นัดจินหน่อง (Natshinnaung) ผู้นี้เป็นยุวกษัตริย์ที่ติดตามพระมหาอุปราชามารบกับอยุธยา และในเวลาต่อมาเป็นผู้ปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรง หลายท่านที่เคยอ่านประวัติศาสตร์ไทยน่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดี
หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า นัดจินหน่องได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีเอกของพม่า และชีวิตของเขามีความดราม่าไม่แตกต่างจาก เจ้าฟ้ากุ้ง ของอยุธยา หรืออาจจะดราม่ามากกว่าด้วยซ้ำไป
เรามาดูชีวิตของเขาเลยดีกว่า
ชีวิตในวัยเยาว์
นัดจินหน่องเป็นโอรสองค์โตของเจ้าเมืองตองอู ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า ถ้านับญาติกันแล้ว นัดจินหน่องจึงเป็นหลานปู่ของพระเจ้าบุเรงนอง และหลานลุงของพระเจ้านันทบุเรง
พระมหาอุปราชาที่ยกมาตีไทยมีชื่อแท้ๆ ว่ามิงยีสวา (ไทยเรียกมังกะยอชวา) นัดจินหน่องกับพระมหาอุปราชามิงยีสวาจึงจัดว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน
นัดจินหน่องผู้นี้เป็นผู้ที่มีความสามารถตั้งแต่วัยเยาว์ เขาเก่งกาจในการรบพอตัว พระเจ้านันทบุเรงจึงโปรดให้ยกทัพไปตีอยุธยาร่วมกับพระมหาอุปราชาในศึกยุทธหัตถี ค.ศ.1592 ในเวลานั้นนัดจินหน่องอายุได้เพียง 13-14 ปีเท่านั้นเอง
สงครามกับอยุธยา
เรื่องน่าฉงนอย่างหนึ่งคือ พงศาวดารไทยและพม่าบางเล่มเขียนว่า นัดจินหน่องตามพระเจ้านันทบุเรงมาตีอยุธยาในปี ค.ศ.1586 ด้วย และทำหน้าที่เป็นกองระวังหลังอย่างเข้มแข็งไม่ให้สมเด็จพระนเรศวรทรงเข้าถึงตัวพระเจ้านันทบุเรงได้
เรื่องที่ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะนัดจินหน่องเกิดในปี ค.ศ.1579 เท่ากับว่า นัดจินหน่องอายุ 7 ขวบ สามารถเป็นแม่ทัพต่อสู้กับสมเด็จพระนเรศวรได้ ดูยังไงก็ไม่น่าจะ make sense
ดังนั้นนัดจินหน่องน่าจะมาตีไทยครั้งแรกในปี ค.ศ.1592 ในช่วงสงครามยุทธหัตถีนี้เอง
ในเรื่องสงครามยุทธหัตถีนี้ พงศาวดารไทยกับพม่าว่าไว้ขัดกัน พม่าว่าพระมหาอุปราชามิงยีสวาต้องปืนสิ้นพระชนม์ ส่วนไทยว่าพระมหาอุปราชาทรงถูกสมเด็จพระนเรศวรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์กับคอช้าง
ไม่ว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ทั้งสองพงศาวดารเห็นตรงกันว่า นัดจินหน่องในวัย 14 ปีได้ไสช้างเข้าสกัดกั้นสมเด็จพระนเรศวรเอาไว้ได้ นับว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญอย่างยิ่งของเด็กหนุ่มวัยเพียงเท่านี้
หลังจากนั้นนัดจินหน่องและแม่ทัพคนอื่นๆ ก็ได้นำพระศพของพระมหาอุปราชามิงยีสวากลับกรุงหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงทรงโศกเศร้าพระทัยยิ่งนักที่เสียพระราชโอรส พระองค์โปรดให้จัดงานถวายพระเพลิงให้กับพระมหาอุปราชาอย่างสมพระเกียรติ
นัดจินหน่องเองก็ได้ร่วมงานดังกล่าวด้วย เขาไม่รู้เลยว่างานนั้นจะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
เจ้าหญิงผู้เลอโฉม
ระหว่างพิธีถวายพระเพลิงที่พระราชวังในกรุงหงสาวดีนั้น นัดจินหน่องได้พบกับสตรีนางหนึ่ง เขาตกหลุมรักเธอในบัดดล
สตรีนางนั้นคือ เจ้าหญิงยสาตาตูกัลยา (Yaza Datu Kalaya) พระมเหสีของพระมหาอุปราชามิงยีสวาที่สิ้นพระชนม์ในศึกยุทธหัตถี
