ประวัติศาสตร์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตอนที่ 2: พิชิตพม่าตอนใต้ เป็นใหญ่เหนือลุ่มน้ำอิระวดี

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตอนที่ 2: พิชิตพม่าตอนใต้ เป็นใหญ่เหนือลุ่มน้ำอิระวดี

ในตอนที่แล้ว (ลิงค์อ่านย้อนอยู่ที่ล่างสุดของบทความ) พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้มีชัยเหนือกองทัพหงสาวดีทั้งหมดด้วยความเก่งกาจของแม่ทัพอย่างบุเรงนอง ทำให้นับตั้งแต่บัดนั้นพระองค์ไม่ได้ปกครองแต่เมืองตองอูและเมืองโดยรอบอีกต่อไปแล้ว อาณาจักรตองอูได้แผ่ลงมาถึงดินแดนพม่าตอนล่างอันอุดมสมบูรณ์แล้วเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ดีในแผ่นดินพม่าก็ยังมีอาณาจักรและเมืองมากมายที่ยังเป็นอิสระอยู่ เมืองมอญอย่างเมาะตะมะก็ยังมีสอพินยาที่ตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ ส่วนเมืองแปรที่พระเจ้าตกาวุตพีพยายามหนีไปพึ่งพานั้นก็ยังเข้มแข็ง ทำให้ชัยชนะของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยังไม่เด็ดขาดเสียเท่าใดนัก

ตีเมืองแปร

เป้าหมายลำดับต่อไปของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือเมืองแปร (Prome) เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ และยังเป็นเมืองท่าสำคัญของลุ่มแม่น้ำอิระวดี เมื่อพ่อค้าต่างๆ จะสัญจรไปมาเพื่อค้าขายก็ต้องผ่านเมืองแปรแห่งนี้ ทำให้เมืองแปรมีความมั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆ ในเวลานั้น

ในเวลานั้นเมืองแปรถูกปกครองโดยพระเจ้านรปติ (Narapati) ซึ่งมีสถานะเป็นกษัตริย์ แต่เมืองแปรนั้นเคยถูกรุกรานโดยสหพันธรัฐฉานมาก่อนหน้านี้ ทำให้สถานะของเมืองแปรเป็นแค่เมืองขึ้นของสหพันธรัฐเท่านั้น

เจตีย์ชเวสันดอว์ที่เมืองแปร by Nay Min Thu

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้โปรดให้ยกกองทัพไปตีเมืองแปรในปี ค.ศ.1539 แต่พระองค์กลับพบว่าการตีเมืองแปรไม่ได้ง่ายอย่างที่คาด เพราะสหพันธรัฐฉานได้ส่งกองทัพใหญ่ยกมาจากอังวะทั้งทางบกและทางเรือ ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันอย่างดุเดือด กองทัพตองอูเอาชนะกองทัพสหพันธรัฐได้ทางน้ำ แต่ทางบกสูสีกันมากยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ

ด้วยสาเหตุที่ไม่ปรากฏ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กลับมีรับสั่งให้ถอยกองทัพทั้งหมดลงมา การเข้าตีเมืองแปรครั้งแรกของฝ่ายตองอูจึงจบลงด้วยความล้มเหลว

ราชาภิเษก

หลังจากกลับมาจากเมืองเมาะตะมะแล้ว พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้โปรดให้มีพิธีราชาภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี และย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรจากตองอูมายังหงสาวดี ซึ่งเป็นเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญแต่ก่อน

อันที่จริงการมาตั้งเมืองหลวงที่นี่เป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะประชากรส่วนใหญ่ของเมืองเป็นคนมอญที่พระองค์เพิ่งจะเอาชัยมาได้ แต่พระองค์ก็แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเปิดกว้างในเรื่องเชื้อชาติ ประการแรกพระองค์ทรงทำราชาภิเษกตามพิธีและประเพณีแบบมอญ รวมไปถึงการเกล้าผมในรูปแบบมอญด้วย เรื่องการเกล้าผมนี้ถือว่าสำคัญเพราะพระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทำเช่นนี้

นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดแต่งตั้งให้บุตรบุญธรรมของหญิงมอญคนหนึ่งขึ้นเป็นพระมเหสีเคียงคู่กับมเหสีองค์เดิม นอกจากนี้ยังโปรดให้ขุนนางมอญดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อีกด้วย

