ประวัติศาสตร์นัดจินหน่อง ตอนจบ: กษัตริย์ชาวพม่าผู้เข้ารีตเป็นคริสเตียน

นัดจินหน่อง ตอนจบ: กษัตริย์ชาวพม่าผู้เข้ารีตเป็นคริสเตียน

ในตอนที่แล้ว นัดจินหน่องได้วางยาพิษปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรง เพราะคิดว่าพระเจ้านันทบุเรงเป็นผู้ขัดขวางไม่ให้พระเจ้าตองอู พระบิดาอนุญาตให้มีการอภิเษกสมรสระหว่างตนเองกับเจ้าหญิงยสาตาตูกัลยา

ถึงแม้พระเจ้านันทบุเรงจะสวรรคตไปแล้ว แต่พระเจ้าตองอูก็ยังไม่ให้ทั้งสองอภิเษกสมรสกันอยู่ดี นัดจินหน่องต้องรออีกถึงเกือบสามปี พระบิดาถึงอนุญาตให้อภิเษกสมรสกันได้ในปี ค.ศ.1603

ถึงแม้จะเฝ้ารอมานานกว่าสิบเอ็ดปี นัดจินหน่องกลับมีความสุขกับเจ้าหญิงได้ไม่นาน เพราะเจ้าหญิงยสาตาตูกัลยาสิ้นพระชนม์อย่างปัจจุบันทันด่วนหลังจากอภิเษกกับนัดจินหน่องได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น การจากไปของเธอทำให้นัดจินหน่องโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

เดอบริโต

ตองอูอยู่ในวงล้อม

เมื่อปราศจากกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ ดินแดนพม่าก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ นอกจากตองอูแล้วยังมีเมืองอื่นอีกมากมายที่ตั้งตนเป็นอิสระ

หนึ่งในเมืองเหล่านั้นคือ เมืองอังวะที่นำโดยพระเจ้านยองยาน พระองค์ทรงรวบรวมดินแดนตอนเหนือให้รวมเป็นหนึ่งและเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าสู่ดินแดนไทยใหญ่

การแผ่อิทธิพลของพระเจ้านยองยานทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงไม่สบายพระทัย พระองค์จึงยกทัพขึ้นมาตีเมืองอังวะ แต่พระองค์กลับสวรรคตเสียก่อนที่เมืองหาง ทำให้กองทัพทั้งหมดต้องยกกลับคืนสู่อยุธยา

หลังจากสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตได้ไม่นาน พระเจ้านยองยานก็สวรรคต พระโอรสขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่ทรงพระนามว่า พระเจ้าอนัคเปตลุน

กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงหมายพระทัยว่าจะฟื้นฟูอาณาจักรพม่าเดิมให้จงได้ ดังนั้นเป้าหมายต่อไปก็คือพิชิตเมืองตองอู เมืองของนัดจินหน่องนั่นเอง

หากแต่ว่ามิใช่ว่าตองอูอยู่ในภัยคุกคามจากด้านเหนือด้านเดียวเท่านั้น ทางด้านใต้ก็เช่นเดียวกัน

ขณะนั้นเมืองสิเรียมได้ตกอยู่ในการยึดครองของชาวโปรตุเกส ชื่อ ฟิลิปเป้ เดอบริโต (Filipe De Brito) เขาได้ประกาศให้เมืองสิเรียมและหัวเมืองโดยรอบเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส

ตองอูเคยร่วมกับยะไข่ยกทัพไปปราบปรามชาวโปรตุเกสผู้นี้ถึงสองครั้ง แต่กลับโดนฝรั่งผู้นี้เอาชนะได้อย่างไม่ยากเย็น อิทธิพลของเดอ บริโตจึงแผ่เข้ามาถึงเมืองหลวงเก่าอย่างกรุงหงสาวดีเลยทีเดียว

พงศาวดารพม่าว่า เดอ บริโตกดขี่ข่มเหงชาวพุทธในดินแดนพม่าเป็นอย่างมาก เช่นสั่งให้คนปล้นสะดมเจดีย์ วัดวาอารามเพื่อหาทรัพย์สมบัติ หรือบังคับให้ชาวพม่าเปลี่ยนศาสนา ทำให้ชาวพม่าแค้นเคืองเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมืองตองอูของนัดจินหน่องจึงอยู่ตรงกลางระหว่างสองกลุ่มอำนาจที่กำลังเฟื่องฟูได้แก่ พระเจ้าอังวะทางตอนเหนือ และนายฝรั่งเดอ บริโต ทางตอนใต้ สถานการณ์ของตองอูจึงคับขันเป็นอย่างยิ่ง

