การศึกษา6 สิ่งที่เด็กมหาวิทยาลัยควรทราบก่อนเข้าสู่การสมัครงาน และเริ่มต้นอาชีพ

6 สิ่งที่เด็กมหาวิทยาลัยควรทราบก่อนเข้าสู่การสมัครงาน และเริ่มต้นอาชีพ

ช่วงมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่หลายคนอยากจะใช้ชีวิตให้โลดโพ้นสุดเหวี่ยง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ดีช่วงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สามารถลิขิตชีวิตการทำงานไปได้อีกหลายปีทีเดียว คุณจึงควรจะวางแผนและใช้เวลาอย่างคุ้มค่าเพื่อที่จะไม่ได้เผชิญกับปัญหาในอนาคตครับ

ในโพสนี้ผมจึงรวบรวม 5 สิ่งที่ผมเชื่อว่าเด็กมหาวิทยาลัยควรทราบก่อนที่จะเข้าสู่สมรภูมิการสมัครงาน หรือเริ่มต้นอาชีพ บางสิ่งเป็นสิ่งที่ผมหวังว่าผมจะทราบในช่วงนั้น หรืออาจจะข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นของผมเอง รวมไปถึงสิ่งที่ผมเรียนรู้มาจากคนรอบตัวครับ

เราไปดูกันเลยดีกว่าจะมีอะไรบ้าง

1. ศึกษาเรื่องการสมัครงานไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

การได้งานที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุณจะต้องค้นหาตัวเองว่าคุณชอบอะไร และสร้าง profile ที่ดีพอในการที่บริษัทเหล่านั้นจะรับคุณเข้าทำงาน ดังนั้นกระบวนการเหล่านี้ย่อมใช้เวลาและการสะสม คุณจึงควรจะเริ่มต้นหาข้อมูลของสิ่งเหล่านี้ไว้โดยเร็ว (ถ้าเป็นไปได้ตั้งแต่ปี 1 เลยก็ยิ่งดี)

ยกตัวอย่างเช่น ผมค้นพบว่าผมชอบการลงทุนในหุ้นมาก เคยสนใจจะเป็นนักวิเคราะห์หุ้น (Equity Research Analyst) ผมจึงไปค้นหาต่อว่าผมควรจะมีทักษะอะไรบ้าง และกระบวนการการสมัครงานเป็นอย่างไร รวมไปถึงแนวโน้มของอาชีพและอุตสาหกรรมดำเนินไปในแง่บวกหรือแง่ลบ

ในช่วงนี้เองคุณจะได้พบว่างานแบบไหนที่คุณน่าจะตรงกับความชอบของคุณ รวมไปถึงทราบถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณได้งานด้วย ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์มาก เพราะจะช่วยให้คุณวางแผนทุกอย่างได้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ การฝึกงาน และพัฒนาทักษะที่จำเป็นตั้งแต่เนิ่นๆ ครับ

2. เกรดในช่วงมหาวิทยาลัยนั้นสำคัญ

เกรดหรือ GPA ในช่วงมหาวิทยาลัยนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยต่อการสมัครงานไม่ว่าจะทั้งในและต่างประเทศ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะบางบริษัท (โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทชั้นนำ) จะมีเกณฑ์ cut off สำหรับผู้สมัครงานเอาไว้

อย่างที่ผมเคยเจอมา สถาบันการเงินและบริษัทที่ปรึกษา (Management Consulting) ชื่อดังจะบอกมาอย่างโต้งๆ เลยว่า ผู้สมัครควรจะมี GPA อย่างน้อย 3.50/4.00 ซึ่งถ้าคุณได้ GPA ต่ำ นั่นเท่ากับแทบจะปิดโอกาสที่จะได้งานหรือฝึกงานในบริษัทเหล่านี้เลยครับ

เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีบริษัทในฝันไว้อยู่แล้ว คุณควรที่จะตรวจสอบ job descriptions หรือตำแหน่งงานระดับ entry-level/new graduate ที่คุณเล็งไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อดูว่ามีเกณฑ์ที่ว่าหรือไม่ ซึ่งถ้ามี คุณยิ่งต้องขยันและพยายามทำเกรดให้ดีที่สุด ถ้าสามารถเลือกตัวที่ลงได้ การลงตัวที่ได้เกรดง่ายไว้บ้างเพื่อดึง GPA ให้สูงขึ้นอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่น่าพิจารณาในสถานการณ์นี้

