ประวัติศาสตร์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ยุวกษัตริย์พม่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งตองอู ตอนที่ 1

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ยุวกษัตริย์พม่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งตองอู ตอนที่ 1

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (Tabinshewhti) เป็นกษัตริย์พม่าที่ผู้ที่เคยปรึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาบ้างน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะพระองค์เป็นผู้นำกองทัพพม่ามาตีอยุธยาเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ในรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แม้ว่าพระองค์จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นการแผ่แสนยานุภาพของอาณาจักรที่เพิ่งตั้งใหม่ให้กระจายไปทั่วเอเชียอาคเนย์

ชีวิตของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้หรือที่คนไทยมักเรียกว่า “พระเจ้าหงสาลิ้นดำ” นั้นอยู่กับศึกสงครามอยู่ตลอดเวลา ภายในเวลายี่สิบปี พระองค์ได้รวบรวมดินแดนพม่าที่แตกแยกกันนับร้อยปีให้กลับเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือพระองค์กลับเสียทุกอย่างไปในคืนเดียวเท่านั้น

ในบทความนี้ เราจะมาดูกันดีกว่าครับว่าชีวิตของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นอย่างไร

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และคำทำนาย

ในช่วงปี ค.ศ.1515 พระเจ้ามิงยีนโยแห่งตองอูมีพระชนมายุได้ประมาณ 55 พรรษาแต่กลับยังไม่มีโอรสไว้สืบบัลลังก์ ทว่าในคืนวันหนึ่ง ทำนบกั้นสระหลวงกลับพังทลายลงมา พระเจ้ามิงยีนโยเสด็จไปดูแลการซ่อมแซมด้วยพระองค์เอง ระหว่างนั้นพระองค์กลับเห็นหญิงสาวชาวมอญพลเรือนคนหนึ่งมีหน้าตางดงาม จึงได้รับตัวนางเป็นบาทบริจาริกา

หลังจากนั้นไม่นานนางก็ให้กำหนดโอรสที่พระองค์ต้องการนักหนา พระองค์ทรงตั้งพระนามพระโอรสน้อยว่า ตะเบ็งชะเวตี้ หรือสุวรรณเอกฉัตร หรือแปลเป็นไทยอีกทีหนึ่งก็คือ ฉัตรสีทองอันเป็นหนึ่งเดียว

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในร่างนัต (Nat) ที่ชาวพม่าให้การนับถือ

อย่างไรก็ดีพระโอรสตะเบ็งชะเวตี้ก็มีชื่ออื่นด้วย บ้างว่าพระองค์ชื่อมินตรา หรือ มังตรา คนไทยหลายคนน่าจะคุ้นกับชื่อมังตราเป็นพิเศษ เพราะยาขอบที่เขียนเรื่องผู้ชนะสิบทิศก็ใช้ชื่อนี้นั่นเอง

ด้วยความที่พระมารดาของตะเบ็งชะเวตี้เป็นชาวมอญ ดังนั้นพระองค์จึงมีสายเลือดมอญอยู่ครึ่งหนึ่งด้วย นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระองค์ยอมรับวัฒนธรรมมอญได้มากกว่ากษัตริย์เชื้อสายพม่าก่อนหน้าพระองค์ทุกพระองค์

แผ่นดินพม่านั้นเต็มไปด้วยเรื่องเล่า ความเชื่อ และคำทำนายไม่น้อยกว่าไทย ดังนั้นจึงมีตำนานเล่าว่า ชาติก่อนของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้คือ โอรสพระองค์หนึ่งของพระเจ้าธรรมเจดีย์แห่งกรุงหงสาวดี (ในเวลานั้นยังเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญ) ซึ่งโดนพระบิดาสำเร็จโทษโดยปราศจากความผิด

ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจ พระโอรสได้ลั่นวาจาว่าถ้าได้ทำความผิดจริงขอให้ตกนรกหมกไหม้ แต่ถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ขอให้ไปเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้าตองอู และจะเป็นมหาศัตรูกับกรุงหงสาวดี

