พระเจ้าบุเรงนองเป็นมหาราชพระองค์ที่สองของพม่า พระองค์แรกคือพระเจ้าอนุรุทธมหาราชแห่งอาณาจักรพุกาม ชีวประวัติของพระองค์หลังครองราชย์เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ผมจึงขอนำเสนอชีวประวัติก่อนที่จะได้เป็นกษัตริย์ให้ทุกคนได้ทราบ
ชาติกำเนิด
ชื่อเดิมของบุเรงนองคือ เย หตุด (Ye Htut) ชาติกำเนิดของบุเรงนองไม่แน่ชัด พงศาวดารพม่าฉบับมหายาสวินว่าเขาสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองตองอูและพระเจ้ามังฆ้องแห่งตองอูทางฝั่งบิดา ส่วนมารดาสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์แห่งพุกาม
ถึงกระนั้นคำบอกเล่าและตำนานต่างเล่าว่า แท้จริงแล้วบิดามารดาของบุเรงนองเป็นคนธรรมดาทั่วไป บิดาของเขาประกอบอาชีพเป็นคนเก็บมะพร้าว แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าตำนานหรือคำบอกเล่าจะขัดกัน เพราะคนเก็บมะพร้าวก็อาจสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ในยุคโบราณได้
ไม่แน่ชัดว่าเหตุการณ์ต่อไปเป็นอย่างไร แต่บิดาและมารดาของบุเรงนองได้เข้าวังไปรับใช้พระเจ้ามิงยีนโยแห่งตองอูด้วยกันทั้งคู่ มารดาของบุเรงนองได้เป็นแม่นมของเจ้าชายตะเบ็งชเวตี้ บุเรงนองและเจ้าชายจึงมีพระชนมายุไล่เลี่ยกัน โดยบุเรงนองน่าจะมีอายุมากกว่าเล็กน้อย เมื่อทั้งสองเติบโตขึ้นจึงกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน
การที่มารดาได้เข้าไปรับใช้ในวัง ทำให้บุเรงนองมีโอกาสได้เรียนศิลปศาสตร์เช่นเดียวกับเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ บุเรงนองเป็นผู้มีความสามารถ ทำให้ในเวลาไม่นาน บุเรงนองก็มีฝีมือในการใช้อาวุธทุกชนิด รวมไปถึงขี่ช้าง ขี่ม้า และวางแผนการรบ
ด้วยความที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก เจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ทรงไว้พระทัยบุเรงนองมากยิ่งกว่าผู้ใด บุเรงนองก็รักและจงรักภักดีกับพระองค์มากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้บุเรงนองยังได้มีความรักกับเจ้าหญิงตะขิ่นกยี พระพี่นางของเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้อีกด้วย
มือขวาของพระเจ้าอยู่หัว
เจ้าชายตะเบ็งชเวตี้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา พระองค์ทรงยกพี่สาวของบุเรงนองขึ้นเป็นพระอัครมเหสี และมอบตำแหน่งและอำนาจให้กับบุเรงนอง พระเจ้าตองอูพระองค์ใหม่ทรงปรารถนาที่จะปราบปรามศัตรูหัวเมืองอื่นให้ราบคาบเพื่อสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าอาณาจักรพุกามโบราณ
สถานะของตองอูไม่มั่นคงสักเท่าใดนัก เพราะมีศัตรูอยู่รายรอบ ทางตอนเหนือมีพวกรัฐฉานทั้งหกที่เพิ่งจะพิชิตอาณาจักรอังวะได้สำเร็จ ทางด้านตะวันตกมีอาณาจักรแปรซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐฉานทั้งหก ทางใต้มีอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญที่เข้มแข็งตั้งอยู่
