ประวัติศาสตร์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตอนที่ 3: ปราบเมืองแปรและเอาชัยเหนือสหพันธรัฐฉาน

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตอนที่ 3: ปราบเมืองแปรและเอาชัยเหนือสหพันธรัฐฉาน

ชัยชนะสำคัญเหนือกองทัพสหพันธรัฐในตอนที่แล้ว (เลื่อนอ่านได้ด้านล่าง) ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เพราะกำลังส่วนใหญ่ที่จะยกเข้ามาช่วยเหลือเมืองแปรนั้นถอยหนีไปแล้ว เหลือแต่เพียงกองทัพยะไข่ (อาระกัน) เท่านั้น ทำให้สถานการณ์ของฝ่ายตองอูดีขึ้นมาก

อย่างไรก็ดีกองทัพบกและเรือยะไข่ที่นำทัพมาโดยอุปราชมินติกขา (Min Dikkha) นั้นยกมาจวนกำลังจะถึง และเข้าตีเมืองต่างๆ ของฝ่ายตองอูทางตอนใต้ กองบัญชาการฝ่ายตองอูจึงมีการโต้เถียงว่าจะทำอย่างไรดี เพราะกองทัพเรือยะไข่นั้นมีขนาดใหญ่กว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ก่อนหน้านี้

เหล่าแม่ทัพของฝ่ายตองอูนั้นมีความเห็นที่ต่างกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกเสนอให้ถอนการล้อมเมืองไปสกัดการโจมตีของฝ่ายยะไข่ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนำโดยบุเรงนองเห็นแย้งว่า ถ้าถอนกำลังไป ฝ่ายแปรที่อยู่ในเมืองอาจจะฉวยโอกาสยกเข้าตีกระหนาบ ทำให้ฝ่ายตองอูพ่ายแพ้ยับเยินได้

การโต้เถียงดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน แต่ท้ายที่สุดแล้วกลยุทธ์ของมินเย สิธู (Minye Sithu) น้องชายของบุเรงนองก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ กล่าวคือฝ่ายตองอูยังคงล้อมเมืองเอาไว้ด้วยทหารส่วนน้อย และทุ่มกำลังทั้งหมดเข้าตีกองทัพยะไข่ทั้งทางบกและทางน้ำ ถ้าเอาชนะได้ก็เข้าตีเมืองแปรต่อไปให้แตก แต่ถ้าแตกพ่ายก็รีบถอยกลับหงสาวดีโดยเร็วที่สุด

ด้วยเหตุนี้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงให้บุเรงนองเป็นแม่ทัพบกนำกำลังทหาร 6,000 นายเข้าเผชิญหน้ากับกองทัพบกยะไข่ที่กำลังเคลื่อนทัพผ่านเทือกเขาอาระกันโยมา ส่วนสมิงพยุให้เป็นแม่ทัพเรือนำกองทัพตองอูเข้าเผชิญหน้ากับกองเรือยะไข่

ถ้าถามว่างานใครง่ายกว่าก็คงต้องตอบว่างานของบุเรงนองง่ายกว่า เพราะพวกยะไข่นั้นเจนจัดในการทำสงครามทางน้ำ กองทัพเรือยะไข่น่าจะเรียกได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดในดินแดนพม่าในเวลานั้น ส่วนฝ่ายตองอูนั้นเก่งกาจในการรบทางบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแม่ทัพชำนาญศึกอย่างบุเรงนอง

อย่างไรก็ดีบุเรงนองจะแสดงให้เห็นว่าตัวเขาเพียงคนเดียวก็สามารถทำให้ฝ่ายตองอูมีชัยเหนือกองทัพทั้งสองได้ โดยที่กองทัพเรือตองอูไม่ต้องทำอะไรเลย

บุเรงนอง ขุนศึกอันดับหนึ่งของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ก่อนที่จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์พม่าในเวลาต่อมา By Hybernator – Own work, CC BY-SA 3.0