เจตนารมณ์ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระองค์ปรารถนาที่จะซื้อใจชาวมอญในทุกวิธีทาง อีกประการหนึ่งก็คงเพราะพระองค์ก็มีสายเลือดมอญอยู่ครึ่งหนึ่งด้วย ดังนั้นพระองค์จึงไม่ได้เย่อหยิ่งเหยียดหยามชาวมอญว่าเป็นผู้แพ้สงครามและมีสถานะต่ำกว่าชาวพม่า การซื้อใจมอญของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงถือว่าเป็นกุศโลบายที่ดีเยี่ยมที่ช่วยให้พระองค์ปกครองดินแดนที่เคยเป็นศัตรูกับพระองค์มาแต่เดิม

ปราบเมืองเมาะตะมะ

หลังจากนั้น พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงทรงเป้าหมาย โดยพระองค์หมายใจจะยกกองทัพไปทำศึกกับสอพินยา เจ้าเมืองเมาะตะมะที่กระทำตนเกินกว่าเจ้าเมืองด้วยการยกตนเองเป็นพระยุวราชา

อย่างไรก็ดีเมืองเมาะตะมะนั้นก็ไม่ได้ตีง่าย เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา สอพินยาก็ได้เสริมแนวป้องกันเมืองอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเมืองหรือทหารราบชาวโปรตุเกส เมืองนี้เองก็มีการค้าขายกับชาวตะวันตกด้วยผ่านแหลมกู๊ดโฮป ปืนไฟต่างๆ ตลอดจนเรือรบของตะวันตกจึงถูกเก็บสะสมไว้เพื่อป้องกันการรุกรานของฝ่ายตองอู

ดังนั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงทราบดีว่าการศึกไม่ได้ง่าย พระองค์จึงลองใช้การทูตก่อน ทูตพม่าจึงส่งไปเจรจาให้ฝ่ายเมาะตะมะยอมจำนนแต่โดยดี แต่สอพินยาปฏิเสธเพราะเชื่อมั่นว่ากำแพงเมือง ปืนใหญ่ ตลอดจนเรือรบที่ตนเองได้สะสมไว้มานานจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ อีกประการหนึ่งสอพินยาเองก็ไม่ไว้ใจพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ด้วยว่าปฏิบัติตามข้อตกลงจริง

แม้ว่าสาส์นของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จะไม่ได้ทำให้สอพินยาหวั่นไหว แต่เมืองขึ้นโดยรอบของเมาะตะมะกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่นเจ้าเมืองมะละแหม่งนั้นถึงแม้จะไม่ได้ยอมจำนน แต่ก็ให้คำมั่นกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ว่าจะไม่ไปช่วยรบ ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มั่นใจระดับหนึ่งว่ากองหนุนของฝ่ายเมาะตะมะนั้นจะน้อยลง

ช่วงปี ค.ศ.1540 กองทัพตองอูก็ยกมาถึงเมืองเมาะตะมะ โดยมีบุเรงนองเป็นแม่ทัพหน้า สิ่งที่บุเรงนองเห็นในขณะนั้นคือตัวเมืองมีกำปั่นโปรตุเกสป้องกันปากแม่น้ำเอาไว้อย่างแข็งขัน และคอยยิงกระหน่ำเรือพม่าที่เล็กกว่า ดังนั้นฝ่ายตองอูจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก บุเรงนองจึงเห็นว่ามีวิธีเดียวที่จะตีเมืองได้ก็คือต้องล้อมเมืองเมาะตะมะให้อดอยากเท่านั้น

แต่การจะล้อมแบบเบ็ดเสร็จก็ทำได้ยาก เพราะเรือกำปั่นโปรตุเกสคุมปากน้ำ ทำให้มีเ่รือเสบียงเข้าออกได้อย่างไม่ยากนัก หลังจากล้อมได้ประมาณเดือนหนึ่ง ฝ่ายตองอูจึงลองทุ่มเรือ 300 ลำเข้าโจมตีเรือโปรตุเกสเพื่อหาทางปิดล้อมให้ได้อย่างสมบูรณ์ ผลกลับเป็นว่ากลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เรือพม่าที่มีขนาดเล็กต่างโดนยิงกระหน่ำจนแหลกเละทั้งหมด

