ประวัติศาสตร์ทำไมจักรวรรดิมองโกลถึงไม่สามารถผนวกอินเดียได้สำเร็จ?

ทำไมจักรวรรดิมองโกลถึงไม่สามารถผนวกอินเดียได้สำเร็จ?

จักรวรรดิมองโกล (Mongol Empire) เป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์โลก ทหารม้าที่น่าเกรงขามของชาวมองโกลสามารถผนวกดินแดนอันกว้างใหญ่ของจีน รัสเซีย เปอร์เซีย เอเชียกลาง และยุโรปตะวันออกได้สำเร็จ (ตามรูปด้านล่าง)

จักรวรรดิมองโกลในปี ค.ศ.1259 By Keith Pickering – Own work, CC BY-SA 3.0,

ปูมหลัง

ในช่วงปี ค.ศ.1220 กองทัพมองโกลได้บุกเข้าทำลายอาณาจักรควาเรสเมีย (Khwarezmia Empire) ที่ปกครองดินแดนเปอร์เซียอยู่ในขณะนั้น การพิชิตอาณาจักรดังกล่าวทำให้พรมแดนของจักรวรรดิมองโกลเข้าถึงอนุทวีปอินเดีย แต่ราชสำนักมองโกลยังไม่ได้สนใจกับอินเดียเท่าใดนัก เพราะว่ากำลังวุ่นวายอยู่กับการรุกรานจีน และเปอร์เซียอยู่

อินเดียตอนเหนือและตอนกลางในเวลานั้นอยู่ในการปกครองของรัฐสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ที่วางตัวเป็นกลางในสงครามมองโกล-ควาเรสเมีย ทำให้อินเดียไม่ได้ยุ่งเกี่ยวในการทำสงครามระหว่างสองฝ่ายแต่อย่างใด ส่วนของอนุทวีปอินเดียที่ถูกรุกรานจึงเป็นเมืองต่างๆ ของอาณาจักรควาเรสเมียที่อยู่บริเวณชายแดนของรัฐสุลต่านแห่งเดลีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1235 ในรัชกาลของโอโกไตข่าน บุตรของเจงกิสข่าน (น้องชายต่างมารดาของโจชิ) กองทัพมองโกลจำนวน 40,000 คนได้ถูกส่งเข้ามายังอนุทวีปอินเดีย กองทัพมองโกลพิชิตแคชเมียร์ได้เป็นผลสำเร็จ และทำลายเมืองบริเวณนั้นจนวอดวาย ทหารและประชาชนจำต้องหลบหนีเข้าไปในดินแดนของรัฐสุลต่านแห่งเดลี

การยึดครองแคชเมียร์ทำให้พรมแดนของจักรวรรดิมองโกล และรัฐสุลต่านแห่งเดลีติดกัน ความตึงเครียดจึงเพิ่มพูนมากขึ้น ดูเหมือนว่าสงครามจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

อย่างไรก็ตามรัฐสุลต่านแห่งเดลีกลับใช้การประนีประนอม แม้บริเวณชายแดนจะถูกรุกรานอยู่หลายครั้งก็ตาม ทำให้การรุกรานครั้งใหญ่จากกองทัพมองโกลที่น่าจะเกิดขึ้นถูกยับยั้งไปได้นานหลายทศวรรษ อนึ่งพวกมองโกลเองก็มองว่าอากาศในอินเดียที่ร้อนระอุทำให้อินเดียเป็นเป้าหมายที่ไม่น่าสนใจ ความต้องการที่จะรุกรานอินเดียของพวกมองโกลย่อมจางหายไปด้วย

นอกจากนี้จักรวรรดิมองโกลยังแตกแยกกันเองหลังจากที่เหมิงเก๋อข่านสวรรคต ทำให้จักรวรรดิมองโกลขาดความเป็นหนึ่งเดียว และเริ่มต่อสู้กันเอง รัฐสุลต่านแห่งเดลีจึงรักษาตัวรอดปลอดภัยมาจนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 13

