การศึกษาโดนลอกบทความหรือ content ต่างๆ จากเว็บไซต์จะทำอย่างไรดี?

โดนลอกบทความหรือ content ต่างๆ จากเว็บไซต์จะทำอย่างไรดี?

หนึ่งในปัญหาที่เจ้าของเว็บไซต์เกรงกลัวและน่าเบื่อหน่ายมากที่สุดคงไม่พ้นการลอกบทความของเราจากเว็บไซต์ไปลงในที่สถานที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์อื่น, Facebook, Youtube ทำให้เสียผลประโยชน์ทาง SEO หรืออาจจะส่งผลกระทบต่อ Brand ของเราได้อีกด้วย

ด้วยความที่เว็บไซต์ของผมมีบทความนับพันทั้งไทยและอังกฤษ ผมจึงเคยประสบปัญหาดังกล่าวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้นในโพสนี้ผมจะมาขอแชร์วิธีการจัดการและป้องกันปัญหาเหล่านี้ครับ

เว็บไซต์คุณโดนลอกอะไรได้บ้าง

คำตอบคือทุกอย่างครับ อาชญากรทางไซเบอร์สามารถลอกทุกอย่างได้ของเว็บไซต์คุณ ตั้งแต่เอาบทความไปลงใหม่, รูปภาพ, หรือแม้กระทั่งลอกเว็บไซต์ทั้งเว็บเลยก็ยังทำได้!

หลายคนอาจจะสงสัยว่าโดยลอกเว็บไซต์ทั้งเว็บทำได้ด้วยหรือ คำตอบคือทำได้ครับ ผมเองก็เคยโดนมาแล้วด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดีถ้าคุณเพิ่งจะเคยโดนลอกเป็นครั้งแรก ผมบอกเลยว่าสิ่งแรกที่คุณต้องทำคือใจเย็นและตั้งสติครับ ผมจำได้ว่าตอนที่โดนครั้งแรก ผมอารมณ์เสีย หงุดหงิด และโกรธอย่างมาก ซึ่งไม่ได้ช่วยให้จัดการอะไรได้ดีขึ้นครับ

การโดนลอกบทความนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของเจ้าของเว็บไซต์ทุกคน

แนวทางในการจัดการ

แนวทางในการจัดการปัญหานี้มีหลักๆ อยู่สองแบบด้วยกัน แนวทางแรกก็คืออยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย กับอีกแนวทางนึงคือกวาดล้างให้สิ้นซาก ทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผมจะแจกแจงด้านล่างครับ

1. อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย

แนวทางที่เจ้าของเว็บไซต์จำนวนมากเลือกที่จะทำคือ ไม่ทำอะไรเลยครับ

สาเหตุที่ไม่ทำอะไรเลยก็เพราะโดยมากแล้ว search engine จะตรวจสอบได้ไม่ยากเลยว่า ใครเป็นเจ้าของบทความที่แท้จริง ดังนั้นโอกาสที่บทความที่ลอกคุณไปจะได้ ranking เหนือคุณเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเว็บไซต์ของคุณตั้งอยู่มานานแล้ว และมีคะแนน Domain Authority (DA) ที่สูงประมาณนึง

อย่างกรณีที่ผมโดนลอกทั้งเว็บไซต์ ผมตรวจดูแล้วพบว่า Google ไม่ index บทความที่ลอกผมไปเลยสักบทความเดียวครับ ดังนั้นผมจึงมองว่าคุณจะสบายใจได้ในระดับหนึ่งในแง่ของ SEO

อีกสาเหตุหนึ่งคือถ้าคุณใส่ internal link ไว้ในบทความของคุณ ถ้าคุณโดนเว็บไซต์ด้วยกัน ลอกบทความไปแล้วละก็ คุณจะได้ backlink จากเว็บไซต์เหล่านั้นมาแบบฟรีๆ ด้วย อย่างในกรณีนึง ผมเคยได้ backlink ที่มี DA สูงถึง 50 มาเลยทีเดียวครับ เพราะมีเว็บไซต์ขนาดใหญ่ลอกบทความของผมเอาไปลงทั้งหมด แบบไม่ถอดอะไรเลยครับ