กองทัพบกตองอูเองก็ไม่ได้ทำผลงานได้ดีกว่ากองทัพเรือ ปืนไฟขนาดเบาของพม่าไม่มีประโยชน์ใดๆ เพื่อเผชิญกับกำแพงสูงใหญ่ที่สอพินยาได้บำรุงมาอย่างยาวนาน หลังจากนั้นฝ่ายตองอูจึงได้แต่ล้อมเมืองไว้เช่นนั้นจนกระทั่งฤดูฝนเริ่มเข้ามา

ในช่วงใกล้ฤดูฝน ในเมืองเริ่มอดอยากแสนสาหัส ถึงขั้นนี้สอพินยาจึงคิดจะยอมแพ้ เขาต่อรองว่าขอเป็นเจ้าเมืองต่อไปและจะส่งมอบบรรณาการให้ แต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ปฏิเสธ เพราะในเวลานั้นสอพินยาเป็นแค่ลูกไก่ในกำมือพระองค์อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต่อรองอีก

สอพินยากลับยังไม่ยอมแพ้ เขาส่งข้อเสนอที่ดีกว่าเดิมนั่นคือขอให้กองทัพตองอูเปิดทางให้ตนเองหนีไปพร้อมกับครอบครัวและทรัพย์สินของเมือง พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ปฏิเสธอีก สอพินยาที่หัวเดียวกระเทียมลีบจึงต้องไปขอให้กัปตันโปรตุเกสช่วยไปขอกำลังสนับสนุนจากอุปราชโปรตุเกสที่เมืองกัว แลกกับการที่ตนจะยอมเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส และยกทรัพย์สินครึ่งหนึ่งให้เป็นของชาวโปรตุเกสอีกด้วย

ทรัพย์สินที่ว่านี้รวมไปถึงทองที่ชาวโปรตุเกสสามารถไปลอกมาจากเจดีย์ต่างๆ ในเมืองด้วย กัปตันโปรตุเกสที่อยู่ในเมืองจึงรู้สึกสนใจกับข้อเสนอ แต่ตอนท้ายก็ปฏิเสธไป เพราะเหล่าลูกเรือกังวลเรื่องความปลอดภัยเมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มีชัยเหนือเมืองได้สำเร็จ

เข้าเมืองได้สำเร็จ

แม้ว่าในเมืองจะอ่อนแอลงมากจากการปิดล้อมเมืองทางบกและส่วนใหญ่ของทางเรือ (ปากน้ำปิดไม่ได้) แต่ฝ่ายตองอูก็ยังไม่มีกลยุทธ์ใดที่จะเข้าเมืองได้สำเร็จ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ร้อนใจเพราะฤดูฝนกำลังจะใกล้เข้ามา ซึ่งฤดูฝนของพม่านั้นถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจะมีพายุลูกใหญ่ที่จะพัดเข้ามารวมไปถึงโรคระบาด ถ้าถึงตอนนั้นยังตีเมืองไม่ได้ ฝ่ายตองอูจึงน่าจะต้องถอยทัพ

สมิงพยุ (Smim Payu) แม่ทัพเรือชาวมอญคนหนึ่งเห็นว่าถ้าจะตีเมืองเมาะตะมะให้แตกได้มีอยู่วิธีเดียว นั่นคือต้องยึดปากน้ำให้ได้แล้วเข้าตีกำแพงเมืองทางด้านนั้น เขาจึงได้ทูลเสนอแผนการใหม่ให้พระองค์พิจารณา

แผนการที่ว่าก็คือสมิงพยุจะไปต่อแพสองแบบด้วยกันที่แม่น้ำสาละวิน โดยประกอบไปด้วย

  • แพแบบแรกจะสูงกว่ากำแพงเมืองเมาะตะมะ ทหารตองอูจะได้ยิงโจมตีทหารในเมืองได้ถนัด
  • แพแบบที่สองจะเป็นแพไฟ ซึ่งสมิงพยุจะส่งมาตามแม่น้ำสะละวินเมื่อการโจมตีเริ่มขึ้น แพเหล่านี้จะได้ไหลตามน้ำไปโดนเรือกำปั่นขนาดใหญ่ของโปรตุเกสที่ตั้งอยู่ในปากแม่น้ำแคบๆ ดังนั้นจะเป็นการบังคับให้เรือโปรตุเกสต้องหนีไป หรือสุ่มเสี่ยงจะโดนแพไฟทำลายทิ้ง ไม่ว่ากัปตันโปรตุเกสจะเลือกทางไหน การป้องกันทางน้ำจะอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้ฝ่ายตองอูได้เข้าตี