บุเรงนองทำลายกองทัพยะไข่

บุเรงนองนำกองทัพทั้งหมดที่ได้รับไปรับทัพยะไข่ที่กำลังเดินทัพออกมาจากช่องเขาปะเดิง (Padaung Pass) ที่มุ่งหน้าไปสู่เมืองแปร กองทัพตองอูถือว่ามีจำนวนมากกว่ายะไข่เล็กน้อย และยังมีช้างม้ามากกว่าด้วย แต่ความเหนื่อยล้าก็น่าจะพอๆ กัน เพราะฝ่ายตองอูรบมานานหลายเดือนแล้ว ส่วนพวกยะไข่ก็เร่งเดินทัพข้ามเขามา

อย่างไรก็ดีฝ่ายตองอูย่อมมีขวัญกำลังใจที่ดีกว่าเพราะรบชนะติดๆ กัน แถมบุเรงนองยังเป็นแม่ทัพด้วยตนเอง ทหารตองอูย่อมมีใจที่รบเพิ่มขึ้นนับสิบเท่า

เมื่อกองทัพยะไข่มาถึง บุเรงนองจึงส่งคนปลอมตัวเป็นทหารแปรไปที่ค่ายยะไข่ และแจ้งให้แม่ทัพยะไข่ทราบว่า กองทัพตองอูกำลังต่อสู้กับกองทัพสหพันธรัฐอย่างดุเดือด ขอให้ส่งกำลังเข้าไปตีกระหนาบจากด้านหลัง

ปรากฏว่าแม่ทัพยะไข่หลงเชื่อจึงให้ทหารทั้งหมดเร่งเดินทัพไป บุเรงนองที่รอโอกาสนี้ออยู่แล้วจึงสั่งให้ทหารทั้งหมดเข้าโจมตี กองทัพตองอูที่ซุ่มอยู่จึงเข้าโจมตีกองทัพยะไข่จนแตกกระจัดกระจาย บุเรงนองและกองทัพตองอูจับเชลยศึกได้ถึงเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ขณะเดียวกันกองทัพเรือยะไข่ที่นำมาโดยอุปราชมินติกขานั้นตีเมืองพะสิมและเมืองเมียงมยา สองเมืองตองอูที่อยู่ทางตอนใต้ได้แล้ว แต่เมื่ออุปราชทราบถึงความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงของกองทัพบก พระองค์ก็เห็นว่าสงครามครั้งนี้จบสิ้นลงแล้ว อุปราชจึงมีรับสั่งให้กองทัพทั้งหมดถอยกลับยะไข่ ทำให้ฝ่ายตองอูชิงเมืองที่เสียไปคืนได้โดยง่าย

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงประทับใจในความเก่งกาจของบุเรงนองในครั้งนี้มาก แต่ในเวลานั้นบุเรงนองเองก็มียศศักดิ์สูงส่งจนเหลือที่จะมีอะไรมามอบให้อีกแล้ว พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ที่ในเวลานั้นยังไม่มีโอรสจึงตัดสินพระทัยยกบุเรงนองขึ้นเป็นพระมหาอุปราช หรือตำแหน่งรัชทายาทที่จะครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ต่อไปในภายภาคหน้า

เมืองแปรยอมจำนน

ชัยชนะของกองทัพตองอูต่อกองทัพสนับสนุนทำให้ฝ่ายแปรหัวเดียวกระเทียมลีบ และไม่มีกำลังจะต่อสู้ต่อไปได้อีกแล้ว อย่างไรก็ดีฝ่ายแปรก็ยังไม่ยอมจำนน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงให้ส่งสาส์นเข้าไปในเมืองว่า ฝ่ายแปรจะยอมจำนนหรือว่าจะยอมย่อยยับเหมือนกับเมาะตะมะที่ดึงดันต่อสู้แล้วพินาศทั้งเมือง