การรุกราน

แต่แล้วในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 ถึงต้นศตวรรษที่ 14 รัฐสุลต่านแห่งเดลีที่ปกครองอินเดียส่วนใหญ่อยู่ไม่สามารถรอดพ้นจากการรุกรานโดยกองทัพมองโกลได้อีกต่อไป รัฐข่านมองโกลที่พยายามรุกรานอินเดียคือ รัฐข่านชากาไต (Chagatai Khanate)

ดูวาข่าน (Duwa Khan) ต้องการที่จะผนวกอินเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรของตน ในปี ค.ศ.1292 กองทัพมองโกลจำนวนมากจึงทะลักเข้ามาในอินเดีย

หากแต่ว่ากองทัพมองโกลกลับไม่คาดคิดว่าจะเผชิญการต่อต้านอย่างแข็งแกร่งจากกองทัพของรัฐสุลต่านแห่งเดลี กองทัพหน้าของมองโกลถูกกองทัพเดลีตีแตก และจับเป็นเชลยศึกได้มากถึง 4,000 คน การรุกรานครั้งใหญ่ที่พวกมองโกลวางแผนไว้จึงต้องล้มเลิกไป

แต่พวกมองโกลไม่เคยยอมแพ้ หลังจากที่รัฐสุลต่านแห่งเดลีผลัดแผ่นดิน และสุลต่านอลาอุดดิน คัลจี (Alauddin Khalji) ขึ้นครองราชย์ กองทัพมองโกลก็ยกเข้ามาใหม่อีกหลายครั้ง แต่ว่าแต่ละทัพไม่ใหญ่นัก (ไม่เกินสองหมื่นคน)

สุลต่านอลาอุดดิน คัลจี

อลาอุดดินส่งกองทัพเดลีออกไปต่อสู้กับพวกมองโกล ปรากฏว่าพวกมองโกลแตกฉานและถูกขับไล่ออกไปจากพรมแดนของรัฐสุลต่านเดลีจนหมด

ในฤดูหนาว ค.ศ.1297 พวกมองโกลรุกรานอินเดียครั้งใหญ่ด้วยกำลังที่เชื่อว่ามีมากถึง 200,000 คนนำโดยคาดาร์ข่านแห่งรัฐข่านชากาไตที่นำทัพมาด้วยตนเอง

กองทัพมองโกลบุกเข้ามาและทำลายเมืองต่างๆในเขตปัญจาบเสียวอดวาย อลาอุดดินสั่งให้อูลาข่านและซาฟาร์ข่าน สองแม่ทัพนำกำลังออกไปต่อสู้กับกองทัพมองโกล ทั้งสองฝ่ายประจัญหน้ากันที่แม่น้ำ Sutlej

เมื่อการรบเริ่มต้นขึ้น กองทัพเดลีเป็นฝ่ายเข้าตีก่อนตามคำสั่งของอูลาข่าน ทหารเดลีข้ามแม่น้ำโดยไม่ได้อาศัยเรือและเข้าตีที่มั่นมองโกลอย่างฉับพลัน รายละเอียดของการสู้รบสูญหายไปในประวัติศาสตร์ เรารู้แต่เพียงว่ากองทัพเดลีได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด กองทัพมองโกลแตกกระจัดกระจายและถูกสังหารไปถึงสองหมื่นคน

หลักฐานชั้นต้นว่า พวกมองโกลหนีตายอย่างจ้าละหวั่น บรรดาเชลยศึกที่ถูกจับกุมต่างถูกประหารชีวิต บางส่วนถูกส่งไปเดลีเพื่อนำไปให้ช้างเหยียบกลางเมือง

ยุทธการแห่งคิลิ

หลังจากนั้นพวกมองโกลยังไม่เข็ด และยกทัพมารุกรานอินเดียอีก ครั้งนี้บุกมาที่บริเวณดินแดน Sind ทางตะวันตกของอนุทวีปอินเดีย ซาฟาร์ข่านได้รับคำสั่งให้นำกำลังออกไปปราบ กองทัพมองโกลจึงแตกพ่ายอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาดูวาข่านให้ Qutlugh Khwaja (ขอเรียกสั้นๆ ว่าควาจา) บุตรชายของเขาเป็นแม่ทัพยกมาตีเดลี ครั้งนี้กองทัพมองโกลพุ่งตรงมาที่เดลีอันเป็นเมืองหลวงโดยตรง ซาฟาร์ข่านพยายามถ่วงเวลาให้กองทัพมองโกลออกมาสู้รบกับตน แต่ควาจาปฏิเสธโดยกล่าวว่า