ไม่เพียงเท่านั้นวิธีการนี้ยังทำให้คุณประหยัดเวลา ไม่ต้องไปเสียเวลาไปลงไม้ลงมือจัดการกวาดล้าง ซึ่งจะทำให้คุณสามารถโฟกัสกับการสร้าง content ดีๆ ต่อไป

อย่างไรก็ดี ผมมองว่าคุณสามารถที่จะวางเฉยในการโดนลอกได้ แต่ไม่ใช่ในกรณีต่อไปนี้

  • เว็บไซต์ของคุณโดนลอกทั้งเว็บไซต์ แม้กระทั่งชื่อเว็บ ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าหรือผู้เข้าชมสับสนได้
  • บทความที่คุณลอกได้ ranking บน search engine ดีกว่าบทความของคุณ
  • Content ของคุณถูกนำประโยชน์ไปใช้ในเชิงพาณิชย์
  • Content ดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายต่อแบรนด์ของคุณในช่องทางอื่นๆ

2. การตรวจพบว่ามีบทความโดนลอก

วิธีการหาว่ามีบทความโดนลอกหรือเปล่านั้นง่ายมาก และมีหลายวิธีด้วยกัน

หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือตรวจสอบจาก Backlink Profile โดยใช้ SEO Tools ต่างๆ ครับ วิธีนี้จะใช้ได้ผลในกรณีที่คุณได้ใส่ internal link เอาไว้ ดังนั้นถ้าอาชญากรนำบทความของคุณไปโพสในอีกเว็บหนึ่ง ส่วนมากแล้วเขาจะไม่เสียเวลาถอดลิงค์เหล่านี้ออก ดังนั้นลิงค์เหล่านี้จะยังคงพุ่งตรงมาหาเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งถ้าไปตรวจสอบแล้วก็จะเจอได้อย่างง่ายๆ เลยครับ

ผมเองก็ใช้วิธีนี้แหละครับ ในการตรวจหาเจอทั้งบทความที่โดนลอก ไปจนถึงเจอเว็บไซต์ที่ลอกทุกอย่างของเว็บผมไป ทั้งนี้คุณไม่จำเป็นต้องใช้แบบเสียเงินนะครับ Backlink Checker แบบฟรีของ Ahrefs ก็ใช้ได้ดีเช่นกัน

อีกวิธีการหนึ่งก็คือใช้เครื่องมืออย่าง Grammarly และ Copyscape และเอาส่วนหนึ่งของบทความของคุณไปตรวจ ซึ่งวิธีการนี้จะเสียเวลามากกว่า และยังมีค่าใช้จ่ายด้วย ผมจึงแนะนำวิธีการแรกมากกว่า

3. แนวทางการกวาดล้างให้สิ้น

แนวทางนี้เป็นแนวทางที่เรียกว่ากวาดล้างให้สิ้นซาก หรือพูดง่ายๆ คือคุณจะทำทุกวิธีทางที่ทำให้บทความหรือเว็บไซต์ที่ลอกบทความของคุณปลิวให้ได้ ไม่ว่าจะปลิวจาก Google Search, Facebook, Youtube และช่องทางอื่นๆ ครับ

3.1. ไม่ควรต่อรอง

ตอนที่ผมเพิ่งเคยโดนปัญหานี้เป็นครั้งแรก ผมได้อ่านบทความว่าจะจัดการอย่างไรดีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผมพบว่ามีบทความจำนวนมากแนะนำให้ไปต่อรองกับคู่กรณีก่อนที่จะดำเนินการกวาดล้าง ซึ่งผมก็ได้ลองทำครับ สิ่งที่ผมได้คือ

  • คู่กรณีไม่ตอบอีเมล์ หรือ Facebook Message ใดๆ
  • เว็บไซต์ที่ลอกไปเป็นเว็บสแปม ดังนั้นไม่มีช่องทางการติดต่อ
  • คู่กรณีไม่ยอมลบ และเลือกที่จะปรับแก้เพียงนิดหน่อย