ท้ายที่สุดแล้วมินฆ้อง กษัตริย์แปรที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากนรปติจึงตัดสินใจยอมจำนน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้โปรดให้ไว้ชีวิต แต่ให้ส่งตัวไปคุมขังยังเมืองตองอู ส่วนเมืองแปรนั้นก็ให้มิงยีสเว บิดาของบุเรงนองเป็นผู้ปกครองไปก่อน

หลังจากเมืองแปรแตก ดินแดนทางตอนใต้ของพม่าจึงอยู่ในกำมือของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้โดยสมบูรณ์ ศัตรูที่ขัดขวางการรวมแผ่นดินพม่าจึงเหลืออยู่เพียงแค่สหพันธรัฐแต่เพียงเท่านั้น อย่างไรก็ดีการศึกกับสหพันธรัฐนั้นไม่ง่ายเลย เพราะว่ามีสหพันธรัฐฉานมีกำลังคนและทรัพยากรจำนวนมาก แถมยังมีเมืองอังวะ อดีตเมืองหลวงของพม่าอยู่ในการครอบครองอีกด้วย ฝ่ายตองอูเองก็เสียยุทธปัจจัยและกำลังคนจำนวนมหาศาลไปกับการตีเมืองเมาะตะมะและเมืองแปร

ด้วยเหตุนี้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงสั่งให้พักการรบเอาไว้ก่อน และทำนุบำรุงอาณาจักรให้กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม

การศึกจึงพักไปประมาณปีหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงปลายปี ค.ศ.1543 พระองค์ก็ได้ข่าวศึกว่าสหพันธรัฐฉานได้ทุ่มกำลังมหาศาลเข้าโจมตีอาณาจักรของพระองค์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งทางบกและทางน้ำ ฝ่ายตองอูจึงตกอยู่ในภัยคับขัน

ศึกชี้ชะตา

สหพันธรัฐฉานได้รวบรวมกำลังไทยใหญ่และพม่าตอนบนไว้ได้เป็นจำนวนมาก โดยกองทัพบกมีกำลังมากถึง 16,000 คน ส่วนกองทัพเรือมีถึง 12,000 คน รวมๆแล้วกองทัพสหพันธรัฐจึงมีกำลังมากถึงเกือบ 30,000 คนซึ่งถือว่าใหญ่มากถ้าพิจารณาว่า ดินแดนพม่ามีความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่าอินเดียและจีนอย่างมาก

เดิมทีฝ่ายสหพันธรัฐจะเชิญให้ฝ่ายยะไข่เข้าร่วมสงครามด้วย แต่เพราะสาเหตุที่ไม่ปรากฏ ฝ่ายยะไข่ได้ปฏิเสธไป ดังนั้นแผนการจึงต้องเปลี่ยนไป ซึ่งตามแผนใหม่นั้น ฝ่ายสหพันธรัฐจะทุ่มกำลังมหาศาลเข้าตีเมืองแปรให้แตกก่อน หลังจากนั้นก็จะใช้เป็นฐานเข้าตีเมืองตองอูและเมืองหงสาวดีเป็นลำดับต่อไป

สำหรับฝ่ายตองอูนั้นได้มีการตระเตรียมกองทัพไปป้องกันเช่นกัน แต่กองทัพทั้งบกและเรือของตองอูรวมทั้งหมดแล้วมีเพียง 20,000 คนบวกลบเล็กน้อย ในจำนวนนี้รวมทหารทั้งพม่าและมอญจากดินแดนใต้ปกครองทั้งหมดเอาไว้แล้วเรียบร้อย แม้ว่าจะมีกำลังน้อยกว่า แต่กองทัพตองอูนั้นกำลังฮึกเหิมมาก และการบัญชาการเป็นแบบรวมศูนย์อยู่ที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ต่างจากพวกสหพันธรัฐที่เหมือนกับฝูงผึ้งแตกรังมารวมตัวกัน