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เห็นชอบด้วยและโปรดให้สมิงพยุดำเนินการตามนั้น ผลที่ได้นั้นเป็นไปตามที่สมิงพยุคาดไว้ เรือกำปั่นโปรตุเกสที่มีอยู่เจ็ดลำหลบหนีไปทันทีสามลำ ส่วนอีกสี่ลำถูกทำลายด้วยแพไฟ บริเวณปากน้ำจึงเปิดออกให้แพสูงเข้าโจมตีกำแพงเมืองได้ ทหารตองอูที่ได้ที่สูงจึงยิงกระหน่ำด้วยอาวุธต่างๆ และเข้ายึดกำแพงเมืองชั้นนอกได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดีการต่อสู้ยังดำเนินต่อไป กองทัพตองอูเข้าตีเมืองอย่างรุนแรงจนสุดท้ายเมืองก็แตก แต่สอพินยาและเหล่ามอญยังไม่ยอมแพ้ สอพินยาในวาระสุดท้ายต่อสู้อย่างมีขัตติยมานะด้วยการไสช้างเข้าต่อสู้กับทหารตองอู แต่สุดท้ายก็ถูกจับกุมตัวได้สำเร็จ

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตัดสินใจว่าจะลงทัณฑ์อย่างรุนแรงกับผู้พ่ายแพ้ ซึ่งพระองค์ได้แสดงความเมตตามาหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ แต่สอพินยากลับปฏิเสธและพยายามขายเพื่อนร่วมชาติให้กับชาวโปรตุเกสเสียด้วย พระองค์จึงนำตัวสอพินยาและครอบครัวของเขาทั้งหมดไปประหารชีวิต เช่นเดียวกับทหารในเมืองที่ต่อสู้กับกองทัพตองอูมาโดยตลอดด้วย นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ปล้นสะดมและเผาเมืองเมาะตะมะเสียจนวอดวาย

ความโหดร้ายของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นที่สะพรึงกลัวไปทั่วหัวเมืองมอญที่เหลือ ดังนั้นเมืองต่างๆ จึงยอมจำนนโดยที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่ต้องเสียเวลายกทัพไปปราบปรามแต่อย่างใด ดังนั้นในปี ค.ศ.1541 ดินแดนพม่าตอนใต้ทั้งหมดก็ตกเป็นของกษัตริย์พม่าผู้นี้

สมิงพยุได้รับรางวัลอย่างงามจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองใหญ่ และมีอำนาจในการควบคุมกองทัพม้าและช้าง นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยของบุเรงนองในการบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย

ตีเมืองแปรอีกครั้ง

การที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มีชัยเหนืออาณาจักรหงสาวดีโดยสมบูรณ์ ทำให้พระองค์ทรงเข้าถึงทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส ปืนไฟ และอาวุธอื่นๆ รวมไปถึงกำลังคนที่เพิ่มมาขึ้นจากหัวเมืองต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นพระองค์จึงต้องการจะยกไปตีเมืองแปรอีกครั้งหนึ่ง

ตลอดช่วงฤดูฝนนั้น พระองค์ได้โปรดให้ทำนุบำรุงกองทัพเรือเป็นการใหญ่ ในช่วงพฤศจิกายนที่ฤดูฝนผ่านพ้นไปแล้ว กองทัพตองอูจึงยกไปตีเมืองแปรทั้งทางบกทั้งเรือ

แม้ว่าฝ่ายตองอูจะเตรียมการมาดีขึ้น แต่ฝ่ายแปรก็เตรียมการไว้เช่นกัน พระเจ้านรปติได้ขอให้กองทัพของสหพันธรัฐยกมาช่วย เช่นเดียวกับกองทัพของอาระกัน (ยะไข่) ทำให้ถ้ารวมกันแล้ว กำลังทหารของกองทัพพันธมิตรจะมีจำนวนมากกว่ากองทัพตองอู

ฝ่ายตองอูก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจะมีกองทัพมาสนับสนุนเมืองแปร ดังนั้นตามแผนการเดิมคือกองทัพตองอูจะตีเมืองแปรให้แตกก่อนที่กองทัพสนับสนุนจะมาถึง แต่พอเอาเข้าจริง เมืองแปรกลับต่อสู้อย่างเข็มแข็งด้วยปืนไฟของชาวโปรตุเกส สถานการณ์จึงเริ่มเป็นเหมือนตอนตีเมืองเมาะตะมะ นั่นคือฝ่ายตองอูได้แต่ล้อมเมืองไว้เท่านั้น