บอกตรงๆ เลยว่าผมหงุดหงิดมากกับสิ่งเหล่านี้ หลังจากนั้น ผมจึงเลิกคิดที่จะติดต่อคู่กรณีอีกเลยถ้าคิดที่จะกวาดล้างบทความที่ลอกผมไปครับ

3.2 เริ่มกระบวนการ Copyright Removal

วิธีการไม่ยากอะไรครับ คุณแค่แจ้งเรื่องไปยังแพลตฟอร์มที่คุณอยากให้ลบบทความออกไปเท่านั้นเอง

สำหรับ Google Search, Youtube และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Google คุณสามารถตามลิงค์นี้ไปได้เลยครับ

ส่วน Facebook และ Instagram ก็ตามลิงค์นี้ไป

ส่วนแพลตฟอร์มอื่นผมแนะนำก็ใช้ search engine แล้วหาโดยเลือกแพลตฟอร์มที่คุณต้องการจะให้ลบตามด้วย Copyright removal ครับ

หลังจากนั้นก็ไม่ยากครับ คุณก็แค่กรอกข้อมูลลงไป โดยพยายามบรรยายทุกอย่างให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณอาจจะต้องเตรียมรูปภาพไปพิสูจน์ให้เห็นว่าเว็บไซต์อื่นหรือ Facebook Page อื่นๆ ลอกคุณไปจริงๆ

เมื่อกรอกเสร็จสิ้นและส่งไปแล้ว ผมแนะนำให้ตรวจสอบอีเมล์อยู่เรื่อยๆ ครับ เพราะเจ้าหน้าที่อาจจะส่งอีเมล์มาขอข้อมูลเพิ่ม คุณก็ต้องจำเป็นต้องให้ข้อมูลดังกล่าวกับเค้าไปด้วย

กระบวนการต่างๆ จะใช้เวลา 1-3 วันครับ จากประสบการณ์ของผมคือ Facebook จะเร็วกว่าเล็กน้อย และจะส่งมาแจ้งถ้ากระบวนการลบได้รับการอนุมัติ ส่วน Google นั้นจะไม่แจ้ง แต่คุณจะตรวจสอบสถานะได้ผ่านทาง DMCA Dashboard ของ Google Search Console ครับ

3.3 จัดการให้ราบถึงตัวเว็บไซต์

ขั้นตอน 3.2 จะช่วยให้คุณลบบทความหรือ content ที่โดนลอกจาก search engine หรือ platform ต่างๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าเป็นขั้นตอนที่เพียงพอแล้วสำหรับเคสส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดีถ้าเว็บไซต์นั้นยังคงสร้างปัญหาให้กับคุณอยู่ คุณอาจจะต้องการลบเว็บไซต์นั้นๆ ให้ออกไปจากสารบบไปอย่างสิ้นเชิง

ก่อนอื่นผมต้องแจ้งให้คุณทราบก่อนว่า กระบวนการนี้จะเสียเวลามากขึ้น และแม้ว่าเว็บไซต์นั้นจะถูกลบไป แต่อาชญากรก็สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ไม่ยากเลย ด้วยการไปซื้อโดเมนถูก และไปหาโฮสถูกๆ และใช้บอทมาลอกเว็บไซต์ของคุณ เพียงเท่านี้ปัญหาก็จะกลับมาเหมือนเดิม คุณก็ต้องไปตามไล่ล่าเพื่อลบอีก

ขั้นตอนแรก คุณจะต้องไปเปิดฐานข้อมูล Whois และตรวจสอบหาข้อมูลที่จำเป็น อย่างเช่น Domain Registrar หรือ Hosting Provider ของเว็บไซต์ดังกล่าว

ขั้นตอนที่สอง คุณจะต้องติดต่อไปยังฝั่ง Copyright removal agent ของแต่ละบริษัท ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณพบว่าโดเมนเนมที่ลอกคุณไปอยู่กับ Namecheap หรือ Cloudflare คุณก็ต้องไปติดต่อกับทั้งสองบริษัทดังกล่าว และให้ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด

ในขั้นตอนนี้นั้นจะกรอกละเอียดกว่าเดิมมาก ในบางกรณีคุณอาจจะต้องใช้ DMCA Takedown Notice เพื่อออกเป็นลายลักษณ์อักษรในการแจ้งขอให้ลบ ซึ่งถ้าได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเว็บไซต์นั้นๆ ลอกงานของคุณจริง ตัวเว็บก็จะต้องโดนลบออกไปจากสารบบโดยบริษัทที่โดนรับแจ้ง ตามกฎหมาย Digital Millennium Copyright Act ของสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากการลบแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่ ในบางครั้งจะมีปัญหาวุ่นวายมาก ดังนั้นคุณอาจจะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือแม้กระทั่งนักกฎหมายมาจัดการครับ ดังนั้นผมแนะนำอย่างยิ่งให้ประเมินสถานการณ์ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจครับ

3.4 ใช้กระบวนการทางกฎหมาย

ในกรณีที่คุณได้ทำทุกวิถีทางแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่จบสิ้น สิ่งสุดท้ายที่คุณสามารถทำได้คือใช้กระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือในต่างประเทศในการจัดการกับคู่กรณี ซึ่งขั้นนี้จะเป็นขั้นสูงสุดแล้ว และมีความวุ่นวายอย่างมาก เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายเช่นกัน

โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าเป็นไปได้ผมมองว่าเราไม่ควรไปไกลถึงขั้นนี้ ยกเว้นเสียว่ามีความจำเป็นจริงๆ และการโดนลอก content ได้สร้างความเสียหายอย่างมากจริงๆ ครับ

4. วิธีการป้องกันการโดนลอก

ก่อนอื่นผมต้องบอกเลยว่า วิธีการป้องกันไม่ให้โดนลอกนั้นยากมากที่จะได้ผล เพราะมีหลากหลายวิธีที่อาชญากรสามารถข้ามผ่านกระบวนการเหล่านี้ไปได้ วิธีที่นิยมทำกันได้แก่

  • Right Click Protection – ปิดไม่ให้ผู้ใช้งานคลิกขวาในบนเว็บไซต์ของคุณ ดังนั้นจะป้องกันไม่ให้รูปภาพหรือบทความถูกลอกไปได้ ถ้าใช้ WordPress ผมแนะนำให้ใช้ Plugin ครับ แค่ลงไปก็จบเลย
  • Disable RSS Feed – หลายๆ บทความถูกลอกผ่านระบบ RSS Feed ดังนั้นถ้าคุณปิดทิ้งไป คุณจะปิดช่องทางการโดนลอกไปได้อีกทางหนึ่งครับ ถ้าคุณใช้ WordPress ผมแนะนำให้ใช้ plugin อย่าง Perfmatters ครับ
  • Image Hotlinking Protection – อาญชากรมักจะใช้วิธีการ Hotlink เพื่อดูดรูปภาพของคุณไปวางที่เว็บไซต์ของเขา ซึ่งวิธีนี้พวกเขาจะใช้ bandwidth ของคุณเองด้วย การป้องกันแบบนี้จะทำให้พวกเขาได้ไปแต่เนื้อหา แต่ไม่ได้รูปภาพไปครับ อย่างไรก็ดีคุณอาจจะเสีย traffic บางส่วนจาก Google Images ได้ สำหรับใครใช้ WordPress และพอจะโค้ดเองได้ ผมแนะนำให้ปรับแก้ใน .htaccess ส่วนใครที่โค้ดไม่่ได้ ผมแนะนำให้ใช้ Protection ของ Cloudflare หรือ CDN อื่นๆ ครับ
  • เขียนข้อความในบทความให้เห็นชัดๆว่าการลอกบทความจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย – เตือนให้ใครที่คิดจะลอกคิดให้ดีก่อนอีกครั้งหนึ่ง เพราะคุณจะเอาจริง

Pun Anansakunwat
Pun Anansakunwathttps://victorytale.com/about-victorytale/
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Victory Tale ผมชื่นชอบในหลากหลายสาขาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี ไปจนถึงการลงทุน หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ผมก็ได้เป็นนักลงทุนในหุ้น, ติวเตอร์, นักเขียน (ตีพิมพ์ไปแล้ว 3 เล่ม) และในปัจจุบันก็เป็นเจ้าของเว็บไซต์ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!