ประวัติศาสตร์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตอนที่ 4: กำราบภัยทางเหนือและศึกยะไข่

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตอนที่ 4: กำราบภัยทางเหนือและศึกยะไข่

จากตอนที่แล้ว (อ่านได้จากลิงค์ด้านล่าง) พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงมีชัยเหนือกองทัพสหพันธรัฐฉานและครอบครองดินแดนพม่าตอนกลางและตอนใต้อย่างสมบูรณ์ แต่ศัตรูของพระองค์ยังมีอยู่รายรอบ สหพันธรัฐฉานยังคงไม่ได้ถูกทำลาย ส่วนยะไข่ก็ยังคงคุกคามหัวเมืองชายทะเลของพระองค์ ทำให้การทำสงครามยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ความโกลาหลของสหพันธรัฐ

อย่างไรก็ดีความพ่ายแพ้ของสหพันธรัฐที่ยกลงไปช่วยเมืองแปร แต่กลับพ่ายแพ้ยับเยินต่อฝ่ายตองอูนั้นได้ทำให้เกิดปัญหาภายในขึ้นภายในสหพันธรัฐเอง

จะว่าไปแล้วสหพันธรัฐไม่เคยเป็นหนึ่งในเดียวกัน แต่เป็นการรวมตัวของหัวเมืองไทยใหญ่เพื่อต่อต้านการคุกคามของอาณาจักรอังวะ โดยมีเจ้าฟ้าซอลอน (Sawlon) แห่งเมืองโมนยิน (Mohnyin) เป็นผู้นำ

เจ้าฟ้าพระองค์นี้เป็นผู้นำที่เก่งกาจ พระองค์นำกองทัพฉานเข้าตีเมืองอังวะและแปรจนแตก และเกือบจะยกไปตีเมืองตองอูด้วยซ้ำไป ถ้าซอลอนตัดสินใจไปตีเมืองตองอูในเวลานั้น เมืองตองอูก็คงยากที่จะรับมือ

อย่างไรก็ดีซอลอนไม่ได้ไปตีเมืองตองอู แต่กลับถูกลอบสังหารก่อนในช่วงปี ค.ศ.1533 (ช่วงต้นรัชกาลของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้) และได้ทิ้งสหพันธรัฐให้อยู่ในการดูแลของโสหันพวา (Thohanbwa)

ก่อนที่ซอลอนจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้อภิเษกโสหันพวาขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะ แต่ก็เป็นเพียงกษัตริย์แต่ในนามเท่านั้น โสหันพวายังต้องฟังคำสั่งจากบิดาอยู่ดี ถึงกระนั้นก็เป็นการประกาศให้เจ้าฟ้าไทยใหญ่อื่นๆ ทราบไว้ว่าโสหันพวาจะเป็นผู้นำของสหพันธรัฐคนต่อไป หลังจากที่ตนเองล่วงลับไปแล้ว

เรื่องกลับเป็นว่าเมื่อโสหันพวาได้เป็นผู้นำของสหพันธรัฐ เหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่คนอื่นๆก็ต่างไม่ฟังคำสั่งของโสหันพวาอยู่ดี สาเหตุหลักย่อมเกิดจากนิสัยของโสหันพวาเองที่เป็นคนโหดเหี้ยม เขาปล้นฆ่าไม่เลือกหน้า แถมยังทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการปล้นสะดมเจดีย์ และสังหารพระภิกษุ พงศาวดารเหล่าว่าโสหันพวานั้นกล่าวว่า

เจดีย์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับศาสนา แต่เป็นแค่ที่เก็บข้าวของมีค่าเท่านั้น

ไม่ต้องแปลกใจที่เหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่คนอื่นๆ รวมไปถึงชาวพม่าหรือแม้กระทั่งชาวไทยใหญ่ด้วยกันเองจะเกลียดชังโสหันพวา ทำให้โสหันพวาต้องใช้เวลานานหลายปีในการ “ควบคุม” สหพันธรัฐให้อยู่ในอำนาจของตน นี่จึงเป็นสาเหตุที่สหพันธรัฐไม่ได้เข้าตีตองอูจากด้านหลังตอนที่ตองอูกำลังรบกับอาณาจักรหงสาวดี

