ประวัติศาสตร์ธรรมเนียมการใส่ชุดดำไปงานศพและไว้อาลัยมีที่มาอย่างไร?

ธรรมเนียมการใส่ชุดดำไปงานศพและไว้อาลัยมีที่มาอย่างไร?

ทุกวันนี้ถ้าเราไปไปงานศพ เรามักจะใส่ไม่ชุดดำก็ชุดขาว แต่ในระยะหลังชุดดำเป็นที่นิยมในการใส่ไปงานศพเหนือชุดขาวมาก

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นชุดดำด้วย มันมีที่มาอย่างไร

จริงๆ แล้ว ธรรมเนียมการสวมใส่ชุดดำในงานศพเกิดขึ้นในโลกตะวันตกตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) ชาวโรมันทั่วไปโดยเฉพาะชนชั้นล่างจะสวมใส่ชุด Toga ที่ทำด้วยสีหม่นๆ ใกล้กับสีดำเพื่อแสดงความอาลัยต่อผู้ตาย ส่วนพวกชนชั้นสูงและพวกอัศวิน (Equites) จะสวมใส่ชุดสีขาวในการไว้อาลัย

ภาพด้านล่างคือ จักรพรรดิทิเบียริอุสสวมใส่ชุดโทกา (Toga)

ชุดที่ทิเบียริอุสใส่อยู่คือชุดโทกา ซึ่งถ้าจะใส่เพื่อไว้อาลัย ตัวชุดจะเป็นสีดำ

หลังจากจักรพรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย ธรรมเนียมการสวมใส่เสื้อผ้าสีหม่นๆ สืบทอดต่อมาจนถึงยุคกลางและยุคเรอเนนซองส์ ในยุคนี้สตรีจะสวมใส่ชุดดำ พร้อมกับหมวกและผ้าคลุมหน้าสีดำเพื่อแสดงความอาลัย ในดินแดนบางแห่งเช่น บางส่วนของรัสเซีย สตรีที่เป็นม่ายจะใช้เครื่องแต่งกายสีดำไปตลอดชีวิต

ไม่ใช่ว่าสีดำเป็นสีเดียวที่ใช้ในการไว้อาลัย ส่วนมากแล้วสำหรับราชินีและชนชั้นสูงยุโรปในยุคกลางนิยมสวมใส่ชุด “สีขาว” เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยสูงสุดต่อผู้ตาย

แคทเทอรีน เดอ เมดิซี ในชุดดำ

ส่วนในเอเชีย “สีดำ” ไม่ได้เป็นสีที่ใช้ในการไว้อาลัย หรือ งานศพแต่อย่างใด

ในธรรมเนียมจีนโบราณ ชาวจีนจะสวมใส่ “สีขาว” ในการไว้อาลัย โดยเฉพาะลูกหลานที่ใกล้ชิดกับผู้ตายมากที่สุด

ใครคิดไม่ออก ลองคิดไปถึงหนังจีน จะพบว่าผู้ร่วมงานศพจะใส่เสื้อผ้าสีขาวทั้งหมด และแทบไม่มีใครใส่สีดำเลย

ชาวจีนเชื่อว่าสีขาวเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ จะปัดเป่าความชั่วร้ายไม่ให้เข้าใกล้ลูกหลานของผู้ตาย (เพราะความตายเองก็ถือว่าเป็นสิ่งไม่ดีชนิดหนึ่ง) ธรรมเนียมดังกล่าวนี้แพร่ไปถึงเกาหลีและญี่ปุ่น ทำให้สีขาวเป็นสีแห่งการไว้อาลัยและเกี่ยวข้องกับความตายในในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก

จริงๆแล้วในธรรมเนียมจีนดั้งเดิม สีดำสามารถใส่ได้เช่นกัน แต่จะเป็นสัญลักษณ์ว่า ผู้ใส่ไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้ตายมากนัก

ส่วนในสังคมอินเดีย พวกเขาจะสวมใส่สีขาวในงานศพ เพราะสีขาวเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ หญิงม่ายชาวอินเดียจะสวมใส่เสื้อผ้าสีขาวไปตลอดชีวิต

สำหรับประเทศไทยแล้ว ดั้งเดิมก็ใช้สีขาวเป็นสีของการไว้ทุกข์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่สีดำ

นั่นคือธรรมเนียมของแต่ละภูมิภาคโดยคร่าวๆ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าแตกต่างกันพอสมควร (บ้างสีขาว บ้างสีดำ) แต่ในระยะหลังสีดำกลายเป็นสีอันดับหนึ่งที่ผู้คนใส่มางานศพและไว้อาลัย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ที่มาของมันมาจากการที่ พระราชินีนาถวิคตอเรีย (Queen Victoria) ทรงสวมใส่ฉลองพระองค์ชุดดำหลังจากเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระองค์สิ้นพระชนม์ พระนางแทบไม่สวมใส่ฉลองพระองค์สีอื่นอีกเลยตลอดพระชนม์ชีพที่เหลืออยู่ของพระนาง

พระราชินีวิกตอเรีย และเหล่าพระนัดดาสวมใส่ชุดดำ เด็กสาวที่นั่งอยู่ด้านหน้าขวาของรูปน่าจะเป็นซารินาอเล็กซานดรา ส่วนเอลลา มเหสีของเซอร์เกย์ ยืนอยู่บริเวณบนซ้าย

หลังจากนั้นชนชั้นสูงอังกฤษก็เอาอย่างบ้าง เช่นเดียวกับชาวอังกฤษทั่วไป

ในช่วงศตวรรษที่ 19 อาณานิคมของอังกฤษมีอยู่ทั่วโลก ค่านิยมดังกล่าวจึงแพร่กระจายไปยังอาณานิคมเหล่านี้ด้วย ต่อมามันก็เลยกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปทั่วโลกว่าสีดำเป็นสีของการไว้อาลัย ผู้คนต่างๆ จึงสวมใส่เครื่องแต่งกายสีดำไปยังงานศพ

หากแต่ว่าในยุโรปช่วงนั้น สีดำเหมือนกับว่าสงวนไว้สำหรับงานศพและการไว้อาลัยเท่านั้น ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ผู้คนในประเทศต่างๆในยุโรปต่างใส่สีดำเป็นเครื่องแต่งกายปกติมากยิ่งขึ้น ธรรมเนียมนี้ก็ได้แพร่ไปทั่วโลกเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็น ชายหญิงชาวจีน ญี่ปุ่น อเมริกัน หรือ อังกฤษ สวมใส่ชุดสีดำในวันปกติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการไว้อาลัยใดๆ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!