ไม่ว่าคำทำนายจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่พระเจ้ามิงยีนโยก็โปรดให้พระโอรสศึกษาการรบทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการขี่ม้า ขี่ช้าง ตำราพิชัยสงคราม ไปจนถึงอาวุธทุกประเภท ทำให้พระโอรสตะเบ็งชะเวตี้เป็นนักรบที่เก่งกาจผู้หนึ่ง

ตลอดช่วงเวลาวัยเยาว์นั้น พระโอรสตะเบ็งชะเวตี้ได้สนิทสนมกับ เย หตุด (Ye Htut, หรือจะเด็ดในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ) ลูกชายของแม่นม ทั้งสองมีอายุใกล้เคียงกัน โดยเย หตุดอายุมากกว่าเพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นทั้งสองจึงเป็นสหายรักตั้งแต่เด็ก และร่วมเรียนศิลปศาสตร์ต่างๆ ด้วยกัน ไม่ต้องสงสัยว่า เย หตุด ผู้นี้คือใคร เขาคือพระเจ้าบุเรงนองในอนาคตนั่นเอง

ขึ้นครองราชย์

เมื่อพระโอรสตะเบ็งชะเวตี้อายุได้เพียง 15 ปี (ค.ศ.1530) พระเจ้ามิงยีนโยก็สวรรคต ด้วยความที่เป็นพระโอรสเพียงหนึ่งเดียว พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงต้องขึ้นสืบบัลลังก์ตั้งแต่เพิ่งเข้าสู่วัยรุ่น ทันทีที่ได้ขึ้นครองบัลลังก์ กษัตริย์หนุ่มกลับแสดงถึงสติปัญญาแม้ว่าจะยังมีอายุน้อยก็ตาม

สิ่งที่พระองค์ทำสิ่งแรกก็คือ มอบตำแหน่งให้เหล่าพระสหายที่ร่ำเรียนด้วยกัน พวกเขาจึงได้มาเป็นฐานกำลังในราชสำนักให้กับพระองค์ และยังช่วยให้ราชสำนักตองอูมีคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำงานด้วย นอกจากนี้พระองค์ยังได้อภิเษกสมรสกับลูกสาวของขุนนางผู้ใหญ่อีกสองคน ดังนั้นราชสำนักตองอูจึงอยู่ในกำมือของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้โดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ดีสามปีต่อมา เย หตุด หนึ่งในสหายรักที่สุดกลับถูกพระองค์จับได้ว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ตะขิ่นคยี (ตะละแม่จันทราในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ) พี่สาวของพระองค์เอง ตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว เย หตุดจะต้องโทษประหารชีวิตเพราะเป็นกบฏ

โดยส่วนพระองค์แล้ว พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่อยากประหารชีวิตเย หตุดอยู่แล้ว สุดท้ายพระองค์จึงหาทางออกได้ด้วยการยกพระพี่นางให้อภิเษกสมรสกับเย หตุดเสียเลย และยกเย หตุดให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเป็นกะยอดินนรธา (Kyawhtin Nawrahta) ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้านายเทียบเท่ากับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

กุศโลบายนี้ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถือว่าเหนือชั้น เพราะนอกจากจะตัดปัญหาเรื่องกฎมณเฑียรบาลแล้ว พระองค์ยังซื้อใจพระสหายผู้นี้ไปตลอดพระชนม์ชีพ นับตั้งแต่บัดนั้นกะยอดินนรธาก็เป็นขุนทหารที่สำคัญที่สุดของพระองค์ในการทำสงครามกับแว่นแคว้นต่างๆ

