ประวัติศาสตร์จาลัล อลดิน (Jalal al-Din) ตอนที่ 1: ศัตรูตัวฉกาจของเจงกิสข่าน

จาลัล อลดิน (Jalal al-Din) ตอนที่ 1: ศัตรูตัวฉกาจของเจงกิสข่าน

เจงกิสข่าน (Genghis Khan) เป็นผู้พิชิตชาวมองโกลที่ไม่มีว่าใครก็ตามก็ต้องรู้จัก เพราะจักรวรรดิมองโกลของเจงกิสข่านเกือบใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก (แพ้จักรวรรดิอังกฤษเล็กน้อย) กองทัพมองโกลของเขาเองก็มีชื่อเสียงระบือไกลถึงความแข็งแกร่งในการรบที่ไม่ว่าอาณาจักรใดก็ยากที่จะต่อกร

ตลอดชีวิตของข่านมองโกลผู้นี้มีคู่ปรับสำคัญอยู่สองคน คนแรกคือ จามูคา หรือจ๋ามู่เค๋อในภาษาจีนกลาง จามูคาแย่งชิงอำนาจเหนือเผ่ามองโกลกับเจงกิสข่าน แต่ก็พ่ายแพ้เสียทีในการรบ และถูกประหารชีวิตในภายหลัง

คนที่สองคือ จาลัล อลดิน (Jalal al-Din) ผู้ที่จะเป็นตัวละครหลักในเรื่องยาวนี้นั่นเองครับ

ชีวิตของจาลัล อลดินผู้นี้ ผมบอกได้เลยว่าเปี่ยมไปด้วยดราม่า สาเหตุหลักๆ เลยคือเพราะจาลัล อลดินเป็นคนสู้ชีวิต แต่ชีวิตก็สู้เขากลับอย่างไม่ลดละ กงล้อประวัติศาสตร์ทำให้เขาเผชิญหน้ากับผู้พิชิตที่แข็งแกร่งที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ แต่จาลัล อลดินกลับสู้ไม่ถอยจนทำให้ข่านแห่งมองโกลยังต้องยกย่องถึงความกล้าหาญของเขา

เราไปดูกันดีกว่าครับชีวิตของชายผู้นี้จะเป็นอย่างไร

เจ้าชายแห่งอาณาจักรแควราสเมียน

จาลัล อลดินเกิดประมาณปี ค.ศ.1199 โดยเขาเป็นโอรสองค์ใหญ่ของมูฮัมหมัดที่ 2 (Muhammad Shah) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นชาห์แห่งอาณาจักรแควราสเมียน ในเวลานั้นอาณาจักรแควราสเมียนปกครองดินแดนทั้งหมดของเปอร์เซีย (อิหร่านในปัจจุบัน) รวมไปถึงส่วนใหญ่ในเอเชียกลาง (ทั้งบูคารา และซามาร์คันด์) และอัฟกานิสถาน และอาเซอร์ไบจาน

อนุสาวรีย์จาลัล อัลดินที่เมือง Urgench ประเทศอุซเบกิสถาน
อนุสาวรีย์จาลัล อลดินที่เมือง Urgench ประเทศอุซเบกิสถาน By ATDoron, CC By SA 4.0

ดังนั้นอาณาจักรแควราสเมียนช่วงนั้นจึงเป็นอาณาจักรใหญ่มากแห่งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ และกำลังอยู่ในยุครุ่งเรืองเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดีจาลัล อลดินกลับไม่ได้รับการยกย่องในราชสำนักเท่าที่ควร สาเหตุหลักมีอยู่ข้อเดียว นั่นคือมารดาของเขาเป็นนางทาสเชื้อสายเติร์กเมนี (Turkmeni) ที่มีฐานะต่ำต้อย

ด้วยเหตุนี้เตอร์เคน คาร์ตุน (Terken Khatun) มารดาของมูฮัมหมัด ชาห์ที่เป็นเจ้าหญิงชาวคิปชัค (Kipchak) จึงไม่อยากให้จาลัล อลดินได้สืบบัลลังก์แควราสเมียน พระนางอยากให้บัลลังก์สืบต่อแก่ อุซลัค ชาห์ (Uzlagh Shah) น้องชายของเขาที่มีแม่ที่มาจากเผ่าเดียวกับนางมากกว่า นางจึงปฏิเสธที่จะสนับสนุนให้จาลัล อลดินเป็นรัชทายาทอย่างเป็นทางการ

อิทธิพลของเตอร์เคน คาร์ตุนนั้นมีเปี่ยมล้นในราชสำนักแควราสเมียนในเวลานั้น ดังนั้นทั้งราชสำนักจึงมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับจาลัล อลดินเท่าไรนัก

บันทึกประวัติศาสตร์ที่สืบต่อมาถึงปัจจุบันไม่ได้เอ่ยถึงประวัติของจาลัล อลดินไปมากกว่านี้ เหตุการณ์ที่ปรากฏต่อมาคือในปี ค.ศ.1218 มูฮัมหมัดที่ 2 ได้มอบดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ให้จาลัล อลดินปกครอง ซึ่งแปลว่าจาลัล อลดินน่าจะถูกกีดกันอย่างหนักจนไม่ได้เป็นรัชทายาท บิดาของเขาจึงต้องมอบดินแดนส่วนหนึ่งให้ปกครองนั่นเอง

