ท่องเที่ยวเมือง "พม่า" ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทย ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

เมือง “พม่า” ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทย ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

ในพงศาวดารไทยนั้น ถ้าจะกล่าวถึงดินแดนพม่ามักจะกล่าวถึงในฐานะศัตรูที่ทำศึกสงครามกันอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ที่เคยอ่านประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยามาก่อน คงจะคุ้นเคยกับเมืองพม่าหลายเมือง อาทิเช่น หงสาวดี อังวะ แปร เป็นต้น

หากแต่ว่าท่านสงสัยหรือไม่ว่าทุกวันนี้เมืองเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง

หงสาวดี

หงสาวดี (Hanthawaddy) เป็นเมืองพม่าที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดีมากที่สุดก็ว่าได้ หงสาวดีเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะเมืองหลวงของอาณาจักรพม่าในเวลานั้นตั้งอยู่ที่หงสาวดี ชื่อของหงสาวดีจึงปรากฏอยู่ในพงศาวดารฉบับต่างๆ รวมไปถึงภาพยนตร์ ละคร และนิยายที่เกี่ยวข้องกับยุคดังกล่าวบ่อยครั้ง

อดีตเมืองหลวงมอญและพม่าแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างมากจากการปล้นสะดมและการเผาเมืองหลังจากที่พระเจ้านันทบุเรงย้ายไปอยู่ที่เมืองตองอู หลังจากนั้นศูนย์กลางของอาณาจักรพม่าย้ายไปอยู่ที่อังวะและภาคเหนือของอาณาจักร ทำให้หงสาวดีเริ่มเสื่อมถอยลง เมื่ออังกฤษทำสงครามกับพม่าครั้งที่สอง หงสาวดีเป็นหนึ่งในเมืองที่อังกฤษผนวกจากพม่า

เมืองพะโค By Christopher Voitus – Own work, CC BY-SA 3.0,

ในปัจจุบันหงสาวดีมีชื่อปัจจุบันว่า “พะโค (Bago)” พะโคเป็นเมืองขนาดกลางในพม่าที่มีประชากรประมาณห้าแสนคน ความยิ่งใหญ่ในอดีตที่เป็นเมืองหลวงของพระเจ้าบุเรงนองได้สูญหายไปเกือบทั้งหมดแล้ว (พระราชวังบุเรงนองเองก็เพิ่งสร้างได้ไม่นานนัก) แต่โชคยังดีที่ พระมหาเจดีย์มุเตา หนึ่งใน 5 บูชาสถานของพม่าและเจดีย์สำคัญๆ หลายแห่งยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้

พะโคเป็นเมืองที่เงียบๆ สบายๆเมืองหนึ่ง ป่าไม้โดยรอบยังอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันพะโคเป็นจุดหมายหลักเมืองหนึ่งของการท่องเที่ยวในพม่า ทัวร์พม่า 3-4 วันมักจะมีชื่อของพะโคอยู่ด้วยเสมอ เพราะมีอะไรให้ชมหลายอย่าง และอยู่ไม่ไกลจากย่างกุ้งมากนัก

อังวะ

อังวะ (Ava) น่าจะเป็นชื่อของเมืองพม่าที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอันดับต้นๆ เพราะกองทัพพม่าที่ยกมาตีอยุธยาในช่วงการเสียกรุงครั้งที่ 2 มาจากเมืองอังวะ เมืองหลวงของพม่าในเวลานั้น ทำให้ละครและภาพยนตร์ไทยที่เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงนี้กล่าวถึง “กองทัพอังวะ” ให้แฟนละครได้ยินอยู่บ่อยๆ

อย่างไรก็ตามหลังจากรัชกาลฉินพยูชิน (พระเจ้ามังระ) เมืองหลวงของพม่าถูกย้ายไปอยู่ที่อมรปุระ ก่อนที่จะย้ายกลับมาที่อังวะอีกครั้งหนึ่งในสมัยพะคยีดอ (พระเจ้าจักกายแมง) แต่ทว่าหลังจากนั้นเพียงสิบกว่าปี อังวะกลับสูญเสียความเป็นเมืองหลวงไปตลอดกาล เพราะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองอังวะที่สร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งเมืองในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1839 สิ่งก่อสร้างภายในเมืองเสียหายยับเยิน ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

กษัตริย์พม่าจึงทิ้งเมืองอังวะและอพยพราษฎรไปอยู่เมืองอื่นๆ อย่างอมรปุระและมัณฑะเลย์ที่เพิ่งสร้างใหม่ขึ้นมาแทน

วิหารพระนางเมนูที่รอดจากแผ่นดินไหวใหญ่มาได้ By Hybernator – Own work, CC BY-SA 3.0,

ปัจจุบันอังวะมีชื่อว่า “อินวา” (Inwa) ในปัจจุบัน อินวาเป็นเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีผู้อยู่อาศัยไม่มากนัก อย่างไรก็ตามอังวะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของพม่า เพราะตัวเมืองใกล้กับมัณฑะเลย์ (ประมาณ 30 กิโลเมตร) และมีซากพระราชวัง วิหาร และเจดีย์ที่เคยยิ่งใหญ่หลายแห่งด้วยกัน

ตองอู

ตองอู (Taungoo) เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารรวมไปถึงภาพยนตร์ไทยหลายครั้ง ตองอูเป็นเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรพม่าในสมัยของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งสองได้สร้างฐานอำนาจของเมืองแห่งนี้จนสามารถรวมพม่าเป็นหนึ่งได้ในที่สุด