เดินตามคำทำนาย

เมืองตองอูของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นั้นเป็นเมืองใหญ่ก็จริง แต่ดินแดนในปกครองของพระองค์นั้นก็มีแค่เมืองนี้และดินแดนรายรอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อันที่จริงแล้วอาณาจักรนี้เพิ่งแตกออกมาจากอาณาจักรอังวะไม่กี่สิบปีเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดีในเวลานั้นอาณาจักรตองอูถือว่าเป็นความหวังหนึ่งเดียวของชาวพม่า สาเหตุก็คือพวกไทยใหญ่จากรัฐฉานเพิ่งจะทำลายอาณาจักรอังวะในปี ค.ศ.1527 และปกครองดินแดนตอนเหนือของพม่าทั้งหมด ส่วนทางตอนใต้นั้นก็ถูกปกครองโดยอาณาจักรมอญ เมืองตองอูจึงเป็นเมืองใหญ่แห่งเดียวที่เหลืออยู่

แต่เพราะความล่มสลายของอาณาจักรอังวะนี้เอง ชาวพม่าทางตอนเหนือจึงหนีลงใต้มายังเมืองตองอูจำนวนมาก กำลังผู้คนของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงมีมากขึ้นตามลำดับ

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นั้นทรงฝักใฝ่สงครามอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อได้บัลลังก์ พระองค์จึงริเริ่มที่จะรวบรวมแผ่นดินพม่าทันที

เป้าหมายแรกของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้คือ อาณาจักรหงสาวดี (Hanthawaddy) ของชาวมอญ อาณาจักรนี้ถือว่าเป็นอาณาจักรใหญ่ที่แข็งแกร่ง มีความร่ำรวยเป็นอันดับต้นๆ ในอดีตเคยทำสงคราม 40 ปีกับอาณาจักรอังวะก็ไม่ปรากฏผลแพ้ชนะ

อย่างไรก็ดีในเวลานั้น อาณาจักรหงสาวดีกลับมีกษัตริย์หนุ่มที่อ่อนแอ นามว่าตกายุทพี (Takayutpi) วันๆ พระองค์ใช้เวลาไปกับการเขจ้าป่าล่าสัตว์ และขี่ม้าชี่ช้างเล่นสนุก ไม่เอาใจใส่ราชการแผ่นดิน เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้โดยสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้เหล่าหัวเมืองต่างๆ จึงไม่ให้ความเคารพพระองค์เท่าไรนัก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สอพินยา น้องเขยของพระองค์ที่เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ แต่กลับปกครองเมืองราวกับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่ง)

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เล็งเห็นถึงความอ่อนแอนี้จึงปรารถนาจะยกทัพมาตีกรุงหงสาวดีก่อน อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะดินแดนของอาณาจักรมอญติดทะเล ดังนั้นจะเอื้อต่อการค้าขายและการซื้ออาวุธปืนไฟจากชาวตะวันตก แถมตัวดินแดนเองก็อุดมสมบูรณ์และมีผู้คนมาก ถ้าพระองค์พิชิตอาณาจักรนี้ได้ พระองค์ก็จะมีกำลังไปตีอาณาจักรแห่งอื่นต่อไป

ในปี ค.ศ.1534 กองทัพตองอูจึงยกมาตีอาณาจักรหงสาวดี แต่ปรากฏว่าการศึกกลับไม่ได้ง่ายเหมือนกับที่คาด เพราะแม่ทัพมอญสองคนอย่างพินญาลอ (Binnya Law) และพินญาคยาน (Binnya Kyan) กลับนำกองทัพต่อสู้อย่างเข็มแข็ง กองทัพมอญเอาปืนใหญ่ยิงกระหน่ำทหารตองอูจนบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ฝ่ายตองอูที่ไม่ติดทะเลจึงไม่มีปืนใหญ่ ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบอย่างมาก

