ง

แม่ทัพแควราสเมียคนหนึ่งที่น่าจะรักตัวกลัวตายได้เปิดประตูเมืองใหักับฝ่ายมองโกล ทหารมองโกลจึงเข้ามาในเมืองและเข้าฆ่าฟันทหารแควราสเมียที่ไม่ได้ตั้งตัวจนล้มตายมากมาย ทำให้เมืองส่วนนอกแตก แต่อนัลชัคก็ยังไม่ยอมแพ้ เขานำทหารที่เหลือไปรักษาปราสาทส่วนในเอาไว้ ซึ่งกำลังทหารส่วนนี้น่าจะไม่เกิน 2,000 คนเท่านั้น แต่ก็ยังสู้ยิบตาไม่ยอมแพ้

พวกมองโกลจึงต้องทุ่มกำลังเข้าตีปราสาทส่วนในแห่งนี้ แต่กองทหารของอนัลชัคป้องกันไว้ได้อย่างสุดกำลัง ถึงกระนั้นสุดท้ายกองทัพมองโกลก็ตีปราสาทแห่งนี้แตกหลังจากผ่านไปอีกเดือนเศษๆ

ในวาระสุดท้ายนั้นอนัลชัคกลับแสดงความกล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อ เขาถอยหนีไปยังชั้นบนสุดของปราสาทพร้อมกับทหารคนสนิทสองคน และขว้างปาอิฐและก้อนหินใส่ทหารมองโกลอย่างไม่ลดละ ทำให้ทหารมองโกลต้องเสียชีวิตไปอีกจำนวนมาก แต่สุดท้ายกองทัพมองโกลก็จับกุมตัวอนัลชัคได้สำเร็จ อนัลชัคผู้นี้จึงได้โดยลงอาญาประหารชีวิตตามคำสั่งของเจงกิสข่านด้วยการกรอก “เงิน” หลอมละลายเข้าไปในดวงตาและศีรษะ ทำให้เขาสิ้นชีวิตลงในที่สุด

เมื่อถึงขั้นนี้มูฮัมหมัด ชาห์ และราชสำนักแควราสเมียจึงสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดของสถานการณ์ แต่การตอบสนองการโจมตีของกองทัพมองโกลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความคล่องตัวของกองทัพศัตรู เจงกิสข่านนั้นได้ส่งกองทัพแยกกันเข้าตีเมืองต่างๆ ทำให้ฝ่ายแควราสเมียไม่รู้ว่าจะป้องกันตรงไหนดี เพราะเมืองในแทบทุกทิศมีข่าวว่าถูกกองทัพมองโกลเข้าโจมตี พระองค์ไม่รู้เลยว่าเวลาของพระองค์และอาณาจักรนั้นหลงเหลืออยู่ไม่นานแล้ว

เรื่องจะดำเนินไปอย่างไรต่อไป อ่านได้ในตอนหน้าครับ

References:

  • Juergen Paul – Encyclopedia of Islam-Three
  • al Nasawi, Shihab al-din Muhammad
  • Juvayni, Tārīkh-i Jahāngushāy 
  • Ata-Malik Juvayni, “History of the World Conqueror,
  • McLynn, Frank, Genghis Khan: His Conquests, His Empire, His Legacy
  • Hildinger, Eric (1997). Warriors of the Steppe: A Military History of Central Asia, 500 B.C. to A.D. 1700

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!