นอกจากนี้ตองอูยังเป็นเมืองพม่าเมืองสุดท้ายที่สมเด็จพระนเรศวรเคยยกทัพไปถึงเมืองและเข้าตี (เคยจะเสด็จไปตีอังวะ แต่ยังไม่ถึงเมืองก็สวรรคตเสียก่อน) เมืองแห่งนี้ยังเป็นเมืองที่นัดจินหน่องปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงด้วย

เมืองตองอู By mohigan, CC BY-SA 3.0,

ปัจจุบันตองอูเป็นเมืองเล็กๆ ในพม่าที่มีประชากรประมาณหนึ่งแสนคน รายได้หลักของเมืองมาจากอุตสาหกรรมป่าไม้ ความน่าสนใจในการท่องเที่ยวของเมืองตองอูไม่อาจเทียบได้กับเมืองหงสาวดี และเมืองอังวะ ตองอูจึงมีนักท่องเที่ยวไม่มากนักและเป็นเมืองที่เงียบสงบเมืองหนึ่ง

แปร

แปร (Pyay, Prome) อาจจะไม่คุ้นหูหลายคน แต่จริงๆแล้ว เมืองแปรแห่งนี้ปรากฏอยู่ในหลายแห่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย พระเจ้าแปรคือผู้ปลงพระชนม์สมเด็จพระสุริโยทัยบนคอช้าง และเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ยกมาตีอยุธยาร่วมกับกองทัพหงสาวดีหลายครั้ง นวนิยายผู้ชนะสิบทิศของยาขอบเองก็มี “เมืองแปร” เป็นเมืองสำคัญในเรื่องด้วย

เมืองแปรนี้อยู่ใกล้เมืองหงสาวดีและย่างกุ้ง เมื่ออังกฤษยึดพม่าตอนใต้ แปรจึงเป็นหนึ่งในเมืองที่ตกเป็นของอังกฤษ ตัวเมืองได้รับความเสียหายไม่น้อยจากสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะกองทัพพันธมิตรและกองทัพญี่ปุ่นต่อสู้แย่งชิงกันเพื่อครองเมืองนี้

เมืองแปร By U_Ko_Maung – Own work, CC BY-SA 3.0,

ปัจจุบันเมืองแปรเป็นเมืองเล็กๆ ประชากรของเมืองมีประมาณแสนกว่าคน ตัวเมืองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพะโคของพม่า และเป็นเมืองท่าสำคัญในลุ่มแม่น้ำอิระวดี รายได้หลักของเมืองคือการเกษตรเพราะพื้นที่แถบเมืองแปรอุดมสมบูรณ์มาก

พะสิม

พะสิม (Pathein) เป็นชื่อเมืองพม่าที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยหลายครั้ง เพราะพระยาพะสิมเป็นหนึ่งในแม่ทัพพม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาร่วมกับพระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้านันทบุเรงอยู่บ่อยๆ สถานะของผู้ครองเมืองพะสิมเหมือนว่าจะต่ำกว่าเมืองอื่นเพราะผู้ปกครองเมืองอื่นมีฐานะเป็นกษัตริย์ เช่น “พระเจ้าตองอู” หรือ “พระเจ้าอังวะ” แต่ผู้ครองเมืองพะสิมเป็นแค่ “พระยา” เท่านั้น

เมืองพะสิม By Myat_Thura_Aung – Own work, CC BY-SA 3.0,

เมืองพะสิมอยู่ทางปากแม่น้ำอิระวดีฝั่งตะวันตก เรือขนาดใหญ่จึงสามารถเข้ามาถึงเมืองพะสิมได้ แม้เมืองพะสิมจะไม่ได้ติดทะเลโดยตรงก็ตาม พะสิมเป็นเมืองท่าที่สำคัญของพม่ามาจนถึงปัจจุบัน รายได้หลักของเมืองมีหลายอย่าง อาทิเช่นการเกษตรและการเดินเรือ เมืองแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงมากเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมืออาทิเช่นร่มกันแดด หม้อ ตะกร้า และอื่นๆ อีกหลายอย่างด้วยกัน

ทวายและมะริด

ทวาย (Tavoy หรือชื่อใหม่ Dawei) และมะริด (Mergui หรือชื่อใหม่ Myeik) เป็นสองเมืองในพม่าที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยบ่อยมาก อาณาจักรอยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์แย่งชิงเมืองเหล่านี้กับอาณาจักรพม่านานหลายร้อยปี เพราะเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่เอี้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อผู้ครอบครอง

เมืองทวายในปัจจุบัน By Go-Myanmar – Own work, CC BY-SA 3.0,

การแย่งชิงทวายและมะริดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทั้งสองฝ่ายทำสงครามกัน แต่สุดท้ายอาณาจักรพม่าได้ครอบครองเมืองทั้งสองจนกระทั่งเสียให้กับอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะได้ครอบครองอีกครั้งหลังจากได้รับเอกราช

ปัจจุบันทั้งเมืองทวายและมะริดอยู่ในรัฐตะนาวศรี (Tanintharyi) ของพม่า เมืองทวายเป็นเมืองหลวงของรัฐ แต่กลับมีจำนวนประชากรน้อยกว่าเมืองมะริด

เมืองมะริด By Kyaw_Zin_Win(KT) – Own work, CC BY-SA 4.0,

ทั้งสองเมืองยังคงเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลพม่ามีแผนการที่จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย และสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา ส่วนเมืองมะริดเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นในฐานะเมืองท่องเที่ยวทางทะเล ใกล้กับเมืองมะริดมีเกาะหลายร้อยเกาะ เกาะเหล่านี้เริ่มเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเพราะมีความสวยงามและคงความบริสุทธิ์ไว้ได้เพราะพม่าได้ปิดประเทศมาเป็นเวลานาน

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!