อาณาจักรหงสาวดีในที่นี้คืออาณาจักรของชาวมอญที่สืบเชื้อสายไปถึงมะกะโท และพระเจ้าราชาธิราช แต่ทว่าต่อมาพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงตีได้เมืองหงสาวดี พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่นี่
ดังนั้นอาณาจักรหงสาวดีที่ปรากฏในแบบเรียน ละคร และภาพยนตร์ไทยจึงหมายถึงอาณาจักรพม่าของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง มิใช่อาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญในที่นี้อีกต่อไปแล้ว
การที่มีศัตรูอยู่รายล้อม พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และที่ปรึกษาต่างเห็นตรงกันว่า ตองอูจะต้องฉวยโอกาสจัดการศัตรูโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่ต้องการจะถูกอาณาจักรอื่นๆ ทำลาย
หากแต่ว่าในช่วงเวลานี้ ความลับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุเรงนองและเจ้าหญิงตะขิ่นกยีถูกเปิดเผย ตามกฏหมายแล้วบุเรงนองต้องโทษสูงถึงเป็นกบฏ แต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตัดสินพระทัยไปในทางตรงข้าม พระองค์ยกพระพี่นางให้แต่งงานกับบุเรงนองอย่างเป็นทางการ พร้อมกับยกให้บุเรงนองดำรงตำแหน่งเป็นกะยอดินนรธา ซึ่งเป็นตำแหน่งเชื้อพระวงศ์ตองอู
ไม่ต้องสงสัยว่า บุเรงนองจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมากเพียงใด หลังจากนั้นเขาตั้งหน้าตั้งตาทำศึกเพื่อตอบแทนพระเจ้าอยู่หัวของเขา
บุเรงนองทำศึก
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตัดสินพระทัยโจมตีอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญก่อน ถึงแม้กองทัพตองอูจะได้ชัยในสมรภูมิกลางแปลง แต่กองทัพตองอูไม่อาจเข้าตีเมืองที่มีปืนไฟป้องกันของอาณาจักรหงสาวดีได้ สถานการณ์จึงอยู่ในสภาพหยุดนิ่งซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตองอูที่กำลังแข่งกับเวลา
ในปี ค.ศ.1538 ตองอูได้ใช้แผนหนอนบ่อนไส้ด้วยการทำให้พระเจ้าตกายุตพี กษัตริย์หงสาวดีทรงระแวงสงสัยในแม่ทัพเอกของพระองค์ ต่อมาพระองค์ก็ประหารชีวิตเขาเสีย หลังจากสิ้นแม่ทัพคนดังกล่าวแล้ว กองทัพตองอูก็เข้าโจมตีหงสาวดีอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้พระเจ้าตกายุตพีกลับไม่ต่อสู้ แต่กลับนำกองทัพทั้งหมดไปขออาศัยอยู่ที่เมืองแปร ปล่อยให้กองทัพตองอูที่นำโดยบุเรงนองยึดได้โดยง่าย
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเห็นว่ากองทัพหลักของหงสาวดียังไม่ได้ถูกทำลาย พระองค์จึงให้บุเรงนองเป็นแม่ทัพนำกองทัพขนาดเล็กยกติดตามกองทัพหงสาวดีที่กำลังเดินทัพไปยังแปรไปก่อน แล้วพระองค์จะยกทัพไปช่วยเหลือ
ฟ้าได้เปิดโอกาสให้บุเรงนองได้แสดงฝีมือในการรบแล้ว