ห้าเดือนผ่านไป กองทัพของสหพันธรัฐยกมาถึงเมืองแปร สถานการณ์ฝ่ายตองอูจึงคับขัน กองบัญชาการของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ต่างมีการถกเถียงกันว่าจะทำอย่างไรดี ทั้งบุเรงนองและสมิงพยุสนับสนุนให้กองทัพตองอูเข้าตีกองทัพที่ยกมาช่วยเสียก่อน ถ้าตีให้แตกได้แล้ว ทหารในเมืองก็จะเสียขวัญ ซึ่งจะเอาชัยได้โดยง่าย พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงเห็นชอบด้วย พระองค์จึงโปรดให้บุเรงนองเป็นแม่ทัพ นำกำลังไปสกัดกองทัพสหพันธรัฐทางตอนเหนือของเมืองแปร

บุเรงนองมีกำลังทหารประมาณครึ่งหนึ่งของกองทัพสหพันธรัฐเท่านั้น ดังนั้นเขาต้องรบอย่างฉลาด เมื่อปะทะกัน บุเรงนองสั่งให้ทหารม้าตองอูทั้งสองปีกแกล้งทำเป็นแพ้ และเปิดโอกาสให้กองทัพศัตรูทั้งหมดไล่ตามมา

ปรากฏว่ากองทัพไทยใหญ่ลงติดตามมาจริงๆ บุเรงนองจึงสั่งให้พลปืนไฟและปืนใหญ่ที่ซุ่มซ่อนไว้อยู่ระดมยิงเข้าใส่ทำให้ทหารสหพันธรัฐล้มตายลงมากมาย ฝ่ายสหพันธรัฐที่ไม่มีอะไรจะเสียจึงทุ่มกำลังเข้ามาอีกโดยหมายใจว่าจะตีกองทัพตองอูที่น้อยกว่าให้แตกฉาน แต่ปืนใหญ่ของบุเรงนองที่เพิ่งได้มาไม่นานก็ยิงถล่มอย่างรุนแรง และตามด้วยการตีโต้ของฝ่ายตองอู

ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างรุนแรง และได้รับความเสียหายอย่างหนักทั้งสองฝ่าย แต่ความเสียหายของฝ่ายสหพันธรัฐนั้นหนักกว่ามาก กองทัพสหพันธรัฐจึงต้องถอยกลับไปทั้งหมดในวันเดียวกันนั้น ฝ่ายตองอูจึงยังคงครอบครองความเป็นฝ่ายกระทำในสงครามอยู่ได้ และทำลายกองทัพสนับสนุนไปได้กองหนึ่งแล้ว

หลายคนอาจจะยกเครดิตทั้งหมดให้กับบุเรงนองและแม่ทัพคนอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายตองอูมีชัยคือ กองทัพตองอูมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่ามาก เพราะพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มีรับสั่งให้เตรียมกองทัพไว้ตั้งแต่ช่วงฤดูฝน และเข้าโจมตีทันทีที่ฤดูฝนจบลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายสหพันธรัฐไม่ได้เตรียมการไว้เลยล่วงหน้าจึงต้องเตรียมการและยกทัพมาอย่างเร่งรีบ ฝ่ายตองอูที่ควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าจึงมีชัยได้โดยง่าย

แต่ในตอนนั้นเองกองทัพหนุนทั้งบกและเรือของยะไข่กำลังยกมาถึง พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงต้องทรงหาทางจัดการกับกองทัพเหล่านี้ ก่อนที่จะสร้างปัญหากับฝ่ายตองอู แต่พระองค์จะทำอย่างไร เพราะทหารตองอูก็เหนื่อยอ่อนจากการล้อมมาตลอดห้าเดือน และยังเพิ่งต่อสู้กับกองทัพสหพันธรัฐไปมาดๆ ด้วย

ติดตามต่อไปได้ในตอนหน้าครับ

References:

  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma
  • Hmanman Yazawin
  • History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824, Harvey G.E
  • พระราชพงศาวดารพม่า: กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

ลิงค์สำหรับย้อนอ่าน

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!