กว่าโสหันพวาจะรู้ตัวว่าตองอูเป็นภัยใหญ่โตก็ปาเข้าไปปี ค.ศ.1539 แล้ว ซึ่งช้าไปมาก ตอนที่ตองอูยังมาตีเมืองแปร โสหันพวาจึงเกณฑ์กองทัพฉานขนาดใหญ่ลงมาช่วยเหลือ แต่กลับพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้การสนับสนุนโสหันพวาในหมู่เจ้าฟ้าไทยใหญ่หมดไป จนสุดท้ายก็ถูกสังหารในปี ค.ศ.1542 ตำแหน่งผู้นำของสหพันธรัฐและพระเจ้าอังวะจึงตกอยู่กับขุนเมืองแง (Hkonmaing Nge) เจ้าฟ้าแห่งเมืองสีป่อ

ขุนเมืองแงผู้นี้เองเป็นผู้นำกองทัพสหพันธรัฐยกไปตีเมืองแปร แต่ก็พ่ายแพ้ต่อฝ่ายตองอู และยังเสียเมืองพุกามไปอีกด้วย ทำให้สูญเสียความเชื่อถือในหมู่เจ้าฟ้าไปอีกคนเช่นเดียวกัน เปิดโอกาสให้เจ้าฟ้าซอลอนที่ 2 แห่งโมนยิน (เชื้อสายของโสหันพวา) ตั้งแข็งเมือง และเกิดเป็นสงครามใหญ่โตภายในสหพันธรัฐด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้สหพันธรัฐฉานที่เคยยิ่งใหญ่จึงแตกสลายไปโดยสมบูรณ์ โดยแบ่งแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกปกครองโดยเจ้าฟ้าจากเมืองสีป่อ (ขุนเมืองแง) โดยมีเมืองอังวะเป็นศูนย์กลาง ส่วนอีกส่วนหนึ่งปกครองโดยเจ้าฟ้าโมนยิน ทั้งสองส่วนมีแม่น้ำอิระวดีกั้นกลาง

ระหว่างนั้นเองขุนเมืองแงกลับสิ้นพระชนม์ลง บัลลังก์อังวะจึงตกอยู่กับโอรสที่ขึ้นครองตำแหน่งนามว่า นรปติที่ 3 (Narapati III) หลังจากได้บัลลังก์ เขาเห็นว่าไม่สามารถทำศึกทั้งสองด้านกับทั้งตองอูและศึกภายในได้ เขาจึงส่งสาส์นมาขอเจรจากับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ โดยฝ่ายอังวะยอมรับว่าดินแดนพม่าตอนกลางที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตีได้เป็นของตองอูโดยถาวร และขอทำสัญญาสงบศึกกันอย่างเป็นทางการ

สำหรับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นั้น การสงบศึกเป็นสิ่งที่พระองค์ปรารถนา เพราะฝ่ายตองอูเองต้องการจัดการหัวเมืองที่เพิ่งจะตีได้ และประชาชนก็เหนื่อยยากกับสงครามมานานด้วย ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยรับข้อเสนอของฝ่ายอังวะ

ด้วยเหตุนี้ภัยทางตอนเหนือของตองอูจึงสิ้นไป แต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ทรงมีเป้าหมายอื่นแล้ว นั่นก็คือยะไข่นั่นเอง

ศึกยะไข่

เรื่องการตียะไข่นั้น พงศาวดารบางเล่มเล่าว่าเป็นความทะเยอทะยานของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ที่ต้องการตีเมืองที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรพุกามในอดีตมาให้อยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์ทั้งหมด