กองทัพตองอูของบุเรงนองมีกำลังทหารหนึ่งหมื่นคน กำลังทหารทั้งหมดไม่มีทหารรับจ้างต่างชาติที่มีฝีมือเข้มแข็ง ปืนไฟก็มีน้อย กองทัพม้ามีเพียง 500 นาย ส่วนช้างมีเพียง 50 เชือกเท่านั้น ส่วนกองทัพหงสาวดีมีทหารแปดหมื่นคน กองทัพม้า 800 นาย ช้างอีก 200 เชือก
ถึงแม้ตัวเลขทหารของทั้งสองฝ่ายอาจจะดูมากเกินไปมาก เพราะพม่าไม่ได้มีความหนาแน่นของประชากรมากเท่าจีน แต่ที่แน่ชัดคือ กองทัพของบุเรงนองน้อยกว่าศัตรูมาก
ทหารตองอูเห็นจำนวนทหารศัตรูก็หวาดกลัว และไม่กล้าจะเข้าโจมตี แต่บุเรงนองกลับเห็นว่ากองทัพศัตรูมีมากก็จริง แต่ต่างคนต่างไม่มีกำลังใจจะรบ ระเบียบวินัยก็ไม่มี บุเรงนองจึงสั่งให้ทหารต่อแพแล้วยกทัพเข้าตีศัตรูทันที
ก่อนที่จะข้ามแพไปอีกฝั่งหนึ่ง คนส่งสารของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มาพร้อมคำสั่งว่า ถ้าเจอกองทัพศัตรู อย่าได้เข้าโจมตี จงรอกองทัพหลวงเสียก่อน
บุเรงนองกลับตอบคนส่งสารว่า
เจ้าจงไปทูลต่อพระองค์ว่า พวกเราไม่ได้แค่เข้าโจมตีศัตรู แต่ตีศัตรูจนแตกพ่ายไปแล้ว
เหล่าแม่ทัพต่างตกตะลึง ต่างคนต่างตระหนกที่บุเรงนองรายงานพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ว่าได้รับชัยชนะก่อนที่จะเข้าโจมตีศัตรูเสียอีก พวกเขาต่างถามบุเรงนองว่า กองทัพศัตรูมีมากกว่ามาก ถ้าแพ้ขึ้นมาจะทำอย่างไร
บุเรงนองตอบว่า
ถ้าพวกเราแพ้งั้นหรือ ถ้าแพ้เราก็ตายด้วยกันหมดที่นี่ ใครจะมาลงโทษคนตายกันได้เล่า!
เมื่อบุเรงนองข้ามแม่น้ำได้แล้ว เขาได้สั่งให้เผาแพทั้งหมด พวกทหารร่ำร้องว่าพวกศัตรูมีมากกว่าหลายเท่า ถ้าแพ้ขึ้นมาจะออกไปจากที่นี่ได้อย่างไร บุเรงนองได้แต่ตอบสั้นๆ ว่า พวกเขาจะต้องชนะในการต่อสู้เท่านั้น
กองทัพตองอูแบ่งออกเป็นสามส่วนและแยกกันเข้าโจมตีศัตรู บุเรงนองคุมกองกำลังอยู่ตรงกลาง เขาไสช้างเข้าหาแม่ทัพหงสาวดีทันที แม่ทัพคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นก็เกรงกลัวและรีบหนีไปในบัดดล บุเรงนองจึงตรงเข้าสังหารแม่ทัพอีกคนหนึ่งอย่างรวดเร็ว
กองทัพหงสาวดีที่มีมากกว่าจึงปราศจากแม่ทัพ ต่างคนต่างหลบหนีเอาชีวิตรอด กองทัพตองอูทั้งสามกองจึงไล่สังหารกองทัพหงสาวดีอย่างอลหม่าน ทหารหงสาวดีล้มลงคนแล้วคนเล่า มีไม่กี่คนเท่านั้นสามารถหลบหนีไปถึงเมืองแปรได้
วันต่อมาพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงยกกองทัพมาถึง พระองค์ทรงเห็นกองทัพหงสาวดีแตกยับเยิน พระองค์ทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทรงพระราชทานนาม “บุเรงนอง” ให้กับพี่เขยของพระองค์ ชื่อบุเรงนองนี้แปลว่า “พระเชษฐา” ชื่อนี้ได้กลายเป็นพระนามที่ใช้เรียกเขามาถึงทุกวันนี้
วางรากฐานอาณาจักร
ต่อมาบุเรงนองก็ได้ควบคุมกำลังเข้าตีหัวเมืองมอญอื่นๆ ของหงสาวดีเอาไว้ได้ในอำนาจได้สำเร็จในปี ค.ศ.1541 บุเรงนองยังมีบทบาทสำคัญในการทำลายกองทัพศัตรูอย่างอาระกัน และกองทัพของรัฐฉานทั้งหกอีกด้วย