แม้ว่าจะเอาชนะมอญไม่ได้ หลังจากนั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ให้ยกทัพมาอีกแทบทุกปี ปรากฏว่าผลที่ได้ก็ไม่ได้แตกต่างกันออกไป เพราะปืนไฟและทหารรับจ้างที่มาจากอินเดียและโปรตุเกสยิงถล่มกองทัพตองอูจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ฝ่ายตองอูจึงไม่ได้อะไรเลยนอกจากเพิ่มจำนวนทหารที่ตายอย่างเดียว

อย่างไรก็ดีพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ตระหนักว่า แม้ว่าฝ่ายตองอูจะไม่ชนะ แต่ก็ไม่เคยถูกตีตอบโต้เข้ามาในดินแดน นั่นเพราะกองทัพหงสาวดีนั้นไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว จึงต้องเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการรอวันพ่ายแพ้ ถ้าฝ่ายตองอูใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างไปจากเดิม กรุงหงสาวดีจะต้องแตกเป็นแน่

กลยุทธ์ของฝ่ายตองอู

กลยุทธ์ที่ฝ่ายตองอูใช้นั้นเหมือนกับที่แผนสอดไส้ยาพิษที่แคว้นฉินใช้กับแคว้นจ้าวในยุคจ้านกว๋อทุกประการ นั่นคือใช้จารชนปล่อยข่าวให้พระเจ้าตกายุทพีหลงเชื่อ พระองค์จะได้สังหารแม่ทัพที่มีความสามารถ และทำให้ฝ่ายหงสาวดีอ่อนแอลงในพริบตา แม่ทัพที่เป็นเป้าหมายก็คือพินญาลอ และพินญาคยานนั่นเอง

เราไม่ทราบแน่ชัดว่าจารชนปล่อยข่าวว่าอะไร แต่ที่แน่ๆ พระเจ้าตกายุทพีกลับเชื่อ และสั่งให้ประหารชีวิตสองแม่ทัพที่ต่อต้านพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้อย่างเต็มกำลังมาตลอด 4 ปีด้วยกัน แถมสองแม่ทัพนี้เคยเป็นราชครูของพระเจ้าตกายุทพีมาตั้งแต่เด็กอีกด้วย

การตายของทั้งสองเป็นโอกาสทองของฝ่ายตองอู ดังนั้นในปลายปี ค.ศ.1538 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงให้ยกทัพใหญ่ไปตีกรุงหงสาวดี

ในยุทธการครั้งนี้ดูเหมือนว่าเหล่าแม่ทัพนายกองและทหารของฝ่ายหงสาวดีจะถอดใจเพราะการตายของแม่ทัพทั้งสอง ทำให้แต่ละคนไม่มีกำลังใจจะรบ ส่วนพระเจ้าตกายุทพีนั้นย่ำแย่ยิ่งกว่า พระองค์เสด็จหนีออกจากเมืองก่อนที่กองทัพตองอูจะมาถึงด้วยซ้ำไป (บ้างว่าเหล่าทหารทิ้งพระองค์หนีเอาตัวรอด พระเจ้าตกายุทพีจึงต้องหนีตามไป)

สรุปคือกองทัพตองอูจึงได้เมืองหงสาวดีโดยที่ไม่ต้องต่อสู้เลย เพราะฝ่ายศัตรูทิ้งเมืองไปหมดแล้ว

ยุทธการแห่งเนานโย (Battle of Naungyo)

พระเจ้าตกายุทพีหนีตายไปยังเมืองแปรเพื่อขอกำลังทหารมาช่วยเหลือ อย่างไรก็ดีพระองค์ได้นำทหารเจนศึกของหงสาวดีไปด้วย โดยเดินทัพไปทางน้ำและทางบก ส่วนหนึ่งเพราะเส้นทางไปยังเมืองแปรต้องผ่านเทือกเขาพะโคโยมาที่สูงชัน ทำให้ไม่เหมาะสำหรับกองทัพขนาดใหญ่

