ประวัติศาสตร์ส่อง "อิปาตเยฟ" จุดเริ่มต้นและจุดจบของราชวงศ์โรมานอฟ

ส่อง “อิปาตเยฟ” จุดเริ่มต้นและจุดจบของราชวงศ์โรมานอฟ

สำหรับท่านที่ได้อ่านเรื่อง วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ มาแล้วคงจะทราบว่า ครอบครัวของซาร์นิโคลัสที่ 2 ทุกคนถูกสังหารที่บ้านอิปาตเยฟในคืนวันที่ 16-17 กรกฎาคม ค.ศ.1918

ดังนั้น บ้าน”อิปาตเยฟ” จึงเป็นสถานที่ที่เป็นจุดจบของราชวงศ์โรมานอฟ

แต่ถ้าท่านยังจำได้ ภายในเรื่องผมได้เล่าด้วยว่า “อิปาตเยฟ” ก็เป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์โรมานอฟด้วย เพราะว่าซาร์มิคาอิลที่ 1 (ไมเคิลที่ 1) ได้บัลลังก์รัสเซียจากการประกาศของสภา Zemsky Sobor (земский собор) ระหว่างที่เขาหลบทหารชาวโปลอยู่ที่อารามอิปาตเยฟ

ด้วยเหตุนี้ อารามหรือมหาวิหาร “อิปาตเยฟ” จึงเป็นสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์โรมานอฟ

ภายในโพสนี้ เราจะมาดูกันว่า ประวัติความเป็นมาของสถานที่ทั้งสองเป็นอย่างไร และทุกวันนี้อยู่ในสภาพใดบ้าง

อารามอิปาตเยฟ

อารามอิปาตเยฟ

อารามอิปาตเยฟ (Ipatiev Monastery) หรือ อิปาตเยฟสกี้ โมนาสตี (Ипатьевский монастырь) เป็นมหาวิหารและอารามในคริสตจักรรัสเซียนออโธดอกซ์ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Kostroma ในประเทศรัสเซีย

เราไม่ทราบแน่ชัดว่ามหาวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ คือ มันถูกกล่าวถึงในบันทึกทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1432 ดังนั้นเชื่อได้ว่ามหาวิหารแห่งนี้มีอายุหลายร้อยปี สืบเนื่องไปได้ถึงยุคกลาง

ตำนานหนึ่งเล่าว่ามันถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1330 โดยชาวตาตาร์คนหนึ่งที่หนีมาจากอาณาจักรโกลเด้นฮอร์ด เขาได้เปลี่ยนศาสนาเป็นออโธดอกซ์ และได้สร้างวิหารขึ้นที่นี่เพราะว่าเขาเห็นนิมิตเป็นนักบุญสองคน ณ ที่แห่งนี้

ด้วยเหตุนี้ตระกูลโกดูนอฟ (Godunov) ที่เชื่อว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากชาวตาตาร์ผู้นั้นจึงได้ดูแลอารามและวิหารแห่งนี้ตลอดมา พวกเขาได้สร้างกำแพงและหอคอยขึ้นรอบอารามเพื่อคอยคุ้มกันมันจากภัยอันตรายทำให้มันเหมือนกับปราสาทอย่างย่อมๆ อารามและมหาวิหารอิปาตเยฟจึงเป็นหนึ่งในอารามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ณ เวลานั้น

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงกลียุคของชาวรัสเซียหรือที่เรียกกันว่า Time of Troubles ตัววิหารถูกล้อมและโจมตีโดยกองทัพจากมอสโก แต่ด้วยกำแพงที่แข็งแกร่งทำให้ผู้รุกรานต้องใช้เวลาถึงเจ็ดเดือนว่าจะพิชิตวิหารแห่งนี้ได้

มหาวิหาร Trinity ภายในอารามอิปาตเยฟ Автор: User:Simm – собственная работа, Общественное достояние,

ปลายปี ค.ศ.1612 มิคาอิล โรมานอฟ วัย 16 ปีได้หลบหนีความวุ่นวายและสงครามมาอยู่ที่นี่ เขาอยู่ภายใต้การคุ้มกันของทหารและนักบวชจำนวนหนึ่ง ต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.1913 ผู้แทนจากสภา Zemsky Sobor ก็มาถึงอารามแห่งนี้ และเรียนต่อมิคาอิลว่า สภาได้เลือกให้เขาเป็นซาร์แห่งรัสเซีย

มิคาอิลจึงขึ้นรับตำแหน่งและสถาปนาราชวงศ์โรมานอฟขึ้น ราชวงศ์โรมานอฟจึงปกครองรัสเซียตั้งแต่บัดนั้น และปิดฉากช่วง Time of Troubles ลง

ซาร์ในราชวงศ์โรมานอฟต่างศรัทธาในอารามและมหาวิหารแห่งนี้มาก ซาร์ทุกพระองค์ถือว่ามหาวิหารแห่งนี้เป็นมหาวิหารของครอบครัว ทุกพระองค์จะหาโอกาสมาเยี่ยมเยือนที่นี่และทำบุญจำนวนมากเพื่อบำรุงตัวมหาวิหาร

อย่างไรก็ตาม อารามและมหาวิหารเดิมในสมัยที่มิคาอิลอยู่ที่นี่ได้รับความเสียหายมากจะการระเบิดของโรงดินปืนในปี ค.ศ.1649 ทำให้ต้องมีการสร้างหลายส่วนของวิหารขึ้นมาใหม่

ในช่วงราชวงศ์โรมานอฟ อารามแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะและแต่งเติมให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเสมอมา ซาร์นิโคลัสที่ 2 เองก็เคยมาวิหารแห่งนี้ในปี ค.ศ.1913 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 300 ปี แห่งราชวงศ์โรมานอฟ

หลังการปฏิวัติตุลาคม อารามอิปาตเยฟก็ถูกริบเข้าเป็นของรัฐ วิหารบางแห่งในอารามถูกพวกโซเวียตทำลาย ส่วนวิหารบางแห่งก็ถูกเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น อาทิเช่น เป็นบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า ค่ายทหาร และโรงงานทอผ้า ภายหลังพวกโซเวียตเปลี่ยนมันเป็นพิพิธภัณฑ์

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัฐบาลรัสเซียจึงได้โอนอารามและมหาวิหารเหล่านี้ให้กลับอยู่ในการดูแลของศาสนจักรอีกครั้งหนึ่ง

บ้านอิปาตเยฟ

บ้านอิปาตเยฟ (Ipatiev House) หรือ Дом Ипатьева (ดอม อิปาตเยวา) เป็นสถานที่สุดท้ายของครอบครัวโรมานอฟได้อาศัยอยู่

หลังจากวันที่ครอบครัวโรมานอฟจากไป บ้านอิปาตเยฟก็ถูกทำความสะอาดจนเกลี้ยงเกลา พวกบอลเชวิคได้กวาดของมีค่าของครอบครัวโรมานอฟไปจนหมด ยูรอฟสกี้ได้นำพวกมันไปมอบให้กับคณะกรรมาธิการอูรัล

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ “บ้านเพื่อจุดประสงค์พิเศษ” แล้ว บ้านหลังนี้ถูกส่งคืนให้กับ นิโคไลย์ อิปาตเยฟ วิศวกรคนเดิมผู้เป็นเจ้าของ แต่อิปาตเยฟตัดสินใจแล้วว่าเขาจะลี้ภัยไปยังต่างประเทศ เขาจึงขายบ้านหลังนี้ให้กับกองทัพรัสเซียขาวที่เข้ายึดเมืองเยกาเตรินเบิร์กได้สำเร็จ

บ้านหลังนี้จึงอยู่ในมือของกองทัพรัสเซียขาว ในช่วงเวลานี้เองที่โซโคลอฟ ผู้สอบสวนคนสำคัญได้สืบสวนสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านอย่างละเอียด ภาพที่เราเห็นในบ้านก็มาจากรายงานของโซโคลอฟนี่เอง ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงที่อดีตข้าราชบริพารของครอบครัวโรมานอฟอย่างกิปส์ และกิลเลียตได้เข้ามาดูสภาพในบ้าน ไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาจะปวดร้าวเพียงใด

บ้านอิปาตเยฟในปี ค.ศ.1957 Автор: Витольд Муратов – Сфотографировано загрузившим, CC BY-SA 3.0,

เมื่อพวกบอลเชวิคชนะสงครามกลางเมือง บ้านหลังนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์การปฏิวัติแห่งอูรัล สิ่งจัดแสดงหลักก็ไม่ใช่อะไรอื่น ห้องใต้ดินที่ครอบครัวโรมานอฟจากไปนั่นเอง

ในปี ค.ศ.1934 พวกมือสังหารอย่างยูรอฟสกี้ เยอร์มาคอฟ และคนอื่นๆ ได้มาจัดงานรียูเนี่ยนกันที่นี่

บ้านอิปาตเยฟเป็นพิพิธภัณฑ์มานานหลายสิบปี แต่สุดท้ายก็ถูกปิดตัวลง และเปลี่ยนเป็นที่เก็บของแทน ในสมัยครุสเชฟที่การปราบปรามทางการเมืองลดระดับลงมากจากสมัยของสตาลิน บ้านอิปาตเยฟเริ่มกลายเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวคริสต์ออโธดอกซ์และพวกนิยมกษัตริย์อย่างช้าๆ

รัฐบาลโซเวียตรู้สึกไม่พอใจจึงพยายามห้าม แต่ก็ไม่เป็นผล

คณะ Politburo จึงประกาศว่าบ้านแห่งนี้ “ไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พอเพียง” ดังนั้นมันจึงควรจะถูกทำลาย คำสั่งทำลายถูกส่งไปยังเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองสเวียตลอฟส์ (ชื่อในเวลานั้นของเยกาเตรินเบิร์ก) ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น ประธานผู้นั้นคือ บอริส เยลซิน (Boris Yeltsin) ประธานาธิบดีรัสเซียในเวลาต่อมานั่นเอง

เยลซินจำต้องจัดการทุกอย่างตามที่คณะ Politburo ต้องการ เยลซินเล่าว่าเขาไม่สามารถขัดขวางคำสั่งได้ แต่

อีกไม่นาน พวกเราจะรู้สึกอัปยศกับการกระทำอันป่าเถื่อนเช่นนี้

บ้านอิปาตเยฟถูกทำลายลงในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1977 การทำลายใช้เวลาอยู่เพียงสองวันก็แล้วเสร็จ ทุกวันนี้บ้านอิปาตเยฟจึงไม่มีอยู่แล้ว

การทำลายบ้านอิปาตเยฟ

แต่ว่าพวกผู้แสวงบุญกลับไม่สนไม่แคร์ พวกเขาเดินทางมายังสถานที่ที่ว่างเปล่าเช่นเดิมและวางสิ่งของเพื่อระลึกถึงนิโคลัสและครอบครัวผู้จากไป รัฐบาลโซเวียตจึงหมดปัญญาจะทำอะไรได้อีกต่อไป

เมื่อนิโคลัสและครอบครัวได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญจากคริสตจักรมอสโก โบสถ์ชื่อ Church of All Saints (หรือ Church on the Blood) จึงถูกสร้างขึ้นลงบนสถานที่ที่เคยเป็นบ้านอิปาตเยฟ ทุกวันนี้มันได้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวรัสเซียมากมาย

Church of All Saints

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!