ในทางกลับกัน ถ้าตำแหน่งงานในฝันไม่ได้บอกเกณฑ์เรื่อง GPA อย่างชัดเจน คุณก็ต้องตั้งใจเรียนอยู่ดี เพราะในกระบวนการตรวจสอบ Resume นั้น ทาง HR ก็จะตรวจดูเกรดของคุณ ถ้าเกรดไม่ดี และ profile แย่ด้วย โอกาสที่จะได้สัมภาษณ์ก็จะยิ่งน้อยลงไป

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเกรดจะไปบอกอะไรได้ เพราะมีปัจจัยมากมายที่สามารถส่งผลกระทบเกรดของคุณ (ทั้งในแง่ดีและไม่ดี)

คำตอบคือ เกรดแสดงถึงความรับผิดชอบในฐานะนักศึกษาของคุณ และเป็นตัวแสดงถึงความรู้ในวิชาที่คุณลงไปที่พอใช้ได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว คุณจะต้องไปพัฒนาทักษะเพิ่มเติมตอนฝึกงานหรือทำงานจริงอยู่ดี แต่การรับนักศึกษาที่เกรดดี บริษัทย่อมจะวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าบุคลากรที่รับมาจะมีคุณภาพครับ

อย่างไรก็ดีเกรดนั้นไม่ใช่ทุกสิ่ง และไม่ใช่ว่าชีวิตของคุณจะพังทลายถ้าเกรดไม่ดี เพราะมีหลายวิธีที่จะช่วยพัฒนา profile ของคุณให้ดูดี จนทำให้บริษัทสนใจคุณได้ แม้ว่าเกรดของคุณจะไม่ดีนักก็ตามครับ

3. ควรฝึกงาน (Internship) ให้มากที่สุด

หนึ่งในวิธีการสร้าง profile ของคุณที่ดีที่สุดไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็คือการฝึกงานในบริษัทต่างๆ ให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับอาชีพหรือสายงานในฝันของคุณ

อย่างสมัยก่อน ผมอยากจะเป็นนักวิเคราะห์หุ้น ผมก็ได้ไปฝึกงานในบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ นั่นเองครับ

การฝึกงานนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ Resume ของคุณดูดี, แสดงให้เห็นความสนใจในสายอาชีพ รวมไปถึงทักษะต่างๆ ที่คุณได้เรียนรู้มา และที่สำคัญที่สุดคือคุณสามารถสร้าง connection ในบริษัทเหล่านั้น เปิดทางให้คุณสามารถได้งานจากการแนะนำตัวคุณไปยังบริษัทต่างๆ จาก “พี่ๆ ที่บริษัท” อีกด้วย

นอกจากนี้ถ้าคุณอยู่ที่อเมริกานั้น การฝึกงานเป็นประตูสู่งานประจำแบบเต็มเวลาหลังจากที่คุณเรียนจบ เพราะบริษัทจะพิจารณาเด็กฝึกงานก่อน และจะมอบสัญญาให้เลยถ้าเห็นว่า คุณฝึกงานได้ดี หลังจากนั้นถึงจะเปิดรับบุคลากรใหม่

โดยทั่วไปแล้วนักศึกษาส่วนใหญ่จะฝึกงานกันช่วงหลังจบปี 3 แต่บางบริษัทก็เปิดรับเด็กปีอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น Summer Internship ของธนาคารไทยพาณิชย์นั้นเปิดกว้างให้เด็กมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 1-4 สมัครได้

นั่นเท่าว่าถ้าคุณฝึกงานทุกปี ตอนสมัครงานหลังจบ Resume ของคุณจะอัดแน่นไปด้วยประสบการณ์การฝึกงาน ซึ่งจะถูกมองแง่บวกอย่างมากเลยครับ และอาจจะสำคัญกว่าเกรดด้วยซ้ำไป นี่จึงเป็นวิธีการแก้ตัวที่ดีวิธีหนึ่งถ้าเกรดของคุณไม่ดี

หาสถานที่ฝึกงานด้วยตนเองอย่างไร

บางมหาวิทยาลัยจะจัดสรรสถานที่ฝึกงานมาให้ แต่ถ้าคุณอยากฝึกเพิ่มเติมจะทำอย่างไร?

การสถานที่ฝึกงานด้วยตนเองนั้นไม่ยากเลยครับ หลายๆ บริษัทจะมีโครงการฝึกงานเปิดให้สมัครอยู่แล้ว ผมแนะนำให้สมัครไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะคู่แข่งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เยอะมากด้วยนั่นเอง

ถ้ามหาวิทยาลัยของคุณมีงาน job fair หรือ career fair ผมแนะนำอย่างยิ่งให้ไปครับ เพราะคุณจะได้ทราบว่ามีบริษัทไหนบ้างที่เปิดให้ฝึกงานได้

แต่ถ้าคุณไม่ได้ไป วิธีการก็จะยุ่งยากหน่อย ลองทำตามนี้ดูครับ

วิธีแรก เว็บไซต์หางานบางเว็บอย่างเช่น jobsdb, monster, jobthai, indeed อาจจะมีลิสต์งานแบบ internship ไว้ด้วย ผมแนะนำให้ตรวจสอบตรงนี้ดูครับ อย่างผมลอง search ดูบน jobsdb โดยใช้คำว่า “Internship” ผมพบว่ามีบริษัทเปิดรับเด็กฝึกงานถึง 380 แห่งด้วยกันและเป็นบริษัทใหญ่อย่างเช่น Lazada, Thai Union, ThaiBev, Johnson & Johnson และอื่นๆ อีกมากมายเลยครับ

หลังจากนั้นคุณก็สมัครตามกระบวนการที่ระบุไว้ในเว็บไซต์หางานเหล่านี้เลยเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนความ

วิธีที่สอง ถ้าคุณมีบริษัทที่ต้องการอยู่แล้ว ก็แค่เปิดเว็บบริษัทที่ต้องการแล้วหาคำว่า “Careers” หรือ “ร่วมงานกับเรา” หรือว่าหาตรงๆ เลยอย่างเช่น “Internship” เป็นต้น หลังจากนั้นก็ไล่สมัครครับ

วิธีที่สาม ถ้ายังไม่มีชื่อบริษัทเลย ผมแนะนำให้เปิดเว็บไซต์หางานแล้วก็ไล่หาตำแหน่งที่คุณอยากทำ หรือไม่ก็ search หาผ่านทาง Search engine ต่างๆ อย่างเช่น “บริษัทการเงินในไทย”, “สำนักงานกฎหมายในไทย” ฯลฯ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ชื่อบริษัทที่เปิดตำแหน่งดังกล่าวมาเป็นจำนวนมากแล้วครับ

ขั้นต่อมาคุณก็เข้าไปที่เว็บไซต์ของบริษัทเหล่านี้เพื่อดูว่ามีระบุถึงการฝึกงานเหมือนกับวิธีที่สอง แต่ถ้าถ้าบนเว็บไซต์ไม่มีข้อมูลเหล่านี้เลย ลองอีเมล์หรือโทรหา HR โดยตรงดูครับ บางบริษัทอาจจะไม่ได้เปิดการฝึกงานแบบ public แต่ว่าก็ให้ฝึกได้เช่นกัน ผมเคยได้ฝึกงานสองแห่งเพราะวิธีนี้เลยครับ

หลายคนอาจจะสนใจฝึกงานเฉพาะบริษัทใหญ่หรือบริษัทต่างชาติเท่านั้น ถ้าไม่ได้ก็ไม่ไป ผมมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องครับ

แน่นอนว่าบริษัทใหญ่ระดับข้ามชาติก็เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว เพราะจะช่วยเพิ่ม “ออร่า” ให้กับ resume ของคุณ และให้ training ที่เป็นระบบแบบแผน แต่ถ้าคุณได้แต่บริษัทเล็กหรือ startup ผมบอกเลยว่าก็ไม่เป็นไรครับ ไปฝึกงานแล้วทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้จะดีกว่า

สาเหตุก็คือไปฝึกก็ดีกว่าไม่ฝึกเลย แถมในบางครั้งที่บริษัทเล็ก คุณมีโอกาสที่จะสนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูง และได้ลงมือช่วยเหลือในโครงการหลักของบริษัทด้วยซ้ำไป (ไม่ใช่แค่โครงการเล็กๆ ที่ให้เด็กทำ) สิ่งเหล่านี้จะยกระดับทักษะและ profile ของคุณอย่างก้าวกระโดดเลยครับ

4. ต้องมี Resume, Email และ LinkedIn ที่ดูเป็นมืออาชีพ

Resume เป็นเหมือนกับหน้าตาของคุณ ดังนั้นคุณควรจะต้องเขียนให้เป็นมืออาชีพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมแนะนำให้อ่านบทความแยกเกี่ยวกับ Resume ของผมเพิ่มเติมครับ

อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนมองข้ามไปคืออีเมล์ กล่าวคือคุณควรจะมีอีเมล์ที่มีชื่อและนามสกุลจริงของคุณในนั้น เพราะจะดูเป็นมืออาชีพ และทำให้ฝ่ายบุคคลจำง่าย ซึ่งจะเอื้อต่อการเรียกมาสัมภาษณ์และติดต่อต่างๆ ครับ

ท้ายที่สุดสิ่งที่คุณควรจะเปิดใช้งานตั้งแต่เนิ่นๆ ก็คือ LinkedIn ครับ ทั้งนี้ LinkedIn คือ social media สำหรับบุคลากรต่างๆ ในการสร้าง connection ระหว่างกัน นอกจากนี้ยังเป็น platform จัดหางานชั้นยอดอีกด้วย

หลังจากที่คุณสร้าง LinkedIn account เสร็จแล้ว คุณก็ควรที่จะใส่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับตัวคุณและทักษะต่างๆ อย่างละเอียดที่สุด เพราะบ่อยครั้งที่ HR ของบริษัทต่างๆ จะมองเห็นคุณจาก LinkedIn และเชิญให้คุณไปสัมภาษณ์เลยแบบไม่ต้องเข้ากระบวนการด้วยซ้ำไป

5. อย่าลืมพัฒนาทักษะที่จำเป็น

จริงอยู่ว่าคุณอาจจะทำเกรดได้ดี แต่ทักษะที่ใช้ในการทำงานอาจจะไม่ตรงกับทักษะที่คุณเรียนมาจากมหาวิทยาลัย บางบริษัทเองก็ต้องการสิ่งที่เรียกว่า job-ready skills หรือ work readiness skills มากกว่าความรู้ทางด้านทฤษฎีที่คุณได้มาจากอาจารย์

ดังนั้นก่อนเข้าไปสู่การสมัครงาน 2-3 ปี คุณควรจะลงทุนพัฒนาทักษะที่จำเป็น วิธีการที่เราจะรู้ว่าทักษะเหล่านั้นคืออะไรก็ไม่ยาก ลองไปเปิดส่วนของ “What we are looking for” ของ job descriptions ในเว็บไซต์หางานดูครับ

คุณอาจจะเลือกตำแหน่งในฝันของคุณก่อนก็ได้ คุณจะได้เห็นว่าบริษัทต้องการทักษะอะไรบ้างจากตำแหน่งนี้ หลังจากนั้นก็เริ่มพัฒนาทักษะตามลำดับโดยการเรียนเพิ่มเติมผ่านคอร์สออนไลน์ หรือว่าเรียนตามสถาบันต่างๆ ก็ได้ครับ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากจะทำงานในส่วนของ investment banking คุณจะต้องเก่งกาจในส่วนของ financial modeling หรือถ้าอยากเป็น data scientist ก็ต้องมีทักษะ Python และ machine learning อย่างดีเป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปคือเรื่องของทักษะรองอย่างเช่น การเขียนภาษาอังกฤษ, การใช้ Microsoft Office (Excel, Word, PowerPoint), การพรีเซนต์งาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คุณก็สามารถยกระดับได้ตั้งแต่เนิ่นๆ คุณจะได้ทำให้บริษัทในอนาคตของคุณประทับใจนั่นเองครับ

6. ช่วงมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาส

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าช่วงเวลาที่อยู่มหาวิทยาลัยนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาส เพราะว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่คุณสามารถศึกษาหาโอกาสต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต รวมไปถึงลองผิดลองถูกได้ทางธุรกิจ เพราะภาระของคุณจะยังไม่มากเท่ากับวัยผู้ใหญ่นั่นเอง

ดังนั้นถ้าคุณมีไอเดียดีๆ ทางธุรกิจ คุณอย่าปิดกั้นตัวเองด้วยเรื่องเล็กน้อยที่อาจจะทำให้คุณเสียการใหญ่ อย่างเช่นเรื่องอายุและประสบการณ์ เพราะในบางทีอาจจะมีคุณเท่านั้นที่เห็นช้างเผือกในป่าก็ได้ครับ

Pun Anansakunwat
Pun Anansakunwathttps://victorytale.com/about-victorytale/
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Victory Tale ผมชื่นชอบในหลากหลายสาขาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี ไปจนถึงการลงทุน หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ผมก็ได้เป็นนักลงทุนในหุ้น, ติวเตอร์, นักเขียน (ตีพิมพ์ไปแล้ว 3 เล่ม) และในปัจจุบันก็เป็นเจ้าของเว็บไซต์ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!