อย่างไรก็ดีด้วยกำลังที่น้อยกว่าและสงครามดำเนินไปในดินแดนของตนเอง ถ้าฝ่ายตองอูพ่ายแพ้ก็ถือว่าจบสิ้นทันที ดินแดนพม่าทั้งหมดจะตกอยู่ในกำมือของไทยใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และชาวพม่าทุกคนยอมไม่ได้ การศึกนี้จึงมีความสำคัญและชี้ชะตาของดินแดนพม่าเลยทีเดียว

มีชัยเหนือสหพันธรัฐ

ปรากฏว่าในเริ่มแรกกองทัพสหพันธรัฐสามารถยึดครองพื้นที่รอบเมืองแปรได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับตีเมืองแปรไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ ทหารสหพันธรัฐจึงได้แต่ล้อมเมืองไว้เท่านั้น

ในช่วงเวลานี้เอง ฝ่ายตองอูที่ใช้กำลังไปเพียงบางส่วนในการป้องกันเมืองแปรเห็นว่าฝ่ายสหพันธรัฐทุ่มกำลังทั้งหมดเข้าตีเมือง ดังนั้นจึงเปิดจุดอ่อนขนาดใหญ่ในการตีโต้ครั้งใหญ่ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงโปรดให้กองทัพทั้งหมดที่สำรองไว้ยกไปเมืองแปรทั้งหมด

ฝ่ายสหพันธรัฐเห็นกองทัพหลวงตองอูมาถึงจึงตัดสินใจถอนกำลังที่ล้อมเมืองเอาไว้ และตั้งค่ายขนาดใหญ่เข้าป้องกันการโจมตี ด้วยเหตุนี้ฝ่ายสหพันธรัฐที่เป็น “แขก” จึงกลายเป็น “เจ้าบ้าน” ส่วน “เจ้าบ้าน”อย่างฝ่ายตองอูจึงกลายเป็น “แขก” กลยุทธ์นี้คือ 1 ใน 36 กลยุทธ์ของจีนนามว่าฟ่านเค่อเหวยจู่นั่นเอง

หรือพูดง่ายๆ ฝ่ายตองอูที่ก่อนหน้านี้เป็นฝ่ายถูกกระทำเพราะเป็นฝ่ายตั้งรับ แต่ในตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายกระทำ ทำให้สถานการณ์พลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ

การเลือกตั้งรับของฝ่ายสหพันธรัฐแบบนี้ตรงกันข้ามกับฝ่ายตองอูที่เมืองแปร เพราะฝ่ายตองอูฉกฉวยการเป็นฝ่ายกระทำตลอดด้วยการเข้าตีกองทัพสนับสนุนอย่างรุนแรง และไม่ปล่อยให้โมเมนตัมเปลี่ยนกลับไปอยู่ที่ฝ่ายศัตรู

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าในครั้งนี้ฝ่ายสหพันธรัฐจึงเปิดช่องฝ่ายตองอูเข้าโจมตี ซึ่งฝ่ายตองอูก็ไม่ได้ปล่อยให้โอกาสนั้นหมดไป พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้สั่งให้กองทัพเรือตองอูเป็นกองหน้าเข้าโจมตีศัตรูทันที

กองเรือสหพันธรัฐไม่ได้เก่งกาจเหมือนกับกองทัพเรือยะไข่ แถมขนาดเรือก็เล็กกว่า อาวุธก็ด้อยกว่า เพราะในเวลานั้นฝ่ายตองอูได้สะสมปืนไฟจากโปรตุเกสมามากมาย กองเรือตองอูจึงเข้ายิงถล่มกองเรือสหพันธรัฐจนพินาศย่อยยับ ฝ่ายสหพันธรัฐจึงไม่มีเรือลำเลียงเสบียงสนับสนุนกองทัพบกได้อีกแล้ว