อาณาจักรแควราสเมียนในยุครุ่งเรือง by Arab League, CC By SA 3.0

ปะทะกับกองทัพมองโกลครั้งแรก

ในช่วงปี ค.ศ.1209-1218 จาลัล อลดินซึ่งมีอายุยังไม่ถึง 20 ปีดีก็ได้มีโอกาสเผชิญหน้าในสมรภูมิกับกองทัพมองโกล ศัตรูคู่แค้นของเขาไปอีกหลายสิบปีเป็นครั้งแรก

สมรภูมินี้มีชื่อว่ายุทธการแห่งแม่น้ำเออร์กริซ (Irghiz River) อย่างไรก็ดีนักประวัติศาสตร์อาหรับและเปอร์เซีย ที่จดบันทึกเรื่องราวนี้ไว้กลับขัดแย้งกันเองในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดไปจนถึงปี ค.ศ. ทำให้ข้อมูลที่ได้นั้นไม่ชัดเจนว่า กองทัพแควราสเมียนไปปะทะกับมองโกลมีปูมหลังคืออะไรและเมื่อใดแน่

แต่ที่พอจะหาจุดร่วมลงตัวกันได้บ้างคือ การสู้รบเกิดขึ้นเพราะกองทัพมองโกลที่กำลังไล่กวาดล้างพวกเมอร์คิทและไหน่หมานไล่เข้ามาใกล้พรมแดนของแควราสเมียน มูฮัมหมัดที่ 2 ที่ได้ทราบข่าวจึงรีบส่งกองทัพออกไปต่อต้าน ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะก่อนหน้านี้มูฮัมหมัดก็ทำสงครามและขยายอาณาจักรแควราสเมียนไปได้อย่างมากมาย ทำให้พระองค์มั่นใจในกองทัพเจนศึกที่มีอยู่มาก

นอกจากนี้จูเวนี (Juvayni) นักประวัติศาสตร์เปอร์เซียยังให้ข้อมูลว่า ชาห์แห่งแควราสเมียนต้องการที่สกัดพวกเมอร์คิท รวมไปถึงยับยั้งพวกมองโกล ซึ่งมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับแควราสเมียนทั้งคู่ ดังนั้นจึงต้องการ “ยิงปินนัดเดียวได้นกสองตัว” ด้วยการส่งกองทัพครั้งเดียว แต่ได้ทำลายความเข้มแข็งของทั้งสองคู่ศึกที่กำลังปะทะกันอยู่

ปรากฏว่าการที่กองทัพแควราสเมียนยกมานั้นได้เซอร์ไพรส์พวกมองโกล ซึ่งฝ่ายมองโกลได้ต่อรองให้ฝ่ายแควราสเมียนถอนกำลัง โดยจะยอมสละทรัพย์สินที่ปล้นชิงมาได้ให้ทั้งหมด

หลายคนอาจจะสงสัยว่าฝ่ายมองโกลเก่งขนาดนี้ทำไมถึงไม่เข้าต่อสู้ กองทัพมองโกลกองนี้อยู่ในการบังคับบัญชาของสุโบไต แม่ทัพที่จะพิชิตอาณาจักรคีฟสกา รุส (Kievan Rus) และดินแดนรัสเซียในกาลข้างหน้า ดังนั้นถ้าจะให้สู้จริงๆ ก็ไม่น่าจะแพ้ได้ง่ายๆ แต่สุโบไตได้รับคำสั่งอย่างเด็ดขาดจากเจงกิสข่านว่าไม่ให้ปะทะกับกองทัพกองอื่นที่ไม่ใช่พวกเมอร์คิท ประกอบกับกองทัพแควราสเมียนน่าจะใหญ่กว่ามาก ทำให้สุโบไตเลือกที่จะเจรจา

สุโบไต
สุโบไต

มูฮัมหมัดที่ 2 กลับปฏิเสธข้อเสนอของพวกมองโกล พระองค์จึงส่งกองทัพเข้าตีค่ายของสุโบไต เพื่อบังคับให้พวกมองโกลออกมารบ

เมื่อถูกกดดันอย่างหนัก กองทัพมองโกลที่จนตรอกจึงต้องออกมารบ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือด ในการรบนี้เอง จาลัล อลดินได้บังคับบัญชาปีกขวาของกองทัพแควราสเมียน ปรากฏว่าเจ้าชายหนุ่มบังคับบัญชากองทัพได้อย่างเข้มแข็ง ฝ่ายมองโกลไม่อาจตีกองทัพของแควราสเมียนให้แตกได้