กษัตริย์ต้องต่อสู้กับกษัตริย์เท่านั้น

คำกล่าวของควาจาจึงไม่ต่างอะไรกับการท้าให้อลาอุดดินออกมาสู้กัน

ในเวลานั้นรัฐสุลต่านแห่งเดลียังไม่พร้อมจะสู้รบ อลาอุดดินสั่งให้เมืองต่างๆ นำกองทัพมาช่วยเดลีอย่างเร่งด่วน

ภายในเวลาไม่นาน กองทัพมองโกลก็เข้ามาถึงเดลี ประชาชนจำนวนมากจึงหนีตายเข้ามาในเมือง พวกมองโกลเองก็เริ่มปล้นสะดมกองคาราวานที่นำเสบียงอาหารเข้ามาในเมือง อลาอุดดินจึงประจักษ์ ณ บัดนั้นว่าเขาจะต้องต่อสู้ให้รู้แพ้รู้ชนะกับพวกมองโกล

ช่วงเวลานี้เองเชื้อพระวงศ์บางคนเสนอให้อลาอุดดินใช้การทูตและเจรจาสันติภาพกับพวกมองโกล แต่อลาอุดดินปฏิเสธ เขากล่าวว่าถ้าเขาแสดงความอ่อนแอ เหล่าประชาชนและทหารจะหมดสิ้นความเคารพนับถือเขา

เมื่อกองทัพที่มีอยู่พร้อมพอสมควรแล้ว อลาอุดดินจึงนำกองทัพออกไปต่อสู้พวกมองโกลด้วยตนเอง ก่อนจะยกทัพออกไป เขาสั่งให้ผู้ว่าราชการให้ปิดประตูเมืองให้แน่นหนา และเตรียมรับสถานการณ์ในกรณีที่เขาพ่ายแพ้

ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันที่คิลิ สิบกิโลเมตรห่างจากเดลีอันเป็นเมืองหลวง กองทัพมองโกลมีจำนวน 100,000-200,000 คน ส่วนกองทัพเดลีมีประมาณ 300,000 คน และช้าง 2,700 ตัว แต่ในความเป็นจริงทั้งคนและช้างของกองทัพเดลีอาจจะน้อยกว่านี้มาก

อลาอุดดินกำชับให้ทหารทุกนายรักษาหน้าที่ของตนเองให้ดี ถ้าใครเคลื่อนไหวโดยปราศจากคำสั่งจะถูกลงโทษ แต่เขาไม่รู้เลยว่า หนึ่งในแม่ทัพคนสนิทจะละเมิดคำสั่งของเขา

เรื่องมีอยู่ว่า อลาอุดดินยังไม่ต้องการที่จะเปิดศึกกับพวกมองโกล เขารู้ว่าพวกมองโกลมีเสบียงอาหารไม่มาก ถ้าเขาถ่วงเวลาพวกมองโกลเอาไว้ได้ พวกมองโกลอาจจะถอยไปเองโดยไม่ต้องรบ นอกจากนี้กองทัพสนับสนุนจากทิศต่างๆ กำลังยกเข้ามาสนับสนุนฝ่ายเดลี ทำให้อลาอุดดินไม่มีเหตุต้องออกไปรบเลย

แต่แล้วซาฟาร์ข่าน แม่ทัพของเขากลับนำกองทัพเข้าตีปีกซ้ายของพวกมองโกล ทั้งๆที่อลาอุดดินสั่งไว้แล้วว่าห้ามใครเคลื่อนไหวโดยไม่ได้รับอนุญาต

กองทัพของซาฟาร์ข่านเข้าตีกองทัพมองโกล ปรากฏว่าพวกมองโกลถอยหนีตามกลยุทธ์เก่าแก่ที่ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ซาฟาร์ข่านสั่งให้ทหารม้าติดตามไปรวดเร็ว พลทหารเดินเท้าของซาฟาร์ข่านจึงยกติดตามไปไม่ทัน