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ที่อยู่ที่เมืองหงสาวดีนั้นทราบดีว่า ถ้ากองทัพหงสาวดีไปถึงเมืองแปร อาจจะปรับกระบวนทัพและย้อนกลับมาตีเมืองหงสาวดีคืนได้ หรือไม่ก็ล้อมพระองค์ไว้ในเมือง พระองค์ควรฉวยโอกาสนี้เข้าตีตอนที่กองทัพมอญกำลังถอยหนีไปอย่างร้อนรนจะดีที่สุด

ดังนั้นพระองค์จึงโปรดให้กะยอดินนรธา พระสหายรักนำกองทหารเคลื่อนที่เร็วยกติดตามไป ส่วนพระองค์จะยกทัพเรือตามกองเรือหงสาวดีไป และเข้าตีพร้อมกัน

อย่างไรก็ดีเมื่อกะยอดินนรธาไปถึงเนานโย เขากลับเห็นว่าถึงเวลาที่จะเข้าโจมตีทั้งๆ ที่มีกำลังน้อยกว่าหลายเท่าโดยไม่รอกองทัพหลวง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นคงเพราะกะยอดินนรธาเห็นว่ากองทัพมอญถอยอย่างรวนเร เหล่าทหารเองก็ไม่ต้องการจะรบ ต่างคนต่างจะหนีกันอยู่แล้ว ถ้าไม่เข้าตีตอนนี้จะเข้าตีตอนไหน

กองทัพของกะยอดินนรธาจึงเข้าตีกองทัพมอญทันที ตัวกะยอดินนรธาสังหารแม่ทัพมอญบนหลังช้างอย่างห้าวหาญ และขู่ขวัญแม่ทัพมอญอีกคนหนึ่งจนหนีเตลิดไป กองทัพมอญจึงปราศจากผู้ควบคุม เปิดโอกาสให้กองทัพตองอูที่กำลังฮึกเหิมไล่สังหาร ผลสุดท้ายกองทัพตองอูได้ชัยชนะเด็ดขาด กองทหารของหงสาวดีถูกทำลายสิ้นก่อนที่จะถึงเมืองแปร

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เดินทัพมาถึงในวันรุ่งขึ้น แม้ว่ากะยอดินนรธาจะผิดรับสั่งแต่ก็ไม่ได้เอาโทษ แถมยังแต่งตั้งให้เขามียศศักดิ์สูงขึ้นในตำแหน่งบุเรงนอง และได้รับอาญาสิทธิ์เด็ดขาดเทียบเท่ากับพระองค์ทุกประการ

ส่วนพระเจ้าตกายุทพีนั้นหนีไปถึงเมืองแปรได้สำเร็จ แต่พระองค์ก็เหลือแต่ตัว พระองค์ไม่เหลือเมืองใดๆ ในปกครองอีกแล้ว ทรัพย์สินและเงินทองก็ไม่มี แถมกองทัพก็ถูกทำลายไปหมดแล้ว พระองค์จึงได้แต่พยายามขอให้พระเจ้าแปรและพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ที่ปกครองภาคเหนือของพม่าให้ช่วยเหลือ แต่ไม่มีผู้ใดขานตอบข้อเรียกร้องของพระองค์

กษัตริย์หนุ่มผู้นี้สวรรคตในอีกไม่กี่เดือนต่อมา บ้างว่าประชวรสวรรคตหลังจากไปล่าช้างป่า บ้างว่าถูกกองโจรพม่าปลงพระชนม์ในป่า เป็นอันปิดฉากราชวงศ์ของพระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) โดยสมบูรณ์

ชัยชนะของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทำให้พระองค์ปกครองดินแดนพม่าตอนใต้เกือบทั้งหมด แต่ก็ยังเหลือเมืองแปร และหัวเมืองมอญอีกหลายแห่งที่ยังไม่สวามิภักดิ์ อย่างเช่นเมืองเมาะตะมะเป็นต้น เหตุการณ์จะเป็นไปอย่างไร ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

Reference:

  • พระราชพงศาวดารพม่า – กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
  • Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!