อย่างไรก็ดี บริเวณตรงกลางของกองทัพแควราสเมียนที่มูฮัมหมัดที่ 2 ประทับอยู่กลับเปิดโล่ง เพราะปีกซ้ายของฝ่ายแควราสเมียนที่รุกเข้าใส่พวกมองโกลนั้นถูกผลักดันจนเกือบแตกกระเจิง ฝ่ายมองโกลจึงพยายามเข้าโจมตีบริเวณส่วนนี้ แล้วก็เกือบจะตีจนแตกได้ แต่เคราะห์ยังดีที่จาลัล อลดินนำกองทหารม้าเข้ามาช่วยเหลือได้ทันเวลา ทำให้กองทัพแควราสเมียนส่วนกลางยังไม่แตกฉาน

ยุทธการครั้งนี้ยังไม่มีผลแพ้ชนะ เพราะดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้าไปแล้ว มูฮัมหมัดที่ 2 คิดว่าการสู้รบจะมีต่อในวันรุ่งขึ้น แต่อันที่จริงกองทัพมองโกลได้ฉวยโอกาสถอนกำลังจากสมรภูมิไปแล้ว ด้วยกลยุทธ์ปฐมบท อย่างการจุดไฟในค่ายตอนกลางคืนเพื่อหลอกว่ายังมีคนอยู่นั่นเอง

ในการต่อสู้ที่แม่น้ำเออร์กริซ จาลัล อลดินได้แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนักรบที่กล้าหาญคนหนึ่ง ซึ่งทำให้บิดาของเขารู้สึกวางใจเขาไม่น้อย แต่ในวันนั้นในใจของมูฮัมหมัดเต็มไปด้วยความหวาดกลัว มูฮัมหมัดที่ 2 ได้เห็นว่ากองทัพแควราสเมียนสูญเสียอย่างมากมาย ทั้งๆที่มีกำลังมากกว่าหลายเท่า หลังจากนั้นพระองค์จึงใช้กลยุทธ์หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแบบกลางแปลงกับพวกมองโกล (แต่ก็ไม่วายยั่วยุพวกมองโกลอยู่ดี)

ยั่วยุพวกมองโกล

เหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนชีวิตจาลัล อลดินไปตลอดกาลอย่างการล่มสลายของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่อย่างแควราสเมียนนั้นไม่ใช่การกระทำของตัวเขาเลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความดื้อดึงของมูฮัมหมัดที่ 2 หรือแม้กระทั่งเรื่องการสื่อสารที่ผิดพลาด

ในช่วงปี ค.ศ.1216 กองทัพมองโกลกำลังวุ่นวายในการศึกกับราชวงศ์จินในภาคเหนือของจีน หลักฐานมองโกลจึงเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าเจงกิสข่านไม่ต้องการทำสงครามกับแควราสเมียนในเวลานั้น ตรงกันข้ามเจงกิสข่านต้องการเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้า หรือแม้กระทั่งต้องการเป็นพันธมิตรทางทหารกับแควราสเมียน

ประเด็๋นนี้เห็นได้ชัดขึ้นอีก เพราะเหตุการณ์ในช่วงปี ค.ศ.1218 เจงกิสข่านถึงกับส่งทูตและกองคาราวานขนาดใหญ่ (มีสมาชิกในคณะถึง 450 คน) เดินทางไปยังเปอร์เซีย โดยมีจุดประสงค์ในการสถาปนาเส้นทางค้าขายระหว่างสองอาณาจักร ฝ่ายมองโกลจึงแสดงออกว่าไม่ต้องการสงครามอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามเมื่อทูตและกองคาราวานมองโกลกำลังมาถึง มูฮัมหมัดที่ 2 และเหล่าเสนาบดีในราชสำนักกลับมองว่าคนเหล่านี้ถูกส่งมาล้วงความลับก่อนที่กองทัพมองโกลจะมาตีแควราสเมียนเสียอย่างนั้น

ไม่มีใครทราบว่าเพราะเหตุใดชาห์แห่งแควราสเมียนถึงคิดเช่นนั้นไปได้ แต่สาเหตุที่ผมมองว่า make sense มากที่สุดก็คือ การสื่อสารและการข่าวที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง (ศูนย์กลางของทั้งสองอาณาจักรห่างกันหลายพันกิโลเมตร) หรือเพราะว่ามีตัวละครลับอย่างพวก Camarilla ในราชสำนักที่ทำให้มูฮัมหมัดหวาดระแวงพวกมองโกล สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายคำถามในหน้าประวัติศาสตร์

การที่ฝ่ายแควราสเมียนตั้งแง่กับพวกมองโกลอยู่แล้ว ไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อกองคาราวานมองโกลเหยียบดินแดนแควราสเมียนที่เมือง Otrar (ปัจจุบันเป็นเมืองร้างในประเทศคาซัคสถาน) เหตุดราม่าก็ปะทุขึ้นทันที

จะเกิดอะไรต่อไป ติดตามต่อได้ในจาลัล อลดิน ตอนที่ 2 ครับ

References:

Juergen Paul – Encyclopedia of Islam-Three

al Nasawi, Shihab al-din Muhammad

Juvayni, Tārīkh-i Jahāngushāy 

McLynn, Frank, Genghis Khan: His Conquests, His Empire, His Legacy

Hildinger, Eric (1997). Warriors of the Steppe: A Military History of Central Asia, 500 B.C. to A.D. 1700

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!