ชัยชนะของบุเรงนองทำให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แต่งตั้งให้บุเรงนองดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราช ต่อมาพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่เมืองหงสาวดีของชาวมอญ เกิดเป็นอาณาจักรหงสาวดีของชาวพม่าขึ้นมา
ก่อนปี ค.ศ.1547 พม่าตอนกลางและตอนล่างตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทั้งหมด เหลือแต่เพียงอาณาจักรอังวะทางตอนเหนือของพวกรัฐฉานทั้งหกยังเป็นอิสระอยู่ แต่อาณาจักรอังวะเกิดความวุ่นวายภายใน พระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่ทรงส่งทูตขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระองค์ก็ทรงอนุญาต
เมื่อภัยจากอังวะสิ้นไป พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกกองทัพไปตีอาระกันและอยุธยา ถึงแม้กองทัพตองอูจะเอาชนะการรบกลางแปลงได้ทุกครั้ง แต่ก็ไม่อาจตีเมืองทั้งสองได้ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ต้องยกทัพกลับหงสาวดีไปอย่างเศร้าพระทัย
สิ้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
หลังจากกลับมาจากอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงหันไปเสพสุราอย่างหนัก โดยทิ้งการงานทุกอย่างให้บุเรงนอง ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชเป็นผู้จัดการทั้งหมด นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดที่จะเสด็จไปล่าสัตว์เป็นแรมเดือน เหล่าขุนนางรู้สึกไม่สบายใจจึงมาขอให้บุเรงนองถอดพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และขึ้นเป็นกษัตริย์เสียเอง แต่บุเรงนองปฏิเสธ เขากล่าวว่า
ข้าจะพยายามให้พระองค์ทรงกลับมาคำนึงถึงหน้าที่ที่มีต่อพระราชอาณาจักรตามเดิม
ไม่ว่าบุเรงนองจะทำอย่างไร พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยังเป็นเช่นเดิม ในปี ค.ศ.1550 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงทราบว่าพวกมอญก่อกบฏที่เมืองเมาะตะมะ พระองค์มีรับสั่งให้บุเรงนองนำกำลังเข้าไปปราบ หลังจากนั้นก็เสด็จไปล่าสัตว์ตามเดิม
ในใจของบุเรงนองไม่ต้องการจะไป เขาทราบดีว่าพวกมอญในเมืองหลวงไม่ก่อกบฏก็เพราะเขายังอยู่ที่หงสาวดี ถ้าเขาไปเสียแล้ว พวกมอญย่อมก่อกบฏเป็นแน่ แต่สุดท้ายแล้วเขาไม่มีทางเลือกเพราะพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งมาแล้ว
ระหว่างที่บุเรงนองนำกองทัพไปปราบกบฏ สมิงสอตุดได้ปลงพระชนม์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตอนที่พระองค์กำลังทรงล่าสัตว์ เมื่อสิ้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แล้ว เมืองทุกเมืองก็ก่อกบฏทันที โดยไม่มีเมืองใดยอมรับบุเรงนองว่าเป็นกษัตริย์เลย ทั้งๆ ที่บุเรงนองเป็นผู้ที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช
ฟื้นฟูอาณาจักร