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อซาฟาร์ข่านมองไปรอบตัว เขาเห็นแต่ทหารมองโกลที่ตีโอบมาทุกด้าน รอบตัวเขามีทหารม้าเพียงหนึ่งพันนายเท่านั้น ทางกลับก็ถูกกองทัพมองโกลปิดไปแล้ว กองทัพของซาฟาร์ข่านจึงตกอยู่ในวงล้อมของกองทัพมองโกลโดยสมบูรณ์

ปรากฏว่าอลาอุดดินไม่ได้ส่งทหารสักนายเดียวยกมาสนับสนุนซาฟาร์ข่าน แม้อาจจะดูโหดร้าย แต่การตัดสินใจของอลาอุดดินถูกต้อง เพราะการส่งกำลังทหารเข้าช่วยเหลือน่าจะเป็นการฆ่าตัวตายเสียเปล่าๆ กองทัพทั้งหมดอาจจะถูกลวงไปทำลายทิ้งก็ได้

ด้วยเหตุนี้ซาฟาร์ข่านจึงอยู่ในวงล้อมแต่เพียงลำพัง ตัวเขาปรึกษาทหารนายอื่นๆ ว่าจะทำอย่างไรดี พวกทหารบอกว่าพวกเขาไม่มีหนทางกลับออกไปอีกแล้ว ถึงกลับไปได้ก็ถูกสังหารอยู่ดีตามคำสั่งที่อลาอุดดินประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นซาฟาร์ข่านและทหารทุกนายจึงตัดสินใจสู้ตาย

พวกมองโกลพยายามส่งทูตมาเกลี้ยกล่อมให้ซาฟาร์ข่านยอมจำนน แต่ซาฟาร์ข่านปฏิเสธ กองทัพมองโกลจึงเคลื่อนเข้าตีกองกำลังของซาฟาร์ข่าน

ซาฟาร์ข่านต่อสู้อย่างไว้ลายทหารเอก ตัวเขาและทหารหนึ่งพันคนสังหารพวกมองโกลไปได้หลายพันคน ในวาระสุดท้ายของเขา พวกมองโกลแทงม้าของซาฟาร์ข่านจนเขาตกลงมาจากหลังม้า ซาฟาร์ข่านต่อสู้บนสองเท้าของตนเองและสัประยุทธ์กับแม่ทัพมองโกลตัวต่อตัว

การต่อสู้ของเขาช่างเหมือนกับเสือ ไม่มีทหารมองโกลคนใดสามารถเอาชนะซาฟาร์ข่านได้ เขาจึงถูกยิงสังหารจากระยะไกลด้วยลูกธนู ร่างของซาฟาร์ข่านหมดลมหายใจหลังจากที่ลูกธนูพุ่งทะลุหัวใจของเขา

เมื่อจัดการกับกองกำลังของซาฟาร์ข่านได้แล้ว พวกมองโกลจึงเข้าตีกองกำลังของอลาอุดดิน แต่กองทัพเดลีแข็งแกร่งมาก กองทัพมองโกลเสียหายมากมายและไม่สามารถทำลายกองทัพเดลีได้

ภายในคืนวันนั้น พวกแม่ทัพนายกองฝ่ายเดลีรู้สึกโศกเศร้าที่ซาฟาร์ข่านจากไป พวกเขาจึงขอให้อลาอุดดินถอยกลับเดลีและตั้งรับในเมือง แต่อลาอุดดินปฏิเสธ เขาแจ้งให้พวกแม่ทัพทราบว่าที่ซาฟาร์ข่านพ่ายแพ้และถึงแก่ชีวิต เพราะตัวซาฟาร์ข่านเองไม่ฟังคำสั่ง และถ้าตัวเขาจะออกจากค่ายนี้ เขาจะยกออกไปโจมตีพวกมองโกลเท่านั้น