ก่อนที่จะว่าต่อไป ผมขอเล่าย้อนชีวิตของเธอสักเล็กน้อย
เธอเป็นธิดาของพระเจ้าบุเรงนอง และเป็นน้องสาวต่างมารดาของพระเจ้านันทบุเรง แต่เธออายุน้อยกว่าพระเจ้านันทบุเรงถึงยี่สิบกว่าปี เธอจึงมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับมิงยีสวา โอรสของพระเจ้านันทบุเรง
ถึงแม้ว่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ถ้านับตามศักดิ์แล้ว เจ้าหญิงยสาตาตูกัลยาเป็น “อา” ของมิงยีสวา เพราะว่าเธอเป็นธิดาของพระเจ้าบุเรงนอง
เจ้าหญิงยสาตาตูกัลยาเป็นผู้หญิงที่สวยมาก มากเสียจนมิงยีสวาที่มีพระชายาอยู่แล้วถึงกับหลงใหล เขาจึงมาตามจีบเธออยู่แทบทุกวัน เจ้าหญิงทรงปฏิเสธมิงยีสวาอย่างไม่ไยดี และให้เขาล้มเลิกความหวังเสีย แต่ก็ไม่เป็นผล มิงยีสวายังคงมายุ่งเกี่ยวกับเธออยู่ดี
นัตชิน เมดอว์ พระชายาของมิงยีสวาได้ทราบเรื่องก็โกรธมาก พระนางจึงต่อว่ามิงยีสวาอย่างรุนแรง เมื่อมิงยีสวาถูกต่อว่า เขาจึงผลักพระชายาของตนเองไปชนกับขอบเตียง ทำให้พระโลหิตไหลหลั่งจากพระพักตร์
ด้วยความโกรธแค้น นัตชิน เมดอว์ส่งผ้าซับพระพักตร์ที่เปี้อนเลือดไปให้เจ้าเมืองอังวะบิดาของตน ผลที่ตามมาคือเมืองอังวะเป็นกบฏ เป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรงต้องยกทัพไปปราบ
หลังจากนั้น พระเจ้านันทบุเรงทรงมีรับสั่งให้มิงยีสวาอยู่ห่างๆ จากน้องสาวต่างมารดาของพระองค์ แต่แล้วมิงยีสวาฉวยโอกาสที่พระเจ้านันทบุเรงทรงยกไปตีอยุธยา บังคับให้เจ้าหญิงยสาตาตูกัลยาแต่งงานกับตนเอง และหย่าขาดจากนัตชิน เมดอว์ อย่างเป็นทางการ
เมื่อพระเจ้านันทบุเรงเสด็จกลับมาจากอยุธยา พระองค์ไม่พอพระทัยอย่างยิ่งที่มิงยีสวาทำเช่นนั้น แต่ในเมื่อทั้งสองแต่งงานกันแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ห้ามปรามอันใดได้อีก หลังจากนั้นเจ้าหญิงยสาตาตูกัลยาจึงอยู่ในสถานะพระมเหสีของพระมหาอุปราชามิงยีสวา จนกระทั่งพระองค์สวรรคตในสงครามยุทธหัตถีในปี ค.ศ.1592
ความรัก
ถ้านับตามศักดิ์ เจ้าหญิงยสาตาตูกัลยาทรงเป็นอาของนัดจินหน่อง และมีพระชนมายุมากกว่านัดจินหน่องถึง 20 ปี แต่นั่นไม่สามารถหักห้ามความรู้สึกที่เขามีต่อเธอได้อยู่ดี นัดจินหน่องเขียนว่า
ดวงตาของเธอหรี่ลงด้วยความเศร้า ต่อมามันก็เปล่งแสงด้วยความภูมิใจที่พระสวามีสิ้นพระชนม์อย่างมีเกียรติ
หลังจากนั้นกลายเป็นว่านัดจินหน่องวัย 14 ปี ทรงลุ่มหลงในตัวของเจ้าหญิงวัย 34 ปี ผู้มีศักดิ์เป็นอาของเขาอย่างมาก นัดจินหน่องเขียนกลอนแสดงความรักของเขาจำนวนมากมายไปมอบให้กับเจ้าหญิง
กลอนของนัดจินหน่องเหล่านี้กลายเป็นผลงานทางวรรณกรรมพม่าชิ้นเอก และทำให้นัดจินหน่องได้รับการยกย่องเป็นกวีเอกอันดับต้นๆ ของพม่าอีกด้วย
พอนานเข้า เจ้าหญิงยสาตาตูกัลยามีไมตรีตอบกลับมาให้นัดจินหน่องเช่นกัน เจ้าหญิงเขียนกลอนตอบกลับมาให้นัดจินหน่องอยู่เสมอ
ทั้งสองแสดงความปรารถนาที่จะอภิเษกสมรสกัน โดยเฉพาะจากฝ่ายนัดจินหน่อง แต่พระเจ้านันทบุเรงปฏิเสธ โดยอ้างว่าทั้งสองมีพระชนมายุห่างกันเกินไป นั่นอาจจะเป็นเหตุแรกที่ทำให้นัดจินหน่องโกรธเคืองพระเจ้านันทบุเรงเป็นการส่วนตัว
การเมืองที่ผันแปร
หลังจากสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพมาตีกรุงหงสาวดีครั้งแรก ทั่วทั้งอาณาจักรพม่าต่างไม่มีใครเกรงกลัวพระเจ้านันทบุเรงอีกต่อไป หัวเมืองทั้งหลายต่างแยกตัวเป็นอิสระ เจ้าเมืองตองอู บิดาของนัดจินหน่องราชาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าตองอู โดยไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดีอีกต่อไป
เมื่อตองอูแยกตัวเป็นอิสระ โอกาสที่นัดจินหน่องจะอภิเษกกับเจ้าหญิงยสาตาตูกัลยายิ่งมืดมนลงไปอีก เจ้าชายหนุ่มวัยเกือบ 20 ปีจึงทรงได้แต่เขียนกลอนพรรณนาถึงความรักของพระองค์ บทกลอนในช่วงนี้ได้รัยยกย่องว่าเป็นกลอนที่ไพเราะและยอดเยี่ยมที่สุดในวรรณกรรมพม่า
ในปลายปี ค.ศ.1599 กองทัพอยุธยาของสมเด็จพระนเรศวรกำลังมุ่งหน้ามาตีกรุงหงสาวดีเป็นครั้งที่สอง พระเจ้าตองอูทรงร่วมมือกับพระเจ้ายะไข่ด้วยการยกกองทัพมาล้อมกรุงหงสาวดีเสียก่อน นัดจินหน่องก็คุมกำลังอยู่ในกองทัพตองอูด้วย เขาใช้กลลวงลอบสังหารพระมหาอุปราชาองค์ใหม่ที่พระเจ้านันทบุเรงทรงแต่งตั้งได้สำเร็จ
พระเจ้านันทบุเรงไม่อาจจะต่อต้านได้ พระองค์จึงยอมแพ้และยินยอมเสด็จไปยังเมืองตองอูตามความต้องการของพระเจ้าตองอูและนัดจินหน่อง เจ้าหญิงยสาตาตูกัลยาและเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ ต่างเสด็จไปยังเมืองตองอูด้วย นัดจินหน่องและเจ้าหญิงจึงได้อยู่ใกล้ชิดกันสมความปรารถนา แต่ก็ยังไม่ได้แต่งงานกันอยู่ดี
ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพมาตีเมืองตองอูเพราะต้องการให้พระเจ้าตองอูส่งพระเจ้านันทบุเรงให้กับพระองค์ นัดจินหน่องควบคุมกองทัพป้องกันเมืองอย่างแข็งแกร่ง สุดท้ายกองทัพอยุธยาขาดเสบียงอาหาร ฝ่ายตองอูจึงรักษาเมืองเอาไว้ได้
ปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรง
ในขณะนั้นผู้คนจำนวนมากในเมืองตองอูต่างเริ่มรังเกียจพระเจ้านันทบุเรงว่า การที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ทำให้ตองอูต้องเผชิญศึกใหญ่ นัดจินหน่องที่เคยขุ่นเคืองพระเจ้านันทบุเรงอยู่แล้วก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน
แต่ความสนใจของนัดจินหน่องยังอยู่ที่การแต่งงานกับเจ้าหญิงยสาตาตูกัลยา นัดจินหน่องขอพระเจ้าตองอูให้พระองค์อนุญาตให้เขาสมรสกับเจ้าหญิงยสาตาตูกัลยา แต่กลับโดนปฏิเสธ เพราะว่าพระเจ้าตองอูไม่ทรงต้องการให้นัดจินหน่องอภิเษกกับผู้ที่มีศักดิ์เป็นอาและภรรยาของลูกพี่ลูกน้อง
เมื่อถูกปฏิเสธอีกครั้ง นัดจินหน่องโกรธมาก แต่ไม่ได้โกรธพระบิดา เขาคิดว่าคงเป็นพระเจ้านันทบุเรงนั่นเองที่เป็นผู้ห้ามไม่ให้พระบิดาพระราชทานการอภิเษกสมรสให้กับตน นอกจากนี้เขาคิดว่าการที่พระเจ้านันทบุเรงอยู่ที่ตองอูมีแต่จะนำเรื่องร้ายๆ มาให้ ดังนั้นนัดจินหน่องจึงวางยาพิษปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงเสียในปลายปี ค.ศ.1600
พระเจ้าตองอูทรงทราบว่านัดจินหน่องปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรงก็ไม่พอใจมาก แต่ก็ไม่ได้ลงโทษอะไรแก่นัดจินหน่อง พระองค์เพียงแต่โปรดให้จัดงานพระศพอันยิ่งใหญ่ให้กับพระเจ้านันทบุเรงเท่านั้น
นัดจินหน่องจะได้แต่งงานกับเจ้าหญิงที่ตนใฝ่หาหรือไม่ ติดตามได้ในตอนหน้าครับ