เมื่อสิ้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อาณาจักรที่บุเรงนองสร้างขึ้นกับพระองค์ก็ถูกทำลายไปสิ้น บุเรงนองต้องสร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นจากศูนย์ เขาเลือกที่จะเริ่มต้นการฟื้นฟูที่เมืองตองอู เมืองที่น้องชายต่างมารดาของเขาตั้งตนเป็นกบฏ
แต่ทว่าขณะนั้นบุเรงนองอยู่ที่ตองอู เขาต้องเดินทางผ่านพื้นที่ของพวกมอญที่เป็นกบฏ การเดินทัพนั้นไม่ง่าย กองทัพของเขาต้องปะทะกับกองทัพมอญของสมิงตอตุด แต่บุเรงนองสามารถเอาชนะได้อย่างง่ายดาย
กองทัพของเขาเดินทัพต่อไปถึงตองอู และได้ล้อมเมืองอยู่นานถึงสี่เดือน จนท้ายที่สุดน้องชายต่างมารดาของเขาก็ยอมจำนน บุเรงนองตัดสินใจที่จะอภัยโทษให้น้องชายของเขา โดยที่ไม่ได้ทำอันตรายแต่อย่างใด
หลังจากได้ตองอูกลับคืนมาแล้ว บุเรงนองก็ได้เข้าตีเมืองแปรและพุกามได้เป็นผลสำเร็จ พม่าตอนกลางกลับมาเป็นของเขาอีกครั้งหนึ่ง
เป้าหมายต่อไปของเขาคือพม่าตอนล่างที่พวกมอญตั้งตัวเป็นกบฏ กองทัพบุเรงนองมาถึงหงสาวดีในปี ค.ศ.1552 สมิงทอที่ได้ยึดเมืองตองอูได้ท้าบุเรงนองชนช้าง บุเรงนองตอบรับคำท้าและเอาชนะสมิงทอได้อย่างง่ายดาย สมิงทอหนีตายไปอย่างไม่คิดชีวิต บุเรงนองไล่ติดตามไปและทำลายกองทัพมอญได้อย่างราบคาบที่เมืองพะสิม สมิงทอหลบหนีไปได้แต่ก็ถูกจับมาประหารชีวิตในปี ค.ศ.1553
ด้วยเหตุนี้อาณาจักรของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ เหลือแต่เพียงพม่าตอนบนเท่านั้นที่พวกรัฐฉานทั้งหกยังปกครองอยู่ บุเรงนองให้เตรียมกองทัพใหญ่และยกไปตีพม่าตอนบนในปี ค.ศ.1555
กองทัพฉานไม่อาจต้านทานกองทัพพม่าของบุเรงนองได้ เมืองอังวะเสียแก่บุเรงนองในปีเดียวกัน กองทัพที่เหลือต่างถูกขับไล่ออกจากดินแดนพม่าได้ทั้งหมด บุเรงนองโปรดให้นำกองทัพบุกตรงเข้าไปตีแผ่นดินแม่ของพวกฉาน เพื่อทำลายไม่ให้มีความเข้มแข็งที่จะรุกรานพม่าได้อีก เมืองต่างๆในรัฐฉานถูกตีแตกและตกเป็นของอาณาจักรใหม่ที่บุเรงนองได้สร้างขึ้น
ขึ้นเป็นกษัตริย์
บุเรงนองได้ขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการตั้งแต่ยึดเมืองตองอูได้แล้ว แต่พิธีราชาภิเษกกระทำขึ้นอย่างเป็นทางการที่เมืองหงสาวดี ในปี ค.ศ.1554
หลังจากนั้นบุเรงนองจึงได้กลายเป็นพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งอาณาจักรพม่าอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งสวรรคตในปี ค.ศ.1581 อาณาจักรของพระองค์ที่ครอบคลุมทั่วทั้งแผ่นดินพม่า อยุธยา ล้านช้าง ได้กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เรื่องชีวิตก่อนการครองราชย์ของพระเจ้าบุเรงนองนี้ นักเขียนอย่างยาขอบได้นำมาเขียนเป็นนิยายในชื่อ ผู้ชนะสิบทิศ ที่ทำให้คนไทยติดกันงอมแงมมาแล้ว
ท้ายที่สุดอาณาจักรของพระองค์ล่มสลายเมื่อพระเจ้านันทบุเรงยอมจำนนต่อพวกตองอู สิบกว่าปีหลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองสวรรคต