ท่องเที่ยวKunstkamera พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของรัสเซียที่เต็มไปด้วยสิ่งแปลก

Kunstkamera พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของรัสเซียที่เต็มไปด้วยสิ่งแปลก

ถ้าท่านได้ไปเยี่ยมเยือนเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก และเห็นอาคารสีเขียวเข้มอยู่อาคารหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำเนวา แต่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับพิพิธภัณฑ์ Hermitage ขอให้ท่านทราบว่าอาคารแห่งนั้นคือ

Kunstkamera (Кунсткамера) หรือ คุนส์คาเมรา พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของรัสเซีย

ที่มาและสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความพิเศษมากๆ เราไปดูกันครับว่ามีที่มาอย่างไร

Kunstkamera By Alex ‘Florstein’ Fedorov, CC BY-SA 4.0,

วิสัยทัศน์ของปีเตอร์มหาราช

ซาร์ปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซียเป็นซาร์ที่สนใจการศึกษาวิทยาศาสตร์มาก ปีเตอร์สนใจทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ในอย่างสุดท้ายนั้นปีเตอร์ชื่นชอบมากจนถึงขั้นเก็บสะสม “สิ่งผิดปกติของธรรมชาติ” ไว้ในพระราชวังฤดูร้อนที่เซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก

“สิ่งผิดปกติของธรรมชาติ” ที่ว่าก็คือ มนุษย์และสัตว์ที่เกิดมาไม่สมบูรณ์ อาทิเช่นเกิดมามีตาเดียวบ้าง มีแขนข้างเดียวบ้าง สัตว์ที่มีสองหัวบ้าง หรือว่าอวัยวะเพศที่ใหญ่ผิดปกติบ้าง

ชาวรัสเซียในยุคนั้นต่างเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสัตว์ประหลาดที่นำเรื่องร้ายๆ มาสู่พวกตน แต่ปีเตอร์เห็นตรงกันข้าม

ปีเตอร์คิดว่ามันเป็นความผิดพลาดของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมันควรจะได้รับการศึกษาอย่างถี่ถ้วน ความเชื่อเรื่องสัตว์ประหลาดจะได้ถูกทำลายไปจากสังคมรัสเซีย

ดังนั้นปีเตอร์จึงสั่งให้ทั่วทั้งอาณาจักรส่งเด็กทารกที่เกิดมาแบบผิดปกติมาให้ราชสำนัก และขอตัวอย่างแบบเดียวกันจากยุโรปด้วย ทั้งหมดจะถูกส่งมาให้ปีเตอร์ตรวจสอบด้วยตนเอง

ทั้งนี้ปีเตอร์ไม่ได้ขอฟรีๆ แต่ใช้เงินซื้อในราคาสูงๆ ทำให้ทุกคนอยากจะขายสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “สัตว์ประหลาด” ให้กับซาร์แห่งรัสเซีย ภายในเวลาไม่นานสิ่งเหล่านี้จำนวนมากมายก็ถูกส่งมาเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก

เมื่อได้พวกมันมาแล้ว ปีเตอร์จะตรวจสอบให้เรียบร้อยว่าแปลกจริงหรือไม่ และนำไปให้นักวิจัยศึกษา เมื่อพวกเขาศึกษาเสร็จแล้ว ปีเตอร์ก็จะเก็บไว้เป็นของสะสมส่วนตัว

ในปี ค.ศ.1714 เมื่อเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก เมืองหลวงของรัสเซียถูกสร้างขึ้นเกือบสมบูรณ์แล้ว ปีเตอร์ตัดสินใจว่าจะต้องมีสถานที่ไว้เก็บสิ่งเหล่านี้ให้ถูกกิจจะลักษณะ และจะได้เป็นที่แสดงโชว์ให้ประชาชนชาวรัสเซียมาดูด้วย ปีเตอร์จึงอนุมัติเงินให้สร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ขึ้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ คุนส์คาเมรานั่นเอง

ปีเตอร์เปิดให้ประชาชนรัสเซียเข้าชมตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ปรากฏว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เป็นที่นิยมของชาวรัสเซียเท่าไรนัก เพราะว่าทุกคนกลัวสิ่งที่อยู่ในนั้น

อย่างไรก็ดีปีเตอร์ปรารถนาจะให้มีผู้เข้าชมมากๆ เขาจึงสั่งให้แจกวอดก้าฟรีกับผู้เข้าชมที่กล้าหาญพอจะเข้าชม หรือบางทีก็จะมอบกาแฟและขนมหวานให้กินเพื่อป้องกันอาการท้องไส้ปั่นป่วน เมื่อเดินดูสิ่งเหล่านี้

วิธีนี้ได้ผลหรือไม่ คงไม่มีใครทราบ

มีเรื่องเล่าว่าในสมัยปีเตอร์ สิ่งประหลาดเหล่านี้บางสิ่งยังมีชีวิตอยู่! อาทิเช่น มนุษย์คนหนึ่งที่มีแค่สองนิ้วและสองเท้า หรือ ชายที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิงในตัวคนๆ เดียว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพวกเขาหนีออกมาจากพิพิธภัณฑ์ได้ ทำให้ต้องตามจับกันจ้าละหวั่น

ปีเตอร์โปรดปรานมากในการนำคณะทุตานุทูตเข้าชมและอธิบายของสะสมเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ไม่มีโอกาสเห็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ เพราะปีเตอร์สวรรคตไปก่อนในปี ค.ศ.1725 ขณะที่คุนส์คาเมราสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1727 และกลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของรัสเซีย

หลังจากการจากไปของปีเตอร์ คุนส์คาเมรากลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิทยาศาสตร์ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กในช่วงศตวรรษที่ 18-19

คุนส์คาเมราในปัจจุบัน

ปัจจุบันคุนส์คาเมราขยายเพิ่มเติมเป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านเชื้อชาติต่างๆ ทั่วโลก ทำให้คุนส์คาเมรามีของจัดแสดงมากมายจากอารยธรรมสำคัญทุกทวีป อาทิเช่น ลาตินอเมริกา แอฟริกา จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ อีกมากมาย บางส่วนก็จัดแสดงเป็นวิถีชีวิตแก่ผู้คนส่วนอื่นๆของโลก ให้ชาวรัสเซียมาศึกษา

Kunstkamera ในฤดูหนาว By Колчина Ольга Юрьевна – Own work, CC BY-SA 3.0,

แต่แน่นอนว่าไฮไลท์ของคุนส์คาเมรายังเป็นพวกสิ่งประหลาดของปีเตอร์เช่นเดิม

สิ่งประหลาดเหล่านี้ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นหลังจากการสวรรคตของปีเตอร์ คุนส์คาเมรายังได้รวมผลงานทางวิทยาศาสตร์ของชาวรัสเซียขึ้นมาจัดแสดงด้วย ทำให้ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีสิ่งของจัดแสดงมากถึงสองล้านชิ้น

ที่ชั้นบนสุดของคุนส์คาเมราเป็นหอดูดาวเก่าแก่ที่นักดาราศาสตร์ชาวรัสเซียใช้ศึกษาการเคลื่อนที่ของจักรวาล ปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์เก่าแก่ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในที่แห่งนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้

ไฮไลท์ของคุนส์คาเมรามีดังต่อไปนี้

  • ฟันของมนุษย์ที่ปีเตอร์ดึงออกมาด้วยตนเอง (ปีเตอร์สนใจเรื่องทันตกรรมอย่างมาก และไม่ลังเลที่จะถอนฟันมนุษย์ออกมาเพื่อศึกษา)
  • มนุษย์ตาเดียว (Cyclops) ชายที่มีสองเพศ เด็กสองหัว และอวัยวะที่ผิดรูปผิดร่างอื่นๆ
  • หัวใจและโครงกระดูกของมนุษย์ยักษ์ชื่อ Bourgeois ที่สูง 2.18 เมตร
  • Gottorf Globe หรือ ลูกโลกที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • Catalogue สัตว์แปลกๆ อื่นๆ

ราคาค่าเข้าชม 250 รูเบิล (ฟรีทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือน) พิพิธภัณฑ์ปิดทุกวันจันทร์ และปิดพิเศษอีกวันหนึ่งคือ วันอังคารสุดท้ายของเดือน

ดูเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ได้ ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!