บัลลังก์ที่สั่นคลอน

นัดจินหน่องขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งเมืองตองอู หลังจากที่พระเจ้าตองอูสวรรคตในปี ค.ศ.1609

สิ่งที่เขาทำสิ่งแรกๆ นั่นก็คือส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเดอ บริโต ทั้งสองถึงกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นพันธมิตรกันต่อต้านพระเจ้าอนัคเปตลุน หรือ พระเจ้าอังวะทางตอนเหนือ และได้ยังได้สาบานเป็นพี่น้องกันอีกด้วย

การที่นัดจินหน่องไปทำสัญญาและสาบานเป็นพี่น้องกับเดอ บริโตเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง เพราะสองสาเหตุ

  1. เขาเป็นถึงพระเจ้าตองอู แต่กลับไปสาบานเป็นพี่น้องกับนายฝรั่งผู้เป็นสามัญชน
  2. นัดจินหน่องเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ถึงแม้จะเป็นในเชิงอภินิหารก็ตาม แต่เขากลับไปสาบานเป็นพี่น้องกับผู้ทำลายศาสนาของตนเอง

ไม่มีใครทราบว่าทำไมเป็นเช่นนั้น หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์พม่าว่า นัดจินหน่องต้องการหลอกใช้เดอ บริโต เพื่อขยายอำนาจของตนเอง แล้วจะหาโอกาสกำจัดเขาทีหลัง

หรือว่าจริงๆ แล้ว นัดจินหน่องอาจจะเกรงกลัวพระเจ้าอังวะมากจนยอมทำทุกอย่างก็เป็นได้

ต้นปี ค.ศ.1610 พระเจ้าอนัคเปตลุนทรงตีเมืองแปรได้แล้ว พระองค์จึงทรงนำกองทัพใหญ่มาตีเมืองตองอูเป็นลำดับต่อไป เมืองตองอูต้องรับศึกใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ภายในระยะเวลายี่สิบปีให้หลัง ตองอูต้องรับศึกหนักมาตลอดตั้งแต่ ศึกสมเด็จพระนเรศวร ศึกสิเรียม และศึกอังวะ (ตองอูเคยยกไปตีอังวะครั้งหนึ่ง) ในสงครามเหล่านี้ ตองอูได้เสียชายฉกรรจ์ไปเป็นจำนวนมาก กำลังทหารจึงอ่อนแอลง

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตองอูไม่อาจจะต้านทานการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบของฝ่ายอังวะได้ เมืองตองอูแตกในที่สุด

หลังจากพระเจ้าอนัคเปตลุนทรงเข้าเมืองได้ พระองค์โปรดให้นัดจินหน่องดำรงตำแหน่งเดิมต่อไป แต่ให้ลดยศศักดิ์ลงเป็นเพียงเจ้าเมืองตองอูเท่านั้น

เรียกกองทัพมาตีเมืองตนเอง?

นัดจินหน่องไม่พอใจที่ตนเองโดนลดยศศักดิ์เป็นแค่เจ้าเมืองตองอู หรือถ้าเรียกแบบไทยๆ ก็ พระยาตองอู มิใช่พระเจ้าตองอู อีกต่อไป

เหตุการณ์หลังจากนั้นคลุมเครืออย่างยิ่ง พงศาวดารก็ว่าไว้ถึงสามรูปแบบ

แบบแรก นัดจินหน่องไม่พอใจที่โดนลดยศศักดิ์ เขาส่งจดหมายไปหา เดอ บริโต พี่น้องร่วมสาบานของเขาว่าให้ยกทัพมาตีเมืองตองอู เดอ บริโตจึงนำกองทัพของเขามากับเจ้าเมืองเมาะตะมะ (ซึ่งเป็นประเทศราชของอยุธยา)

แบบที่สอง เดอ บริโตโกรธที่นัดจินหน่องไปอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะจึงยกทัพมาตีเมืองตองอู ร่วมกับเจ้าเมืองเมาะตะมะ

แบบที่สาม เมื่อพระเจ้าอังวะมาตีเมืองตองอู นัดจินหน่องได้ขอความช่วยเหลือจากอยุธยา สมเด็จพระเอกาทศรถจึงโปรดให้พระยาทะละ เจ้าเมืองเมาะตะมะร่วมกับเดอ บริโตยกทัพไปช่วย แต่เมื่อไปถึงตองอูได้ยอมจำนนต่อพระเจ้าอังวะไปแล้ว กองทัพของเดอ บริโต และเจ้าเมืองเมาะตะมะจึงพยายามเข้าตีเมืองตองอูกลับคืน

ถึงแม้จะเล่าเหตุการณ์คนละแบบ แต่ผลสรุปเหมือนกัน นั่นก็คือ กองทัพฝรั่งและเมาะตะมะปล้นสะดมเมืองตองอูเสียจนยับเยิน หลังจากนั้นยังได้เผาเมืองตองอูด้วย นัดจินหน่องเองก็ถูกจับกุมไปไว้ที่เมืองสิเรียม ฐานที่มั่นของเดอบริโต

เข้ารีตเป็นคริสเตียน

เมื่อพระเจ้าอนัคเปตลุนได้ทราบว่า เดอ บริโตยกมาตีเมืองตองอูและทำลายเมืองจนยับเยิน พร้อมกับจับกุมนัดจินหน่องไปเช่นนั้น พระองค์ก็พิโรธเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้พระเจ้าอนัคเปตลุนทรงเกลียดชังเดอ บริโตมาตั้งแต่เดิมอยู่แล้ว เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าเขาเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนา

ในครั้งนี้พระองค์ทรงไม่ทนอีกต่อไป กองทัพอังวะขนาดใหญ่บุกลงใต้มาล้อมเมืองสิเรียม ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันดุเดือด แต่โชคเป็นของพระเจ้าอนัคเปตลุนเมื่อเดอ บริโตโดนโกงเงินค่ากระสุนปืนใหญ่ และเรือรบโปรตุเกสได้แล่นกลับไปที่เมืองกัวในอินเดียแล้วเป็นจำนวนมากก่อนหน้านี้ ท้ายที่สุดพระองค์จึงยึดเมืองสิเรียมได้สำเร็จ

พระเจ้าอนัคเปตลุนทรงได้ตัวทั้งนัดจินหน่อง และเดอ บริโต สำหรับ เดอ บริโตนั้น พระองค์โปรดให้นำเขาไปทรมาน หลังจากนั้นก็ประหารชีวิตเสีย

แต่เคสนัดจินหน่องยากกว่าเพราะเขามีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระองค์ พระองค์จึงครุ่นคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับเขาดี

พระเจ้าอนัคเปตลุนตรัสกับนัดจินหน่องว่า พระองค์จะไว้ชีวิตเขาถ้าเขาสาบานว่าจะอ่อนน้อมต่อพระองค์ (และน่าจะทำพิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย)

นัดจินหน่องกลับตอบพระองค์ว่า ก่อนที่เมืองสิเรียมจะแตกได้ไม่กี่วัน เขาได้รับศีลล้างบาป และได้ทำพิธีเปลี่ยนศาสนาอย่างเป็นทางการกับบาทหลวงโปรตุเกสแห่งเมืองกัว (Goa) แล้ว เขาจึงปฏิเสธที่จะทำพิธีเหล่านั้นเพื่ออ่อนน้อมต่อพระองค์ นัดจินหน่องกล่าวต่อไปอีกว่า เขายินดีที่จะตายพร้อมกับเดอ บริโต

พระเจ้าอนัคเปตลุนได้ฟังเช่นนั้น พระองค์จึงตรัสเชิงบริภาษต่อนัดจินหน่องว่า

เจ้าปรารถนาที่จะเป็นทาสของชาวต่างชาติมากกว่าจะรับใช้กษัตริย์ที่มาจากชนชาติของเจ้าเอง

หลังจากนั้นนัดจินหน่องจึงถูกนำตัวไปสำเร็จโทษ เขามีอายุได้เพียง 34 ปีเท่านั้น

ส่งท้าย

นัดจินหน่องได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะกวียาดู (Yadu) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พม่า ผลงานของเขามีตั้งแต่กลอนที่แต่งให้กับเจ้าหญิงยสาตาตูกัลยาไปจนถึงกลอนที่มีปูมหลังเป็นสงครามและพิชัยยุทธ์

ผลงานเหล่านี้เขาแต่งขึ้นเมื่อเขาเป็นเพียงวัยรุ่นเท่านั้น เมื่อเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ นัดจินหน่องไม่ได้สร้างผลงานใดๆ อีกเลย สาเหตุเป็นเพราะว่าเขาใช้เวลาไปกับความพยายามที่จะเป็นใหญ่ในพม่า หรือว่าเขาอาจจะหมดความสนใจในโคลงกลอนไปสิ้นหลังจากการจากไปของเจ้าหญิงยสาตาตูกัลยา หญิงที่เขารักยิ่งก็เป็นได้

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!