สาเหตุที่ดูเหมือนเป็น “ความทะเยอทะยาน” ก็เพราะการไปตียะไข่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดินแดนยะไข่ (อาระกัน) ถูกแยกจากดินแดนส่วนอื่นของพม่าโดยเทือกเขาอาระกันโยมา การจะเข้าถึงยะไข่ได้นั้น กองทัพพม่าจะต้องข้ามเขาไป หรือไม่ก็ยกกองทัพเรือไปตีเท่านั้น ซึ่งวิธีหลังก็ไม่ได้ง่ายอีก เพราะกองทัพเรือยะไข่แข็งแกร่งมาก ถึงขนาดกำราบแม้กระทั่งโจรสลัดโปรตุเกสมาแล้วด้วย

อย่างไรก็ดีผมกลับมองว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเล็งเห็นว่า ถ้าไม่กำราบยะไข่ เวลาทำสงคราม ตองอูก็ยังต้องระวังหลังอยู่เรื่อยไปว่ายะไข่จะส่งทัพบกทัพเรือมาช่วยเหลือศัตรู หรือแม้กระทั่งเข้าตีหัวเมืองภาคใต้ที่มั่งคั่งแต่ไร้กำลังทหาร การเข้าตียะไข่จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงของอาณาจักรเอง

หลังจากที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สงบศึกกับฝ่ายอังวะได้สักพักใหญ่ๆ โอกาสทองก็มาถึง

เรื่องมีอยู่ว่าพระเจ้ามินบิน (Minbin) แห่งยะไข่ทรงสถาปนาโอรสขึ้นเป็นเจ้าเมืองทันเวแทนที่อนุชา ทำให้อนุชาไม่พอใจอย่างรุนแรงและตั้งแข็งเมืองขึ้น เขาจึงขอความช่วยเหลือมายังพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ โดยเสนอว่าถ้าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ช่วยให้ตนได้บัลลังก์ยะไข่ ตนจะยอมเป็นเมืองขึ้นต่อตองอู

พระเจ้ามินบินแห่งยะไข่

เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มีข้ออ้างที่จะทำสงคราม (Casus Belli) ถึงกระนั้นตองอูเองก็ยังไม่พร้อมจะทำสงครามใหญ่ เพราะกำลังทหารยังไม่ฟื้นฟู และพระองค์เองก็ยังไม่ไว้พระทัยฝ่ายอังวะเท่าไรนัก แต่จะเสียโอกาสทองนี้ไปก็ใช่เรื่อง

ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงส่งกองทัพขนาดกลางไปช่วยเหลืออนุชาของพระเจ้ายะไข่ แต่พระเจ้ายะไข่ทรงคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว พระองค์จึงเร่งส่งกองทัพเข้าไปตีเมืองทันเวจนแตกก่อนที่กองทัพตองอูจะไปถึง

พงศาวดารพม่าให้ข้อมูลว่าเมื่อแม่ทัพตองอูเห็นตัวเมืองแตกแล้ว และมีกำลังรักษาการณ์อย่างมั่นคง กองทัพตองอูจึงถอนกำลังจากยะไข่โดยไม่ได้เข้าตีเมือง แต่พงศาวดารยะไข่ว่าไว้ตรงกันข้าม โดยบรรยายว่ากองทัพตองอูได้เข้าตีเมืองทันเว แต่ฝ่ายยะไข่ต่อสู้ด้วยการกระหน่ำยิงด้วยปืนไฟจนทหารตองอูล้มตายลงมาก ทำให้ฝ่ายตองอูต้องถอยทัพ

ฝ่ายยะไข่จึงฉวยโอกาสติดตาม และเข้าโจมตีจนกองทัพตองอูเกือบแตกพ่ายทั้งกองทัพ เคราะห์ดีที่กองทัพหนุนมาช่วยเหลือพอดี กองทัพตองอูจึงรอดตัวออกไปได้พร้อมกับอนุชาของพระเจ้ายะไข่

โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อในพงศาวดารยะไข่มากกว่า เพราะกองทัพตองอูยกมาไกลขนาดนี้แล้ว ถ้าไม่โจมตีแล้วถอยไปดื้อๆ แม่ทัพน่าจะโดนอาญากันทุกคน แต่ที่แน่ๆ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงตั้งพระทัยว่าจะต้องเตรียมกองทัพที่ดีกว่าเดิมมาตียะไข่ โดยพระองค์ทรงสัญญากับอนุชาพระเจ้ายะไข่ว่าจะมอบตำแหน่งที่เป็นของเขากลับคืนให้

Rematch

ตลอดปี ค.ศ.1546 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้โปรดให้ทั้งอาณาจักรเตรียมการไปตียะไข่ หลังฤดูฝนของปี ค.ศ.1546 (ช่วงเดือนตุลาคม) กองทัพตองอูจึงพร้อมที่จะยกไป

กองทัพที่ยกไปครั้งนี้เป็นกองทัพหลวงโดยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เสด็จไปเอง และยังมีบุเรงนอง ขุนศึกคู่พระทัยนำทัพไปอีกด้วย ทั้งนี้กำลังทหารทั้งหมดของฝ่ายตองอูอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน แต่เนื่องด้วยความยากลำบากในการยกไป กองทัพตองอูเกือบ 80% จึงต้องยกไปทางเรือ ส่วนกองทัพที่เหลือให้ข้ามเทือกเขาอาระกันโยมาไปบรรจบกันที่เมืองทันเว เป้าหมายหลักของสงครามครั้งนี้

สำหรับฝ่ายยะไข่ที่ได้ข่าวศึก พระเจ้ามินบินก็สั่งให้เตรียมกำลังเช่นเดียวกัน ทั้งนี้กำลังของฝ่ายยะไข่นั้นพร้อมสรรพมาโดยตลอด เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีก็เพิ่งจะทำศึกรัฐสุลต่านแห่งเบงกอล และโจรสลัดโปรตุเกส ทำให้ฝ่ายยะไข่เพิ่งยกเครื่องแนวป้องกันเมืองหลวงให้เข้มแข็งขึ้น เชื่อกันว่ากำลังของยะไข่ที่ป้องกันเมืองหลวงมีไม่น้อยกว่า 20,000 คนเช่นเดียวกัน

หลังจากกองทัพเรือตองอูเข้าสู่น่านน้ำยะไข่ได้ไม่นาน กองทัพเรือยะไข่ก็พบกองทัพเรือตองอู แต่กลับไม่กล้าเข้าโจมตี เพราะว่ากองทัพตองอูของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มีขนาดใหญ่มาก และได้รับการติดอาวุธของชาวยุโรปเป็นอย่างดี จนกระทั่งกองทัพตองอูพยายามขึ้นบกที่เมืองทันเว กองทัพเรือยะไข่จึงพยายามเข้าสกัด แต่ด้วยจำนวนที่มากกว่าของฝ่ายตองอูจึงพ่ายแพ้กลับไป

เมื่อกองทัพบกยกมาถึง บุเรงนองสั่งให้กองทัพบกและเรือเข้าตีเมืองทันเวพร้อมกัน ฝ่ายยะไข่เห็นเหลือกำลังจึงถอยหนีทั้งบกและเรือ และทิ้งเมืองให้กับฝ่ายตองอูไป พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงเข้าเมืองได้สำเร็จ

ชัยชนะที่ได้มาอย่างรวดเร็วทำให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้รู้สึกฮึกเหิม พระองค์จึงโปรดให้กองทัพทั้งหมดยกไปตีมรัคอู (Mrauk U) เมืองหลวงของยะไข่ให้จงได้ แต่ในครั้งนี้นั้นจะไม่ได้ง่ายเหมือนกับการตีเมืองอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่พระองค์เคยได้ชัยมาก่อน

เรื่องจะเป็นไปอย่างไร ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

References:

  • Maha Yazawin
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824
  • Hmannan Yazawin
  • Rakhine Razawin Thit
  • พระราชพงศาวดารพม่า กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

ย้อนอ่านตอนเก่า

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!