ความมุ่งมั่นเช่นนี้ทำให้อลาอุดดินน่าจะยังมั่นใจว่าอีกไม่นาน กองทัพมองโกลจะถอยทัพไปเองเป็นแน่ และเขาจะชนะโดยที่ไม่ต้องรบ ถ้าพวกมองโกลต้องการจะรบ พวกมองโกลก็ต้องเป็นฝ่ายเข้าตีที่มั่นของเขา ซึ่งจะทำให้ฝ่ายเดลีได้เปรียบมาก

การคาดการณ์ของอลาอุดดินถูกต้อง อีกสองวันต่อมา พวกมองโกลถอยกลับออกจากดินแดนของรัฐสุลต่านของเดลีไปจนหมด บ้างว่ากองทัพมองโกลถอยไปเพราะการต่อสู้อย่างบ้าคลั่งของซาฟาร์ข่านทำให้พวกมองโกลหวั่นเกรง แต่สาเหตุที่แท้จริงน่าจะเพราะควาจา แม่ทัพสูงสุดของพวกมองโกลได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเข้าตีกองทัพส่วนกลางของเดลีในวันนั้น ควาจาเสียชีวิตระหว่างถอยทัพออกจากรัฐสุลต่านแห่งเดลี

อลาอุดดินปล่อยให้พวกมองโกลถอนกำลังกลับไปโดยไม่ได้ติดตาม ชัยชนะอันเด็ดขาดจึงเป็นของรัฐสุลต่านแห่งเดลี

การรุกรานที่ไม่จบสิ้น

เมื่อพ่ายแพ้แล้ว พวกมองโกลยังคงย้อนกลับมาอีก ในปี ค.ศ.1303 พวกมองโกลบุกมาถึงเดลีอีกเป็นครั้งที่สอง โดยฉวยโอกาสจากการที่กองทัพของอลาอุดดินกำลังทำสงครามในทิศทางอื่น แต่กองทัพเดลีที่อยู่ที่ป้อมปราการสิริ (Siri) ต่อสู้ต้านทานอย่างเข้มแข็ง พวกมองโกลจึงทำได้แค่ปล้นสะดมบริเวณรอบๆ เท่านั้น แล้วจึงยกทัพกลับไป

ป้อมสิริ ในปัจจุบัน By Varun Shiv Kapur – CC BY 2.0,

สงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้อลาอุดดินตัดสินใจปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เสียหายไปมากจากการรุกรานของมองโกล การปฏิรูปทำให้สถานการณ์ของท้องพระคลังดีขึ้น รัฐสุลต่านแห่งเดลีมีเงินทองมากขึ้นที่สามารถใช้ในการทำสงครามได้ ป้อมปราการต่างๆ จึงถูกซ่อมแซมโดยใช้เงินทองเหล่านี้

สองปีต่อมาในปี ค.ศ.1305 ดูวาข่านใช้แผนการใหม่ด้วยการส่งกองทัพเข้าโจมตีบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา โดยผ่านเดลีที่มีการป้องกันอย่างแข็งแกร่งไปโดยไม่โจมตี กองทัพมองโกลมีประมาณ 30,000-50,000 คน โดยมีอาลีเบค (Ali Beg) เป็นแม่ทัพ

ข่าวศึกมาถึงเดลี อลาอุดดินจึงให้มาลิคนายัค (Malik Nayak) เป็นแม่ทัพนำทหารม้าเจนศึกออกไปปะทะกับกองทัพมองโกล กองทัพทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันที่ดินแดนอัมโรหา (Amroha) ของอินเดีย

หลักฐานอินเดียว่ากองทัพมองโกลเป็นฝ่ายโจมตีก่อน แต่การโจมตีของพวกมองโกลอ่อนแอมาก เหมือนกับเป็น “กองทัพยุงที่พยายามเคลื่อนลมพายุ”

กองทัพของมาลิคมายัคจึงยกออกไปโจมตีตอบโต้ ปรากฏว่ากองทัพเดลีเป็นฝ่ายได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ฝ่ายเดลีสังหารพวกมองโกลได้มากกว่าสองหมื่นคน และได้ม้าชั้นดีจำนวนมาก แถมยังจับแม่ทัพอาลีเบค รองแม่ทัพ และทหารมองโกลได้อีกมากมาย

อลาอุดดินสั่งให้ไว้ชีวิตอาลีเบคและรองแม่ทัพ ตลอดจนเชลยศึกจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือให้สังหารทิ้ง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่จึงเป็นของรัฐสุลต่านแห่งเดลีอีกครั้งหนึ่ง

ข่าวความพ่ายแพ้ทำให้ดูวาข่านโกรธมาก เขาจึงส่งกองทัพไปรุกรานอินเดียอีกกองหนึ่ง ไม่ปรากฏว่ากองทัพมองโกลมีเท่าใด แต่คงมีหลายหมื่นคน และมากกว่าครั้งก่อน

แม่ทัพโคเปคนำกองทัพมองโกลรุกรานอินเดียในปี ค.ศ.1306 อลาอุดดินจำต้องส่งกองทัพออกไปต้านทานอีกครั้งหนึ่ง กองทัพเดลีมีมาลิคคาเฟอร์ (Malik Kafur) เป็นแม่ทัพ ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันที่แม่น้ำระวี สาขาหนึ่งของแม่น้ำสินธุ

ครั้งนี้พวกมองโกลเริ่มต้นได้ดี และเกือบจะตีกองทัพเดลีแตก แต่มาลิคคาเฟอร์สามารถปลุกใจทหารของเขาให้กลับมาต่อสู้ได้ ทำให้พวกมองโกลเริ่มแตกกระเจิงบ้าง มาลิคคาเฟอร์สั่งให้กองทัพเดลีตีตอบโต้ ทำให้กองทัพมองโกลแตกยับ แม่ทัพโคเปคถูกจับตัวเป็นเชลยและนำไปประหารชีวิต

หลังจากนั้นกองทัพเดลีถูกส่งออกไปกวาดล้างกองทัพมองโกลอีกสองกองที่เข้ามาตีอินเดียพร้อมกัน กองทัพเดลีตีกองทัพมองโกลแตกกระจัดกระจายและไล่สังหารกองทัพมองโกลที่ถอยหนีได้เป็นจำนวนมาก รวมแล้วทหารมองโกลเสียชีวิตถึงหกหมื่นคน พร้อมกับถูกจับเชลยอีกนับไม่ถ้วน

บั้นปลาย

ความพ่ายแพ้ติดๆ กันทำให้รัฐข่านชากาไตของพวกมองโกลอ่อนแอลงมาก ในปี ค.ศ.1306 ดูวาข่านก็สวรรคต รัฐข่านชากาไตเกิดความวุ่นวายภายในทำให้ไม่สามารถรุกรานอินเดียได้อีกต่อไป ในทางกลับกันกองทัพเดลีเป็นฝ่ายยกทัพเข้าโจมตีและปล้นสะดมเมืองคาบูล เมืองที่อยู่ในการปกครองของรัฐข่านชากาไต

อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.1327 พวกมองโกลก็กลับมาอีกครั้งหนี่ง แต่ไม่สามารถยึดเดลีได้ กองทัพมองโกลจึงถอยกลับไป การรุกรานครั้งนั้นเป็นการรุกรานครั้งสุดท้ายของพวกมองโกลที่มีต่ออินเดีย

สรุปแล้วสาเหตุที่พวกมองโกลไม่สามารถผนวกอินเดียได้จึงเป็นเพราะ การต่อต้านอย่างเข้มแข็งอย่างรัฐสุลต่านแห่งเดลีนั่นเอง เช่นเดียวกับที่เวียดนามที่พวกมองโกลไม่สามารถเอาชัยได้เช่นเดียวกัน

ถึงกระนั้นไม่ได้แปลว่าอินเดียจะพ้นจากการรุกรานที่มาจากทิศตะวันตก รัฐสุลต่านแห่งเดลีถูกทำลายลงในปี ค.ศ.1526 เพราะการรุกรานของบาเบอร์แห่งราชวงศ์ติมูริด ผู้ที่มีเชื้อสายมองโกลครึ่งหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากเจงกิสข่าน

Sources:

  • Jackson, The Delhi Sultanate A Political and Military History
  • Habib and Nizami, A Comprehensive History of India: The Delhi Sultanate (A.D. 1206-1526)

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!