หลังจากนั้นกองทัพตองอูจึงใช้เรือลำเลียงทหารประมาณ 4,000 คนเข้ายึดเมืองที่อยู่ด้านหลังของกองทัพสหพันธรัฐทั้งสองได้อย่างง่ายดาย เมื่อเสียเมืองทั้งสอง กองทัพสหพันธรัฐก็เหมือนกองทัพจ๊กก๊กที่เสียเกเต๋ง เพราะช่องทางการขนเสบียงทั้งหมดถูกตัดขาดโดยสมบูรณ์

ต่างจากขงเบ้งที่ล่าทัพถอยหนีไปทันที แม่ทัพสหพันธรัฐกลับส่งกำลังเข้าโจมตีเมืองทั้งสองกลับคืน แต่ด้วยเสบียงที่ร่อยหรอ เหล่าทหารจึงเหนื่อยอ่อนและไม่มีกำลังใจรบ ไม่ว่าจะตีอย่างไร เมืองทั้งสองก็ไม่แตกเสียที

ท้ายที่สุดกองบัญชาการสหพันธรัฐจึงสั่งให้ถอยทัพกลับ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เห็นโอกาสทองเช่นนั้นจึงให้บุเรงนองเป็นแม่ทัพ นำกองทัพบกทั้งหมดไล่ตามขึ้นเหนือเข้าไปในดินแดนของสหพันธรัฐเสียเลย

ฝ่ายสหพันธรัฐตกตะลึงที่กองทัพตองอูบุกเข้ามาในดินแดนของตนโดยไม่ทันตั้งตัว เหล่าแม่ทัพจึงพยายามสกัดกองทัพตองอูที่เมืองสลินเพื่อที่จะได้เสริมกำลังป้องกันเมืองพุกาม แต่กองทัพของบุเรงนองแข็งแกร่งมาก ภายในเวลาแค่สามวันก็ตีเมืองสลินแตกได้ ฝ่ายสหพันธรัฐเห็นเหลือกำลังจึงต้องทิ้งเมืองพุกาม และถอยไปป้องกันเมืองอังวะแทน

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทราบว่ากองทัพของพระองค์ตีเมืองพุกามได้แล้ว พระองค์กลับมีรับสั่งให้กองทัพของพระองค์หยุดติดตามขึ้นเหนือ แม้ว่าเมืองอังวะจะอยู่ห่างไปไม่ไกลนักก็ตาม สาเหตุก็คือพระองค์ต้องการที่จะสร้างความมั่นคงในการปกครองเสียก่อน

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงได้ประกอบพิธีราชาภิเษกที่เมืองพุกามแห่งครั้งหนึ่งตามแบบอย่างของเหล่ากษัตริย์พม่าแห่งอาณาจักรพุกามเมื่อหลายร้อยปีก่อน หลังจากนั้นเหล่าเจ้าเมืองเชื้อสายพม่าต่างๆ โดยรอบจึงพากันมาสวามิภักดิ์ ทำให้อาณาจักรตองอูสามารถปกครองดินแดนเหล่านี้โดยที่ไม่ต้องเสียกำลังทหารสักคนเดียวไปปราบปราม นับตั้งแต่บัดนั้นดินแดนพม่าตอนกลางก็อยู่ในกำมือของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

การตัดสินใจครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้อย่างชัดเจน และแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าพระองค์จะมีอารมณ์ร้อน แต่ถ้าในเรื่องการปกครองนั้น พระองค์ไม่ได้มุทะลุและตัดสินพระทัยโดยใช้อารมณ์เลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ดีฝ่ายสหพันธรัฐนั้นยังไม่ได้ถูกทำลายจนหมดสิ้น ครั้งต่อไปพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และอาณาจักรตองอูยังต้องเผชิญศึกอีกหลายครั้ง เรื่องจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ในตอนหน้าครับ

References:

  • Hmannan Yazawin
  • A History of Burma by Maung Htin Aung

ย้อนอ่านตอนเก่า

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!